วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ซีอีโอคาร์มาร์ท กางจุดยืนสมัครเพื่อโหวต ส.ว.

วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล
ซีอีโอคาร์มาร์ท
กางจุดยืนสมัครเพื่อโหวต ส.ว.

หมายเหตุ นายวิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ประธานกรรมการ, ประธานกรรมการบริหาร, รักษาการกรรมการผู้จัดการ และกรรมการการลงทุน บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงจุดยืนและแนวคิดการตัดสินใจลงสมัครคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คน

วัตถุประสงค์ของการที่จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในกลุ่มภาคธุรกิจนั้น ผมมีความตั้งใจลงเป็นโหวตเตอร์ ได้ทราบกฎกติกาว่าหากจะร่วมโหวตได้ต้องสมัครก่อน จึงเลือกลงสมัคร ส.ว.ในครั้งนี้

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาได้เลือกมากว่า 10 สมัย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ส.ว. เป็นสิ่งที่ผมเองไปใช้สิทธิเลือกตั้งประจำ ซึ่งในการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ เหมือนมีการตัดสิทธิเยอะ เพราะเป็นการเลือกกันเอง เป็นการลากตั้ง อีกทั้งยังมีการกำหนดให้ผู้สมัคร จะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนตัวก็มองว่าไม่เห็นด้วย แต่เมื่อกฎกติกาออกมาแบบนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตาม

Advertisement

มีคนที่รู้จักกัน คนข้างเคียงที่ก็อยากไปเลือก ส.ว.ด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ทั้งข้อจำกัดที่ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป เสียเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ซึ่งข้าราชการก็ไม่สามารถสมัครได้ ข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ถ้าไปสมัครแล้วให้ข้อมูลผิดพลาด ก็มีโทษทางอาญา ถูกดำเนินคดีได้ เป็นสิ่งที่เหมือนบีบให้คนไม่ลงสมัคร ดังนั้น เราต้องแสดงออกให้คนไม่กลัว อย่ากลัว อย่ากังวล สมัครด้วยความบริสุทธิ์ใจ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ขอเพียงแค่ให้เราเลือกคนที่คิดว่าดีที่สุดก็เพียงพอ

ในเมื่อกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้มีแค่สภาเดียว แต่มี 2 สภาเสมอมา ซึ่งที่ผ่านมาผมมีความรู้สึกว่า ประชาชนค่อนข้างผิดหวังกับ ส.ว.เยอะพอสมควร เหตุผลเป็นเรื่องของการไม่โหวตตามเสียง ตามฉันทามติของประชาชนที่เลือกผู้แทนราษฎรมา อย่างไรก็ตาม ส.ว.ถือว่ายังมีความสำคัญต่อรัฐสภาไทย แม้กำลังจะหมดวาระตามกฎกติกาเดิม ที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส.ว.ยังมีอำนาจในการเลือกองค์กรอิสระ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอีกหลากหลายองค์กร ซึ่งที่ผ่านมาการเลือกตั้ง หรือการรับรองเลือกองค์กรอิสระ มีหลายมาตรฐาน

ผมคิดว่าถ้าเราตั้งใจไปเป็นโหวตเตอร์ เมื่อโหวตแล้วคนอื่นได้เสียงเยอะกว่า ผมก็ยินดี แต่ผมก็พร้อมเสมอถ้าได้รับการโหวต ชีวิตทั้งชีวิตวนเวียนอยู่กับการเมืองเป็นประจำ เพราะผมมีอาชีพเป็นนักธุรกิจ ซึ่งแยกออกจากการเมืองไม่ได้ ผมเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทุกครั้งที่การเมืองมีปัญหา ก็จะกระทบต่อตลาด กระทบต่อธุรกิจ ซึ่งการเมืองกับธุรกิจ เป็นสิ่งที่ยึดโยงกัน คนทำธุรกิจในตลาดต้องติดตามการเมือง ติดตามการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิ่งคู่กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควรในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ถ้าเราได้ติดตามเศรษฐกิจ เร็วๆ นี้มีการแถลงโดยบริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ พบว่ามีคนที่ติดเครดิตบูโร มีประชาชนที่เป็นหนี้มหาศาล ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ 40 ปี 60 ปี 80 ปีก็ยังมีหนี้ส่วนบุคคลเยอะมาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่รัฐบาลต้องแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจทุกวันนี้ถูกหมักเอาไว้ ต้องทำให้เศรษฐกิจมันโตขึ้น

