4 ส.ค.ลุ้นนายกฯฉลุย ตั้ง รบ.เร่งพลิกฟื้น ศก.

4 สิงหาคมนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดประชุม 2 สภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกฯ

หลังยืดเยื้อมาตั้งแต่ 13 กรกฎาคม ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ 8 พรรคที่ร่วมเซ็นเอ็มโอยูตั้งรัฐบาล 312 เสียง ได้แค่ 324 เสียง ไม่ถึง 375 เสียงของรัฐสภา

19 กรกฎาคม นัดโหวตใหม่ ก็ถูกตีรวนใช้มติรัฐสภา 395 ต่อ 312 เสียง ว่าเป็นญัตติซ้ำขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กลายเป็นประเด็นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมา ยื่นคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวน่าจะขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาวันที่ 3 สิงหาคม ว่าจะรับ-ไม่รับไว้พิจารณา ทำให้การประชุมรัฐสภา
วันที่ 27 กรกฎาคม ต้องงดไป

วันที่ 4 สิงหาคมนี้ พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของพรรคให้รัฐสภาโหวตอีกครั้ง ทางแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนมั่นใจว่า “เศรษฐา” จะฉลุยผ่านด่าน 375 เสียง ได้เข้าทำเนียบรัฐบาล เร่งจัดตั้งรัฐบาล

Advertisement

ความมั่นใจของแกนนำพรรคเพื่อไทย น่าจะมาจากการดีลกับฝ่ายต่างๆ จนได้ข้อสรุปที่น่าพอใจระดับหนึ่ง

ดีลสำคัญสุดคือการพูดคุยกับพรรคก้าวไกล ให้ยอมเสียสละถอยเป็นฝ่ายค้าน แต่พร้อมจะโหวต “เศรษฐา” ว่าที่นายกฯจากพรรคเพื่อไทย เป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ต้องพึ่งพาให้มาโหวต โดยมีเงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยจะจับขั้วใหม่โดยไม่มีพรรค 2 ลุงมาร่วมกับรัฐบาล นั่นคือพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดต นายกฯของพรรค

นอกจากนี้ ต้องประกาศให้ชัดเจนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.ให้เสร็จใน 2 ปี จากนั้นยุบสภา

Advertisement

เงื่อนไขนี้ ทำให้พรรคก้าวไกลพอจะรับได้เพื่อปลดล็อกให้มีนายกฯและรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้

สูตรที่ต้องฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค แล้วจับขั้วใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง จะได้แค่ 236 เสียง ดังนั้น ต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์ที่มี 25 เสียง มาร่วม แต่อาจไม่มาทั้งหมด คาดว่าจะมี ส.ส.ที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ดูแลอยู่ 19 เสียง จะมาร่วม ทำให้มี 255 เสียง

เมื่อพรรคก้าวไกลรับบทพระเอก 150 เสียง (นายพิธา ยังอยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.) มาช่วยโหวตให้ จะได้ 405 เสียง ผ่านฉลุย

อีกทั้งเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ก็ตอบโจทย์ของ ส.ว.ส่วนใหญ่ที่เคยระบุว่า หาก ส.ส.รวมเสียงได้เกินครึ่ง (โดยไม่มีพรรคก้าวไกล) ก็พร้อมโหวตสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หากผ่านการโหวตนายกฯไปได้ แต่รัฐบาล 255 เสียงนั้นปริ่มน้ำเกินไป ต้องดึงพรรคมาช่วย ส่วนพรรค 2 ลุงต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ

ดังนั้น พรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสมการแรก จึงต้องปรับทัพใหม่ เพื่อลดเงื่อนไขที่จะเข้าไปสู่สมการตั้งรัฐบาล

พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะลาออกจาก ส.ส.แล้ว โดยให้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯพรรค เป็น ส.ส.แทน แต่ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจจากพรรคเพื่อไทย ที่ยังมีเรื่องคาใจกันอยู่ ดังนั้น อาจต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยสบายใจ ที่จะดึงร่วมกับรัฐบาล

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ คงปรับทัพเช่นกันเพื่อให้รับกับการที่จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยไม่ถูกตีกันจากข้ออ้างความขัดแย้งในอดีต

พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค เจอเงื่อนไขต้องไม่มีพรรคลุงมาร่วม จึงต้องปรับทัพใหม่ แม้ “บิ๊กป้อม” จะยังเป็นหัวหน้าพรรค แต่ดันให้ “บิ๊กป๊อด”
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้อง “บิ๊กป้อม” ขึ้นมาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค มือดีลจับขั้วรัฐบาล

หาก “บิ๊กป้อม” ถูกขวางอย่างหนักในการเข้าร่วมรัฐบาล ก็จะส่ง “บิ๊กป๊อด” เป็นแทน ลดกระแสต้านไม่มี “ลุง” แต่เป็น “น้องลุง” เพื่อร่วมรัฐบาล

ดังนั้น วันที่ 4 สิงหาคมนี้ หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อน รัฐสภาจะโหวตให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา”
เป็นนายกฯ จากนั้นฟอร์มทีมรัฐบาล พร้อมเริ่มทำงานทันที คาดว่าไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้

เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชนหวังไว้ที่จะมีรัฐบาลใหม่ มีอำนาจเต็มเข้ามา
บริหารขับเคลื่อนประเทศ ท่ามกลางปัญหามากมาย

หลังประเทศเข้าสู่สุญญากาศตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ยุบสภา รัฐบาลมีอำนาจจำกัด ขณะที่ข้าราชการแม้จะไม่ถึงกับเกียร์ว่าง แต่ก็ขับเคลื่อนแค่เกียร์ 1-2 ทำให้ประเทศไม่อาจเดินหน้าได้เต็มที่

เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาจึงนิ่งเงียบ ท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ จากภายนอก ที่ทำให้การส่งออกต้องติดลบหลายเดือนติดต่อกัน

ขณะที่การท่องเที่ยวแม้จะฟื้นตัว แต่ต่างชาติยังไม่เข้ามาตามเป้า ส่วนการลงทุนก็หยุดชะงัก เพื่อรอดูรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร วางเข็มทิศไปทางไหน

โดยเฉพาะงบประมาณปี 2567 แม้จะเบิกใช้ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แต่ช้าสุดคงเริ่มใช้ต้นปี 2567 ไม่น่าจะเสียหายมากนัก

ดังนั้น 4 สิงหาคม ทุกฝ่ายวาดหวังว่าการโหวต “เศรษฐา” นายกฯจากพรรคเพื่อไทยผ่านไปได้ด้วยดี แล้วเร่งจัดตั้งรัฐบาลในสูตรที่ลดเงื่อนไขความวุ่นวายให้น้อยที่สุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าโดยเร็วพลัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image