‘มติชน’ คิกออฟเลือก ส.ว.ใหม่ เปิดแคมเปญ ‘ไทยแลนด์ซีเล็ค’

เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ที่อาคารข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงเปิดตัวแคมเปญ มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select เกิดจากความร่วมมือของสื่อในเครือ ได้แก่ มติชน, มติชนทีวี, มติชนสุดสัปดาห์, ข่าวสด, ศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC ร่วมกับกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Way Magazine และพันธมิตรนักวิชาการชั้นนำจากภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีทีมงานสื่อ Khaosod English ร่วมแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อกระจายสู่สากล

โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บมจ.มติชน, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน, นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด, นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ นสพ.มติชน, นายสุพัด ทีปะลา บรรณาธิการบริหาร นสพ.มติชน ให้การต้อนรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 13.00 น. แขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายวงวงการหลั่งไหลเดินทางมาลงทะเบียนแถลงข่าวแคมเปญ มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select อย่างไม่ขาดสาย อาทิ กลุ่มคอมเมนเตเตอร์การเมือง นายอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง), นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., นายอธิคม คุณาวุฒิ ผู้ก่อตั้งเวย์ แม็กกาซีน ในฐานะพาร์ตเนอร์สื่อร่วมแคมเปญ ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select กับมติชน

Advertisement

ว่าที่ผู้สมัครนักวิชาการ-ศิลปินอื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.หลายกลุ่มมาร่วม ทั้งกลุ่มนักวิชาการ อาทิ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก, อาจารย์, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการด้านโบราณคดี นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มศิลปิน อาทิ นายพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร, นายธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม B-Floor ละครสื่อสารการเมืองและสังคม, นางจารุนันท์ พันธชาติ นักการละครเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการแสดง กลุ่มการแพทย์ อาทิ นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ ศัลยแพทย์ รพ.เกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา, นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย อดีตรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เป็นต้น

สื่อมวลชน-นักสิทธิมนุษยชนร่วม

ขณะที่กลุ่มสื่อมวลชน อาทิ นางชลณัฏฐ์ โกยกุล สื่อมวลชนชื่อดัง, น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ร่วมก่อตั้งประชาไท, นายจักรพันธุ์ ยมจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ภาคธุรกิจ อาทิ นายวิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล (ประธานกรรมการบริษัท KARMART), นายธีระชาติ ก่อตระกูล (เจ้าของแอพพ์การลงทุน StockRadars), นายสิทธิชัย กฤชวิวรรธน์ (CEO SOLAR : สายพลังงาน) นอกจากนี้ยังมี นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักสิทธิมนุษยชน เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน, นายประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟโฆษณา, นาย
อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ, นายสรศักดิ์ สมรไกรสรกิจ ทูต, นายวสันต์ รื่นรมย์ ชาวสวนทุเรียน, นายวราวุธ ฐานังกรณ์ แกนนำคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ/นปช.รุ่น 2, นางศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, นางอรอุมา หาญพงษ์ธรรม, นางฐิติพร บุญยธนะ, นางอารยา นิรันดร, นายเอกศักดิ์ หอมชื่น, นางชไมยพร กิติ มูลนิธิไทยพึ่งไทย และ น.ส.สุพิชา เบาทิพย์ กลุ่มทำทาง เป็นต้น

Advertisement

ลั่นเครือมติชนตีปี๊บเลือกส.ว.ให้ดัง

จากนั้น นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวเปิดเวทีว่า ตั้งแต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงผู้คุมกฎหมาย สิ่งที่เขาแสดงออกมาคือการจำกัดพื้นที่ในการแสดงออก แสดงตนที่จะลงสมัคร ส.ว. เรามีเวทีน้อยมากสำหรับภาคประชาชน ถือโอกาสนี้มอบเวทีตรงนี้ให้ทุกท่านร่วมกันแสดงความเห็น แสดงทรรศนะ

“ยืนยันว่าสื่อในเครือมติชนทุกฉบับ รวมถึงมติชนทีวี อยากทำให้การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ที่มีใครพยายามทำให้เงียบที่สุด แต่เราจะพยายามทำให้เสียงดังที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความเห็น เราจะเป็นสื่อที่ผลักดันให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เสียงดังที่สุด ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ของเครือมติชนจะเป็นการเริ่มต้นคิกออฟแคมเปญของเรา ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ เมื่อ ส.ว.ชุดเดิมหมดอายุ เราจะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมจะเริ่มมีการสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งในมติชนทีวีและข่าวสดรีแคป เป็นต้น โดยมีการสัมภาษณ์พิเศษและตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง” นายสุวพงศ์กล่าว

