โหวต ‘ปธ.-รอง ปธ.สภา’ แต้มโยงเลือกนายกฯ?

โหวต ‘ปธ.-รอง ปธ.สภา’ แต้มโยงเลือกนายกฯ?

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีคะแนนเสียงโหวตเลือก รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ของนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในขั้วรัฐบาลเดิมไม่เป็นเอกภาพ โดยมี ส.ส.งดออกเสียงถึง 77 คน ขณะที่เสียงโหวตนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่ได้เป็นรองประธานคนที่ 1 นั้น 8 พรรคเป็นเอกภาพ

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

Advertisement

77 เสียง เชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นพรรคที่ประกาศว่าไม่เอาพรรคที่สนับสนุนการแก้ไข ม.112 ซึ่งค่อนข้างสอดรับกับเสียงที่ภูมิใจไทยมีอยู่ การที่งดออกเสียงนั้น ไม่ถึงขั้นปฏิเสธ

แต่เท่ากับการลังเล เผลอๆ พรรคประชาธิปัตย์อาจจะอยู่ในจำนวนนี้ด้วยก็ได้ เพราะเป็นพรรคที่อยู่ในสนามของการจัดตั้งรัฐบาลผสมมาอย่างยาวนานตลอด 40-50 ปี เชี่ยวชาญในการสลับขั้ว เนื่องจากพรรคการเมืองเหล่านี้ มีความฝันที่จะเป็นพรรครัฐบาลตลอดเวลา และยังมีพรรคเล็กๆ อีกหลายพรรค ซึ่งเราต้องมองให้ชัดเจนว่าเขาไม่ได้มองพรรคอื่นเป็นศัตรูอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะทั้งหมดทั้งมวล ศัตรูที่แท้จริงของนักการเมือง คือ รัฐประหารมากกว่า

ส่วนพรรคที่ไปโหวตคุณวิทยา แก้วภราดัย ผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานสภา ก็เด่นชัดว่าเป็นรวมไทยสร้างชาติ กับ พลังประชารัฐ

Advertisement

หากถามว่า ทั้ง 77 เสียงที่งดออกเสียงชิงรองประธานทั้ง 2 คนที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนอะไร ส่วนตัวคิดว่าเป็นการเปิดทาง กล่าวคือ ในพรรคการเมืองแบบเดิม เราจะเห็นว่าการรักษาไมตรีกันไว้เพื่อความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอนาคตมันเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะลึกๆ แล้ว เขาไม่ได้เป็นศัตรูกัน เป็นเพียงคู่แข่งขันในสนามการเลือกตั้ง พอเปลี่ยนมาเป็นการเมืองในสภาแล้ว จะเห็นว่าที่ผ่านมาประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย มีปรับเปลี่ยนเชิงคณิตศาสตร์ของพรรคต่างๆ ซึ่งแม้แต่พรรคที่เคยคิดว่าเป็นพรรคมาร พรรคเทพ ยังสลับขั้ว สลับร่างกันได้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมนั้น ย้อนไปในช่วง 2 วันก่อนหน้า เกิดสภาพสับสนอลหม่านระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล จนกระทั่งกองเชียร์ต่างๆ ถมึงทึงต่อกัน การได้คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา มาเป็นประธานสภา พรรคที่ต่อต้านพรรคก้าวไกล จะรู้สึกว่าได้ชัยชนะ ได้เชือดกลางสนาม ว่าก้าวไกลอย่าฮึกเหิมมากนัก

เราจะเห็นว่าเกมไม่วุ่นวายอย่างที่คิดไว้ว่าน่าจะแรงกว่านั้น ทั้งประธานสภา และการโหวตเลือกรองประธานสภา แต่กลับสงบเงียบและจบเกมได้อย่างสันติมากๆ เท่ากับว่า ด่านแรกเป็นการประนีประนอมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่สำคัญทีเดียว

