ศรีไพร นนทรีย์ สู่สนามเลือกส.ว. หวังขับเคลื่อนประเทศ

ศรีไพร นนทรีย์ สู่สนามเลือกส.ว. หวังขับเคลื่อนประเทศ

หมายเหตุ – นางศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนและแนวคิดการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คน

เดิมทีจุดยืนที่ผ่านมา เราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สามารถให้มีการแก้ได้ทั้งฉบับ ปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่มันเชื่อมโยงกับปากท้อง ดังนั้น การมีตำแหน่งทางการเมืองก็อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องได้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าในอนาคตจะเป็นไปได้ขนาดไหน ภายใต้กติกาการเลือกตั้งแบบนี้ คิดว่ามันไม่ง่าย

คนที่มีอำนาจพยายามกดฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยไว้ เราก็เห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความเป็นไปได้มีมากน้อยขนาดไหน มันบอกไม่ได้เลย เพราะตอนนี้เอาเข้าจริงๆ เราไม่สามารถเช็กได้ หาเสียงได้ หรือตรวจสอบอะไรได้ ภายใต้กติกาการเลือกตั้ง ส.ว.แบบนี้ ซึ่งต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้เลยว่า ส.ว.จะหมดวาระแล้ว เขาสามารถลงสมัคร ส.ว.ได้นะ

ส่วนตัวรู้สึกว่าการจำกัดสิทธิคนที่จะลงสมัครได้จะต้อง 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป รวมถึงการจำกัดสิทธิว่าคนที่จะมีสิทธิไปเลือก ส.ว.ด้วยกัน ก็จะต้องสมัครเป็น ส.ว.และต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท ซึ่งกับคนงานมันยากมาก ต่อให้จ่าย 500 บาท ก็ยังเป็นเรื่องยาก คนงานส่วนใหญ่ถ้าจะต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่าย ระดับนี้สามารถก่อร่างสร้างหนี้ได้เลย

Advertisement

ถ้าหากเราสมัคร ส.ว. ประเด็นปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ที่จริงๆ ปัญหาของผู้ใช้แรงงานก็จะมีการเชื่อมต่อกับรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราพยายามร่วมกับสมัชชาคนจนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มันกินได้ มันมีเรื่องของค่าจ้างที่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ มีแต่เรื่องรายได้ ดังนั้น เลยคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเรามีสาขาอาชีพ ในส่วนของแรงงาน เราคิดว่าจะสามารถเข้าไปกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ โดยอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในระดับสายการเมืองมากขึ้น เสียงก็จะดังขึ้น ถ้าเราพูดอะไร อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ตามจริงแล้วพื้นฐานการเป็นนักสหภาพแรงงาน ทุกคนจะมาจากการเลือกตั้ง เราเองได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการองค์กรมาอยู่ที่กลุ่มสหภาพแรงงานรังสิตและใกล้เคียง ก็ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านการโหวต ด้วยการทำงานของระบบสหภาพแรงงานเป็นระบอบประชาธิปไตย ทุกส่วน ทุกอณู ทุกมุม

ตอนแรกเข้าใจว่าการเลือกตั้ง ส.ว. การเลือกสาขาอาชีพ เข้าใจว่าเราอยู่สายแรงงาน ก็จะมีการเลือกคนของเราได้ แต่แค่เลือกตามสาขาอาชีพ พอตอนหลังมารู้ว่ามันถูกวางระบบไว้ว่า เราอาจจะได้ ส.ว.สายแรงงานที่ไม่ได้ถูกเลือกจากคนจากแรงงาน มันมีการเลือกไขว้สลับไปสลับมา มันมีเล่ห์เหลี่ยม เลยรู้ว่าแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งเราเพิ่งตัดสินใจเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนแรกไม่เคยคิดข้องเกี่ยวกับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอมาเห็นระบบการเลือกตั้งที่ดูแล้วมันมีวาระซ่อนเร้นอะไรไว้มากมาย ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราลงดีกว่า เผื่อมีโอกาสได้เข้าไปช่วยกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ

Advertisement

ขณะเดียวกันไม่ทราบว่าคนที่มีแนวคิดแบบก้าวหน้าจะชนะหรือไม่ ถ้าผ่านการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่คนทำรัฐประหารกำหนด ถ้าเราผ่านมาได้ ชนะมาได้ เราคิดว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงเท่าระบบการเมือง การปกครองบ้านเรามันก้าวหน้าขึ้นเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจจะไม่ถึงขนาดนั้นเสียทีเดียว แต่อาจจะดีกว่านี้ โดยคิดว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาชนคนทั่วไปน่าจะได้มีส่วนร่วมได้ดีกว่านี้ ถ้าหากประชาชนมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมได้ดีกว่านี้ เศรษฐกิจ หรือเรื่องปากท้องของคนยาก คนจน ก็น่าจะดีขึ้น เพราะว่ามันเชื่อมโยงกันหมด แต่ถ้าเกิดเราผ่านกันไปไม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คนจนก็ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ สิ่งที่เราอยากจะเห็น อาทิ รัฐสวัสดิการ ก็คงจะยาก

