พินัย สิริเกียรติกุล สถาปนิกผู้สร้างภาพอดีตจากซากปรักหักพัง ‘บ้านวิชาเยนทร์’

พินัย สิริเกียรติกุล

ออกตัวตั้งแต่ประโยคแรกๆ ของการพูดคุยว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตย์ “อยุธยา” อย่างไรก็ตาม ยากจะปฏิเสธว่าผลงานรูปแบบสันนิษฐาน “บ้านวิชาเยนทร์” ของ พินัย สิริเกียรติกุล ถูกแชร์ออกสู่สาธารณะอย่างมหาศาลผ่านโลกโซเชียล

เมื่อครั้งกระแสบุพเพสันนิวาสโหมแรง ฉายภาพแจ่มชัด ละเอียดลออ และประณีตในแทบทุกแง่มุม พาให้ผู้คนร่วมจินตนาการถึงลมหายใจของตัวละครอย่างฟอลคอนและมารี กีมาร์ ผู้มีชีวิตย้อนหลังห่างจากวันนี้กว่า 300 ปีมาแล้ว

พินัยเป็นชาวกระบี่ เกิดในครอบครัวที่ไม่มีใครเป็นสถาปนิก

บิดาทำงานรัฐวิสาหกิจอันเกี่ยวเนื่องกับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มารดาค้าขายอุปกรณ์ตกปลาให้ชาวประมงเพราะบ้านอยู่ริมทะเล เป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ที่เจ้าตัวบอกว่าแต่ละคนช่างแตกต่างกัน

Advertisement

จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล สอบเทียบ ม.5 อ่านหนังสือติวสถาปัตย์ของพี่สาว แล้วก้าวเข้าสู่รั้ววังท่าพระ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ค่ายศิลปากรอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อได้ร่ำเรียนแล้ว “อิน” มาก กระทั่งจบทั้งตรีและโท “สถาปัตยกรรมไทย” ก่อนบินลัดฟ้าไปศึกษาปริญญาโทอีกใบด้าน “ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม” ที่ University College London จนจบปริญญาเอก

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

กับคำถามพื้นฐานเรื่องงานอดิเรกในวันว่างนอกเหนือจากบทบาทสถาปนิก อาจารย์หนุ่มนิ่งคิดอยู่นาน ก่อนตอบว่า “ชอบไปดูตึก”

Advertisement

ตอบอย่างว่องไวเมื่อถามถึงสถาปนิกในดวงใจว่าชื่นชอบใน “อมร ศรีวงศ์” ผู้ออกแบบตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพินัยบอกว่ามีชีวิตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเติบโตจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่มีกระทั่งใบประกอบวิชาชีพ แต่ผลงานและแนวคิดก้าวหน้าชวนให้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง

พินัยยังย้ำอีกครั้งเหมือนตอนต้นว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอยุธยา หากแต่สนใจสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

บอกว่าสนใจงานสมัยใหม่ ทำไมตัดสินใจเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตย์?

อาจารย์ที่คณะสถาปัตย์ ศิลปากร มีอิทธิพลกับผมมาก รู้สึกว่าเป็นวิชาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ อย่างอาจารย์อนุวิทย์ เจริญศุภกุล อาจารย์สมชาติ จึงสิริอารักษ์ อาจารย์สมคิด จิระทัศนกุล อาจารย์เสนอ นิลเดช อาจารย์เหล่านี้เวลาท่านอธิบายอดีตในมิติของเวลาและสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ยังมีอยู่ หรืออาคารที่เป็นซากปรักหักพังล้วนแต่มีพลังในการอธิบาย ฟังแล้วประทับใจ เราก็ซึมซับมา อาจารย์เสนอท่านมีความสามารถพิเศษในการมองซากโบราณสถานซึ่งเหลือแค่ราก แต่อาจารย์สามารถมองเห็นว่าด้วยผังอย่างนี้ จะขึ้นรูปอาคารอย่างไรได้บ้าง ฟังแล้วโอ้โห! มีความน่าเชื่อถือมาก รู้สึกว่าอยากทำได้บ้างเลยไปเรียนต่อด้านนี้ พอกลับมาก็ได้รับมอบหมายให้ทำหลักสูตรปริญญาเอกประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และเป็นประธานหลักสูตรตั้งแต่นั้น โดยเป็นบรรณาธิการวารสารหน้าจั่วว่าด้วยประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทยด้วย

ทำไมเลือกศึกษาบ้านวิชาเยนทร์ ได้ชมละครหรือเปล่า?

