‘ไฟเรามันไม่มอดอยู่แล้ว’ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ไม่หยุดตามหาป่าที่สูญหาย กางประวัติศาสตร์ (แห่งการทำลาย)

“เมื่อเราย้อนไปมองการพัฒนาที่ผ่านมา ประเทศอาจจะดีขึ้น GDP ดีขึ้น แต่เราไม่เคยพูดถึงอีกด้านหนึ่ง เราไม่เคยพูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ล้มหายตายจากไประหว่างการพัฒนา”

ประโยคเริ่มชวนขบคิดหันมองมุมสิ่งแวดล้อมอย่างลงลึก เพ่งลงมาจนเห็นถึงวงเล็บที่ซุกซ่อน (การทำลาย) ท่ามกลางเรื่องราวการพัฒนาอันก้าวหน้า จากปากคำของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนและสื่อมวลชนรุ่นใหญ่ ผู้ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเนิ่นนานกว่า 3 ทศวรรษ สัมผัสป่ามาแทบทุกหนแห่งในประเทศ

จับปากกาเขียนผลงานล่าสุด ‘The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร’ อีกเล่มคุณภาพของสำนักพิมพ์มติชน

นับเป็นผลงานสุดร้อนแรง แข่งกับอุณหภูมิของโลกที่พุ่งสูงขึ้น จนแตะเพดานเข้าขั้นวิกฤต

Advertisement

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังเป็นคอนเซ็ปต์เข้าใจไม่ง่าย แต่ไม่รอดพ้นสายตาของ ด.ช.วันชัย หรือ ‘จอบ’ เด็กหัวแข็งอายุราว 13 ปี ที่เติบโตในครอบครัวคนจีนโพ้นทะเล มาอาศัยอยู่ละแวกสีลม ย่านใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมวีรกรรมสุดซ่า แอบกระโดดขึ้นรถออกไปทำค่ายอาสา สร้างโรงเรียนในพื้นที่ชนบทอันห่างไกล

“โลกชนบทกับโลกในกรุงเทพฯ มันต่างกันลิบลับ แล้วอะไรที่ทำให้มันเป็นขนาดนี้ นั่นคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำใช่ไหม แต่ว่าในอดีตเราไม่รู้หรอกว่า ทำไมคนจนในชนบทถูกเอาเปรียบขนาดนี้ เป็นหนี้เป็นสินตลอด

Advertisement

ไม่คิดว่าจะมีโลกของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่จนมากเลย แต่เขาก็ใจดีกันมากนะ น้ำใจเยอะ ทั้งที่อยู่กันอย่างแร้นแค้น”

เปิดฉากชีวิตฉายภาพความลำบาก ยากจนข้นแค้น ของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และป่าไม้ถูกตัดทำลายจนเหี้ยนเตียน จนสร้างความรู้สึกเจ็บช้ำที่เขารับรู้ได้ในวันนั้น แม้ว่ายังไม่สามารถอธิบายถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเข้าใจโลกได้มากนัก แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้น และเมล็ดพันธุ์ เรื่องราว ‘ชีวิตคนชายขอบ’ ที่ฝังเอาไว้ในทรรศนะมาตั้งแต่บัดนั้น รอวันเติบโตออกดอกออกผล รอนับวันลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของสังคม

จนได้เข้าร่วมกองบรรณาธิการ อัสสัมชัญสาส์น ตั้งแต่วัยมัธยม ด้วยไฟที่อยากลงมือทำนิตยสาร ถ่ายทอดความคิดของตัวเอง เพื่อเพื่อนร่วมรุ่นเข้าใจโลก เข้าใจสังคมมากขึ้น ซึ่งเรื่องราวธรรมชาติก็เริ่มตกผลึกก่อตัว เป็นเรื่องที่สนใจอย่างหนักแน่นขึ้น จวบจนขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสารสารคดี ที่ปักหลักชูประเด็นเรื่องธรรมชาติมาตั้งแต่วันแรก นำชีวิตมาสู่เส้นทางการเข้าป่า ที่ยิ่งเข้าไปลึกยิ่งหลง (ใหล)

ประสบการณ์จากการลงพื้นที่หลายร้อยแห่ง โดยเฉพาะครั้งการช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่การสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ที่ได้ร่วมงานกับ สืบ นาคะเสถียร ได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้งจนถึงขั้ว ผนวกกับการชื่นชอบแนวทางการทำงาน นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่ตื่นตัว กล้าพูดเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม กล่อมเกลาจนกลายมาเป็น ‘วันชัย เวอร์ชั่นสายชน’