ทั้งนี้ ส.ว.ก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องไปสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ถ้าเราจะพูดถึงชีวิตที่อยู่ดีกินดี ส.ว.ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้นด้วยเหมือนกัน พอพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครองมันเชื่อมต่อกันหมด มันไม่มีตรงไหนที่ไม่เชื่อมต่อกัน เหมือนน้ำในท่อประปา ถ้าจุดใดจุดหนึ่งที่มันมีน้ำเสียเข้ามา มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ปลายทางประปา เขาจะได้น้ำสะอาดกัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่

ในส่วนเรื่องสิทธิแรงงานในปัจจุบัน อยู่มาจนถึงอายุกว่า 50 ปี เห็นได้เลยว่าหลังจากที่มีรัฐประหารในปี 2557 คนงานไร้สิทธิ ไร้เสียงมากขึ้น เพราะทหารมีการกำกับดูแลทุกจังหวัดให้เก็บปัญหาไว้ใต้พรม โดยบอกว่าให้รอการเลือกตั้งก่อน ปรากฏว่าเอาเข้าจริงๆ สิทธิเสรีภาพที่คนงานเคยกล่าวว่า ถ้าเรามีปัญหาเราก็ไปชุมนุม ประท้วง หรือไปชุมนุมกันตรงไหน เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือว่านายจ้างรับฟัง มันไม่สามารถที่จะเป็นไปได้แบบนั้นอีกแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าพอมีการชุมนุม จะมีเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมเข้ามากำกับ ซึ่งทำให้คนงานมีความกังวลและไม่กล้าที่จะออกมาพูด หรือเรียกร้องได้ตามปกติก่อนที่มีรัฐประหาร ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าพอมีการสร้างความกลัวในระยะเวลานับ 10 ปี มันก็ไม่ถึงกับความคุ้นชิน แต่ว่ามันมีความกลัวที่ ตอนนี้เขาก็ยังไม่ค่อยกล้าที่จะออกมาต่อสู้

ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์กับสถานการณ์ปัจจุบันมันมีความแตกต่างในเรื่องของการชุมนุม ขบวนเรียกร้องถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ค่อยมีคนงานออกมาสักเท่าไหร่ เพราะพวกเราถูกกีดกันด้วยกฎหมายที่ออกมาด้วยเงื่อนไขต่างๆ หลังจากที่ทำรัฐประหารมา เลยทำให้สิทธิแรงงานลดน้อยถอยลงไป

หากเราดูพรรคการเมืองในปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยเคยเป็นรัฐบาล สมัยอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ พอมายุคพรรคเพื่อไทย สมัยนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ค่าจ้างแม้แต่ปริมณฑลกับกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ บางพื้นที่ ก็ยังขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน การที่คนไม่มีเงินเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เราถูกดองมาตั้งแต่สมัยยุครัฐประหาร

พอได้รับการเลือกตั้ง ก็ต้องมาเจอรัฐบาลที่มองข้ามผู้ใช้แรงงาน คนจนก็ยิ่งจน เป็นหนี้เป็นสิน ลืมตาอ้าปากลำบาก นับวันชีวิตของคนถอยหลังลงเรื่อยๆ หนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งภาระก็เยอะ คือ ยิ่งสังคมสูงวัย ยิ่งหมายความว่าคนงานที่ทำงานในโรงงาน หรือวัยคนที่กำลังทำงาน จะต้องไปแบกรับภาระพ่อแม่ที่อยู่บ้านอีก

สำหรับครอบครัวตัวเอง ตอนนี้คุณแม่อายุ 95 ย่าง 96 ปี ได้เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท แต่ต้องใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 2 ห่อใหญ่ ห่อหนึ่งราคากว่า 500 บาท และยังมีผ้าอ้อมปูรอง อีกทั้งคุณแม่ก็ทานข้าวไม่ได้เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี นมกระป๋องละ 1,000 บาท ต้องกินเดือนละ 5 กระป๋อง แล้วน้องคนเล็กมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ทำงานไม่ได้ ไม่ได้เรียนหนังสือ ดูแลตัวเองไม่ได้ แม้แต่ซักผ้า

ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่เราคนเดียวที่จะต้องดูแลคนที่บ้าน ลองคิดดูว่าเราต้องมีเงินเดือนขนาดไหน ค่าจ้างขั้นต่ำดูแลแบบนี้ไม่ได้ แค่ดูแลแม่คนเดียวก็ไม่เหลือเงินใช้แล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ที่คนมีสิทธิเสรีภาพ พูดได้ว่าตนเองมีปัญหาอะไร เรื่องค่าจ้าง คือรายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่าย ไม่ได้หมายความว่าค่าจ้างจะต้องขึ้นอย่างเดียว เพราะถ้าค่าจ้างขึ้น สินค้าก็ขึ้นตาม แต่ที่สำคัญของบางสิ่งบางอย่างสามารถลดได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ไข่ หรือว่าของอะไรที่มีความจำเป็น เขาสามารถตรึงราคาได้ ลดได้ ถ้าหากคุณขึ้นค่าจ้างไม่ได้ก็ต้องไปลดสิ่งเหล่านั้น ลองไปดูบริษัทต่างๆ พวกอุปโภค บริโภค

เวลาแถลงผลกำไรออกมา ทุกคนตะลึงกันทั้งนั้น เพราะกำไรเพิ่มตลอด แต่ค่าแรงผู้ใช้แรงงานไม่ได้เพิ่มตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image