ส่วนปีกของพรรครัฐบาลเดิม คิดว่าไม่ได้ฝืนที่จะงัดกลยุทธ์มาล้มคุณวันนอร์ จึงชี้ว่าเกมของพรรคการเมืองต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากชุดก่อนแล้ว ด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับผลของการเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่สามารถเปิดสภา หรือเลือกประธานสภาได้อย่างสงบ ผลกระทบจะอยู่ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคน เพราะเมื่อไหร่ไม่มีสภา เมื่อนั้นก็หมดบทบาทในการเข้าร่วมกำหนดเกม

ดังนั้น จึงเห็นสภาพอารมณ์ดีของทุกพรรคได้อย่างชัดเจน แม้แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เรายังเห็นว่าน้ำเสียงหลังการเปิดประชุมสภา ค่อนข้างเบาบางมาก ไม่รุนแรงใส่สีตีไข่แบบที่คาดไว้

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ใน 77 เสียง เป็นไปได้ว่าเป็นของพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง อีก 6 เสียงไม่แน่ใจว่ามาจากพรรคไหนบ้าง ถามว่าเรื่องนี้สะท้อนอะไร จะบอกว่าภูมิใจไทยไม่เอาก้าวไกลก็พูดยาก เพราะจะโหวตไม่เอาเลยก็ได้ แต่เป็นการงดออกเสียง อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว การงดออกเสียง ก็เท่ากับโหวตไม่เอา

ส่วนประเด็นเรื่องการส่อนัยยะทอดสะพานเข้าร่วมรัฐบาล ส่วนตัวไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น หรือจะเรียกว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เลยด้วยซ้ำ เพราะการงดออกเสียงตรงนั้น เป็นแค่การเลือกรองประธานสภา ซึ่งสุดท้ายมาจากพรรคก้าวไกล คือ คุณปดิพัทธ์ สันติภาดา สิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อว่าเป็นแค่ความที่ไม่อยากแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าไม่เอา เท่านั้นเอง หรือไม่แน่อาจเป็นการลับ ลวง พราง ก็ได้ อาจสงวนท่าทีไว้ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เราฟันธงไปในทางใดทางหนึ่งไม่ได้เลย

สำหรับการงดออกเสียงครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสพลิกขั้วหนุนพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ส่วนตัวไม่อยากคิดไปถึงขนาดนั้น เพราะจะทำให้เพื่อไทยเสียหาย จะดูไม่ดีมากๆ ว่าจะมีการพลิกไปจับกับอีกขั้วหนึ่ง ที่ผ่านมาก็มีการวิเคราะห์วิจารณ์อะไรในทางที่ไม่ดีกับเพื่อไทยมาเยอะมากเกินไปแล้ว อันที่จริงคงเป็นอย่างที่คุณภูมิธรรม เวชยชัย ออกมาพูดว่า ไม่มีดีลอะไรเลย แค่ดูความเหมาะสมว่าอะไรควรเป็นอย่างไรเท่านั้น

บรรยากาศการประชุมสภา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มากที่สุดเท่าที่จะมองได้ คือ อาจรักษาท่าทีไว้ เพราะถ้าหากในที่สุดแล้ว ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจริง จากการที่เขาแสดงท่าทีเช่นนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าไม่ถึงกับค้านแบบหัวชนฝากับก้าวไกล เพราะฉะนั้น อาจมีการพูดจาอะไรกันได้ เนื่องจากรัฐบาลผสมนั้น พรรคที่มีเสียงในสภามากที่สุดในกรณีนี้ คือ พรรคก้าวไกลก็จริง แต่ไม่เกินครึ่ง ดังนั้น ในอนาคตต่อไปข้างหน้า อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการจับขั้ว เปลี่ยนข้างกันได้ เพื่อรักษาความเป็นรัฐบาลผสมต่อไปข้างหน้า คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คงมองไปไกลอย่างนั้น การจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์เต็มที่ คงไม่ทำ ซึ่งก็เป็นท่าทีทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยอยู่แล้ว ในขณะนี้โดยท่าทีและจุดยืน อยู่ๆ จะโดดมาขอจับมือด้วยเลย ก็จะเสีย แต่ในเมื่อเขาทำอย่างนี้ ในอนาคตถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา ก็จะไม่เป็นการปิดโอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาลได้ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดเดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image