สิริพรรณ ชวนเอาชนะระบบ ปลุกลงสนามชิง ส.ว. ทวงสัญญา กกต. เปิดจำนวนใบสมัคร

สิริพรรณ แนะกกต.ผ่อนปรนให้ผู้สมัครแสดงจุดยืน หวังทำตามสัญญาเผยจำนวนใบสมัคร เชื่อหน้าตาส.ว.ชุดนี้ดีกว่าเดิม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ร.103 (ห้องทวี แรงขำ) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ We Watch จัดงาน เสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “ประชาชนจะสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 67 ได้อย่างไร” โดยมี อาจารย์ ดร. ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว The Reporters และ ศาสตราจารย์ ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นางสาวอินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล ผู้สื่อข่าว The 101 World

ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า การที่ทางกกต.ได้มีการแก้ไขระเบียบ สะท้อนว่ามีการขับเคลื่อนด้วยการเรียกร้อง แสดงว่าเมื่อประชาชนเรียกร้อง กกต.ก็สะดุ้ง ทำให้สะท้อนว่าการเมืองในยุคปัจจุบันไม่ใช่ยุคไพร่ฟ้าหน้าใส ที่จะยอมรับอะไรก็ได้ที่เป็นระเบียบไม่สมเหตุสมผล

“การที่กกต.รับฟังความ จนนำมาสู่การปรับระเบียบนิดหนึ่ง ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัย มองในแง่หนึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ต้องบอกว่าที่ผ่านมาระเบียบเดิมสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวว่าจะทำผิดระเบียบ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ที่อาจจะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งได้ง่าย กกต.ก็มีการผ่อนปรนลงมาให้สามารถเผยแพร่ทางออนไลน์ได้ แต่ที่หนักไปกว่านั้น คือโทษที่ได้รับไม่สมเหตุสมผล คือ สัดส่วนของการกระทำที่อาจจะไม่ได้เจตนามีความรุนแรงเกินไป ทำให้สร้างบรรยากาศของความกลัว หรือกกต.มาข่มขู่ว่าทำอย่างนู้นไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ได้ยินมาว่าผู้สมัครบางท่านอารยะขัดขืน เพื่อที่จะทดสอบระเบียบนี้ แต่เชื่อว่าถ้ากกต.ฟังเราอยู่ สามารถที่จะแก้ระเบียบให้ผ่อนคลายในบรรยากาศแห่งความกลัวได้” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า หลายเรื่องรวมถึงวิธีการได้มาของส.ว. ที่เป็นการเลือกกันเอง ไม่ใช่การเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำแบบนี้ ระเบียบมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กกต.สามารถทำให้ระเบียบนั้นเอื้อให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการได้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ออกแบบระบบที่ทำให้มีการเลือกกันเองเช่นนี้ ต้องการตัดทอนพรรคการเมืองออกจากกระบวนการเข้าสู่กระดานแห่งอำนาจ จึงไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ให้ประชาสัมพันธ์ หรือแสดงจุดยืนของตนเอง อีกทั้งมีการตัดประชาชนจากการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ ซึ่งถ้าจะมีส่วนร่วมได้ต้องจ่าย 2,500 บาท ทำให้กระบวนการเหล่านี้มันเอื้อต่อการให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ โดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญด้วย

“ที่ผ่านมาระเบียบเดิมกกต.ทำนอกรัฐธรรมนูญในบางเรื่อง เช่น การกีดกันไม่ให้ประชาสัมพันธ์ หรือไม่ให้สื่อสัมภาษณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระเบียบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสิ่งที่กกต.จะทำได้ ณ ตอนนี้ คือการปรับระเบียบให้เหนือรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ

จริง ๆ แล้วในฮ่องกงก็มี ส.ว.30 กลุ่มอาชีพ แต่ความต่างกันก็คือ กลุ่มอาชีพที่เขาได้มา คนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพนั้น หรือองค์กรอาชีพนั้นเป็นคนเลือก มิใช่เฉพาะผู้สมัครเป็นคนเลือก เพราะฉะนั้นผู้เลือกในแต่ละกลุ่มอาชีพก็จะมีเป็นแสนคน ไม่ใช่จ่ายเฉพาะ 2,500 บาทแล้วไปเป็นผู้เลือก” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อไปว่า จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนการมีส่วนร่วมของประชาชนและลงโทษประชาชนอย่างมาก ประเด็นนี้จึงอยากจะบอกว่า ประชาธิปไตยต้องการพวกเรา และระบบแบบนี้เราทราบว่าเขาออกแบบมาเพื่อกันเรา

“นอกจากการอารยะขัดขืนแล้วเรามาช่วยกันเอาชนะระบบนี้ไหม มาช่วยกันลงสมัครให้มากขึ้น เราก็ยังมีความหวังว่าอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ประชาชนอยากจะตื่นตัวมากขึ้น

ประเด็นแรก คือ ในตอนนี้กกต.ไม่ยอมเผยแพร่จำนวนใบสมัครที่รับไป ซึ่งกกต.ได้สัญญาไว้ว่าจะเผยแพร่ นอกจากนี้ยังมีสัญญาไว้ว่าถ้ามีผู้สมัครครบแล้ว จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่ามีใครสมัครเขตใดบ้าง สิ่งนี้คือกระบวนการที่เราจะต้องเรียกร้อง และหวังว่ากกต.จะทำตามสัญญา

