อาศรมมิวสิก : แตรวงอาชีพ : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2561 อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ คนทั่วไปจะเรียกแต่ชื่อเล่น จนไม่รู้จักชื่อจริง “อาจารย์แก่ หรือพี่แก่” ท่านเป็นอาจารย์สอนวงโยธวาทิต อาจจะเรียกชื่อว่า วงเครื่องเป่า หรือวงดุริยางค์เครื่องเป่า ชาวบ้านจะเรียกว่า แตรวง

อาจารย์แก่ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทำมาหลายปีแล้ว อาจารย์แก่นั้นเป็นที่รู้จักในวงการวงดุริยางค์เครื่องเป่าเป็นอย่างดี เพราะเป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทในการทำงาน เอาจริงเอาจัง ปลุกปล้ำ และคิดพัฒนาอยู่กับวงโยธวาทิตมาทั้งชีวิต ไม่คิดที่จะทำอะไร ไม่คิดที่จะไปไหน คิดอย่างเดียวคือ จะทำอย่างไรให้มีวงดุริยางค์เครื่องเป่าอยู่ทุกโรงเรียน วงดุริยางค์เครื่องเป่ากลายเป็นที่นิยม เป็นที่รู้จัก เป็นที่สนใจ มีแฟนเป็นผู้ชมพันธุ์แท้ และเป็นวงดนตรีที่สามารถทำงานเพื่อเป็นอาชีพได้

อ.สุรพล ธัญญวิบูลย์ แวะไปพบที่มูลนิธิ (มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข) เพื่อจะปรึกษาหารือและชักชวนไปทำงาน เพื่อที่จะพัฒนาวงดุริยางค์เครื่องเป่าให้เป็นวงอาชีพที่มีความก้าวหน้ามากกว่านี้ ท่านบอกว่า เพื่อให้งานพัฒนาวงดุริยางค์เครื่องเป่าให้ก้าวหน้า จะได้ไปให้ทะลุออกจากอ่างเสียที “ผมได้เดินวนเวียนแบบพายเรืออยู่ในอ่างมาหลายสิบปีแล้ว อยากชวนอาจารย์
(สุกรี) ให้มาช่วยผม เพื่อว่าผมจะได้ออกจากอ่างเสียที ผมมีเวลาเหลืออยู่อีก 3 ปี” ซึ่งเป็นคำปรารภของอาจารย์แก่ ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ

อาจารย์แก่ได้ขยายความต่อไปอีกว่า “ผมอยากพัฒนาให้วงดุริยางค์เครื่องเป่า (Symphonic Wind Ensemble) ซึ่งมีวงดุริยางค์อยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ (2,000 วง) ให้เป็นวงดนตรีที่มีฝีมือ ทำดนตรีให้เป็นอาชีพ นักดนตรีมีงานเล่นประจำ มีผู้ให้การสนับสนุน มีผู้ฟังที่รักดนตรีด้วยความประทับใจ เหมือนกับวงดุริยางค์เครื่องเป่าในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา หรือในยุโรป อะไรทำนองนั้น”

Advertisement

ระหว่างการสนทนาก็ได้แลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น แม้คนยุโรปก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติ อุปนิสัย และความรักในดนตรี ยิ่งความรับผิดชอบในหน้าที่ด้วยแล้ว คนไทยมีความแตกต่างไปจากชาวต่างชาติที่กล่าวถึงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบเฉพาะเรื่องดนตรีอย่างเดียวไม่ได้ สำหรับในสังคมที่เจริญแล้ว ทุกเรื่องเกี่ยวเนื่องกันหมด เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน ทุกคนนั้นมีความรับผิดชอบในหน้าที่และรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน

เมื่อรวมกันแล้วก็กลายเป็นสังคมที่เจริญ

หากกลับไปย้อนมองประวัติศาสตร์ไทยดูบ้าง พ่อของพระเจนดุริยางค์ จาคอบ ไฟต์ (Jacob Feit) เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงสยามเป็นครูสอนดนตรีทั้งชีวิต เสียชีวิตในประเทศไทย อยู่กับสังคมสยาม แต่งงานกับคนไทย มีลูกคือพระเจนดุริยางค์ เข้าใจคนไทยเป็นอย่างดี ท่านได้ฝากฝังสั่งสอนลูกเอาไว้ ไม่ให้ยึดถือและอาศัยวิชาดนตรี ซึ่งท่านได้สอนให้ไว้นั้นเป็นอาชีพเป็นอันขาด โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า

