คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ‘Parasite’ หนังรางวัลระดับพิชิตแกรนด์สแลม สู่หนัง ‘ขวัญใจมหาชน’

แม้จะดูน่าตื่นเต้นตั้งแต่ “Parasite” ผลงานภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ของผู้กำกับ “บงจุนโฮ” ชนะปาล์มทองคำที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ พร้อมการยืนปรมมือให้ยาวนานถึง 8 นาที พ่วงด้วยหนังเรื่องนี้ตระเวนไปกวาดรางวัลเวทีต่างๆ ทั่วโลกมาร่วม 200 รางวัล และคว้ารางวัลใหญ่ตั้งแต่ “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซิดนีย์ “ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมิวนิกจนมาถึงเทศกาลหนังเมืองคานส์ ลูกโลกทองคำ บาฟต้า สมาคมนักแสดงของอเมริกา และล่าสุดกับออสการ์

ตลอดระยะทางสายประกวดรางวัลทางภาพยนตร์ “Parasite” คือหนังที่ถูกเชียร์และเทใจให้มากที่สุดเมื่อมาถึงช่วงการมอบรางวัล Academy Award หรือ “ออสการ์” ในปีนี้ กระแสกองเชียร์ของหนังยิ่งเสียงดังตลอดทาง

กระทั่งที่สุดเมื่อหนัง “ขวัญใจมหาชน” เรื่องนี้สามารถคว้ารางวัลออสการ์ 4 รางวัลสำคัญ และสร้างสถิติใหม่ให้กับออสการ์ ความน่าตื่นเต้นจึงยิ่งถูกขยายผล เพราะนอกจากจะคว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแล้ว หนังยังเดินหน้าคว้ารางวัลสำคัญอื่นๆ จากเวทีนี้ด้วย คือ “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม”, “ผู้กำกับยอดเยี่ยม”, “บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม” เป็นการคว้า 4 รางวัล จากการเข้าชิงทั้งหมด 6 รางวัล

ก่อนหน้าจะคว้ารางวัลออสการ์ “Parasite” ทำรายได้ทั่วโลกราว 165 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่น่าสนใจหนังเรื่องนี้ได้สร้างสถิติเป็น “หนังรางวัล” ที่มีคนดูมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

Advertisement

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องพูดถึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “Parasite” เพราะแม้หนังจะคว้ารางวัลตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับท็อปๆ จนได้รับการชื่นชมยกย่องมาแล้ว แต่การที่หนังเรื่องนี้ก้าวหน้ามาจนถึงได้ทั้งรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม พ่วงด้วยภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ ก็ต้องบอกว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของออสการ์ ที่มอบให้กับหนังภาษาต่างประเทศชั้นดีเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาออสการ์มักจะขีดเส้นกั้นระหว่างหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม กับรางวัลหลักอื่นๆ ออกจากกัน

แต่ “Parasite” ภาพยนตร์ต่างประเทศจากเกาหลีใต้ได้ผนวกรวมรางวัลหลักอื่นๆ เข้ามาในความเป็นหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งแน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นได้บ่อย และยิ่งเมื่อเป็นหนังจากฟากเอเชียด้วยแล้ว

Advertisement

กระนั้นปรากฏการณ์บนเวทีรางวัลของ Parasite แง่หนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่าทั้งองคาพยพของ “อุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้” เองด้วยว่าเข้มแข็งและมีพลังพอที่จะส่งหนังชั้นดีออกมาสู่สายตาชาวโลกและกวาดรางวัลใหญ่ๆ ในระดับนานาชาติได้ ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้มีระบบสตูดิโอหนังที่แข็งแกร่ง มีบุคลากรชั้นเยี่ยม ทุนสร้างหนังมหาศาล และบาลานซ์ได้ดีทั้งกับหนังอาร์ตและหนังกระแสหลัก รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ เปิดโอกาสให้คนทำหนังได้สร้างสรรค์ผลงานที่เชื่อมโยงกับคนดูทั่วโลก

“ผมคิดว่าวิธีที่จะแสดงภาพของชนชั้น และความไม่เท่าเทียมในสังคมได้คือทำออกมาเป็นหนังตลกปนเศร้า เราอยู่ในยุคสมัยที่ทุนนิยมเรืองรองและไม่มีทางเลือกอื่น ไม่เพียงแค่ในเกาหลี ทั่วทั้งโลกต่างเจอปัญหานี้ ไม่สามารถเพิกเฉยต่อระบบทุนนิยมได้…สังคมทุนนิยมทุกวันนี้มีชนชั้นและวรรณะซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เราแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น ปล่อยปละละเลย และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับลำดับชั้นทางสังคมที่ตกทอดมาตั้งแต่ในอดีต แต่ความจริงคือมันมีเส้นแบ่งทางชนชั้นที่ไม่สามารถข้ามได้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นรอยแยกดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นระหว่างชนชั้น เป็นปัญหาซึ่งกันและกัน และยิ่งห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมทุกวันนี้” บงจุนโฮให้สัมภาษณ์ไว้ถึงหนังเรื่องนี้ไว้