วิเคราะห์หน้าตา200ส.ว.ชุดใหม่

นายสุวพงศ์กล่าวต่อว่า เดือนมิถุนายนมติชนจะมีรายการเชิญนักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ทางออนไลน์และผ่านคลิปวิดีโอ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคมที่จะทราบผล เราจะร่วมวิเคราะห์ว่าหน้าตา ส.ว.ชุดใหม่ 200 คนจะเป็นอย่างไร รวมถึงเราจะจัดพิมพ์รายชื่อและหน้าของ ส.ว.ในอนาคตต่อไป

“จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลือก ส.ว.ไม่เงียบ หวังว่าทุกคนที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์สมัคร ส.ว. และผู้ที่ตื่นตัวในการเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยร่วมกันนั้น เราจะเดินหน้าร่วมผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หลังจากขมขื่นมานานหลังเกิดการรัฐประหาร จะเป็นก้าวเล็กๆ และก้าวต่อๆ ไปในการผลักดันประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในบ้านเรา” นายสุวพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

สมชัยร่ายยาวระเบียบกกต.

ต่อมาเวลา 13.50 น. เริ่มวงเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะภายใต้หัวข้อ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 200 ส.ว.ชุดใหม่ เลือกกันเอง!? นำโดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.ชุดใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก

นายสมชัยกล่าวว่า ตอนนี้ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างอึดอัดมาจาก กกต.ฝ่ายเดียวหรือไม่ ต้องแก้ตัวแทนว่า ไม่ใช่ เขาก็ทำตามกรอบกฎหมายต่างๆ พอสมควร ลองไล่ดูประการแรก 1.กรอบรัฐธรรมนูญ 2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พอไล่ลงมาจะเหลือเป็นอำนาจของ กกต. ที่มีหน้าที่ออกระเบียบต่างๆ ออกมา ตอนนี้มี 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ระเบียบการเลือก ส.ว. ออกมาตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ส่วน 2 คือ ระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว. ออกมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน มีผลบังคับใช้วันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ระเบียบอันแรกกล่าวถึงทุกเรื่อง ตั้งแต่ว่าจะมีการรับสมัครอย่างไร เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไร การเลือกตั้งและขั้นตอน ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด และแบบฟอร์มอยู่ในนั้นหมด ถ้าท่านจะสมัครต้องไปดูแบบฟอร์มการสมัครที่นั่น

ชี้ปัญหาอื้อ-ห่วงแนะนำตัว

นายสมชัยกล่าวว่า แบบฟอร์มที่สำคัญ คือ ส.ว.2 ส.ว.3 และ ส.ว.4 โดย ส.ว.2 คือ รูปแบบใบสมัครที่ประชาชนไม่เคยเห็น อยู่ที่ กกต.เท่านั้น แบบฟอร์ม ส.ว.3 แบบแนะนำตัว หน้าเดียว ประวัติศาสตร์ การศึกษา เขียนได้ 3 บรรทัด และเขียนประสบการณ์การทำคุณความดีของท่านได้ 5 บรรทัด

“แบบฟอร์ม ส.ว.3 สำคัญที่สุด จะเป็นแบบฟอร์มที่เผยแพร่ถึงผู้สมัครด้วยกัน ผู้อำนวยการเขตเขาจะส่งแบบฟอร์มนี้ให้ผู้สมัครคนอื่น ไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนวันเลือก ดังนั้นต้องเรียบเรียงให้ดี แนะนำอย่าเขียนด้วยลายมือ พิมพ์ดีที่สุด แบบฟอร์ม ส.ว.4 เป็นแบบรับรองว่าประกอบอาชีพอยู่ในกลุ่มที่สมัครหรือไม่ มีบุคคลที่ไปรับรอง 1 คนก็พอ และระเบียบการแนะนำตัวที่ผมอยากจะแนะนำที่แห่งนี้ว่า ออกได้แย่มาก เราทวงแล้วทวงอีก ออกมาหลังระเบียบรอบแรกกว่า 3 เดือนกว่า ออกมา 3 หน้าและมีปัญหาเต็มไปหมด” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบแนะนำตัวนี้ มีผลแนะนำตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน คือ วันรุ่งขึ้นหลังจากประกาศ และใช้กับผู้ที่ประสงค์จะสมัครด้วย แต่จะใช้ข้อ 1-10 แต่ ข้อ 11 จะใช้หลังจากออกกฤษฎีกา อย่างที่ 1 ให้เขียนประวัติผลงานประสบการณ์ 2 หน้ากระดาษ A4 ถ้าท่านประสงค์ลงผู้สมัคร ต้องลงแบบฟอร์มตามนี้เท่านั้น ถามว่าถ้าท่านเขียน 2 หน้าครึ่งผิด 2.ใช้แนะนำตัวสำหรับผู้สมัครเท่านั้น ลงเฟซบุ๊กมีความผิด จะกลายเป็นถูกหาเรื่องได้ ใครเป็นตัวเก็งทั้งหลายโดนเลย นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่สามารถตีความความเคร่งครัดได้ขนาดนั้น และสามารถเอา 2 หน้า A4 เผยแพร่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แต่ระหว่าง
ผู้สมัครด้วยกัน