เราทำมาก่อนกระแสละคร คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ติดต่อมาที่ภาควิชาว่าอยากให้ศึกษารูปแบบจำลองของบ้านวิชาเยนทร์ ทางภาควิชาเห็นว่าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมตะวันตก เลยมอบหมายให้ผมทำเพราะมีความรู้เกี่ยวกับสถาปัตย์ตะวันตกอยู่บ้าง ปกติไม่ใช่คนดูละคร แต่นักศึกษาที่ทำงานนี้ด้วยกันส่งมาให้ดูว่าหลุยส์ สก๊อต แสดงเป็นฟอลคอน เลยมาดูตอนที่ละครเริ่มดังแล้ว ตอนที่โกษาเหล็กโดนพระราชอาญาโบย รู้สึกว่าคนแสดงเป็นพระนารายณ์แสดงดีจังเลย หลังจากนั้นก็ดูมาตลอด

“บ้านหลังนี้มีความเชื่อมโยงกับชีวิตสีสันของฟอลคอนมากทีเดียว
ตั้งแต่เขาเข้ามามีอำนาจในราชสำนัก จนถึงโดนประหาร ชีวิตขึ้นสุด ลงสุด
การเปลี่ยนแปลงตรงนี้สะท้อนให้เห็นได้ในการศึกษาพัฒนาการของบ้าน…
บ้านเล่าชีวิตช่วงท้ายของเขาผ่านซากโบราณสถานที่ถูกทำรูปแบบจำลองขึ้นมา”

ขั้นตอนการสร้างรูปแบบสันนิษฐานต้องทำอย่างไรบ้าง?

มี 3 ขั้นตอนหลักๆ หนึ่งคือ แน่นอนเราต้องทำแบบรังวัดซึ่งกรมศิลป์ไม่ได้ทำรังวัดแบบจริงจังมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่เราสำรวจรังวัดละเอียด โดยทำฝั่งตะวันตกคือฝั่งบ้านวิชาเยนทร์ ตอนแรกเสนอทั้งบ้านวิชาเยนทร์และบ้านหลวงรับราชทูต แต่เข้าใจง่างบประมาณมีจำกัด เลยเริ่มจากตรงนี้ก่อน เพราะฉะนั้นใน 1 ปี เราทำเฉพาะตัวบ้านวิชเยนทร์และโบสถ์นอเตรอะดาม เดอ ลอแรตต์

สอง ศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี ผมไม่ใช่นักโบราณคดี เพราฉะนั้นต้องพึ่งพานักโบราณคดี ในที่นี้ก็คือการอ่านรายงานการขุดค้น ที่สำคัญมีช่วงทศวรรษ 2530 ที่ดีมากเลยคือรายงานการขุดค้นบ้านวิชาเยนทร์ ปี 2548 ของนักศึกษาปริญญาโท คณะโบราณคดี นำโดย อาจารย์ผาสุข อินทราวุธ ซึ่งให้ข้อมูลขุดค้นที่ละเอียด มีประโยชน์ อ่านแล้วทำความเข้าใจได้แม้ไม่ใช่นักโบราณคดี

สามคืออ่านเอกสารที่เกี่ยวข้อง อย่างพวกบันทึกชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนั้นซึ่งบันทึกเรื่องราว บรรยายตัวบ้าน โดยเฉพาะโบสถ์ ไม่ว่าจะเป็นตาชาร์ด, เดอ ชัวซีย์, เดอโชมองต์ และคนอื่นๆ แม้เป็นเอกสารชั้นรองแต่เป็นคนที่อยู่ร่วมสมัย

มีคนเคยศึกษาเรื่องบ้านวิชเยนทร์อย่างละเอียดมาก่อนไหม?

