อาศรมมิวสิก : วงกรมศิลป์ระบบราชการไทยกับการสร้างสรรค์งานศิลปะดนตรี : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมามีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นกับวงการดนตรีบ้านเราไม่น้อย (แม้ว่าแฟนเพลงผู้ชมผู้ฟังยังน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็นก็ตาม) วันที่ 6-7 มิถุนายน วงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา (London Symphony Orchestra) มาเปิดการแสดง 2 รอบที่หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร
ด้วยมาตรฐานการบรรเลงระดับสากลไม่มีการยั้ง การอั้น ทุ่มเทการบรรเลงอย่างเต็มที่ นี่คือการบรรเลงดนตรีด้วยมาตรฐานฝีมือระดับโลกอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
ถัดมาในวันรุ่งขึ้นอีก 2 วัน คือวันศุกร์ที่ 8-วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน วงทีพีโอ (Thailand Philharmonic Orchestra) แสดงคอนเสิร์ตในสถานที่เดียวกัน บรรเลงเพลงเอกของรายการคือ ซิมโฟนีหมายเลข 3, ผลงานลำดับที่ 90 ของโยฮันเนส บรามส์ (Johannes Brahms) ภายใต้การอำนวยเพลงโดย คริสตอฟ ป็อปเป็น (Christoph Poppen) วาทยกรรับเชิญที่อดีตเคยเป็นถึงนักไวโอลินมือหนึ่ง และผู้ก่อตั้งวงสตริงควอเต็ทระดับโลกนั่นคือ “แครูบินิ สตริงควอเต็ท” (Cherubini String Quartet) เขาเป็นผู้สูงด้วยภูมิธรรมทางดนตรีอย่างเปี่ยมล้น เป็นลูกศิษย์ของนักไวโอลินเอกของโลกอย่าง นาธาน มิลสไตน์ (Nathan Milstein)

คริสตอฟ ป็อปเป็น เปี่ยมด้วยรสนิยมจากประสบการณ์ดนตรีที่พร้อมจะแผ่รัศมีทางดนตรี เพื่อถ่ายทอดพลังนั้นมาสู่นักดนตรีและผู้ฟัง ผลงานดนตรีจากการอำนวยเพลงของเขานั้นล้ำลึกกลั่นกรองออกมาจากแก่นแห่งดนตรีเชมเบอร์มิวสิก ที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำทางดนตรีต่อผู้ฟังได้เสมอ และผู้เขียนเองก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าซิมโฟนีหมายเลข 3 ของ
บรามส์นี้ เคยมีการนำมาบรรเลงสดๆ กันในเมืองไทยหรือไม่

หรือนี่ “อาจจะ” เป็นการแสดงซิมโฟนีบทนี้รอบปฐมทัศน์ในเมืองไทย?

และในบ่ายวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายนนั้นเอง เวลา 14.00 น.ณ โรงละครแห่งชาติ ก่อนการแสดงของวงทีพีโอเพียง 2 ชั่วโมง วงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ที่มีชื่อเป็นภาษาสากลว่า “The National Symphony Orchestra” ก็มาเปิดคอนเสิร์ตแย่งคนดูกันอีก ในรายการที่ใช้ชื่อว่า “Classical in Touch 1” ด้วยรายการเพลงที่ทั้งดุดัน ท้าทาย และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพลงเอกของรายการคือ บทเพลงชุด (Suite) จากดนตรีประกอบบัลเลต์ (Ballet) เรื่อง “ระบำนกไฟ” (The Firebird) ของอิกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky) ผลงานดนตรีที่เรียกร้องทั้งพลกำลังทางดนตรี เทคนิค ระเบียบวินัย อีกทั้งความพร้อมเพรียงอย่างสูงจากนักดนตรีในวงออเคสตราทั้งวง กาย ใจไม่พร้อมอย่าคิดแตะต้องผลงานชิ้นนี้เป็นอันขาด ซึ่งในครั้งนี้นักดนตรีในวงกรมศิลป์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาเปี่ยมล้นพร้อมทั้งกาย-ใจที่จะถ่ายทอดประจุพลังทางดนตรีอันบรรจุไว้อย่างเปี่ยมล้นใน
ดุริยางคนิพนธ์ชิ้นนี้มาสู่ผู้ชม