ฉะระเบียบแย่-รู้จักกันแค่5บรรทัด

นายสมชัยกล่าวว่า ถ้าลงเฟซบุ๊กจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้สมัครด้วยกัน และจะรู้จริงแม้แต่เมื่อวันสมัครยังไม่รู้เลย วันสมัครไม่ใช่วันที่ 13 พฤษภาคม เสียใจด้วยถ้าไปดูดวงมาแล้ว แต่เป็นแค่วันที่จะประกาศออกมา มีระยะเวลาเปิดรับ 5-7 วันจะอยู่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

“ระหว่างการรับสมัครคณะกรรมการจะเปิดเผยชื่อผู้สมัคร และจำนวนผู้สมัครแต่ละวันไม่ได้ หมายความว่า กรรมการประจำหน่วย หรือ กกต. จะบอกไม่ได้ว่าใครมาสมัครแล้วบ้างไม่ได้ จุดประสงค์ คือ เขาไม่ต้องการให้รู้ว่ากลุ่มอาชีพนี้สมัครครบ 5 คนหรือยัง หรือจะเปลี่ยนไปสมัครแบบอื่น ซึ่งกว่าจะรู้ว่ามีใครสมัครบ้าง ก็จะรู้หลังจากรับสมัครเสร็จทั้งหมดแล้ว” นายสมชัยเผย

นายสมชัยกล่าวว่า ประเด็นยังมีระเบียบยังมีข้อ 11 คาดว่ากฤษฎีกาจะออกมาตอนวันที่ 11-12 พฤษภาคม ต้องไปดูข้อ 11 ให้ดี อีกประเด็น คือ ห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์กับสื่ออยู่ในระเบียบข้อ 11 สมมุติถ้าสมัครแล้ว มีคนมาสัมภาษณ์ให้ความคิดเห็นเรื่อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ก็ไม่ได้ เพราะมีการเผยแพร่หน้าตัวเองออกไป ตรงนี้เป็นระเบียบที่แย่ที่สุด ทำให้ผู้สมัครไม่รู้จักอะไรกับใครเลย ทำให้การเลือกดังกล่าวเป็นการเลือกกันในที่มืด รู้จักกันเพียงแค่ 5 บรรทัดเท่านั้นเอง นายสมชัยทิ้งท้าย

ผู้สมัครลพบุรีซัดกติกาเผด็จการ

ขณะที่ นางศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง หนึ่งในว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. กล่าวว่า จะลงสมัครใน จ.ลพบุรี กลุ่ม 7 คือ กลุ่มลูกจ้างและผู้ใช้แรงงาน ในฐานะที่เราเป็นคนจน ซึ่งจนมาก ไม่มีที่ดิน เราเห็นกติกาแบบนี้แล้วมองว่า โอกาสที่เราจะมีตัวแทนของตัวเองจริงๆ นั้นไม่สามารถไปถึงได้ แค่ผู้ที่จะไปลงสมัครก็ต้องจ่าย 2,500 บาทแล้ว ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มันเป็นกติกาที่ถูกฝังไว้ด้วยความเป็นเผด็จการ แต่อาศัยจังหวะเวลาที่ว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว มากล่าวอ้างให้ตัวเองดูดี
สำคัญที่สุด ถ้าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเลือกตั้ง ส.ว.ได้ แล้วลงสมัคร ส.ว.ได้ ควรเป็นเจเนอเรชั่น ที่จะต้องพัฒนาประเทศได้ ไม่ใช่ให้เจนฯที่อายุเยอะไปนั่งพัฒนาประเทศคงไม่ใช่ ในส่วนของกติกาที่พยายามจะสร้างความเงียบงัน กลายเป็นกติกาการเลือกตั้งเหมือนป่าช้า คาดหวังว่าศาลปกครองจะมีตา มองเห็นสิ่งเหล่านี้ นางศรีไพรกล่าว

ขอบคุณมติชนเปิดหู-ตาปชช.

ด้าน รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก กล่าวว่า ขอบคุณผู้บริหารมติชนที่กล้าหาญจัดเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดหูเปิดตาประชาชน และเปิดปากว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. เพราะเป็นการเลือก ส.ว.ที่กติกาวิปริตและยังวังเวง เงียบๆ ไม่ต้องบอกว่า จะเข้าไปทำอะไร อาจจะบอกได้อย่างเดียวว่า ได้เป็นแล้วจะไปดูงานตลอดเวลาหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเลือก ส.ว.หรือสัปเหร่อ เพราะมันเงียบมาก ให้บอกแค่ประวัติตัวเอง คงต้องใช้ญาณวิเศษว่าจะสื่อสารกับใครแต่เป็นกติกาที่คุมอนาคตประเทศ เราจึงต้องเข้าไปในกติกานี้ เพื่อเปลี่ยนโฉม

