100 ปี จุฬาฯ จากใจศิษย์เก่า ‘วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ’ เผยประสบการณ์-ความรู้สึกถึงรั้วจามจุรี

นับจากการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 มีนาคม 2459 เป็นเวลากว่า 100 ปีเเล้วที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ ผลิตองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากร ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเเละพัฒนาประเทศ

สำหรับบรรดาศิษย์เก่า จุฬาฯ ไม่ได้เป็นเพียงเเค่ มหาวิทยาลัย ที่ให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น เเต่ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ประสบการณ์ชีวิตด้วย

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ศิษย์เก่าวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้หนึ่งได้รับประสบการณ์ความรู้มากมายจากรั้วจามจุรีแห่งนนี้

“ผมตั้งใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเลือกเป็นอันดับ 1 และสอบติดสมใจ เมื่อปี 2509 เเละจบการศึกษาปี 2514 ช่วงที่เข้าเรียนปี 1 อายุ 17 ปี น้อยกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ส่วนใหญ่อายุ 18 ปี ในปีแรกที่เป็นน้องใหม่ ต้องปรับตัวในการเรียนมากพอสมควร ทั้งวิชาการที่เข้มข้นขึ้น และกิจกรรมที่มากมายแตกต่างจากชีวิตนักเรียนสมัยมัธยมอย่างสิ้นเชิง”

Advertisement

กิจกรรมของ วิสุทธิ์ ครั้งเป็นนิสิตปีแรก มีทั้งกิจกรรมรับน้องใหม่ในระดับมหาวิทยาลัย และที่เข้มข้นกว่าคือกิจกรรมในระดับคณะ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ อีกมากมาย

“คนที่รู้จักแบ่งเวลาเล่น และเวลาเรียนได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น จึงจะประคองชีวิตทางการศึกษาให้เป็นไปอย่างราบรื่นได้ เนื่องจากสมัยนั้นจุฬาฯ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้มงวดกับการเรียนมาก หากสอบวิชาหลักไม่ผ่านเพียง 3 ใน 14 วิชา ต้องเรียนซ้ำชั้นทันที และจะมีสิทธิสอบซ่อมปลายปีได้ต่อเมื่อสอบตกไม่เกิน 3 วิชา (วิชาหลักรวมกับวิชาอื่นๆ) ซึ่งวิชาที่เรียนในสมัยนั้น ทุกวิชาเป็นวิชาบังคับ ไม่มีวิชาเลือกเหมือนปัจจุบัน”

ด้วยเกณฑ์การสอบผ่านขึ้นชั้นดังกล่าวของจุฬาฯ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคณะวิศวะฯ เป็นคณะที่เข้ายาก จบยาก ออกง่าย

Advertisement

“สมัยที่ผมสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีคนสอบเข้าได้ประมาณ 400 คนเศษ แต่มีผู้เรียนจบประมาณ 300 คนเศษ จากระบบการเรียนดังกล่าว ทำให้เกิดการพึ่งพากันระหว่างเพื่อนๆ และพี่ๆ ในคณะ เช่น มีติวเข้มก่อนสอบ อ่านหนังสือกันแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน พี่ น้อง ในคณะเป็นไปอย่างแนบแน่น แม้เรียนจบมานานหลายสิบปียังติดต่อกันอยู่ จำได้ว่าแม้เรียนจบมานานมากแล้ว ยังฝันอยู่บ่อยๆ ว่า เรียนยังไม่จบ”

“การได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในรั้วจุฬาฯ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญต่อผมอย่างยิ่ง สิ่งที่ผมได้รับจากการเรียนในจุฬาฯ คือต้องรู้จักอดทน และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับสังคมใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างมาก ต้องรู้จักแบ่งเวลาในการเรียน และทำกิจกรรมให้เหมาะสม ยังต้องรู้จักแบ่งปันกันทั้งในด้านวิชาการ และในด้านอื่นๆ ด้วย”

ผลจากความสำเร็จในการเรียนวิศวกรรมโยธา และระบบการเรียนการสอนของจุฬาฯ วิสุทธิ์ นำมาต่อยอดการเรียนเพิ่มเติมอีก 3 ปริญญา คือ ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยลามาร์ สหรัฐอเมริกา นิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“สิ่งที่เรียนจากจุฬา นำมาใช้กับการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตทำงานในตำแหน่งข้าราชการกรมธนารักษ์ ในช่วงแรกของการทำงาน ดูแลงานด้านออกแบบและก่อสร้าง พัฒนาที่ราชพัสดุ ในช่วงนั้นมีบริษัทเอกชนมาเสนองานให้เงินเดือนสูงกว่า แต่เพราะงานบริษัทเอกชนที่ได้รับเสนอมานั้น ต้องไปทำงานในเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นเขตของคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น วิถีชีวิตจึงเบี่ยงเบนมาทำงานราชการจนเกษียณอายุ”