ส่วนใหญ่คนสนใจบทบาทของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หรือฟอลคอนในบทบาทการเมือง แต่ตัวบ้านมีคนศึกษาไม่เยอะ ผมได้อ่านงานศึกษาที่ผ่านมา พบว่ามี 2 ทฤษฎีที่พูดถึงบ้านหลังนี้ หนึ่งคือบอกว่าตัวบ้านสร้างหลังบ้านหลวงรับราชทูต คือ พอบ้านหลวงรับราชทูตเสร็จแล้วฟอลคอนจึงย้ายเข้ามา แต่ทฤษฎีนี้ขัดแย้งกับบันทึกช่าวต่างชาติหลายคนที่บอกว่าตอนที่ราชทูตเดอโชมองต์มาเจริญสัมพันธไมตรีครั้งแรกมีบ้านฟอลคอนอยู่แล้ว โดยบ้านหลวงรับราชทูตยังไม่แล้วเสร็จ พระนารายณ์จึงใช้บ้านฟอลคอนเป็นที่รับรองราชทูตไปพลางก่อน ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นถัดมาโดยยังเสนอมากไปกว่านั้นคือ เสนอว่าจริงๆ บ้านฟอลคอนมีลักษณะคล้ายบ้านใหญ่แบบเปอร์เซีย มีโรงอาบน้ำ เพราะมีซากที่เราคิดว่ามีสร้างมาตั้งแต่สมัยก่อนที่ฟอลคอนจะย้ายเข้ามา จึงมีผู้เสนอว่าบ้านหลังนี้น่าจะเป็นบ้านของพ่อค้าเปอร์เซียมาก่อน แต่ต่อมาพวกมัวร์ไม่เป็นที่พอใจของพระนารายณ์ มีข้อสันนิษฐานว่าพ่อค้ารายนี้โดนริบราชบาตร ต้องคืนบ้าน ต่อมาพระนารายณ์มอบให้ฟอลคอน สอดคล้องกับเรื่องที่ว่าพระนารายณ์ไปดึงเอาพวกฝรั่งเศสเป็นแนวร่วมใหม่ทางการเมือง ฟอลคอนเข้ามาเป็นหัวหน้าประชาคมชาวต่างชาติแทน

จุดที่เป็นพูดกันว่าเป็นโรงอบขนมปัง จริงๆ แล้วคือโรงอาบน้ำ?

ที่คนพูดว่าเป็นโรงอบขนมปังเพราะมีเขม่า แต่จากการตรวจสอบของนักวิชาการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2475 พบว่ามีอ่างน้ำฝังอยู่แต่ตอนนี้ไม่พบซากแล้ว ปัจจุบันพบว่าในผนังมีการฝังท่อดินเผาด้วย เพราะฉะนั้นเป็นไปได้อย่างมากที่จะเป็นโรงอาบน้ำซึ่งวัฒนธรรมการอาบน้ำของปอร์เซีย มีแบบหนึ่งที่มีห้องอาบน้ำแบบห้องร้อนและห้องเย็น

นอกจากรูปแบบสันนิษฐาน คิดว่าได้อะไรนอกเหนือจากนั้นบ้าง เพราะดูเหมือนต้องศึกษาอย่างรอบด้านและลึกซึ้งมาก? 

เรายังสามารถสันนิษฐานพัฒนาการของบ้านหลังนี้ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องชีวิตบั้นปลายฟอลคอนก่อนโดนประหาร คือช่วง 5-6 ปีสุดท้ายในชีวิตที่เขาย้ายเข้ามา แล้วเปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิกเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทั้งข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และการตรวจสอบซากโบราณสถานรวมถึงบันทึกชาวต่างชาติ พบว่าสอดคล้องกัน คือพอย้ายเข้ามาแล้วมีการสร้างโบสถ์ซึ่งมีลักษณะเหมือนงานสถาปัตยกรรมไทยสมัยพระนารายณ์ แต่เป็นโบสถ์คาทอลิก และยังสร้างอาคารอื่นเพิมเติมอีก อย่างที่กล่าวไปแล้ว ตอนเดอโชมองต์มาเจริญสัมพันธไมตรี บ้านหลวงรับราชทูตสร้างยังไม่เสร็จเลยใช้บ้านฟอลคอนรับรอง และคิดว่าคงมีการสร้างอาคารอื่นเพื่อรับรองด้วย เพราะผู้ติดตามส่วนตัวของเขาจากบันทึกมีถึง 30 คน ทั้งพ่อครัว คนดูแลเสื้อผ้า ล่าม หาบเร่ แล้วจะไปพักที่ไหน เป็นไปได้ที่การขยายตัวของบ้านในเวลาต่อมา ทำเพื่อรับรองคณะเดินทางนี้

ใช้หลักฐานจากการขุดค้นของนักโบราณคดีในงานนี้บ้างหรือเปล่า มีการเติมจินตนาการลงไปในแบบไหม?