บนเส้นทางชีวิตอันสมบุกสมบัน สั่งสมประสบการณ์ ลุยมาทุกพื้นที่พร้อมขุดคุ้ยเปิดโปงข้อมูล มานำเสนอต่อสาธารณชน เพื่อพูดแทนประชาชน คนที่เสียงไร้อำนาจ โดยที่ไม่เกรงใจรัฐ หรือไม่หวั่นขวางทางนายทุน ผู้บรรจงจรดปากกาเขียนหนังสือ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้วยประสบการณ์ที่เข้มข้นด้วยความสนุก

ถือว่าเป็นการวางอิฐก้อนแรก และปักหมุดหมายสำคัญ ในการจุดประกายความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุ่งเป้าไปที่ผู้มีอำนาจ

 

⦁ จุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม กับ คนชายขอบ?

ตอนอายุ 13 เรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ไปออกค่ายสร้างโรงเรียนในชนบท ที่จังหวัดขอนแก่น แล้วเราก็เห็นการตัดไม้ทำลายป่า ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าสะเทือนใจมาก มีแวบที่อยากเรียนคณะวนศาสตร์เลยนะ แล้วก็เคยเดินขึ้นภูกระดึงแบบไปเช้าเย็นกลับ วัยเด็กเราก็ซ่ามาก ไปไหนก็โบกรถข้างทางไปกันเอง แล้วหลังจากนั้นก็มีโอกาสเดินป่าเยอะ ได้สัมผัสป่ามาเกือบทุกแห่งในประเทศ

สมัยเป็นเด็กต้องเรียกว่า เด็กหัวรุนแรง ก็เป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้ว นึกภาพเด็กอายุ 13-14 ปี ไปออกค่าย หายไปจากบ้าน 20 วัน บอกว่าไปแค่ 3-4 วัน แล้วก็เขียนจดหมายมาว่าขออยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าบอกว่าไป 20 วัน คงไม่มีพ่อแม่คนไหนให้ไป สิ่งที่ทำให้อยากอยู่ต่อ คือ เราเห็นในอีกโลกหนึ่ง มันเป็นโลกที่น่าตื่นเต้น ไม่เคยพบ ไม่เคยเจอ

สมมุติว่าเราอยู่กรุงเทพฯ ทุกอย่างเรารู้สึกว่าปลอดภัยหมด แต่พอไปชนบท โอ้โฮ! ค่ายมันก็เป็นหลังคาสังกะสีกับพื้นดิน มันเป็นเรื่องที่ตื่นตาตื่นใจตลอด ตอนอาบน้ำก็อาบบ่อน้ำสีน้ำตาล สีโอเลี้ยง อาบบ่อเดียวที่มีควายลงมาแช่ หรือเวลาที่จะกินน้ำต้องขุดบ่อลงไป แล้วเอาถังเหล็กหย่อนลงไปตัก

ไม่คิดว่าจะมีโลกของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่จนฉิบหายเลย

 

⦁ เมื่อเห็นโลกชนบทที่ต่างจากที่เคยอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดช่วงนั้นคืออะไร?

มันทำให้เราได้เปรียบเทียบว่าโลกชนบท กับโลกในกรุงเทพฯ ต่างกันลิบลับ แล้วอะไรที่ทำให้มันเป็นขนาดนี้ ถ้าอธิบายด้วยภาษาปัจจุบัน นั่นคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำใช่ไหม ในอดีตเราไม่รู้หรอกว่า ทำไมคนจนในชนบทถูกเอาเปรียบขนาดนี้ เป็นหนี้เป็นสินตลอด แต่สิ่งที่ทำให้ประทับใจ คือ คนพวกนี้เขาโอเคนะ มีน้ำใจสูงมาก ตอนนี้มันก็ยังไม่ต่างจากสมัยก่อนเลย ก็แสดงว่าความเหลื่อมล้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

⦁ ความหนักแน่นเรื่องธรรมชาติ เป็นแนวการทำงานตั้งแต่แรกเริ่มเลยหรือเปล่า?