Advertisement

“คนไทยเราไม่ใคร่สนใจในศิลปะการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำเล่นๆ สนุกๆ ไปชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไป” จาคอบ ไฟต์ (Jacob Feit)

หากจะดูจากบันทึกของฝรั่งตะวันตกเพิ่มเติม (นายเบอร์นี่ เลขานุการของจอห์น ครอว์เฟิร์ด) ได้เขียนบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.2356 ความว่า “อันชนชาวสยามนั้น มีอุปนิสัยขี้เกียจ ฉ้อฉล และคดโกง” ถ้าหากได้สำรวจในสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน จากข้อมูลชาวต่างชาติก็จะพบว่า มีความเห็นที่เกี่ยวกับคนไทยไม่แตกต่างกันนัก อีกความเห็นหนึ่งที่คนไทยได้พูดถึงคนไทยด้วยกันไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“ประเทศไทยนั้นมีสิ่งที่ดีทุกอย่าง เสียอยู่อย่างเดียวที่มีคนไทยอาศัยอยู่”

หากมีการตั้งคำถามกันว่า ในภูมิภาคอาเซียนในยุคล่าอาณานิคมนั้น เหลือแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก แล้วเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย คำตอบหนึ่งที่น่าสนใจมาก ได้ให้เหตุผลว่า “เพราะไม่มีใครเขาอยากปกครองชาวสยาม ด้วยเหตุที่ชนชาวสยามนั้น มีอุปนิสัยขี้เกียจ ชอบฉ้อฉล คดโกง พัฒนาลำบาก และยากแก่การปกครอง” ซึ่งเป็นคำตอบที่ตลก แต่ก็ขำไม่ออก

ทั้งหมดเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกับ อ.สุรพล ธัญญวิบูลย์ กรณีว่า “ทำไมไทยเราพัฒนาวงดุริยางค์ หรือวงดนตรีอาชีพอย่างประเทศตะวันตกหรือญี่ปุ่นไม่ได้”

นอกจากนี้ยังได้เสนอเรื่องการทำวงดุริยางค์เครื่องเป่าอาชีพไปว่า “หากคุณหาเงินได้ ก็สามารถที่จะตั้งเป็นวงดนตรีอาชีพได้เลย คุณไม่ต้องการผมหรอก” สำหรับดนตรีคนไทยนั้น ถือปรัชญาเหมือนกันหมด คือ “เสียงดังตังค์มา” นักดนตรีให้ความสนใจรายได้มากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะการเลี้ยงชีพได้เป็นปัจจัยหลักมากกว่าเรื่องคุณภาพ พูดตรงๆ ว่า นักดนตรีคนไทยยังให้ความสนใจเงินมากกว่าเรื่องคุณภาพของดนตรี อาชีพนักดนตรียังเหมือนแม่ค้าตลาดสด เล่นเสร็จรับเงิน หากได้เงินน้อย ความตั้งใจในการทำงานก็จะน้อยด้วย นักดนตรีไม่ต้องการทำงานที่มีภาระผูกพัน ไม่ต้องการความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับผู้ชม คนที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อบัตรไปฟังดนตรีในสังคมไทย ยังมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนวงดนตรีให้ดำรงอยู่เป็นอาชีพได้ แม้ว่าสังคมไทยจะมีคนที่มีเงินจำนวนมากขึ้น แต่คนไทยไม่ซื้อบัตรเพื่อไปฟังดนตรี เขาต้องการบัตรฟรีมากกว่า บัตรฟรีนั้นเป็นหน้าตาและเป็นราคาของความน่าเชื่อถือว่า “เพราะฉันเป็นคนสำคัญ ดังนั้น ฉันจึงได้บัตรฟรี”

