อาศรมมิวสิก : โลกทัศน์สุนทรภู่ ผ่านเพลงปี่พระอภัย : โดย สุกรี เจริญสุข

 

วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ซึ่งเป็นนักปราชญ์ราชสำนัก ในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2329-2398) สำหรับผลงานที่เป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสุนทรภู่มีอยู่หลายชิ้น อาทิ นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และที่สำคัญมากก็คือวรรณคดีพระอภัยมณี ซึ่งเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมสมัยก่อน ต้องอาศัยนักเขียน กวี เขียนบันทึกความเป็นไปของสังคมเพื่อให้เห็นบรรยากาศ ความคิด อารมณ์ และวิถีชีวิตของชุมชน

ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีไหว้ครู (ทั้งไหว้ครูปาเจราและไหว้ครูดนตรีไทย) ในตอนเช้า และในช่วงบ่าย 13.00-15.30 น. ก็จะมีการเสวนาเรื่อง “โลกทัศน์ของสุนทรภู่ผ่านเพลงปี่พระอภัยมณี” โดยมีนักคิดคนสำคัญที่ศึกษาและหลงรักผลงานของสุนทรภู่ นำโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นักปราชญ์ชาวบ้าน นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีที่รักชอบดนตรีไทย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของสังคมไทย

ส่วน ผศ.ถาวร สิกขโกศล เป็นนักปี่พาทย์เก่า บ้านอยู่สุพรรณบุรี สนใจค้นคว้าเรื่องดนตรีไทยผ่านวรรณคดี มีความรอบรู้เรื่องสุนทรภู่เป็นอย่างดี เมื่อนำข้อมูลเรื่องราวจากวรรณคดีไปผสมกับเรื่องราวของดนตรีไทย จึงเกิดเป็นวิธีคิดใหม่ที่แตกแหกคอกไปจากความรู้จารีตของดนตรีไทย ปกตินักดนตรีไทยนั้นจะเล่นเป็นอย่างเดียว เป็นผู้มีฝีมือทางช่างมากกว่าที่จะสนใจค้นหาความรู้หรือสงสัยในความรู้

Advertisement

ทั้งนี้จะมีสุดยอดนักปี่เท่าที่จะหาได้มาร่วมงานอีก 4 คน (ครูชนะ ครูจาด ครูสุวิทย์ และครูกฤษณา) เพื่อจะร่วมบรรเลงเพลงปี่ในงานด้วย

บทเพลงเอกที่นำมาใช้ในการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งน่าสนใจมากก็คือ เพลงทยอยเดี่ยวและเพลงพัดชา โดยครูชนะ ชำนิราชกิจ เป็นผู้เดี่ยวปี่นอก ซึ่งเชื่อว่าพระอภัยมณีนั้นใช้ปี่นอกเดี่ยวเพลง ทั้งเพลงทยอยเดี่ยวและเพลงพัดชา ในอดีต (ประมาณปี พ.ศ.2534) เมื่อครั้งที่มีศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ที่สำนักงานผ่านฟ้า ก็เคยมีเรื่องถกเถียงกันว่า พระอภัยมณีเป่าปี่อะไร พระอภัยมณีเอามือซ้ายหรือมือขวาไว้ข้างบนเมื่อเป่าปี่ ครั้งนี้ ผศ.ถาวร สิกขโกศล ก็จะอธิบายพร้อมยกหลักฐานเป็นตัวอย่างให้ประจักษ์

นอกจากนี้ก็จะมีวงปี่พาทย์ไม้แข็งบรรเลงเป็นของแถม ซึ่งนำโดยครูสุเชาว์ หริมพานิช โดยนำเพลงเชิดจีนมาเล่นประกอบ อาจจะมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นเพลงเชิดจีน ก็ตอบเพียงว่า เป็นเพลงเอกของครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) เพราะว่าสามารถใช้ปี่ทุกชนิดนำมาเดี่ยวได้ (ปี่มอญ ปี่นอก ปี่ชวา และปี่ใน) เพื่อว่าผู้ฟังจะได้ยินความแตกต่างของเสียงปี่แต่ละชนิด โดยการฟังผ่านเพลงเดี่ยว ทั้งนี้ในการบรรเลงเพื่อเอาสนุกสนานด้วย อาจจะมีคนสงสัยว่าเพลงเชิดจีน ครูมีแขก สุนทรภู่ ทั้ง 3 เรื่องนี้ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ก็ต้องมาฟังคำอธิบายของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