เรารู้สึกว่าเรื่องธรรมชาติ น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญตลอดกาล พอๆ กับเรื่องประวัติศาสตร์ ชีวิตผู้คน ก็เลยปักหลักเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ยังจำได้อยู่เลยว่าตอนไปช่วยเขาทำสารคดีช่วงแรกๆ ไปลงพื้นที่ตามหาค้างคาว กิตติ ทองลงยา ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก ตัวเท่าผีเสื้อ แล้วมันก็โหดมาก เพราะต้องไต่เข้าไปในถ้ำ แล้วไต่เข้าไปในถ้ำของถ้ำอีกที แล้วต้องจุดไฟแช็กเรื่อยๆ เพื่อทดสอบว่าออกซิเจนเพียงพอหรือไม่

ยิ่งเราลงพื้นที่ ก็ยิ่งเห็นความสำคัญมากขึ้น เห็นว่าปัญหาในสังคมไทยมีเยอะ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไป

⦁ การได้คลุกคลีทำงานร่วมกับบุคคลในตำนานอย่าง สืบ นาคะเสถียร ได้รับแรงบันดาลใจอะไรมาบ้าง?

พี่สืบ เขาอินสไปร์เรามากเลย เขาเป็นคนที่ทำให้เราเห็นว่า ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนมันทำลายสิ่งแวดล้อม คือ มันมีแต่คุณพูดเชิงบวกตลอดว่า ให้ไฟฟ้า ให้น้ำ ให้นู่นให้นี่ แต่ผลกระทบอีกด้านหนึ่ง เราไม่เคยเห็น หรือไม่เคยเป็นข่าว แล้วรัฐก็พยายามที่จะปิดข่าว

การสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานในปี 2529 ทำให้ได้รู้จักพี่กันเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเขาเป็นหัวหน้าโครงการอบรมอพยพสัตว์ป่า เราก็ตามไปทำสารคดีคนแรก ไปอยู่กับแกเป็น 10 วัน และได้ช่วยอพยพสัตว์ด้วย

มันก็เห็นว่าสัตว์ที่พี่สืบช่วยมาได้เป็นพันตัว สุดท้ายก็ตายกันหมด เพราะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมอื่นไม่ได้ ทำให้เห็นเลยว่าการสร้างเขื่อน มันทำลายสัตว์มหาศาลโดยที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

⦁ จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน มุมไหนที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอในสื่อ?

เรามักจะมีคำพูดหนึ่งเสมอว่า ปากท้องต้องอิ่มก่อน แล้วค่อยไปสนใจสิ่งแวดล้อม แต่ชาวบ้านในชนบทเขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขาบอกว่าถ้าเราไม่รักษาสิ่งแวดล้อม เขาจะอดตาย มันเกี่ยวกับปากท้องโดยตรง

ไปคุยกับชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ทะเลสาบสงขลา เขาอนุรักษ์ทะเลหน้าบ้านให้สะอาด อนุรักษ์พันธุ์ปลา ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ทะเลรอบบ้าน พอถามเขาว่าทำไมต้องดูแล ทำไมต้องอนุรักษ์ เขาบอกว่าก่อนหน้านี้น้ำทะเลมันเน่า เขาต้องดูแลไม่ให้น้ำเน่า ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีอะไรจะกิน

ตอนไปคุยกับกะเหรี่ยง หรือปกากะญอที่เชียงราย ซึ่งเขาดูแลรักษาป่าต้นน้ำ อาจจะเรียกว่า ป่าชุมชน ก็ได้ มันมีคุณภาพดี อาจจะมากกว่าอุทยานอีก เขาบอกว่าถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงหมู่บ้านที่อยู่ข้างล่าง ถ้าไม่รักษาป่าเขาจะอดตาย

จะเห็นว่ามายด์เซตคนชนชั้นกลาง กับคนชนบทแตกต่างกัน ฉะนั้นการที่บอกว่า ปากท้องมาก่อน สิ่งแวดล้อมค่อยว่ากัน คนชนบทหลายพื้นที่เขาไม่ได้คิดแบบนั้น

⦁ จุดที่ทำให้ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ ‘The lost forest’ คืออะไร?