Advertisement

หากจะมีแฟนๆ ดนตรีคลาสสิกบางคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการบ้านเรามาอย่างยาวนาน และยังอาจคิดในเชิงดูแคลน “วงกรมศิลป์” (อันอยู่ภายใต้ “ระบบราชการ”) เสมือนในอดีต เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา ต้องขอบอกว่าข้อมูลและการรับรู้นี้เก่าและหมดอายุแล้ว

นักดนตรีหนุ่ม-สาวในวงกรมศิลป์ ยุคปัจจุบัน มิได้เป็นแบบที่พวกเราอาจจะเคยนินทาเขาได้ในอดีต หัวใจดนตรีของพวกเขามีพลัง มีความตั้งใจ และก็มี “ความทะเยอทะยานทางดนตรี” ในแบบหัวก้าวหน้า ซึ่งข้าราชการกลุ่มนี้ได้รวมตัวกัน พยายามเสาะแสวงหาโอกาสที่จะได้แสดงออกถึงศักยภาพในทางดนตรีอยู่เสมอ เพียงแค่พวกเขายังสวมชุดข้าราชการไทยอยู่นั่นเอง

ดร.วานิช โปตะวนิช (ศิลปินศิลปาธร) คือผู้นำทางดนตรีในครั้งนี้ หลังจากห่างหายไปจากการพยายามรื้อฟื้นวงดนตรีวงนี้ให้มีการแสดง “อย่างจริงจัง” ขึ้นมาอีกเมื่อราว 10 ปีก่อน ในความเห็นโดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว สำหรับตัวของวานิช โปตะวนิชนั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นดอกเตอร์หรือไม่เป็น จะมีดีกรี “ศิลปินศิลปาธร” มาประดับบารมีหรือไม่ นั่นดูจะไม่ใช่สาระสำคัญเลยสำหรับบุคลากรทางดนตรีของบ้านเราคนนี้ เพราะเขาคือแบบอย่างของคำว่า “ศิลปิน” อย่างแท้จริง ประจุพลังทางดนตรีที่มีอยู่ล้นปรี่ในตัว ที่อยู่ในระดับผู้นำทางดนตรีเสมอ ไม่ว่าจะนั่งเป่าทรัมเป็ตเป็นหัวหน้ากลุ่มในวงออเคสตรา หรือการออกมายืนจับไม้บาตอง (Baton) อำนวยเพลงอยู่หน้าวง บุคลิกภาพทางดนตรีที่เข้มข้นชัดเจนนี้ จะแผ่รัศมีออกมานำพาการบรรเลงให้มีทิศทางที่แน่นอนเสมอๆ

Advertisement

เชื่อได้แน่ชัดว่าการเลือกบทเพลงชุดระบำนกไฟ (ฉบับปี ค.ศ.1919) ของสตราวินสกีมาแสดงในครั้งนี้ น่าจะเป็นข้อตกลงภายในระหว่างบรรดานักดนตรีและตัววาทยกรในแบบฉันทามติ ผลงานดนตรีในระดับงานชิ้นเอก (Masterpiece) สำหรับวงออเคสตราแห่งศตวรรษที่ 20 หลักกิโลเมตรแห่งชัยชนะที่ตั้งไว้พิสูจน์ถึงการบรรลุเป้าหมายแห่งความพยายามร่วมกันของทุกๆ คนในทีม