‘ยิ่งชีพ’โวยเอื้อคนที่มีอำนาจ

ส่วน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ไม่ว่าความสำคัญของ ส.ว.จะมีมากขนาดไหน ดีไม่ดี ในครั้งนี้อาจจะสำคัญมากกว่า ส.ส.ด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันนี้บรรยากาศการมีส่วนร่วมแทบไม่มีเลย ไม่รู้เป็นใครบ้าง คิดว่าการเลือก ส.ว. คือการให้ผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญได้มาร่วมสมัครด้วย ทั้งนี้ กกต.พยายามออกแบบระบบออกมา เพื่อเป็นระบบแบบปิดๆ ในวันเลือก ก็เลือกกันแบบปิดๆ ระบบนี้เอื้อให้คนไม่กี่คน คนที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง เพื่อให้ความสามารถในการเรียกคนไปแอบประชุมในที่ลับ โดยเฉพาะพี่ๆ ที่ได้มีการประกาศตัวมาแล้วมีผู้ติดต่อ มีการติดต่อให้ไปกินข้าว ให้ประชุมกัน ให้ไปนั่งกลุ่มไลน์ และหน้าที่ของ กกต.ควรไปตรวจสอบสิ่งเหล่านั้นมากกว่าการที่ห้ามให้พูดต่อที่สาธารณะ อยากให้ทุกคนมีพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน

ชี้ขัดขวางปชช.มีส่วนร่วม

นายยิ่งชีพกล่าวต่อว่า วันนี้ดีใจมากที่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ลงสนามนี้ ด้วยการเห็นความสำคัญ และเป็นสื่อที่ยืนหยัดขึ้นมา ในวันที่เขาอยากให้เราเงียบ มีเวลาที่ให้เขาพูดอีกแค่ 11 วันเท่านั้นเอง เมื่อพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ ทุกอย่างก็จะเงียบลง ทราบว่ากติกาครั้งนี้แปลกๆ เพี้ยนๆ งงๆ รู้ว่า ส.ว.สำคัญกับประเทศชาติอย่างยิ่ง ทั้งการเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญประชาชน การเลือกตำแหน่งในองค์กร ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ทั้งการอยู่กฎหมายต่างๆ ดีไม่ดี อาจจะสำคัญกว่า ส.ส. รู้ว่าเขาไม่ได้อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ดังนั้นจึงพูดในนามคนที่อายุไม่ถึง คงมีคนหลายสิบล้านคนอยากเข้าร่วมกระบวนการนี้แต่ไปไม่ได้ ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่กำลังทำงานแทนประชาชน

‘พนัส’ลุยยื่นศาลปกครองวินิจฉัย

ขณะที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. กล่าวว่า การที่ตนตัดสินใจสมัคร เพราะต้องการเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สำหรับเรื่องกติกา วันนี้ได้ไปยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า ระเบียบ กกต.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น เป็นการใช้อำนาจของ กกต.เกินกว่าอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ก็คือศาลปกครอง ในเมื่อ กกต.ออกกฎเกินกว่าอำนาจที่มี ก็ถือเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

“ผมมีข้อสังเกตว่า ระเบียบนี้ระบุว่ามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ซึ่งในข้อ 5 บังคับมีการใช้บังคับต่อผู้ประสงค์ที่จะสมัครด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องมาคิดกันว่าหมายความว่าอย่างไร เพราะระเบียบมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา แสดงว่าต้องมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่มาตรา 1 ลงมาจนถึงข้อ 8 และน่าจะรวมถึงข้อ 9 และ 10 ด้วย” นายพนัสกล่าว

หวังคุ้มครอง-เบรกระเบียบ

ต่อมา นางฐิติพร บุณยธนะ อดีตข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ลงสมัครกลุ่มข้าราชการ พื้นที่ อ.เมือง จ.นนทบุรี สอบถามว่า การที่นายพนัสไปฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครอง จะเริ่มทำอะไร ได้เมื่อไหร่ วันนี้อึดอัดมาก ถาม กกต.ก็ไม่มีคำตอบก็มีความหวั่นเกรง ศาลปกครองจะมีการคุ้มครองอย่างไร

ด้านนายพนัสตอบว่า อันดับแรกต้องดูว่าศาลปกครองจะรับคำร้องพิจารณาหรือไม่ หวังว่าจะรับแน่นอน และหวังขั้นต่อไปว่าจะรับพิจารณาคำร้องอย่างรวดเร็ว

“ต้องได้รับความคุ้มครองจากศาลปกครองให้สั่งว่า กกต.ไม่มีอำนาจในการออกระเบียบเกี่ยวเนื่องกับการแนะนำตัวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 5 7 8 9 11 ทั้งหมดเลย ขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ก็คืออย่าเพิ่งให้ระเบียบตรงนี้ไม่มีผลบังคับ ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินด้วย” นายพนัสทิ้งท้าย