บ้านเรามีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เยอะ ทั้งประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม นู่นนี่เต็มไปหมด แต่นึกไม่ออกว่าเรามีหนังสือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเมืองนอกมีเยอะ ประเทศไทยไม่มีเลยนะ

เราอาจจะมีรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำปี แต่อ่านไปก็ไม่อยากอ่าน เพราะมันมีแต่ตัวเลข น้ำเสียเท่าไหร่ นู่นนี่เท่าไหร่ เลยมาคิดว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมันมีในประเทศไทยมานานแล้ว และส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องของการทำลายสิ่งแวดล้อม เลยอยากจะลองเขียนดูสักเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ในวงเล็บ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อม เพื่อไล่เรียงเรื่องราวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานป่าในเมืองไทย

หลายคนรู้จักสนธิสัญญาเบาว์ริงในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ความจริงแล้วสนธิสัญญานี้ก็เปิดโอกาสให้คนทำลายป่า โดยเฉพาะทางภาคเหนืออย่างรุนแรง เพื่อส่งเป็นสินค้าขาออก

⦁ ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้คืออะไร?

เราลงพื้นที่มาเยอะ ข้อเขียนมาจากประสบการณ์เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่หนังสือวิชาการจ๋าหนังสือของเมืองนอกที่ขายดี ส่วนหนึ่งมันมาจากนักหนังสือพิมพ์ที่มีโอกาสลงพื้นที่ แล้วอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวมาเขียน มันก็เลยสนุก ต่างจากงานที่มาจากวิชาการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเป็นจุดที่น่าสนใจ

เรามีกรณีจากการลงพื้นที่หลายร้อยเคส แต่อยากจะเอาเคสที่เป็นตัวแทนต่างๆ มา เช่น เคสที่เป็นตัวแทนของป่า อุตสาหกรรม เหมืองแร่ แม่น้ำ และปัญหาปัจจุบัน ที่เป็นรากเหง้าของปัญหา PM2.5 และ Climate change แล้วก็พูดไปถึงอนาคตด้วย ฉะนั้นเรามีตัวอย่างเพื่อที่จะครอบคลุมไปในหลายกรณี แต่แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่สามารถครอบคลุมทุกหัวข้อได้ จริงๆ โดนตัดไปหลายหัวข้อนะ ไม่อย่างนั้นจะหนาเกินไป

⦁ คนที่ไม่ได้ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมมาก่อน จะสามารถอ่านได้อย่างไหลลื่นไหม?

เราเขียนให้กับคนที่ไม่รู้เรื่องเป็นหลัก เพราะว่าพยายามจะเขียนปูพื้นฐานให้กับคนที่ไม่ได้สนใจมาก่อนได้เห็นภาพ แต่ในขณะเดียวกันแล้ว คนที่พอจะรู้เรื่องมาก่อนก็จะเห็นภาพละเอียดมากขึ้น แล้วก็มีหลายมุมมองที่เป็นการค้นพบใหม่ของเรา มันจะทำให้เห็นภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมในไทย

หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ตำราเรียน ไม่ใช่งานวิจัย ธีสิส แต่เป็นงานเขียนที่มาจากมุมมองของนักสารคดีคนหนึ่งเท่านั้น มันไม่ใช่งานวิชาการ แต่ก็พยายามทำออกมาให้ดีที่สุด

⦁ หนังสือเล่มนี้จะสร้างอิมแพกต์กับสังคมได้อย่างไร?

เราคิดว่านักค้นคว้าที่สนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มันน้อยมากในสังคมไทย คือ ถ้ามันมีคนเยอะขึ้นมามันก็จะมีข้อถกเถียงมากขึ้น มันก็นำไปสู่ข้อเท็จจริงที่ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นเท่าไหร่ เลยอยากจะเป็นอิฐก้อนแรก

แน่นอนอยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้คงไม่ได้ทำให้คนลุกขึ้นมาได้หมด แต่อาจจะช่วยทำให้รู้สึกว่า ถึงเวลาที่เราต้องมาคิดอย่างจริงจังแล้วนะ สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของ CSR ไม่ใช่เรื่องของการปลูกป่า ไม่ใช่เรื่องของการใช้ถุงผ้าอีกต่อไป มันเป็นเรื่องที่คุณจะต้องสนใจทำงานกับมันมากขึ้น คิดว่ามันน่าจะกระตุ้นคน โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

⦁ เมื่อวางอิฐก้อนแรกแล้ว คาดหวังเห็นภาพต่อไปเป็นอย่างไร?

เราเชื่อว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในวันนี้ คนรุ่นปัจจุบันนี้แหละ (เคาะนิ้วเน้นคำพูด) เชื่อว่าคนรุ่นปัจจุบัน เขาจะใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นเก่าเยอะมากเลย อย่างน้อยเวลาจะทำอะไรก็ตาม เขาก็จะมีเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในการใช้ชีวิตตลอดเวลา ต่างจากคนรุ่นเก่าที่สนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจ สังคม แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มี เห็นไหมจากคนที่เลือก ส.ว. เขาไม่ได้สนใจไง แต่วันนี้คนรุ่นนี้น่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะยังต้องมีชีวิตต่อไปอีกยาวนาน

⦁ ความฝันของวันชัยต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมคืออะไร?