ประเด็นที่สอง คือ เชื่อมั่นว่าหน้าตาของส.ว.ชุดนี้จะดีกว่าส.ว.ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง ถึงแม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับระบบในการได้มาที่รันทดและคุกคาม แต่เชื่อว่ามันเป็นระบบที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้พอสมควร ซึ่งต่างจากระบบของคสช.เป็นคนหยิบมา ดังนั้นในครั้งนี้ไม่มีเงาทะมึนของคสช.แล้ว จึงเชื่อว่าจะได้ส.ว.ที่หน้าตาดีกว่าเดิม แต่ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีผู้สมัครเข้ามาอยู่ในตะกร้าของการเลือกมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวรัฐธรรมนูญออกแบบเพื่อให้ส.ว.ดี เด่น ดัง แต่ในที่สุดแล้วสิ่งที่จะได้เบื้องต้นเชื่อว่าจะได้ส.ว.เด่นและดัง ซึ่งในบางอำเภอ อาจจะไม่ได้มีผู้สมัครครบตามกลุ่มอาชีพ ก็จะผ่านมาที่ระดับจังหวัดที่มีบ้านใหญ่ แต่ในระดับประเทศซึ่งเป็นระดับสุดท้าย เมื่อเลือกกันเองในระดับกลุ่มอาชีพ และมีการเลือก ไขว้ ถ้าเกิดไม่เปิดโอกาสให้แสดงตัวตน หรือจุดยืนทางการเมือง เหมือนกับว่าเราต้องสั่งสมคุณงามความดีมาแล้ว แต่ความดีคืออะไร ดังนั้นสิ่งที่อยากให้กกต.ผ่อนปรน คือ ในใบแนะนำตัว ควรที่จะสามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้ อาทิ การแก้รัฐธรรมนูญ จุดยืนในการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ เนื่องจากเสรีภาพการสื่อสารในการแสดงออกเหล่านี้จะได้กลายเป็นส.ว.ที่ได้มาในฐานที่มีเหตุมีผล” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวด้วยว่า ถ้าระบบนี้มีความไม่เป็นธรรมอยู่แล้วในแง่ที่ว่า ถ้าดูกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จะเป็นกลุ่มข้าราชการไปแล้ว 4 กลุ่ม คือ 40 คน ในขณะที่กลุ่มคนเล็ก คนน้อย อย่างเกษตรกร มี 2 กลุ่ม ผู้ใช้แรงงานมี 2 กลุ่ม และกลุ่มคนพิการ หรือคนกลุ่มน้อย อีก 1 กลุ่ม สัดส่วนประมาณ 50 : 200 ซึ่งเป็นสัดส่วนของความไม่เป็นธรรมในแง่ประชากร อีกทั้งยังเกิดความไม่เป็นธรรมในกระบวนการแนะนำตัวเอง ถ้ากกต.จะทำให้เป็นธรรม ทำให้แต่ละคนออกมาแนะนำตนเองผ่านสื่อได้หรือไม่ เพื่อที่จะให้ผู้สมัครเองและประชาชนตรวจสอบได้ด้วย

“ในตอนนี้กกต.ยอมผ่อนปรนให้สื่อและกลุ่มต่าง ๆ เข้าไปสังเกตการณ์ได้ โดยจะมีกล้อง cctv และมีพื้นที่ให้องค์กรภาคเอกชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้ในระดับประเทศ ในส่วนระดับอำเภอ และระดับจังหวัดอยู่ภายใต้มหาดไทย” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าทำไมประชาชนอย่างเรายังต้องจับตาดูและให้ความสำคัญกับการเลือกส.ว.ในครั้งนี้

ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า เหตุผลเบื้องต้น ประการแรก คือ เพราะส.ว.ได้เงินเดือนมาจากภาษีของเรา ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ดูว่าภาษีของเราที่จ่ายเงินเดือนให้เขามันคุ้มไหม ประการที่สอง ส.ว.เป็นคนทำหน้าที่ ถึงแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนโดยตรง แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนไม่ต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ดังนั้นอำนาจของส.ว. ในระบอบรัฐสภาไทยให้ส.ว. มีอำนาจน้อยกว่าส.ส. คือ ไม่ได้มีการเลือกรัฐมนตรี เพียงแต่ว่านำรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปใส่เอาไว้ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งร่างมาโดยคนเดียวกัน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ไปเพิ่มอำนาจให้ส.ว.
อำนาจที่สอง คืออำนาจการออกกฎหมาย ส.ว. มีอำนาจยับยั้งไม่มีอำนาจในการเสนอ ถ้าเป็นกฎหมายของงบประมาณก็ไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่ว่ามีอำนาจในการพิจารณากฎหมาย แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถชะลอไว้ได้ และอำนาจที่สำคัญ คือ อำนาจการรับรององค์กรอิสระ ที่ผ่านมาส.ว.ใช้อำนาจนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งสอดคล้องกับอำนาจที่แต่งตั้งเขามา ตราบใดที่ส.ว.กินเงินเดือนเรา เราคงต้องทำหน้าที่นี้

“ด้วยระบบการเลือกส.ว.กันเองแบบนี้ ในที่สุดเราอาจจะไม่ได้มีตัวแทนส.ว.จากทุกจังหวัด ดังนั้นในแง่นี้ก็ต้องคิดว่าเขาไม่ได้ออกแบบมาให้ทุกส.ว.เป็นตัวแทนในเชิงพื้นที่ และสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องกระบวนการที่ได้มา ในระดับอำเภอจะมีประมาณ 900 กว่าเขต แน่นอนว่าคงไม่มีสื่อไปจับจ้องหรือตรวจสอบในทุกอำเภอ ถึงแม้ว่าจะมีกล้อง cctv ให้ดูก็ตาม เราพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมคนถึงสนใจรับใบสมัครน้อยประมาณ 17,000 คน หลายคนอาจจะคิดว่าไม่สามารถฝ่าบ้านใหญ่หรือกลุ่มจัดตั้งได้ ซึ่งอยากให้ลองสมัครกันดู ในส่วนเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ก็จะถูกส่งเข้าไปอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image