Advertisement

ที่ผมยึดโยงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะตัวเองเป็นผู้ประกอบการ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จำนวนเงินกว่า 500,000 ล้านบาท ผมว่าเงินจำนวนนี้ควรเอาไปช่วยเหลือคนที่มีหนี้สินเยอะ ร่วมมือกับธนาคาร กับบริษัทฐานข้อมูล สมมุติประชาชนมีหนี้ 100 บาท รัฐบาลอาจจะช่วย 30-50% ธนาคารยอมคัทลอส (การตัดขาดทุน) ตัวเอง 30% พอเหลือถึงคนที่เป็นหนี้จริงๆ ก็ 20-25% คนเป็นหนี้ก็จะมีโอกาสชำระหนี้หมด ไม่เป็นหนี้พอกหางหมู เศรษฐกิจจะได้เติบโต เพราะจำนวนเงิน 10,000 บาท คนใช้ 2 เดือนก็หมด ถ้าคนที่มีเงินเดือน ทุกเดือนต้องใช้หนี้ไปแล้วครึ่งหนึ่งของเงินเดือน ใช้เงินต้น ใช้ดอกเบี้ย ไม่มีวันจบสิ้นสักที

นอกจากนี้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ยังเป็นอดีตข้าราชการทหาร-ตำรวจถึง 70-80% ซึ่งไม่สมควร ควรจะเป็นคนจากหลากหลายอาชีพ ผมถือว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ในปี พ.ศ.2543 เป็นการเลือกตั้งที่ดีที่สุด แต่อยากให้รอบนี้สมัครกันเข้ามาเยอะๆ ไปเลือกกันเถอะ อย่าจำกัดคนอายุ 40 ปี ถ้าอายุ 18 ปี รู้สึกว่าอาจจะน้อยไป อายุ 25 ปีก็ยังได้ เด็กๆ ที่อายุ 18 ปี ในปัจจุบันก็มีความเข้าใจดี ไม่ควรตัดสินใครทั้งสิ้น

เรื่องที่ต้องการผลักดันถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้การเลือกตั้ง ส.ว.เหมือนการเลือก ส.ส. เลือกผู้แทนทั่วไป แต่ยังคงไว้ในเรื่องของการไม่สังกัดพรรคการเมือง ในการลงเป็นโหวตเตอร์ครั้งนี้ ก็ตัดสินใจลงเพราะว่า ไม่สังกัดพรรคการเมือง ให้แยกความอิสระออกจากกัน เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น

ผมมองเห็น ส.ว.ในทุกครั้งที่ผ่านมา เห็นเรื่องราวต่างๆ ในประเด็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ของ ส.ว. ชุดที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นเหมือนการลุ้นนายกรัฐมนตรี ในสภา ที่นานที่สุด และที่สำคัญประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด แต่มีมุมมองของประชาชนที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความสนใจการเมืองมากขึ้น ตื่นตัวมากขึ้น รับรู้วิธีการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศ เหมือนเป็นการยกระดับเลยก็ว่าได้

ส่วนเรื่องค่าสมัคร 2,500 บาท ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรมี ถ้าใครจะเป็นโหวตเตอร์ เห็นค่าสมัคร 2,500 บาทเขาก็อาจจะถอยแล้ว กลุ่มอาชีพเล็กๆ คนชรา เก็บกี่เดือนกว่าจะมาลงสมัคร ลงเป็นโหวตเตอร์ได้ ยังมีอีกหลายอาชีพที่อยากลง กลุ่มแรกๆ คือกลุ่มที่พอมีสตางค์ กลุ่มหมอ กลุ่มข้าราชการ ทหารตำรวจ กลุ่มเหล่านี้มีเงินบำนาญ มีเงินเก็บ แต่ประชาชนทั่วไปเขาไม่มี

การเลือกตั้ง ส.ว.จึงถูกมองว่าเป็นเหมือนการเลือกตั้งที่เงียบ เพราะว่าทุกอย่างที่ดำเนินการ การประกาศกฤษฎีกาต่างๆ ในด้านวิธีการ เป็นการเลือกที่ประชาชนไม่เข้าใจ สับสน เพราะว่ามีการเลือก 3 ระดับ ทั้งรอบ 1 รอบ 2 มีการเลือกไขว้ เลือกตรง เลือกกันเอง และประชาชนที่เข้าไปเลือกไม่รู้เบอร์ ซึ่งเบอร์จะรู้ก็ต่อเมื่อคุณสมัครเข้าไปและเลือกในวันนั้น และแต่ละรอบก็มีการเปลี่ยนเบอร์ต่างๆ การเลือก ส.ว.ครั้งนี้น่าจะเป็นการเลือกครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ต้องมีการแก้ไขแน่นอน ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก ใครตั้งใจใครพร้อมที่จะทำหน้าที่ ก็อยากให้ประชาชนไปช่วยกันเลือก

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อมี ส.ว. ภาคประชาชนเข้าไป คือต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องไปปลดล็อกกฎหมายที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แก้เรื่องลดประชามติ ไม่ใช่อะไรก็จะถามประชามติ เป็นภาระประชาชน สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นเรื่องที่ทำในปีแรกๆ

ส่วนตัวผมเอง ลูกๆ หลานๆ ก็ไม่เห็นด้วยในการลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง มี 2 ด้านอยู่เสมอ เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าการเลือก ส.ว. กฎหมายเป็นอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวพรรคการเมือง เราไปทำหน้าที่ ใช้สิ่งที่เรามีความรู้ ความเข้าใจ ถ้าเราคิดไปกังวลในเรื่องต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image