‘จักรพันธุ์’หวังไปแก้องค์กรอิสระ

ขณะที่ นายจักรพันธุ์ ยมจินดา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. กล่าวต่อว่า วันนี้ตั้งใจมาสมัคร ส.ว. อยากเห็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้า ส.ว. 200 คน ที่มีความอิสระอย่างแท้จริง แน่นอนการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะยาก แต่อย่างน้อยกระบวนการที่จะแก้ปัญหาที่มาขององค์กร อิสระ ตนเชื่อว่าทำได้ในเร็ววัน กรรมการสรรหา โดยเฉพาะท่านประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ประธานสภา มาจากการเลือกของ ส.ส.ในสภา พอเข้ามาเป็นกระบวนการสรรหา แน่นอนว่า ทำตามใบสั่งของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นมานานแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้องค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงได้องค์กรอิสระในศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่เห็น จึงได้องค์กรอิสระอย่าง กกต.

“วันนี้ที่ผมมา ไม่ได้สนใจว่าจะได้หรือไม่ได้ ขอมีส่วนร่วมในการแก้ไข ขอความเป็นอิสระของ ส.ว. ผมเชื่อมั่นว่าในที่สุดเราจะได้กรรมการสรรหาที่เป็นอิสระ” นายจักรพันธุ์กล่าว

กลุ่มB-Floorขอเป็นกระบอกเสียง

สำหรับบรรยากาศเวลา 15.20 น. เข้าสู่เวทีช่วงที่ 2 “ส.ว.ที่ดี สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างไร?” โดยมี นายอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรชื่อดัง ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ก่อนเปิดให้ผู้สมัคร ส.ว. แลกเปลี่ยนความเห็น

นางจารุนันท์ พันธชาติ นักการละครเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการแสดง กล่าวว่า จะลงสมัคร ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ในสาขากลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ตอนแรกเพียงตั้งใจจะเป็นโหวตเตอร์เท่านั้น แต่นึกอยู่ว่าในระบบแบบนี้ ถ้าฟลุคได้เป็น ส.ว.ขึ้นมา จะมองตัวเองว่ายึดโยงกับประชาชนได้อย่างไรบ้าง

“แต่ในฐานะประชาชนที่ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจจากองค์กรอิสระ เรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อว่า ถ้ามี ส.ว.ที่ดีพอในประเทศไทย จะแก้ไขได้ เราควรเปลี่ยนแปลงให้มีองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนได้มากกว่านี้ ส่วนตัวก็คาดหวังแบบนี้” นางจารุนันท์เผย

จากนั้นนายธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม B-Floor ละครสื่อสารการเมืองและสังคม กล่าวว่า ทำละครที่มีเนื้อหา วิพากษ์วิจารณ์สังคมและประชาธิปไตยมาตลอด 20-30 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้คำจำกัดความตัวเองเป็น “อาร์ติสต์แอคทิวิสต์” ด้วยการพยายามเอาศิลปะไปใช้ในการเคลื่อนไหว เป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องที่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ในฐานะที่ร่วมเรียกร้อง เป็นศิลปะ พูดอ้อมๆ ก็แล้ว พูดตรงๆ ก็แล้ว จึงสนใจพาตัวเองเข้ามาเป็นว่าที่ ส.ว. ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย คิดว่าการที่จะเข้ามาพูดตรงๆ สู้ในระบบ

“ไม่รู้ว่าต้องทำบุญขนาดไหน ถึงจะฟลุคเข้าไปได้ เพราะเมื่อ 2 กี่วันก่อน ผมได้เข้าไปทดลองว่าระบบจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าต้องทำบุญมามากจริงๆ ถึงจะเล็ดลอดเจาะช่องนี้เข้าไปได้ เป็นอะไรที่สนุกสนานบันเทิงมาก ภายใต้กติกาแบบนี้ ขอเป็นกำลังใจและขอให้คนที่ฟังอยู่ทางบ้าน ช่วยกันสมัครเข้ามาเยอะๆ จะเป็นมวลมหาประชาชน ที่ต้องลอดผ่านตะแกรงร่อนที่ประหลาด มหัศจรรย์นี้ไปให้ได้” นายธีระวัฒน์เผย

‘ปิงปอง’ขอเป็นกุญแจไขปัญหา

ด้าน นายศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ หรือปิงปอง ศิลปิน กล่าวว่า จะลงสมัคร ส.ว.ใน อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยลงสมัครในส่วนของกลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ในหลายวันมานี้รู้สึกไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่ เพราะว่าเวลาจะพูดอะไร หรือจะทำอะไร มันเสี่ยงที่จะถูกตีความหรือมีผลกระทบอะไรที่ประหลาดๆ ส่วนตัวเพิ่งได้รู้วันนี้ว่าโทษมันไปไกลขนาดนี้ ไปไกลกว่าที่เราคิดเอาไว้ แค่พูดอะไรเฉยๆ ก็สามารถถูกคาดโทษได้เลย