การตั้งเป้าหมายว่าจะมีคนซื้อบัตรไปฟังดนตรี ยังเป็นความหวังและเป้าหมายที่ยังผิดพลาดอยู่ไกลในปัจจุบัน การที่ อ.สุรพล ธัญญวิบูลย์ จะหวังว่าให้มีวงดุริยางค์เครื่องเป่าเป็นวงดนตรีอาชีพ มีคนซื้อบัตรเข้าฟังดนตรีอย่างมีความสุข และทำให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าอยู่ได้ จึงเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ความจริงก็คือ ดนตรียังไม่มีความจำเป็นและยังไม่เป็นที่ต้องการ คนไทยยังต้องการเงิน เกียรติ และอำนาจมากกว่า

หลังจากที่ได้แสดงวิสัยทัศน์กันพอสมควรแล้ว ก็ได้เสนอโครงการที่จะทำให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าอยู่ได้ เพื่อสนองการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ก็พอมีแนวทางอยู่บ้าง ให้คิดอย่างเร็วก็พอคิดได้อยู่ 1-2 โครงการ แต่เงื่อนไขจะต้องมีคนทำงานเต็มเวลา การทำงานเต็มที่ เต็มเวลา เต็มกำลังเท่านั้น ที่จะเกิดเป็นอาชีพได้ การทำงานแค่ครึ่งแรง เสี้ยวแรง ทำไม่เต็มที่อย่างสภาพที่ทำกันในปัจจุบัน ก็ไม่มีคุณภาพ เป็นอาชีพได้ยาก

ปัจจัยที่สำคัญก็คือ ค่าตอบแทน หากนักดนตรีมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ก็เป็นอาชีพได้แล้ว ให้ดูจากตัวอย่าง “รายได้” ของนักฟุตบอลอาชีพของไทย เมื่อนักฟุตบอลมีรายได้ดี ก็จะมีนักฟุตบอลอาชีพเกิดขึ้น หากมีรายได้ไม่ดี ก็จะกลายเป็นพวกรักสมัครเล่น อย่างที่เป็นอยู่ในวงการดนตรี

โครงการแรกสำหรับวงดุริยางค์เครื่องเป่า เป็นการบันทึกเสียงเพลงสำคัญของชาติ จะต้องมีการค้นคว้าว่าบทเพลงสำคัญของชาติมีเพลงอะไรบ้าง เมื่อคัดเลือกเพลงได้แล้ว ให้หานักเรียบเรียงเสียงประสานที่เก่งแห่งยุคสมัย เรียบเรียงเพลงขึ้นใหม่ เลือกนักดนตรีที่ดีที่สุดใช้ในการบันทึกเสียง ผลงานเป็นการบันทึกเสียงที่เป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับวงดุริยางค์ของโรงเรียนทั่วประเทศ ผลงานจะต้องอยู่ในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ใช้เป็นของที่ระลึกของรัฐบาลเพื่อมอบให้แก่แขกต่างประเทศ

โครงการที่ 2 เป็นเรื่องของอาชีพ เรื่องความจำเป็นและความต้องการ สำหรับวงดุริยางค์เครื่องเป่านั้น ต้องมีนักสำรวจดนตรีออกไปสำรวจสนามกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล แบดมินตัน วอลเลย์บอล ตะกร้อ ซึ่งเป็นกีฬาที่คนไทยเชียร์มาก ทุกคนมีความสุข สนุก และมีความเพลิดเพลินในการเชียร์
นักสำรวจจะต้องเข้าไปในสนามกีฬาฟุตบอล (แบดมินตัน วอลเลย์บอล ตะกร้อ) ทั่วประเทศที่มีการแข่งขันรายการที่สำคัญ ไปดูแฟนๆ กีฬาที่กำลังเต้น แฟนๆ ที่เชียร์ฟุตบอลในส
นาม ร้องเพลงอะไร ใช้จังหวะอะไร นักสำรวจจะต้องบันทึกเพลงและจังหวะ เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่สำหรับให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าเล่น โดยมุ่งไปที่การใช้วงดุริยางค์เครื่องเป่าสร้างความสนุกสนาน สร้างความเพลิดเพลินในสนาม

