สุจิตต์ วงษ์เทศ : ร.5 เสด็จอยุธยา ทุ่งหันตรา นาหลวง

วัดหันตรา (หน้าวัดปัจจุบัน) หันเข้าหาถนนทางทิศตะวันออก มีถนนคอนกรีตเข้าวัด ทับพื้นที่ ข้างพระอุโบสถด้านใต้ ซึ่งน่าจะเคยมีพระที่นั่งและหมู่ตำหนัก

ทุ่งหันตรา นาหลวง สมัยอยุธยา เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะ (1.) เจ้าสามพระยา มีพิธีเบิกโขลนทวาร (2.) ที่ประสูติพระบรมไตรโลกนาถ (3.) ที่นวดข้าวของนาหลวงสมัยพระเจ้าบรมโกศ

ผมเคยเขียนเล่าไว้ใน มติชน (ฉบับวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 หน้า 13) ต่อมามีผู้บอกเพิ่มเติมพร้อมส่งหลักฐานเป็นสำเนาเอกสารว่า ร.5 เคยเสด็จวัดหันตรา ทอดพระเนตรนาหลวงเมื่อ พ.ศ.2442 หลังจากนั้นต่อมาอีก 10 ปี บริเวณนาหลวง ทุ่งหันตรา มีพิธีแรกนาขวัญ เมื่อ 25 เมษายน พ.ศ.2452

ย้อนอ่าน : สุจิตต์ วงษ์เทศ : เที่ยวทุ่งหันตรา อยุธยา นาหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน

ร.5 เสด็จนาหลวง อยุธยา

ราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2442) บันทึกว่า ร.5 เสด็จจากบางปะอินโดยรถไฟถึงอยุธยา เมื่อตอนบ่ายวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2442 แล้วเสด็จตลาดหัวรอ จากนั้นลงเรือพระที่นั่งจากท่าพระราชวังจันทร์เกษมล่องตามแม่น้ำป่าสักเข้าทางคลองปากข้าวสาร (วัดเกาะแก้ว) ซึ่งมีคลองเชื่อมไปคลองข้าวเม่าและคลองหันตรา เสด็จประทับที่วัดหันตรา ในราชกิจจานุเบกษามีข้อความโดยสรุปว่า

Advertisement

วัดหันตราเป็นวัดหลวงครั้งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หลังวัดออกไปข้างตะวันออกมีเนื้อนา 700 ไร่เศษ เป็นนาหลวงแต่เดิมมาจนกาลบัดนี้

วัดหันตรา สมัยอยุธยา หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าหาคลองหันตรา ส่วนหลังวัดไปทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่นาหลวง (แต่ปัจจุบันมีถนนผ่านทางทิศตะวันออก จึงเปลี่ยนหน้าวัดหันเข้าหาถนน ส่วนหลังวัดเข้าหาคลอง)

“มีพระที่นั่งเป็นที่ประทับพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ข้างพระอุโบสถด้านใต้”

Advertisement

“พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาประทับทอดพระเนตรการทำนา และเกี่ยวข้าว นวดข้าว ลากข้าว…มีที่สำหรับทรงลากรันแทะยังปรากฏอยู่ที่เรียกว่าแถวรับเสด็จมาจนบัดนี้เป็นช่องอันนายาวตรงออกไปในเวลาเมื่อเสด็จมาทอดพระเนตรการทำนา คงจะได้ประทับอยู่ในที่พระที่นั่งอันตั้งอยู่ใกล้พระอุโบสถ เพื่อเป็นที่ทอดพระเนตรพระอารามอันได้ทรงสร้างขึ้นให้เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาด้วย”

“และต่อพระที่นั่งออกไปคงจะมีตำหนักน้อยใหญ่อันชำรุดทรุดโทรมสูญหายไปเสีย คงเหลืออยู่แต่พระที่นั่ง เพราะเป็นพระที่นั่งตึก”

ข้อความในราชกิจจานุเบกษาที่ยกมานี้สำคัญมาก เป็นพยานว่าสมัยอยุธยาเคยมี (1.) พระที่นั่งตึกและหมู่ตำหนักที่ประทับ กับ (2.) แนวคันนา (อันนา) ยาวจากวัดตรงออกไปนาหลวง

ทุกวันนี้ผมไปหลายรอบเดินสำรวจวัดหันตรา แต่ยังค้นไม่พบ และสอบถามแถบนั้นหลายคนก็หาคำตอบไม่ได้ ยังคิดไม่ออกจะพึ่งพาใคร เพราะสอบถามผู้ใหญ่ในกรมศิลปากรก็ยังไม่เคยมีรายงานการสำรวจตรวจสอบเรื่องนี้

ท้องถิ่นมี สตอรี่ งดงามขนาดนี้ ไฉนไม่มีใครสนใจเชิญชวนคนไปเที่ยวบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image