“ส.ว.สำหรับตนอาจจะเป็นหนึ่งในปัญหาหลายอย่างของความประหลาดในประเทศไทยที่เกิดขึ้น แต่ก็ด้วยภูมิปัญญาแบบนักดนตรีธรรมดาๆ คนหนึ่ง มองว่า ส.ว.อาจจะเป็นกุญแจบานแรกที่จะไขสู่กุญแจบานอื่นๆ ถ้าบานนี้ยังไม่ถูกไข กุญแจบานอื่นก็อาจจะไขไปต่อไม่ได้ ถ้าเราไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างเลย ความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น” นายศิรศักดิ์กล่าว

‘ใบตองแห้ง’หวังส.ว.แก้ม.256

จากนั้นเวลา 15.00 น. เริ่มวงเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะภายใต้หัวข้อ “ส.ว.ที่ดี สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างไร?” โดยมีนายอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) คมลัมนิสต์การเมือง และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิเคราะห์การเมือง พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็น กับว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก

นายอธึกกิตกล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังส่วนใหญ่คือ เรื่องของการที่ ส.ว.จะมีส่วนในการผ่านมาตรา 256 ในการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องผ่านการประชามติครั้งแรกก่อน ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐบาล ซึ่งมัดมือชกไปแล้วว่าจะเป็นการลงประชามติเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1-2 หรือไม่ หลังจากนั้นถ้าผ่านประชามติจะเข้าสู่มาตรา 256 การแก้มาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ซึ่งหมายความว่าเราต้องการ ส.ว. 67 คน แต่คงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะตนเข้าใจว่าถึงตอนนั้นคงมีเรื่องที่ต้องถกเถียงกันว่าจะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งแล้วมีการแต่งตั้ง ส.ส.ร.ไปโดยรัฐสภา ซึ่งเสียงของ ส.ว.ก็จะมีส่วนอีก

ต้องได้100คนผนึก’พท.-ก.ก.’

นายอธึกกิตกล่าวต่อไปว่า เวลาเราคิดเราจะบอกว่าต้องการ ส.ว.ที่มีอุดมคติ มีอุดมการณ์การประชาธิปไตยสัก 1 ใน 3 ส่วนตัวตนคิดว่ามันไม่พอ มันอาจจะต้องเกิน 100 กว่าด้วยซ้ำไป เพราะโดยสัดส่วนของพรรคการเมืองในปัจจุบัน คือส่วนที่เราเชื่อว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญ เช่น พรรคเพื่อไทย (พท.) ถ้ารวมกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อาจจะรวมกับพรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้าน จะได้ 300 เสียง จากจำนวน 700 ผ่าน ส.ว. 67 เสียง แต่จริงๆ แล้วต้องการ ส.ว.อีก 100 เสียง เพื่อได้ประมาณ 400 เสียง ในการที่จะแก้ไขมาตรา 256 และอาจจะถกเถียงกัน แม้แต่พรรค พท. พรรค ก.ก.จะเถียงกันเองว่าตกลงแล้ว ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่

ชี้ผู้มีอำนาจกลัวเปลี่ยนแปลง

ด้านนายศิโรตม์กล่าวว่า วันนี้ที่ฟังในช่วงแรกๆ คิดว่าสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของทุกคนว่ากติกามันไม่ดี แล้วก็ยิ่งฟังนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พูดกติกา กติกามันไม่ดีมากขึ้น แต่กลับคิดว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไม่ใช้คำว่าการเลือกตั้ง เพราะว่าไม่สามารถใช้คำว่าการเลือกตั้งได้ การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือเป็นสถานการณ์ที่คนอยากเห็นประเทศนี้เปลี่ยนแปลง เป็นความอยากเห็นประเทศที่เปลี่ยนแปลง คิดว่าเป็นเฟสที่ยาวนานมาก จากสิ่งที่เป็นกลไกครอบงำประเทศหลังปี 2557 ซึ่งมันได้ถูกตอกย้ำและต่ออายุด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ทำไมผู้มีอำนาจต้องการให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เงียบที่สุด เพราะเขารู้ว่าสังคมมันอึกทึกด้วยเสียงการต้องการความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ภายใต้กติกาที่พยายามจะทำให้เกิดความเงียบ สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ คือความกลัวเสียงของประชาชน

มติชนเกาะติดเลือกสว.ใกล้ชิด

ด้าน นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ให้สัมภาษณ์ว่า มติชนมองว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้มีความสำคัญ แม้จะกำหนดเฉพาะกลุ่ม 20 กลุ่มแล้วให้เลือกกันเอง ไม่ใช่การเปิดให้ประชาชนเลือกได้โดยตรง แต่ถือว่าเป็นจังหวะก้าวที่หลุดพ้นจากมือของคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม หน้าที่วุฒิสภาไม่ว่าจะเป็นชุดไหนก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกกฎหมาย มีผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น ประชาชนน่าจะมีส่วนร่วม อย่างน้อยช่วยกันติดตามข่าวสาร และเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวของผู้สมัคร ส.ว. รวมไปถึงความโปร่งใสในการดำเนินการเลือก