Advertisement

โลกทัศน์ของสุนทรภู่ผ่านวรรณคดีพระอภัยมณีนั้น สุนทรภู่เป็นกวีราชสำนักที่นิยม “หัวนอก” ซึ่งถือว่ามีความนิยมและสนใจโลกตะวันตก โดยเฉพาะวิถีชีวิต รสนิยม สุนทรภู่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการเล่นดนตรีไทย จากการเล่นเพื่อประโคม เล่นเพื่อประกอบละคร หรือใช้ดนตรีเพื่อทำพิธีกรรม เพราะดนตรีเป็นเสียงที่มีอำนาจ อำนาจของเสียงดนตรีทำให้พิธีกรรมมีความศักดิ์สิทธิ์ (ขลัง) ฟังแล้วขนลุก

การหันมาเล่นดนตรีแบบการแสดงเดี่ยว (เดี่ยวปี่) ในเพลงทยอยเดี่ยว (Soloist) แบบตะวันตก ซึ่งเป็นการพัฒนาดนตรีไทยเพื่อการฟังและผู้ฟังต้องตั้งใจฟัง ฟังฝีไม้ลายมือ ฟังความวิจิตรพิสดารของเสียงปี่ โดยมีพระเอกเป็นพระอภัยมณี ซึ่งเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ มิติใหม่ของดนตรีไทย ดนตรีมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็คือ ดนตรีที่ใช้ประโคมหรือใช้กับพิธีกรรมนั้น เป็นเรื่องของพิธีกรรมในราชสำนัก แต่ดนตรีที่เล่นเพื่อการฟังเป็นดนตรีสำหรับคนทั่วไป ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงดนตรีได้

สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ดนตรีไทยสมัยก่อนนั้น (อยุธยา) เป็นเพลงร้องเนื้อเต็ม ตัวอย่างเพลงทำนองไทยใส่เนื้อเต็ม (ไม่มีเอื้อน) แบบเพลงทำนองไทยของสุนทราภรณ์หรือเพลงสองชั้นสมัยอยุธยา โดยที่ใช้เนื้อร้องเป็นเรื่องสังคมหรือเรื่องประโลมโลก เมื่อมาถึงสมัยสุนทรภู่ เนื้อร้องที่เป็นเพลงเถา (สามชั้น สองชั้น และชั้นเดียว) หันมาใช้เนื้อร้องในวรรณคดี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวของสังคมอีกต่อไป

แปลว่าเนื้อร้องไม่สำคัญ แต่จะให้ความสำคัญไปอยู่ที่ฝีมือการเล่นดนตรี ผู้ฟังต้องการฟังเสียงดนตรี ทำให้โลกทัศน์ของดนตรีเปลี่ยนจากการเล่นประโคมไปเป็นการเล่นดนตรีเพื่อการฟัง

ความรู้ใหม่ของเพลงที่พระอภัยมณีใช้เป่าปี่ (ซึ่งอาจจะใหม่สำหรับผู้เขียน) ก็เป็นเพลงสำคัญมาก พระอภัยมณีใช้เป็นเพลงเป่าปี่เพื่อการแสดงเป็นครั้งแรกคือเพลงพัดชา เพื่ออวดให้ 3 พราหมณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมสยามในสมัยนั้นได้รับรู้ว่า ที่ไปเรียนเป่าปี่ (ดนตรี) มานั้น เรียนมาทำไม ได้เรียนดนตรีแล้วดีอย่างไร โดยใช้ทำนองเพลงพัดชา เนื้อร้องมีอยู่ว่า
“ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย พระจันทรจรสว่างกลางโพยม ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง สำเนียงเพียงการเวกกังวานหวาน หวาดประหวัดสตรีฤดีดาล ก็เสียวซ่านสดับจนหลับไป” เป่าปี่จนพราหมณ์หลับไป

ผู้ฟังที่ตั้งใจฟังดนตรีอย่างเอาจริงเอาจังนั้น ฟังเพื่อความไพเราะ ฟังฝีมือของนักดนตรี ฟังจนรู้สึกเคลิบเคลิ้ม จิตเข้าสู่ภวังค์ ซึ่งไม่เคยมีมิติในการฟังดนตรีไทยในลักษณะนี้มาก่อน เรื่องการเป่าปี่เพลงพัดชา ซึ่งเป็นผลงานของครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) ก็เป็นตำนานเพลง เพราะหนังตะลุงโนราภาคใต้นั้นใช้ปี่เป่านำ นักปี่จะเป่าปี่เพลงพัดชา ซึ่งเป็นเพลงไหว้ครู นักปี่ทุกคนที่เรียนเป่าปี่ ใช้เพลงพัดชาเป็นเพลงครู