แน่นนอนส่วนหนึ่งใช้จินตนาการอย่างมาก แต่ไม่ได้นั่งเทียน ผมใช้การบูรณาการจากรายงานการขุดค้นซึ่งพบทั้งเศษกระเบื้อง กาบู เกล็ดเต่า ที่น่าสนใจคือพวกกระดูกสันหลังปลาฉลาม กระดูกกวาง นักโบราณคดีเชื่อว่าอาจนำมาเป็นอาหาร เพราะมีพ่อค้าที่เดินทางทางทะเลมา เลยใช้นำมาสันนิษฐานอินทีเรียภายใน อย่างกระดูกปลาฉลาม ก็เอารูปปลาฉลาม ซากวาฬแขวนในโรงครัว ตามข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดี ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกๆ ที่มีความพยายามแสดงให้เห็นว่าบ้านวิชเยนทร์นั้น ในอาคารแต่ละหลังมีสภาพอย่างไร นอกจากนี้ก็อาศัยจากบันทึกชาวต่างชาติ เช่น ที่ตาชาร์ดบรรยายถึงหินอ่อนมีค่าจากชมพูทวีป ภาพวาดจิตรกรญี่ปุ่น และที่เซเบเร่ต์บันทึกไว้ว่าฟอลคอนทะเลาะกับตาชาร์ดในห้องเขียนหนังสือซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นด้านหลังของบ้าน เป็นต้น

เจออุปสรรคหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง?

ไม่ค่อยเจออุปสรรคนะ เพราะข้อมูลที่มีชี้ไปในแนวทางเดียวกัน แต่จะดีกว่านี้ถ้ามีบันทึกสภาพโบราณสถานก่อนการขุดค้น เท่าที่ศึกษาทราบว่าในปี 2475 มีการขุดแต่งบ้านวิชเยนทร์และเขียนป้ายปักไว้ แต่ไม่รู้ในรายละเอียดว่าทำอะไรบ้าง เช่น ถางวัชพืชออก หรืออะไร ไม่มีการทำบันทึกสภาพ ซึ่งถ้ามีจะเป็นประโยชน์มากในการศึกษา เลยต้องอาศัยอ่านงานสำรวจโดยชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาในปีเดียวกันและพูดถึงซากโบราณสถานนี้ค่อนข้างละเอียด เชื่อถือได้ เช่น พูดถึงอ่างน้ำที่พบในโรงอาบน้ำ ปัจจุบันแม้ไม่เหลือซาก แต่เป็นประโยชน์

ในฐานะอาจารย์ มองว่าจุดอ่อนการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมในไทยคืออะไร?

การใช้ทฤษฎีในการให้ทิศทางการศึกษาในวงการประวัติศาสตร์สถาปัตย์บ้านเรายังค่อนข้างจำกัดถ้าเทียบกับสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ซึ่งใช้ทฤษฎีแพร่หลาย พูดถึงมาร์กซิสต์ โพสต์โมเดิร์น ผมไม่ได้รังเกียจงานประวัติศาสตร์สถาปัตย์ในแบบเดิมนะ คิดว่ามันมีพัฒนาการของมันเอง ใครชอบทำแบบเดิมก็ทำ ผมก็อ่านงานแบบนั้นและก็ได้ประโยชน์

แต่ทฤษฎีจะทำให้แตกยอด หรือมองเห็นประเด็นที่หลากหลายกว่า ทฤษฎีจะชี้นำมุมมองที่รอบด้านมากกว่า จะมองเห็นมุมที่เราไม่เคยมองมาก่อน ถ้าเปิดรับได้จะดี

แล้วบุคลากรในด้านการศึกษาเพื่อสร้างรูปแบบสันนิษฐานถือว่ามีน้อยไหม เพราะเท่าที่เห็นมีผลงานในสาธารณะยังมีอยู่ไม่กี่คน

คิดว่าไม่ขาด ถ้าอยากให้เขาทำ มีคนยินดีทำ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ขาดคืออะไร เงินสนับสนุนจากภาครัฐน้อยหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ

ในฐานะที่สนใจสถาปัตยกรรมยุคใหม่และศึกษาเรื่องที่ดินบนถนนราชดำเนิน มองว่าศิลปะคณะราษฎรถูกหลงลืมไปหรือไม่?