พ.ค.มติชนจัดไฮไลต์เพียบ

สำหรับไฮไลต์เด่นในแต่ละเดือน อาทิ 30 เมษายน 2567 ไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสด คิกออฟแถลงข่าวแคมเปญ ณ ห้องประชุมใหญ่ข่าวสด จัดเวทีให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ รวมถึงเจาะไทม์ไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ พร้อมเวที สัมมนา สะท้อนเสียงสังคม ภาคประชาชน และผู้ลงสมัครคัดเลือก จากนั้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จัดทำและเผยแพร่บทสัมภาษณ์ 20 บุคคลที่น่าสนใจและมีมุมมองแหลมคมต่อการเลือก ส.ว.2567 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย (1.1) กลุ่มสัมภาษณ์เป็น “คลิป” เผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียล “มติชนทีวี” และรายการออนไลน์ “ข่าวสด 3 นาที Recap” และ (1.2) กลุ่มสัมภาษณ์ลง นสพ. และเว็บข่าว

สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญกม.

ต่อมาทุกๆ วันอังคารในแต่ละสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคม กอง บก.มติชนทีวีและสื่อหลักในเครือมติชน เตรียมเผยแพร่ “วิดีโอ พอดแคสต์” สัมภาษณ์ 4 ผู้เชี่ยวชาญการเมืองและข้อกฎหมายเรื่องการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ มาให้ข้อมูล ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมการเมืองภาคประชาชน และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา

ปิดแคมเปญก.ค.โชว์200ส.ว.ใหม่

เดือนมิถุนายน 2567 สตูดิโอมติชนทีวีเชิญนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย ที่มีมุมมองในแต่ละฝ่าย เช่น เสรีนิยม และอนุรักษนิยม เข้าร่วมแสดงความเห็นผ่านรายการ “The Politics Special : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” ในลักษณะ Online Webinar (สัมมนาออนไลน์) ปิดท้ายแคมเปญในเดือนกรกฎาคม ด้วยการจัดพิมพ์ “รายชื่อ 200 ส.ว.ชุดใหม่” พร้อมประวัติสั้น ลงในสื่อสิ่งพิมพ์มติชน ภายหลังจากทราบผล และนำไฟล์ดิจิทัลข้อมูลในหน้า นสพ.นี้ เผยแพร่ให้ประชาชนคลิกดาวน์โหลดได้ผ่านสื่อออนไลน์ในเครือมติชน

นอกจากนั้น เครือมติชนยังจับมือร่วมกับกองบรรณาธิการ “Way Magazine ออนไลน์” สื่อผู้ผลิตคอนเทนต์เกาะติดข่าวสารความเคลื่อนไหวทางสังคม ผลิตรายการ “กตัญญูบ้านเมือง” จำนวน 4 ตอน สร้างสรรค์จัดโดย นายกตัญญู สว่างศรี นักคิดและพิธีกรอารมณ์ดี ผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจ็กต์ “ยืนเดี่ยว” คอมมูนิตี้สแตนด์อัพคอมเมดี้ชื่อดังในไทย โดยแนวคิดรายการคือการวิเคราะห์แนวคิดออกแบบกติกากระบวนการสรรหา ส.ว., ส.ว.ในฝันที่อยากเห็น, มุมมองที่มีต่อบทบาททางประวัติศาสตร์ของสภาสูงในระบอบประชาธิปไตยไทย เปรียบเทียบกับบทบาทสภาสูงต่างประเทศ รวมทั้งเชิญตัวแทนคนหลากหลายกลุ่มที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ว. ร่วมพูดคุยหัวข้อ “เหตุใดจึงต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา ส.ว.”, เปิดวงดีเบตประเด็น “เราจำเป็นต้องมี ส.ว. หรือไม่” เชิญอดีต ส.ว.พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน เป็นต้น

‘ธนาธร’ปลื้มคนสนใจสมัครอื้อ

ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตือนว่าไม่ควรเชิญชวนคนมาลงสมัคร ส.ว.ว่า เพิ่งเดินทางกลับมาจากลงพื้นที่ภาคอีสาน โดยไปที่ จ.หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร ปรากฏว่ามีผู้ตอบรับดีมาก และสนใจที่จะลงสมัคร ส.ว.อิสระเป็นจำนวนมาก รู้สึกดีใจที่การรณรงค์ของคณะก้าวหน้าทำให้ประชาชนตื่นตัวและเข้าใจการเลือก ส.ว.มากขึ้น ส่วนที่มองว่าการรณรงค์ดังกล่าวเป็นกลุ่มการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือก ส.ว. นายธนาธรกล่าวว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะเรารณรงค์ให้คนทุกอุดมการณ์ไปสมัคร ส.ว. และยังมีคนไปสมัคร มีส่วนร่วมกับการเลือก ส.ว. มากเท่าไหร่ ดังนั้นขอเชิญชวนทุกคน ไม่ว่าจะสนับสนุนพรรคอะไร จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน หากท่านมีคุณสมบัติเราเชิญชวนทุกคนให้ไปลงสมัคร ส.ว.ด้วยกัน