พระอภัยมณีใช้ดนตรีแสดงถึงอำนาจ เสียงของดนตรีนั้นมีอำนาจอยู่แล้ว เพราะเสียงเป็นเรื่องของพลังงาน พลังงานของเสียงมองไม่เห็น แต่เสียงทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ยิ่งเสียงดังกังวานยิ่งมีอำนาจมาก เสียงจะเข้าไปตามรูขุมขน ไม่ได้เข้าทางหูเพียงช่องเดียว เมื่ออณูในร่างกายรับรู้เสียง ก็จะเกิดความเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา ยิ่งพัฒนามากก็จะเกิดความเจริญ ดังนั้น ยิ่งเปลี่ยนแปลงบ่อยก็จะเจริญเร็วขึ้น

เพลงปี่พระอภัยมณีเป็นการนำเสนอศักยภาพความเป็นเลิศของเสียงปี่ที่นักเป่าปี่สามารถจะสร้างขึ้นมาเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของคนได้

สุนทรภู่นั้น ไม่มีประวัติว่าเคยเดินทางไปต่างประเทศ เพราะจากหลักฐานในนิราศต่างๆ ก็เป็นพื้นที่และเส้นทางในประเทศทั้งสิ้น อย่าลืมว่าสังคมกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ติดต่อกับชาวยุโรปมาก่อน ซึ่งมีความรุ่งเรืองมากในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อถึงยุคของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ราชสำนัก ย่อมมีโอกาสได้พบปะกับชาวต่างชาติอย่างแน่นอน ชาวต่างชาติเหล่านั้นมีตั้งแต่กะลาสีเรือไปกระทั่งเอกอัครราชทูตสูงส่ง โอกาสที่สุนทรภู่จะเรียนรู้เรื่องราวของชาวตะวันตก ก็เป็นวิสัยที่สุนทรภู่ทำได้แน่นอน

โลกทัศน์ของสุนทรภู่อาจจะอยู่แถวๆ มหาวิทยาลัยมิ่งหลี ท่าพระจันทร์ ก็เป็นได้ เพราะเป็นพื้นที่กะลาสีเรือพบปะกัน

วันนี้ ดนตรีไทยล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว ในระบบการศึกษาจะหาคนที่มีฝีมือก็ยาก เพราะไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพและดำรงอยู่ได้ นอกจากมีอาชีพรับราชการและมีหน้าที่เล่นดนตรี ก็พอจะอยู่ได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะสร้างฝีมือหรือค้นคว้าให้ก้าวไปข้างหน้าได้ จะหาตัวอย่างนักปี่ที่สุดยอดก็หายาก เท่าที่มีก็เป็นคนรุ่นใหญ่ทั้งสิ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะเป่าปี่ไปทำไม เพราะไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน

การค้นคว้าเรื่องราวในอดีตเพื่อหาคำตอบพัฒนาการของสังคมไทยผ่านเสียงดนตรี โดยปกติก็ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว การจัดขึ้นมาครั้งนี้ก็เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เท่าที่จะหาได้ในเวลาที่จำกัด ร่วมรำลึกถึงกวีคนสำคัญของสังคมไทย “สุนทรภู่” จึงอยากจะเชิญชวนมิตรแฟนเพลงปี่ ไปฟังปี่พระอภัยมณีกัน ไปฟังผู้รู้ที่ท่านได้ศึกษาว่ามีมุมมองที่เกี่ยวกับปี่พระอภัยมณีเป็นอย่างไร สะท้อนถึงภาพในสังคมปัจจุบันอย่างไร

อีก 50 ปีข้างหน้า สังคมไทยอาจจะไม่รู้จักวงมโหรีปี่พาทย์อีกแล้ว ไม่รู้จักเพลงปี่อีกต่อไป เพราะเมื่อไม่มีคนเรียนเป่าปี่ เพลงปี่ก็จะหายไปด้วย ช่างทำปี่ก็มีน้อย คนเป่าปี่ก็มีน้อย เพลงปี่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ เท่าที่มีอยู่คนเป่าปี่ก็ปี่ห้อยหมดแล้ว คนไทยก็มีส่วนน้อยที่ได้อ่านวรรณคดีพระอภัยมณีเป่าปี่

โลกทัศน์ของสุนทรภู่ผ่านวรรณคดีพระอภัยมณีเป่าปี่ บอกกับสังคมไทยว่า ความรู้คืออำนาจ เสียงดนตรีมีอำนาจ ศักยภาพความเป็นเลิศคืออำนาจของมนุษย์ ซึ่งสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้อย่างเนรมิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image