พิชิต ชี้เกณฑ์คัด ส.ว.ชุดใหม่ อย่างดีที่สุดได้ ‘หัวกะทิ’ ไม่ใช่ผู้แทนปวงชนไทย

พิชิต ฝากไว้ให้คิด อีก 5 ปีอยากอยู่อย่างไร ชี้ เกณฑ์คัด ส.ว.ชุดใหม่ อย่างดีที่สุดได้ ‘หัวกะทิ’ ไม่ใช่ผู้แทนปวงชนไทย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงเปิดตัวแคมเปญ “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสื่อในเครือ ได้แก่ มติชน, มติชนทีวี, มติชนสุดสัปดาห์, ข่าวสด, ศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC ร่วมกับกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Way Magazine และพันธมิตรนักวิชาการชั้นนำจากภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีทีมงานสื่อ “Khaosod English” ร่วมแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อกระจายสู่สากล

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 13.00 น. แขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายวงการ หลั่งไหลเดินทางมาลงทะเบียนร่วมรับฟังการแถลงข่าวแคมเปญ “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” อย่างไม่ขาดสาย
ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มการศึกษา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนไม่ขอใช้คำว่า เลือกตั้ง ส.ว. แต่ใช้คำว่า ‘การคัดสรร’ ถามว่า ครั้งนี้สำคัญอย่างไร ดูง่ายๆ ส.ว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามา แม้ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯมา ให้ความเห็นชอบรับรอง บุคคลที่จะเข้าไปนั่งในตำแหน่งองค์กรอิสระต่างๆ

รวมทั้งการให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. เพราะฉะนั้นการมี ส.ว.หรือไม่ คือการกำหนดสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ กำหนดว่ากฎหมายใดที่ผ่านสภาผู้แทนมาแล้ว จะผ่าน ส.ว. หรือไม่ กำหนดว่าใครบ้างที่ได้รับการรับรอง เพื่อจะได้นั่งในตำแหน่งองค์กรอิสระ และจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ถ้า ส.ว.ชุดใหม่ยังเหมือนกับ ส.ว.ที่กำลังจะหมดอายุไป ก็หมายความว่า 6 ปีที่ผ่านไป กับ 5 ปีข้างหน้า มันไม่มีความแตกต่างกัน เราก็อยู่เหมือนเดิมไปอีก 5 ปี

Advertisement

“ส.ว.ชุดใหม่ จะได้มาหน้าตาอย่างไร ก็ดูจากกฎเกณฑ์ วิธีการคัดสรรซึ่งเราก็พูดกันมาเยอะแล้ว ถ้าอ่านดูให้ดี คนที่จะเป็น ส.ว.ชุดใหม่ได้ 1. ต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก มีเครือข่ายในวงการอาชีพของตัวเอง แค่นี้ยังไม่พอ ยังต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นที่รู้จัก และมีเครือข่ายเป็นที่รู้จักข้ามกลุ่ม เมื่อมีการเลือกข้ามกลุ่มกันอีกด้วยทั้ง 3 ระดับ อำเภอ จังหวัดและประเทศ เพราะฉะนั้น ส.ว.ที่จะได้มาตามกฎเกณฑ์นี้ จึงไม่ใช่ผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างแน่นอน อย่างดีที่สุดก็คือเป็นสิ่งที่เรียกว่า หัวกะทิของกลุ่มอาชีพต่างๆ ลองคิดดูว่า ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นชาติพันธุ์ นอกจากจะต้องเป็นที่รู้จักในกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเองแล้ว บังเอิญไปใส่อย่างอื่นเข้าไปด้วย มีผู้อาวุโส มีกลุ่มสตรีด้วย เพราะฉะนั้น คุณต้องเป็นชาติพันธุ์ที่คนอื่น จะต้องรู้จักในกลุ่มตัวเองที่ไม่ใช่สายชาติพันธุ์ แล้วยังต้องเป็นที่รู้จักจากคนในอาชีพอื่นๆ พวกสื่อ พวกพลังงาน พวกธุรกิจ กลุ่มการศึกษา กลุ่มความมั่นคงจะต้องรู้จักคุณด้วยว่าโดดเด่นเพื่อจะเข้าไปถึงระดับชาติด้วย” รศ.ดร.พิชิตกล่าว

รศ.ดร.พิชิตกล่าวว่า จากกฎเกณฑ์อย่างนี้ก็เห็นชัดว่า คนที่เข้ามาตรงนี้ได้ ต้องเป็นกลุ่มชนชั้นนำในแต่ละสายเท่านั้น มีเงิน มีชื่อเสียง มีผลงานในอดีต และมีเครือข่าย คนรู้จักเยอะ คนที่เข้ามาในลักษณะนี้จะแตกต่างจาก ส.ว.ชุดที่กำลังจะหมดอายุหรือไม่ นี่คือคำถาม

“การตัดสินอยู่ที่กระบวนการ และกลุ่มคนที่เข้ามาในกระบวนการนี้ ถ้าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความคิด อุดมการณ์ทางประชาธิปไตยเข้ามาได้มาก โอกาสที่จะผ่านขั้นตอนเหล่านี้เข้าไป ต้องเป็นบุคคลระดับชั้นนำในแต่ละกลุ่มซึ่งมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วย จึงจะผ่านได้ เพราะฉะนั้นมันยากมาก ผมว่าบางทีจับฉลากอาจจะง่ายกว่า เพราะฉะนั้นคำตอบก็ง่ายๆเลย อีก 5 ปีเราจะอยู่กันอย่างไร องค์กรอิสระจะหน้าตาเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญจะได้แก้ไหม แก้แบบไหน กฎหมายดีๆ ที่ผ่านสภาฯ แล้วเข้าสู่ ส.ว. จะมีชะตากรรมอย่างไร ขึ้นอยู่กับลักษณะ ส.ว.ที่จะเข้ามา เพราะฉะนั้นฝากไปยังผู้ชมที่บ้านลองไปคิดดูว่า 6 ปีที่ผ่านมาท่านอยู่อย่างไร และอีก 5 ปีอยากอยู่อย่างไร” รศ.ดร.พิชิตกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image