โรคเลื่อนโหวตนายกฯ ลมเปลี่ยนทิศ-ระทึกต่อ

ม้วนเดียวไม่จบกับฉากการเมืองไทย ใน “อีพี” โหวตนายกฯ คนที่ 30 อย่างที่หลายฝ่ายคาดกันว่า 4สิงหาคม เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดต นายกฯจากพรรคเพื่อไทยจะผ่านรัฐสภาฉลุย แล้ว ลุยเดินหน้าตั้งรัฐบาล แต่ต้องไปรอลุ้นระทึกกันอีกครั้งหลังวันที่ 16 สิงหาคม

เมื่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่นัดประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พิจารณากรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยกรณีรัฐสภามีมติ 395 ต่อ 312 ว่าการเสนอชื่อบุคคล (“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล) เป็นนายกฯให้รัฐสภาโหวตรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ซึ่งต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือไม่ อีกทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเลื่อนโหวตนายกฯไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ทางศาลเห็นว่า คำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงเลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง

ส่วนคำขอให้มีคำสั่งเลื่อนการโหวตนายกฯ ก็ให้รอสั่งในคราวเดียวกันกับการพิจารณาสั่งคำร้อง ในวันที่ 16 สิงหาคม

Advertisement

การเลื่อนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดโรคเลื่อนเป็นลูกโซ่

โดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภาวันที่ 4 สิงหาคม ที่มีวาระโหวตนายกฯ ออกไปก่อน เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 16 สิงหาคมอีกครั้ง

ทางพรรคเพื่อไทยก็แจ้งเลื่อนการแถลงข่าววันที่ 3 สิงหาคม ถึงการจับขั้วพรรคต่างๆ ใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล หลังประกาศแยกทางกับพรรคก้าวไกล

Advertisement

ย้อนไปดูโรคเลื่อนการโหวตนายกฯ

หลังเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ทาง 8 พรรค นำโดยพรรคก้าวไกล เป็นแกนเซ็นเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยจะร่วมกันผลักดัน “พิธา” เป็นนายกฯ

ระหว่างรอโหวตนายกฯ ต้องแต่งตั้งประธานสภาก่อน แต่ 2 พรรคคือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เปิดศึกแย่งเก้าอี้กันดุเดือด แต่จบลงด้วยตกเป็นของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ดูเหมือนว่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่รู้กันอยู่ว่าเป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ด้วยว่ากันว่าพรรคประชาชาติ เป็นสาขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทย

รอยร้าวเล็กๆ เกิดขึ้นระหว่าง 2 พรรค

เมื่อถึงวันโหวตนายกฯครั้งแรกวันที่ 13 กรกฎาคม ทั้ง 8 พรรคยังโชว์ปึ้กเป็นพันธมิตร เสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯต่อรัฐสภา แต่ทว่าได้แค่ 324 เสียง ไม่ถึงเส้น 375 เสียง “พิธา” จึงวืดครั้งแรก

ต่อมาเสนอชื่อ “พิธา” อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม แต่ถูกเกม ส.ส.และ ส.ว.ฝ่ายตรงข้ามสกัดด้วยใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 อ้างว่าเป็นญัตติ เสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำไม่ได้ ซึ่งเป็นปมเงื่อนที่มีการส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยุติการโหวตนายกฯไว้ก่อน โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคำร้องวันที่ 3 สิงหาคม

ปมเงื่อนดังกล่าว ยังโยงมาทำให้การโหวต นายกฯ ต้องขยับออกไป การประชุมรัฐสภาที่นัดกันอีกครั้งวันที่ 27 กรกฎาคม จึงเลื่อนไปเป็น วันที่ 4 สิงหาคม

ระหว่างนี้ กระแสลมเริ่มเปลี่ยนทิศ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พรรคก้าวไกลยอมปล่อยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปหาเสียงเพิ่มเติม และเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย
แทน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องจับมือกับ 8 พรรค

พรรคเพื่อไทยก็โชว์เก๋าทันควัน วันที่ 22-23 กรกฎาคม เปิดบ้านต้อนรับแกนนำพรรคต่างขั้วมาคุย ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ

ทุกพรรคบอกว่าพร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาล เช่นเดียวกับบรรดา ส.ว.หลายคนที่มีเงื่อนไขเดียวกัน

ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลติดล็อก หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วม คงโหวตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ไม่ผ่านแน่ๆ

กระทั่งวันที่ 2 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยหารือกับพรรคก้าวไกล ก่อนจะแถลงแตกหัก แยกทางกัน

พรรคเพื่อไทยขอถอนตัวจากเอ็มโอยู ไปขอจับขั้วใหม่ตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคก้าวไกลก็แถลงขอโทษประชาชนที่ผลักดันจัดตั้งรัฐบาลตามเจตจำนงของประชาชนไม่สำเร็จ

ทางพรรคเพื่อไทยจึงเร่งจัดสูตรใหม่เพื่อตั้งรัฐบาล โดยจะดึงมาคือพรรคภูมิใจไทย 71 พรรคประชาธิปัตย์ (ประมาณ 20 เสียง จาก 25 เสียง) พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง นอกนั้นเป็นพรรคเล็กที่มี 1 เสียง อีก 5 พรรค (ยกเว้นพรรคเป็นธรรม) รวมแล้ว 260 เสียง

เป็นการตอบโจทย์ 2 ข้อ คือเป็นรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกล ตามที่ ส.ส.พรรคอื่นๆ และ ส.ว.ยกมาเป็นกำแพงกั้น อีกทั้งตอบโจทย์ที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าจะไม่ร่วมกับพรรค 2 ลุง คือพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ

ทางพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าวันที่ 4 สิงหาคม ชื่อ “เศรษฐา” จะผ่านการโหวตเป็นนายกฯแน่ เพราะมี ส.ว.มาช่วยโหวตหนุนเกิน 150 เสียง ผ่าน 375 เสียงแน่

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาจากวันที่ 3 สิงหาคม ออกไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯก็ต้องเลื่อนจาก 4 สิงหาคม คาดว่าจะเป็นวันที่ 17 สิงหาคม

แม้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะระบุว่า ตอนนี้มีเสียงเพียงพอในการสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ระหว่างนี้ เราจะเดินหน้าประสานงานพรรคต่างๆ เพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม หากได้หาเสียงเพิ่มได้อีก ยิ่งมากก็ยิ่งดี จะทำให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

แต่คาดกันว่า ก่อนเส้นตายเดิมวันที่ 4 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยยังดีลสูตรรัฐบาลใหม่ไม่ลงตัว เพราะมีบางพรรคงัดเงื่อนปมบางอย่างมาขวาง อาจทำให้เสียงจาก ส.ว.ไม่ได้ตามเป้า การเสนอชื่อ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ อาจจะวืดได้

ดังนั้น ช่วงเวลาก่อนโหวตนายกฯ อาจต้องเขย่าสูตรรัฐบาลกันใหม่

เมื่อสายลมการเมืองยังไม่นิ่ง อาจเปลี่ยนทิศ พลิกได้อีก

บทจบการโหวตนายกฯและจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ต้องลุ้นระทึกกันต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image