‘ดุจดาว’ นักจิตบำบัด พร้อมลงสนาม ส.ว.

‘ดุจดาว’นักจิตบำบัด พร้อมลงสนาม ส.ว.
ดุจดาว วัฒนปกรณ์

ดุจดาว วัฒนปกรณ์
นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

เป็นศิลปินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 อยู่ในกลุ่มละคร บี-ฟลอร์ เธียเตอร์ (B-Floor Theatre) กับนายธีระวัฒน์ มุลวิไล และคุณจารุนันท์ พันธชาติ ที่เราก็ทำละครเวทีกันมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน และก็เป็นศิลปินทางด้านการแสดงด้วย ที่ตัดสินใจลงสมัครในกลุ่มศิลปิน เขตกรุงเทพมหานครเลยเพราะ 1.เป็นอาชีพที่ยาวนานที่สุดของเราเป็นความเชี่ยวชาญอย่างสูงมาก 2.จะมีพื้นที่ใดๆ ที่เป็นเรื่องของศิลปะ เรื่องของศิลปิน ที่คิดว่าอยู่ตรงนี้ในฐานะศิลปินมานาน ทำให้มีความเข้าใจในพื้นที่ รวมถึงในมุมมองของเรื่องงานศิลปะต่างๆ นานา แต่ว่าก็ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะเพียงอย่างเดียวที่ตัดสินใจลง ส.ว. เพราะจริงๆ แล้วกลุ่ม บี-ฟลอร์ เธียเตอร์ (B-Floor Theatre) เป็นกลุ่มละครที่ทำการแสดงในประเด็นทางสังคมมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นคนที่หยิบประเด็นทางสังคมที่เบากว่าคนอื่นในกลุ่ม เพราะสนใจในเรื่องของจิตวิทยาเอียงมาทางมนุษย์ค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ว่าเรื่องมูฟเมนต์ทางการเมือง ประเด็นทางสังคมต่างๆ เป็นเรื่องที่พวกเรากลุ่มศิลปินด้วยกันคุยและจับตามองกันอยู่เสมอ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวขนาดนั้น พอเห็นว่ามีพาร์ตหนึ่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองได้ ทำให้ตัดสินใจได้ทันที

สำหรับความเห็นต่อกติกาการลงสมัครครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า มันเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนค่อนข้างสูงมากอย่างเห็นได้ชัด รู้สึกว่าไม่ค่อยโอเค แต่ด้วยอำนาจที่มีไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จำกัดการเข้าถึงของประชาชนหลายล้านคน ทำไมคนที่อายุไม่ถึง 40 ปีถึงไม่มีสิทธิเลือก ส.ว. เพราะว่า ส.ว.มีส่วนเป็นกลไกสำคัญทางการเมืองที่คอยถ่วงดุล ตรวจสอบ จริงๆ แล้วมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกตลกปนละเหี่ยใจ ในส่วนของข้อบังคับที่ไม่ให้มีการประชาสัมพันธ์ตัวเองนั้น มีความคิดเหมือนกับเรื่องกติกา คือนอกจากกันคนหลายส่วนไม่ให้มีการเข้าถึงแล้ว สำหรับคนที่เข้าถึงได้มีการกันสิทธิไม่ให้ประชาสัมพันธ์ อันนี้ยิ่งไม่เข้าใจ แล้วคิดว่าอาจทำให้อำนาจของประชาชนที่อย่างน้อยมีสิทธิเข้ามาสมัคร ถูกลิดรอนปนลิดรอน แล้วก็บวกลิดรอนไปเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกน่าเบื่อ น่ารำคาญใจ แต่ถามว่าเซอร์ไพรส์ไหม ก็ต้องตอบว่าไม่สักเท่าไร

สำหรับเรื่องการแก้ไขที่มีหลายๆ ฝ่ายเข้าไปยื่นเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้แก้ไขกฎกติกาในการประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเจตนารมณ์หรือเจตจำนงว่าเขาจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอะไร จริงๆ แล้วเจ๋งมากที่ทาง We Watch เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย เข้าไปร้องเรียนให้ปรับกติกาตรงนี้ถ้าปรับได้คงจะดี เพราะว่าเอาจริงๆ ถ้าสมมุติว่าเราเข้าไปเป็นผู้มีสิทธิที่จะไปหย่อนคะแนนให้ใคร อยากจะรู้จักคนเหล่านั้นให้ทะลุปรุโปร่ง หรือมีข้อมูลให้มากที่สุด อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ แต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไม ถึงไม่ให้มีการประชาสัมพันธ์ ในส่วนของการที่ต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาทนั้น มันเป็นการกีดกันตรงๆ อยู่แล้ว แต่ว่าด้วยเรื่องถูกหรือแพง เอาจริงๆ เป็นเรื่องของปัจเจกและมุมมอง โดยมองว่าอาจจะจ่ายได้ 2,500 บาท รู้สึกว่ามันมีราคาประมาณหนึ่งเพื่อที่จะแค่เข้าไปเลือกตั้งและใช้สิทธิ สามารถจ่ายได้ แต่ถามว่าแพงไหม รู้สึกว่าแพงเหมือนกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ส.ว.ชุดใหม่ที่กำลังจะมาถึง ส่วนตัวก็คาดหวังกับบทบาทมากกว่า ว่าจะทำให้เกิดกลไกของ ส.ว.จริงๆ อย่างที่ควรจะเป็น คือฟังก์ชั่นสักที เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้ฟังก์ชั่น เนื่องจากตัว ส.ว.แปลกๆ ที่มาของการมาเองก็แปลกๆ ฟังก์ชั่นที่ควรจะเป็นและพึงจะทำก็ไม่ได้เกิด ดังนั้น ครั้งนี้โอเค ถึงแม้จะมีกติกาที่แปลก ไม่เป็นไร แต่คาดหวังว่าประชาชนจะรู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพมากกว่านี้ และเป็นตัวแทนของประชาชนได้มากกว่านี้ เพื่อจะได้ขยายความ คำนึงถึงสิ่งที่กำลังจะออกมา กำลังจะผลักดัน หรือกำลังจะเป็นไป ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ

ทั้งนี้ จะเป็น 1 คนที่ไปเลือกตั้งและคิดว่าอีกหลายคนที่ไปเลือกตั้ง เราไปแล้วเราก็เคารพกติกา หลายคนพยายามที่จะแบบใช้สิทธิเท่าที่มี พอผลมันออกมาแล้วมันถูกปรับให้เป็นอีกแบบโดยระบบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รู้สึกเจ็บเหมือนโดนตบหน้า ทำให้รู้สึกว่าเราไม่มีสิทธิหรือคุณค่าเลย ทั้งที่จริงๆ เรามี

ส่วนตัวมองว่า ส.ว.ควรจะทำหน้าที่ตามเป้าหมายที่บอกว่า ดูเรื่องของการผ่ารัฐธรรมนูญ เช็กความสมดุล อะไรก็ว่าไป แต่ว่าการที่มาบีบเสียงของคนที่เลือกตั้ง ก็ไม่ไหวเหมือนกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image