นักวิชาการ ชี้ เลือกส.ว.เหมือนวงแชร์ เชื่อจบศึกมีร้องเรียนยาว จนชุดเดิมต้องรักษาการแทนแน่

นักวิชาการอิสระโคราช เปรียบการเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ เหมือนวงแชร์ ไม่แคร์เสียงประชาชน เชื่อหลังเลือกตั้งเสร็จ มีร้องเรียนยาวเป็นหางว่าวแน่

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ และอดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ แทนที่ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พ.ค.นี้ ว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนมาก เนื่องจากกติกาต่างๆ ที่ กกต.ออกมาก็ไม่ชัดเจน คนที่ไปสมัคร ส.ว.จะทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง เกิดความสับสนกันไปหมด ทั้งที่ตำแหน่ง ส.ว.นั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการยกมือให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งองค์กรอิสระสำคัญๆ  ของไทยมากมาย อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., ป.ป.ท. หรือ ก.ก.ต. เป็นต้น รวมทั้งสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ยังทำได้อีกต่างหาก

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ และอดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่ง ส.ว.ในครั้งนี้ มีเพียงแค่ 200 คนเท่านั้น แต่ตนรู้สึกแปลกใจมากว่า เหตุใดจึงกำหนดคุณสมบัติว่าศึกษาจบอะไรมาก็ได้ ป.4 ก็ได้ ซึ่งตนไม่ได้ดูถูกคนศึกษาน้อย ถ้ามีความสามารถในการทำมาหากินสุจริต ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครก็เป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ที่มีความสำคัญต่อประเทศขนาดนี้ ควรที่จะต้องคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถสูงพอสมควรหรือไม่ เนื่องจากอำนาจหน้าที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ

ที่สำคัญถูกกำหนดให้ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ เพราะวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ ถ้าตนอยากจะไปเลือก ก็ต้องเสียเงินค่าสมัครไป 2,500 บาท ถ้าไม่จ่ายเงินก็จะไม่มีสิทธิเลือก เพราะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือก ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะถูกตัดสิทธิต่างๆ มากมาย แต่ครั้งนี้กลายเป็นว่า ถ้าใครอยากจะไปเลือกตั้ง ก็ต้องจ่ายเงินมา 2,500 บาท ซึ่งไม่ต่างอะไรกับวงแชร์เลย จึงทำให้นิยามของความเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่น่าจะใช้ได้กับ ส.ว.ชุดนี้ ดังนั้นตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะจะประกาศรับสมัคร ส.ว.วันที่ 13 พ.ค.นี้แล้ว หลังจากนั้นก็จะเดินไปตามไทม์ไลน์ วันที่ 9 มิ.ย. เลือกตั้งระดับอำเภอ วันที่ 16 มิ.ย. เลือกตั้งระดับจังหวัด และวันที่ 26 มิ.ย.ก็จะเลือกตั้งระดับประเทศ ก่อนที่จะประกาศผลการเลือกตั้งว่าใครจะได้เป็น ส.ว. 200 คน ในวันที่ 2 ก.ค.67

Advertisement

“ตนไม่มั่นใจว่าจะสามารถประกาศรับรองได้จริงๆ หรือไม่ เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการร้องเรียนตามมาอีกมากมาย เมื่อมีการร้องเรียนมาจำนวนมาก ก็จะกลายเป็นการดึงเกมให้ ส.ว.250 คน ที่หมดวาระแล้ว ยังคงรักษาการต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด” นายทวิสันต์กล่าว

นายทวิสันต์กล่าวอีกว่า ตอนนี้หลายจังหวัดก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากรับสมัครแล้ว ก็จะมีการเปิดอบรมผู้สมัคร เพื่อให้รู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้บ้าง เช่น ที่ จ.นครราชสีมา ก็จะมีการเชิญผู้สมัคร ส.ว.ไปอบรมในวันที่ 19 พ.ค.นี้ และที่สำคัญประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ก็เป็นปัญหาอีก เพราะนอกจากจะต้องเสียเงิน 2,500 บาทแล้ว ยังต้องมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปด้วย แต่ถ้าเลือกตั้ง ส.ส. อายุครบ 18 ปีก็เลือกตั้งได้แล้ว ทำให้มีคำถามว่าการเลือกตั้ง ส.ส. กับ ส.ว. มีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งที่การเลือกตั้งทั้ง 2 อย่างนี้ควรจะให้มาจากเสียงของประชาชนทั่วไป ยิ่งเป็น ส.ว.ซึ่งเรียกว่าเป็นสภาสูง หรือสภาผู้ทรงคุณวุฒิด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องคัดสรรคนที่มีคุณภาพมากกว่า ส.ส.ด้วยซ้ำ ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้ว คงจะต้องมีการร้องเรียนกันมากมายตามมา จนเป็นเหตุให้ ส.ว.ชุดเดิมต้องรักษาการไปยาวๆ เลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image