คิดว่าเป็นช่วงที่กระแสหลักอยากลืม อาจเป็นรสนิยมทางการเมือง หรืออะไรก็ตามแต่ที่มองเห็นว่าผลผลิตที่มาจากคณะราษฎร ก็รับไม่ค่อยได้ ทำให้งานสมัย 2475 ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ควรได้รับการอนุรักษ์ก็โดนทำลาย หรือไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั้งที่มีความสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ เช่น อาคารริมถนนราชดำเนินกลาง ประวัติศาสตร์สถาปัตย์ในแง่หนึ่งมันพัฒนามาจากประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะฉะนั้นจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ประวัติศาสตร์เคยทำไว้ก่อน จึงยึดโยงสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์เรื่อยมา ถามว่างานยุคสงครามโลก มีใครพูดถึงมันได้อย่างมีความหมายบ้าง มีใครอธิบายของพวกนี้ได้บ้าง ทั้งที่เป็นมรดกใกล้ตัวกว่าสุโขทัยและอยุธยาเยอะเลย ผมไม่ได้บอกว่าอะไรสำคัญกว่า แต่นักวิชาการอาจให้ความสำคัญกับตรงนี้น้อยไปหรือมีปัญหาบางอย่างในการศึกษาก็ไม่ทราบ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสถาปัตยกรรม อย่างป้อมมหากาฬ ทางเลียบเจ้าพระยา สะพานเกียกกาย จนถึงโรงภาษีหรือศุลกสถาน มองประเด็นเหล่านี้อย่างไร?

ผมก็ไม่เข้าใจภาครัฐในเรื่องพวกนี้เลยว่า ข้อเสนอของหลายฝ่ายไม่ว่าจะทางเลียบ หอศิลป์ สะพานเกียกกาย เป็นข้อเสนอจากประชาชนที่มีเหตุผลน่ารับฟังทั้งสิ้น แต่ถามว่าทำไมรัฐเลือกไม่ฟัง อันนี้ไม่เข้าใจจริงๆ อย่างทางเลียบชัดเจนที่สุด ผมไม่เห็นนักวิชากรหรือสมาคมไหนที่เห็นด้วยเลย ยกเว้นคนที่ทำเท่านั้น แล้วจะดื้อทำทำไม ผมเห็นด้วยกับการอยากเปิดพื้นที่ริมน้ำให้สาธารณะเข้ามาใช้ เพราะริมแม่น้ำคือขอบของเมือง ตามทฤษฎีถ้าทำให้คนเห็นสัณฐานของเมืองชัดขึ้น เป็นเรื่องดี แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือรูปแบบ ทำให้มีรสนิยม มีศิลปะไม่ได้หรือ ทำโดยไม่เบียดบังพื้นที่แม่น้ำไม่ได้หรือ สมาคมสถาปนิกสยามก็พูดหนักแน่น สมาคมวิศวกรรมสถานก็พูดหนักแน่น การก่อสร้าง คุณไม่ฟัง 2 สมาคมนี้ได้อย่างไร ไม่เข้าใจ

กรณีป้อมมหากาฬ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ออกมา อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ก็ออกมาบอกว่าเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้าย เราเหมือนสังคมหน้าไหว้หลังหลอก ในแง่หนึ่งอยากให้คนแต่งชุดไทย แต่ของจริง คุณเลือกที่จะไม่เก็บ

สำหรับประเด็นที่โรงภาษีจะถูกทำเป็นโรงแรม เอกชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปพัฒนาเพราะได้สัมปทานมาอย่างถูกต้อง เชื่อว่าน่าจะทำได้ดี แต่ผมก็เห็นด้วยกับคนที่ประท้วงภาครัฐในแง่พื้นที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นทางโรงแรมน่าจะเปิดพื้นที่บางส่วนให้ประชาชนเข้าไปใช้ด้วย ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ อย่างในอังกฤษจะมีเลยว่าถ้าคุณจะทำอันนี้ คุณให้อะไรกับชุมชนบ้าง ที่เขาทำกันคือ ชั้นบนซึ่งเป็นวิวที่สวยที่สุดเปิดเป็นสาธารณะโดยไม่ต้องเสียเงิน ที่นั่นเป็นของรัฐมาตั้งกี่ปี ปล่อยให้อาคารทรุดโทรม ต้นโพธิ์ขึ้นจะพังอยู่แล้ว

ถามว่าเราจะฝากอะไรกับอำนาจรัฐได้มากแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image