วิสุทธิ์ เล่าอีกว่า สมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ใช้พื้นฐานความรู้ผสมผสานระหว่างด้านวิศวกรรมศาสตร์กับความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ทำโครงการศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เป็นการสร้างศูนย์ราชการด้วยวิธีระดมทุนแบบแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ซึ่งแนวทางดังกล่าวนอกจากไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะด้วย

“ถ้าถามว่าจุฬาฯ ในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตหรือไม่ ในอดีตเมื่อเริ่มเข้าเรียนเปรียบเทียบกับสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เมื่อช่วงปี 2552-2554 พบว่า จุฬาฯ แตกต่างจากในอดีตมากพอสมควร เป็นความแตกต่างตามกาลเวลาที่ผ่านไป ทางด้านกายภาพมีคณะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จากในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน มีไม่ถึง 10 คณะ ปัจจุบันมีมากกว่า 20 คณะ แถมยังมีสถาบันในรูปแบบต่างๆ อีก 5-6 แห่ง ส่วนเรื่องการเรียนการสอนน่าจะแตกต่างจากเดิมมาก ระบบปัจจุบันซึ่งเป็นระบบหน่วยกิตเป็นระบบที่เรียนจบได้ง่ายกว่าในอดีต สมัยก่อนการเรียนต้องอาศัยการค้นคว้าจากห้องสมุด ขณะนี้สามารถใช้เทคโนโลยีในการค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องอาจลดระดับความเข้มข้นลงไปบ้าง เพราะมีจำนวนนิสิตมากขึ้น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยผ่านกิจกรรมด้านกีฬานั้น ดูจะลดลงไป คงเหลือเพียงฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ เท่านั้น” วิสุทธิ์ กล่าว
ส่วนบทบาทจุฬาฯ ในการเป็นที่พึ่งของสังคม ชี้นำสังคม และหาทางออกให้กับประเทศในยามที่เกิดวิกฤต หรือความขัดแย้งนั้น วิสุทธิ์ บอกว่า ที่ผ่านมานิสิตจุฬาฯ มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองมาโดยตลอด เช่น ปี 2500 ร่วมเดินขบวนเรียกร้องการเลือกตั้งในไทยไม่ใสสะอาด รวมถึง ช่วงเหตุการณ์การเมืองช่วงปี 2513-2514 และปี 2516 รวมทั้ง เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ จะมีชาวจุฬาฯ รวมอยู่ด้วย จะเห็นได้ว่าในยามวิกฤตของบ้านเมือง จุฬาฯ จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมเสมอมา

“การที่จุฬาฯ จะคงความเป็นเสาหลักของแผ่นดินในด้านวิชาการ จุฬาฯ จะต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยนานาชาติมากขึ้น เชื่อมโยงทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากขึ้น มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากขึ้น รับนิสิตต่างชาติให้มีสัดส่วนมากขึ้น มีหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น นอกจากนี้ จะต้องเชื่อมโยงกับภาคการผลิต และภาคอื่นๆ ของสังคมให้มากขึ้น เช่น การจัดหลักสูตรรองรับภาคการผลิตที่มีนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0 เป็นต้น”

วิสุทธิ์ ให้ความเห็นอีกว่า สำหรับทิศทางของจุฬาฯ ในการขับเคลื่อนต่อไป จะมองไปข้างหน้าสักระยะ 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งจะต้องเป็นการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไปข้างหน้าด้วยกัน หลักสูตรการเรียนการสอนควรจะสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ รวมทั้ง ภาคสังคม และการเมือง เพื่อให้กลมกลืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งไม่เฉพาะแต่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการศึกษาเฉพาะทางมากขึ้น พร้อมกับผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมออกมารับใช้สังคม บทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคตควรจะเชื่อมโยงกับสังคมให้มากขึ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะทางมากขึ้น เช่น ด้านวิศวกรรมเฉพาะทาง ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและการเมือง เป็นต้น รวมถึง เชื่อมโยงระหว่างสถาบันภายในประเทศ และสถาบันของต่างประเทศมากขึ้น”

“ส่วนมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ควรมีบทบาทที่เชื่อมโยงกับพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยที่อยู่ทางภาคเหนือ ควรมีบทบาทในการดูแลรักษาเอกลักษณ์ความเป็นล้านนา หรือศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ เช่น ปัญหาหมอกควัน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น สำหรับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาคอื่นๆ ควรดูแลรักษาเอกลักษณ์ที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น และเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ในพื้นที่ร่วมกับฝ่ายบริหารด้วย” วิสุทธิ์ อธิบาย

เเละว่า จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ รับใช้สังคมมาแล้วจำนวนมาก มีบทบาททั้งในภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นเวลายาวนาน บัณฑิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะในสมัยก่อน ล้วนเคยได้รับพระราชทานพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสต่างๆ เช่น วันพระราชทานปริญญาบัตร วันทรงดนตรีฯ เป็นต้น

“จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพี่น้องชาวจุฬาฯ น้อมนำกระแสพระราชดำรัสที่ได้รับพระราชทาน มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์พลังที่งดงามให้กับแผ่นดินต่อไป” วิสุทธิ์ ทิ้งท้าย


ครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ อย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมกิจกรรม อาทิ ทรงเปิด “อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” ทรงปลูกต้นจามจุรี จำนวน 9 ต้น และทรงร่วมงาน “จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ”

แม้กิจกรรมหลักผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตลอดทั้งปียังคงมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายเพื่อย้อนรำลึกถึงศตวรรษที่ผ่านมา พร้อมทั้งก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ซึ่งจุฬาฯ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ.2442 ก่อนจะได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็กเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2445 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2453 ก่อนจะประดิษฐานขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2459

100 ปีผ่านมา จุฬาฯ ฝากผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติมากมาย จังหวะก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 จุฬาฯ สร้างความยิ่งใหญ่ให้ชนรุ่นหลังอีกครั้งด้วยการสร้าง “อุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาฯ” บนพื้นที่ 28 ไร่ บริเวณสวนหลวง – สามย่าน เพื่อเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ รองรับการใช้งานของสาธารณชน ภายในอุทยาน ๑๐๐ ปีจุฬาฯ มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ มีพืชพรรณพื้นถิ่นหลากหลายชนิดปลูกแบบธรรมชาติ ในแนวคิด “ป่าในเมือง” ประกอบด้วย แนวพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ชุมน้ำประดิษฐ์ สวนซึมน้ำ บ่อหน่วงน้ำเพื่อชะลอน้ำฝนก่อนระบายออกสู่สาธารณะ พื้นที่ซึมน้ำแบบแก้มลิง และอาคารอเนกประสงค์

ส่วนกิจกรรมตลอดปีจากนี้ ประกอบด้วย วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2560 ประชุมสัมมนาวิชาการ The 4th Engagement Thailand Annual Conference ณ หอประชุมจุฬาฯ และอาคารมหาจุฬาลงกรณ, วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2560 งาน Asia Pacific Regional Internet Governance Forum 2017 การประชุมระดับนานาชาติในประเด็นร่วมของภูมิภาคในการจัดการอินเทอร์เน็ตในฐานะทรัพยากรและพื้นที่การสื่อสารและธุรกรรม มีผู้เข้าร่วม 600 คน จากภาครัฐ เอกชน วิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 50 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิค จัดโดย จุฬาฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กสทช. , วันที่ 16-17 ธันวาคม 2560 ประชุมวิชาการ SEASIA 2017 Conference on “Unity in Diversity : Transgressive Southeast Asia” ณ หอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ และบรรยายพิเศษ โดย CEO Google Sundra Pichai


วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ
บทบาทกว่า 18 ปีก่อนจะเป็น “รมช.คลัง”

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เกิดเมื่อ 21 มกราคม2492 จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์(โยธา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม อันดับ 2 ) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตรธุรกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลามาร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เเละปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 38
เส้นทางการทำงาน วิสุทธิ์ เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีมาแล้วหลายกรม อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และรองปลัดคลัง
ตำแหน่งงานในแต่ละช่วงปี นับตั้งเเต่ปี 2542 เป็นอธิบดี กรมบัญชีกลาง เเละกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย จากนั้นปี 2543 เป็นกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ปี 2544 รับตำเเหน่งกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จากนั้นปี 2546 ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เเละ คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ปี 2547 รับอีกบทบาทหน้าที่ในตำเเหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เเละปี 2548 เป็นประธานกรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควบคู่กับประธานกรรมการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
จากนั้นปี 2549 วิสุทธิ์ ได้รับตำเเหน่งสำคัญอีกครั้งในการเป็นประธานกรรมการ ธนาคารออมสิน

เเละ ปี 2550 เป็น ประธานกรรมการ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เเละยั อธิบดี กรมสรรพสามิต
พ.ศ.2550 อธิบดี กรมสรรพสามิต
พ.ศ.2550 กรรมการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

พ.ศ.2555 กรรมการ คณะที่ 5 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
พ.ศ.2554 กรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2554 กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2553 กรรมการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
พ.ศ.2553 ประธานกรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2553 กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2553 กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2552 กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2551 กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2551 ประธานกรรมการ ธนาคารออมสิน
พ.ศ.2551 กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2551 ประธานกรรมการ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
พ.ศ.2551 กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2551 ประธานกรรมการ ธนาคารออมสิน
พ.ศ.2551 กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ก่อนเกษียณอายุในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง

ปัจจุบันดำรงตำแห่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image