หากดนตรีประกอบบัลเลต์ทั้ง 3 เรื่องของไชคอฟสกี (P.I.Tchaikovsky) จัดเป็น “ยุคกลาง” แห่งดนตรีประกอบบัลเลต์แห่งสำนักรัสเซียแล้ว (ยุคกลางมิได้หมายถึง “ยุคมืด” ตามนัยเชิงประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก) ดนตรีประกอบบัลเลต์ของสตราวินสกีก็คือ ยุคแห่งความเป็นที่สุดของดนตรีประกอบบัลเลต์ ซึ่งตัวบทเพลงประกอบบัลเลต์ ได้พัฒนาตัวเองให้มีความเป็นเลิศทางเทคนิค แห่งศิลปะทางเสียงดนตรี จนมีความสมบูรณ์พร้อมสรรพในตัว โดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดตัวเองให้ติดอยู่กับศิลปะการเต้นบัลเลต์อีกต่อไป สามารถแยกตัวออกมาเป็นบทเพลงสำหรับบรรเลงและฟังกันในซิมโฟนีคอนเสิร์ตอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะใช้เทคนิคการบรรเลงดนตรีขั้นสูง และใช้วงออเคสตราขนาดใหญ่เต็มอัตรา

และในความเป็นจริงเราก็ต้องไม่ลืมว่าบรรดานักดนตรีในวงกรมศิลป์ในยุคปัจจุบันนี้แหละที่ราวๆ ครึ่งหนึ่งได้กลายเป็นกำลังสำคัญ ของวงทีพีโอ และวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่การบรรเลงบทเพลงชุดระบำนกไฟในครั้งนี้จะสูงด้วยความสามารถและมาตรฐานในทุกระดับ ทั้งความสามารถเฉพาะตัวในระดับประโยคบรรเลงเดี่ยวต่างๆ และความสามารถในการบรรเลงร่วมกันเป็นทีม (Ensemble)

ที่สำคัญก็คือสีสันทางเสียง (Tone Colour) ที่พวกเขาสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างฉูดฉาด จัดจ้าน และคมคายในแบบดนตรีแห่งศตวรรษที่ 20 จบการแสดงแล้ว ก็ยังอดประหลาดใจอีกเล็กน้อยไม่ได้ว่าที่จบลงไปนั้นคือการแสดงดนตรีคลาสสิกที่มีคุณภาพดีมากครั้งหนึ่ง โดยฝีมือของบุคลากรที่ได้ชื่อว่าเป็น “ข้าราชการไทย” (ในราคาบัตรเพียง 150 บาท อันแสนจะถูกเหลือเชื่อ!)

ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงการแสดงในครึ่งแรกที่ก็สร้างความน่าประทับใจได้ไม่น้อย นับแต่บทเพลงโหมโรง “Poet and Peasant Overture” ผลงานของ “ฟรันซ์ ฟอน ซุปเป” (Franz von Suppe) ที่สร้างความงดงามทางดนตรีได้อย่างน่าประทับใจ วานิช โปตะวนิช จับนัยสำคัญของผลงานได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบรรยากาศแบบเบาสมอง (Lighthearted) ที่แฝงอยู่ในบทเพลงสกุลนี้ บางส่วนที่เป็นจังหวะเต้นรำแบบเพลงวอลทซ์ (Waltz) ที่สามารถจับชีพจรได้อย่างพอดีพองามและสูงด้วยความมีชีวิตชีวา

หลังจากจบบทเพลงโหมโรงนี้แล้ว ทางวงเลือกบทเพลง “ทรัมเป็ตคอนแชร์โต” ผลงานของ “โยฮันน์ เนโปมุก ฮุมเมล” (Johann Nepomuk Hummel) มาปิดท้ายในครึ่งแรก และก็เป็นการแสดงแบบกึ่งเปิดตัวศิลปินทรัมเป็ตหน้าใหม่ของวงการ นั่นคือ จ่าอากาศเอก เทอดฤทธิ์ เรืองโรจน์ (นี่ก็ “ข้าราชการไทย” อีกแล้ว แต่สังกัดกองดุริยางค์ทหารอากาศ) เขาคือลูกศิษย์คนหนึ่งของ ดร.วานิช ที่ได้รับความไว้วางใจให้ออกมารับบทศิลปินเดี่ยวหน้าวง