เมื่อมีการเปิดสนามแข่งขันกีฬาสำคัญ ฟุตบอล หรือรถแข่ง ต้องใช้วงดุริยางค์เครื่องเป่าขนาดใหญ่ (1,000 คน) เมื่อเปิดสนามเสร็จแล้วนักกีฬาลงสนามเริ่มแข่ง ก็ย้ายวงดนตรีไปเชียร์บนอัฒจันทร์คนดู ใช้นักดนตรีประมาณ 2-3 ร้อยคน เมื่อกีฬาฟุตบอลสนุกเพลิดเพลินแล้ว ดนตรีก็จะพลอยได้โอกาสและมีชื่อเสียงด้วย

กีฬาฟุตบอล เป็นความสุข เป็นความบันเทิง และเป็นความเพลิดเพลินใจ คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีคนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม ดังนั้น การเสริมด้วยวงดนตรีที่ดี ก็จะทำให้ยกระดับของความสุขให้สูงขึ้น การที่มีกองเชียร์ที่สนุก แบบเชียร์รำวง ดนตรีประกอบจำอวด วงเถิดเทิงกลองยาว แตรวงชาวบ้าน ฉิ่งฉาบทัวร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นบรรยากาศของความสนุกสนานแบบชาวบ้าน ไม่ต้องมีคุณภาพ ไม่ต้องจดจำ

และที่สำคัญก็คือ ไม่มีราคา เสร็จแล้วกลับบ้านก็ลืม

วงดุริยางค์เครื่องเป่าที่จะเข้าไปในสนามฟุตบอล ต้องเล่นสนุก นักดนตรีต้องเล่นเก่ง เสียงเพลงเร้าใจ (เสียงแน่น) เชียร์เมื่อไหร่ก็สนุกเมื่อนั้น แม้ผู้แพ้เมื่อได้ยินเสียงดนตรีก็จะต้องฮึกเหิม มีกำลังใจ ดนตรีไม่มีฝ่าย เสียงดนตรียังสามารถที่จะเยียวยาความพ่ายแพ้ได้ แฟนๆ สามารถมีความสุขกับเสียงดนตรี
วงดนตรีดุริยางค์เครื่องเป่า จะต้องเข้าไปร่วมแสดงในสนามฟุตบอล กระทั่งสนามฟุตบอลขาดวงดนตรีและกองเชียร์ไม่ได้ หากเมื่อไหร่ไม่มีวงดุริยางค์แล้ว ฟุตบอลเล่นก็ไม่สนุก พอๆ กับเวทีการชกของมวยไทย มีเวทีชกมวยที่ไหนต้องมีวงปี่กลองที่นั่น ไม่มีวงปี่กลองนักมวยก็ชกไม่สนุก
อ.สงัด ภูเขาทอง ครูดนตรีไทยคนสำคัญ (เสียชีวิต พ.ศ.2546) เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านพูดเตือนอยู่
เสมอๆ ว่า “หากคิดแล้วไม่ได้ทำ หรือการกระทำโดยไม่ได้คิด ฉิบหายทั้งคู่” ท่านยังพูดต่อไปว่า “หากคิดแล้วไม่ทำ ก็เหมือนกับคนขี้โม้ ส่วนคนที่ทำแล้วไม่ได้คิด ก็กลายเป็นคนโง่”
ทั้ง 2 โครงการที่นำเสนอให้แก่ อ.สุรพล ธัญญวิบูลย์ หากต้องการเป็นวงดนตรีอาชีพ ก็ต้องอยู่ได้ด้วยกลไกของอาชีพ และทั้ง 2 โครงการเป็นตุ๊กตาสำหรับการสร้างบันไดไปสู่ความเป็นวงดุริยางค์เครื่องเป่าอาชีพ เพราะว่า “มีความจำเป็นและมีความต้องการ” เกิดขึ้น
เมื่อถึงตอนนั้น นักดนตรีวงดุริยางค์เครื่องเป่าก็จะมีพื้นที่ทำมาหากิน เป็นวงดนตรีอาชีพที่มีเกียรติที่เชื่อถือได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image