จัดวงจรปิดถ่ายทอดลงคะแนน

วันเดียวกัน นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เนื้อหาอธิบายว่า ใคร ทำ อยู่ตรงไหนในการเลือก ส.ว.ประชาชน สื่อ ผู้สมัคร นักการเมือง เขาว่าการเลือก ส.ว.เป็นระบบปิด โดยระบุว่า มีโอกาสได้ไปคุยกับสื่อ มีคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในการทำหน้าที่สื่อ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือก ส.ว.ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ขัดกับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัว 1.ประชาชน 1) ไม่มีสิทธิเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้สิทธิในเรื่องนี้ 2) ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักงาน กกต.เกี่ยวกับประวัติของผู้สมัครทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มสาขาอาชีพใดทั้ง 20 กลุ่ม ในชั้นอำเภอ 928 อำเภอ ชั้นจังหวัด 77 จังหวัด และระดับประเทศ ได้ที่แอพพลิเคชั่น smart vote และเว็บไซต์ กกต. 3) ติดตามข้อมูลข่าวจากสื่อต่างๆ กกต.จะเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนควรรู้ผ่านสื่อให้มากที่สุด

นายแสวงระบุต่อว่า 4) วันเลือกตั้งสามารถไปสังเกตการณ์การเลือก “ทุกที่เลือกตั้ง” ทั้งในชั้นอำเภอ ชั้นจังหวัด และระดับประเทศ โดยสำนักงาน กกต.จะจัดให้มีโทรทัศน์วงจรปิดถ่ายทอดบรรยากาศภายใน “ที่เลือกตั้ง” ให้ดูตลอดการลงคะแนนจนปิดเวลาลงคะแนน 5) สังเกตการณ์ ตรวจตรา ตรวจสอบ แล้วแจ้ง กกต.ว่ามีผู้สมัคร พรรคการเมืองใด หรือผู้ใด แนะนำไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือฝ่าฝืนกฎหมาย

ย้ำระวังเสนอข่าวช่วยผู้สมัคร

นายแสวงระบุอีกว่า 2.สื่อ 1) เสนอข่าวได้ตามปกติ ตามหลักวิชาชีพ อาทิ รายงานข่าวในที่เลือกตั้ง ใครสมัครในกลุ่มสาขาอาชีพใด วิเคราะห์ จัดเวที เสนอข้อเท็จจริง สัมภาษณ์ผู้สมัครเกี่ยวกับเรื่องอื่นได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ สื่อที่สมัคร ส.ว.ทำหน้าที่การงานได้ตามปกติ แต่อย่าไปพูดแนะนำตัวว่าสมัคร ส.ว. มีประวัติหรือประสบการณ์อย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากระเบียบที่ออกมา ออกมาเพื่อใช้บังคับกับผู้สมัคร ไม่ได้ใช้บังคับกับสื่อ อย่างไรก็ตาม ต้องพึงระวังในการทำหน้าที่สื่อ ต้องไม่เป็นช่วยเหลือการแนะนำตัวผู้สมัครรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ 2) สังเกตการณ์ในวันเลือก ในที่เลือกเช่นเดียวกับประชาชน

3.ผู้สมัครต้องแนะนำตัวตามที่กฎหมายและระเบียบที่ กกต.กำหนด ทำมากไปกว่านั้นอาจถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือถ้าเป็นโทษเกี่ยวกับการทุจริต เช่น รู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิแต่มาสมัคร ซื้อเสียง หลอกลวง รับการช่วยเหลือจากคนของพรรคการเมือง จะมีโทษอาญาด้วยคือทั้งโทษจำคุกและปรับ 4.นักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองต้องไม่ไปช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ว.นั้น หมายถึงการห้ามพรรคการเมืองไปโดยปริยาย และ 5.การเลือกตั้ง ส.ว.เป็นระบบปิดจริงหรือ เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ต้องยอมรับว่าไม่ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการเลือก แต่นั่นเป็นเพียงอย่างเดียวที่ประชาชนถูกตัดสิทธิไป ส่วนการมีส่วนร่วมอย่างอื่นประชาชนยังมีส่วนร่วมเหมือนเดิม เหมือนการเลือกตั้งโดยทั่วไป เรื่องนี้ กกต.ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างดี จึงได้ออกแบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม สังเกตการณ์การเลือก ส.ว.ตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาจนถึงวันลงคะแนนอย่างใกล้ชิด ตามข้อ 2) และข้อ 3) ที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าทุกฝ่ายอยู่ถูกที่ ถูกทาง จะช่วยทำให้การเลือก ส.ว.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image