ปรากฏการณ์ของภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” ต้องบอกว่า “นานๆ ทีมีหน” บ่อยครั้งที่หนังรางวัล หรือหนังที่ได้รางวัลตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับท็อปๆ (ไม่นับออสการ์) มักจะเป็นหนังที่มีความเฉพาะบางอย่าง หลายครั้งสารจากหนังจะไม่เด่นชัดนัก ต้องถอดรหัสตีความ ขณะเดียวกันตัวหนังมักดำเนินเรื่องราบเรียบ ไคลแมกซ์เหมือนไม่ไคลแมกซ์ หนังมีความนิ่งสูงมาก ไปจนถึงบางเรื่องดูจนจบยังไม่เข้าใจได้กระจ่างนัก เนื่องจากหนังมีนัยยะที่ชวนให้ต้องตีความ และบ้างก็ดูไม่สนุกในทางบันเทิงเท่าใดนัก

แต่หากถอดรหัสในแง่ “ความนิยมระดับมหาชน” ของหนังเรื่องนี้ จะพบว่า 1.นี่คือหนังที่พูดประเด็นที่ “โลกกำลังสนใจ” นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” 2.เป็นภาพยนตร์ที่ “สื่อสารตรงไปตรงมา” เข้าใจเรื่องได้ง่าย 3.ความเป็นหนังรางวัลที่เล่าเรื่องได้ชวนระทึก ดราม่าและสนุก 4.มีพล็อตเรื่องที่ชวนติดตามไปจนจบ ซึ่งหนังเอาคนดูอยู่หมัด และหากต้องเพิ่มความนิยมสำหรับคนไทย จึงมีข้อที่ 5.เป็น “ความบันเทิงจากเกาหลี” ที่กว่าทศวรรษมานี้

คนไทยเสพคอนเทนต์บันเทิงจากเกาหลีเป็นลำดับต้นๆ หนังเกาหลีจึงเรียกคนดูชาวไทยได้มากเป็นทุน ผนวกกับเมื่อมาเจอว่าเป็น “หนังคุณภาพ” จึงยิ่งแนะนำให้ไปดูกันเป็นลูกโซ่ 6.ประเด็นทางสังคมใน Parasite ไปจนถึง

คาแร็กเตอร์ตัวละครสังคมในเกาหลี วิธีคิดของตัวละครทั้งกลุ่มคนชั้นบนผู้มีฐานะ กับกลุ่มชนชั้นล่างผู้พยายามดิ้นรนหาโอกาส ไม่ได้ไกลจากสังคมที่เราอาศัยและได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ เพราะมันแทบจะคล้ายกันนั่นเอง

ขณะที่ในสเกลระดับโลกปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดประเด็นเชิงเปรียบเทียบทางชนชั้น มักจะ “เรียกร้องความสนใจ” จากคนดูได้ดีอยู่เสมอ ผนวกด้วยวิธีเล่าเรื่องของ “Parasite” ที่น่าติดตาม “บงจุนโฮ” จึงเอาคนดูทั้งโลกอยู่หมัดในภาพยนตร์ของเขาเรื่องนี้ เขาได้ใส่ส่วนผสมของหนังดูสนุก เล่าเรื่องจริงจัง จับแก่นสาระสำคัญมาตีแผ่ ทั้งพล็อต การแสดง บทภาพยนตร์ งานภาพที่มีการใช้องค์ประกอบทางภาพเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำได้คมชัดที่สุด

บง จุน โฮ ผู้กำกับปรสิต (รอยเตอร์)

“บงจุนโฮฉลาดในการกรีดเข้าไปในหัวจิตหัวใจคนดูด้วยหนังของเขา พร้อมกับอารมณ์ขันแบบขื่นๆ ที่ผสมมาด้วยความดราม่า” นี่คือคำยกย่องต่อภาพยนตร์เรื่องนี้

“Parasite” จึงกลายเป็นทั้งความบันเทิงและอาวุธที่ใช้พูดประเด็นสังคมได้อย่างทรงพลัง

ในค่ำคืนของการมอบรางวัลออสการ์ เมื่อ “บงจุนโฮ” กล่าวสดุดีรางวัลนี้ให้กับเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์คนอื่นๆ ที่ถูกเสนอชื่อเข้าแข่งขันร่วมกับเขาอย่างนอบน้อม และให้เกียรติ พร้อมด้วยการกล่าวทิ้งท้ายว่าเขาจะดื่มฉลองให้กับรางวัลออสการ์จนถึงรุ่งเช้านั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าที่ “บงจุนโฮ” เคยกังวลว่าหนังของเขาอาจจะเข้าไม่ถึงคนดูฝั่งตะวันตก เพราะบริบททางวัฒนธรรมแตกต่างกันนั้น จึงเป็นอันชัดเจนว่า การพูดเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” คือประเด็นร่วมของสังคมโลกเวลานี้

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : 6 ข้อที่ ‘Parasite’ กลายเป็นหนังรางวัล ‘ขวัญใจมหาชน’
บอง จุน โฮ ผู้กำกับปรสิต “เสียดสีเก่ง” ขนาดออสการ์ยังยอม !!!

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image