ถ้าถามถึงความฝัน คิดว่าวันนี้เราควรให้ความสำคัญ และให้น้ำหนักกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มากพอๆ กับเศรษฐกิจด้วย คือ ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวเอาเงินไปแก้ แต่ไม่รู้หรอกว่าจะแก้ได้หรือไม่ เพราะไม่เคยมีใครที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

มันมีเรื่องตลก คือ การเลือกตั้ง ส.ว.ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีกลุ่มเยอะแยะ ทั้งเศรษฐกิจ พ่อค้า ธุรกิจ แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมไปรวมกับอะไรรู้ไหม เข้ามาดูในกลุ่มสิ่งแวดล้อมบวกกับกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์จับคู่กับสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องตลก (หัวเราะ) อ่านแล้วไม่รู้ว่าคนที่ออกแบบสิ้นคิดขนาดไหน คือ มันตลกมาก เอานักสิ่งแวดล้อมไปรวมกับนักพัฒนา (Developer) กับ สร้างพลังงานไฟฟ้าทั้งหลาย เอาไปรวมกันได้ยังไง ไม่เข้าใจ

⦁ การนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อต้อง ‘ชน’ กับอำนาจรัฐและทุน

จะเรียกว่าชนหรือไม่ชน ไม่รู้นะ ไม่รู้จะพูดคำนี้ได้ไหม แต่ถ้ามันมีข้อเท็จที่มันมีผลกระทบต่อประชาชน แล้วมีข้อมูลชัดเจน หน้าที่ของคุณก็ควรจะทำ โดยที่ไม่สนใจเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สนใจว่าเป็นใคร แต่ถ้ามันมีเรื่องผิดปกติขึ้นในสังคม คุณก็จะต้องส่งเสียงให้คนในสังคมได้รู้

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงการนำเสนอข้อมูลไปกี่แพลตฟอร์ม แต่ท้ายที่สุดแล้วหัวใจของมันคือคอนเทนต์ มันน่าเชื่อถือหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของการนำเสนอข่าว จะเป็นเกราะในการป้องกันคุณไปโดยตลอด จะเป็นเกราะที่ทำให้คุณทำงานอย่างยั่งยืน ความน่าเชื่อถือมันไม่ใช่ว่าคุณอยู่ฝ่ายใด เชียร์ฝ่ายได้ แต่ข่าวที่ขายได้ คือ ข่าวที่น่าเชื่อถือระยะยาว

⦁ จากเด็กหัวแข็งในอดีต ปัจจุบันยังคงมีไฟในการลุยอยู่ไหม?

ไฟเรามันไม่มอดอยู่แล้ว ตอนนี้ไม่ได้สังกัดใคร ไม่ได้มีอาชีพทำสื่อแล้ว ทำได้อย่างมากก็คือเขียนในเฟซบุ๊ก แต่ทุกวันนี้ถ้ายังมีใครส่งอะไรมา ก็พร้อมที่จะทำต่อ แม้ว่าจะไปกระทบนายทุนหรืออะไร ก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา ถ้ามันเป็นเรื่องของความไม่ถูกต้อง ก็จะรู้สึกว่าไม่สบายใจ ถ้าเราไม่ทำอะไร

ส่วนหนึ่งในหนังสือ ได้เขียนถึง ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการไม่กี่คนที่ออกมาพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องของสังคมแบบมีข้อมูลทางวิชาการ ในขณะที่นักวิชาการบ้านเราส่วนใหญ่จะเกรงกลัว ไม่อยากยุ่ง แม้รู้ว่ามันไม่ถูกต้อง แต่อาจารย์นิธิตื่นตัวตลอด เพราะรู้ว่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็ควรจะพูดอะไร ถือเป็นนักวิชาการน้อยคนนักที่มีทัศนคติแบบนี้

การทำงานของเรามาพร้อมกับความสุข ไม่ได้ฝืนทำ ถ้าหมดสนุกเมื่อไหร่ก็อาจจะเลิกทำ แต่วันนี้ยังสนุกอยู่

ภูษิต ภูมีคำ เรื่อง
สมจิตร ใจชื่น ภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image