และวานิชก็เลือกไว้วางใจได้อย่างไม่ผิดคน ศิลปินหน้าใหม่คนนี้ (ใหม่สำหรับตัวผู้เขียน) เปิดตัวได้อย่างงดงาม แม้อาจจะยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ แต่ จ.อ.เทอดฤทธิ์มีหัวใจอันแข็งแกร่งแบบที่ศิลปินเดี่ยว (Soloist) ทั้งหลายจำต้องมี นั่นคือความนิ่งสงบ ไม่ตื่นกลัวหรือประหม่าใดๆ การแสดงเดี่ยวของเขาจึงผ่านไปได้ด้วยดี แสดงออกถึงความรู้-ความเข้าใจในองค์ประกอบพื้นฐานของดนตรีคลาสสิกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคต่างๆ ที่เรียบร้อยงดงาม การเชื่อมโยงเสียงระหว่างโน้ตต่างระดับเสียง การแบ่งประโยควรรคตอนทางดนตรี การอวดเทคนิคการเปล่งเสียงอันน่าทึ่ง หรือการบรรเลงที่แสดงความงดงามในลักษณะเพลงร้อง (Cantabile) ในท่อนช้า…ฯลฯ

นี่จึงนับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและตื่นเต้นทีเดียวสำหรับวงการดนตรีบ้านเรา นั่นคือศิลปินเดี่ยวหน้าใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักชื่อ ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยเห็นผลงานการแสดง แต่การเปิดตัวครั้งแรกก็สามารถสร้างความประทับใจทางดนตรีได้อย่างน่าจดจำและน่าติดตาม

นอกเหนือไปจากความน่าประทับใจทางดนตรีแล้ว คอนเสิร์ตวงกรมศิลป์ในครั้งนี้สะท้อนอะไรให้เราได้เห็นหรือน่าขบคิดบ้าง? ผู้เขียนคิดว่ามันสะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่บ่อยครั้งสังคมมักจะตราหน้าระบบราชการว่าล้าหลัง ทำงานแบบเฉื่อยชา ไร้ความคิดสร้างสรรค์ (ปรากฏการณ์แห่งภาพในอดีตที่อาจสร้างความทรงจำแบบนั้นให้กับสังคม) แต่บ่อยครั้ง
ทีเดียวที่เราก็พบบุคลากรในแวดวงข้าราชการนี่แหละที่ทำงานด้วยความสนุกขยันขันแข็ง เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวา พวกเขาทำงานด้วยความตั้งใจอันแรงกล้า (Passion) และบ่อยครั้งก็มีลักษณะในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ภาคเอกชน” ด้วยซ้ำไป

ภาพลักษณ์ภายนอกที่อยู่ในรูปขององค์การ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่ดูทันสมัยโก้หรู แต่สภาพการณ์ภายในองค์กรกลับมีพนักงานที่ยังทำงานกันแบบ “ระบบราชการ” ที่พวกเรามักชอบนินทากันกล่าวคือ เฉื่อยชา เล่นพรรคเล่นพวก ประจบสอพลอ แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ…ฯลฯ ที่กัดกร่อนพลังชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์ให้หมดไปได้ทีละเล็กทีละน้อยอย่างน่ากลัว

ปรากฏการณ์ทางดนตรีของกลุ่มข้าราชการหนุ่ม-สาว ของวงกรมศิลป์ในครั้งนี้ คงบอกกับพวกเราว่าอย่าได้ตีตราประทับใดๆ ให้กับผู้คน โดยคาดหวังเอาจากภาพความ
ทรงจำในอดีตบางอย่าง

การแบ่งแยกชนิดของคนว่าเป็น ระบบราชการ หรือภาคเอกชน ไม่อาจให้ความจริงกับเราได้เสมอไป และนี่ก็คงไม่ต่างไปจากเรื่องราวของการแบ่งแยกประเภทของศิลปะหรือตัวศิลปินในลักษณะ “สารพัดนิยม” (Ism = อิซึ่มต่างๆ) ที่เสมือนการเอาป้าย “สารพัดนิยม” เหล่านี้ไปแขวนอยู่บนคอพวกเขา แบ่งแยกให้เป็นนั่น เป็นนี่

ปรัชญาการมองโลกและเข้าใจมนุษย์ได้ดีที่สุดจึงน่าจะดูที่การกระทำของเขา และผลงานของเขานั่นแหละเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินที่สำคัญที่สุด

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image