เดินไปในเงาฝัน : คนเล็กๆกล้าเปลี่ยนเมือง : สาโรจน์ มณีรัตน์

 

ไม่กี่วันผ่านมามีโอกาสลงพื้นที่ไปดูโครงการพัฒนาความร่วมมือทางด้านอุดมศึกษาทางสถาปัตยกรรมไทย-จีนระหว่างสถาบันอาศรมศิลป์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยชิงหวา และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง บริเวณชุมชนเมืองเก่าในจังหวัดสงขลา

เนื่องจากที่นี่มีอาคารสถาปัตยกรรมโบราณตั้งเรียงรายอยู่มากมาย ทั้งยังมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวโยงกับชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสงขลาเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

ชุมชนไทยพุทธ

Advertisement

และชุมชนไทยมุสลิม

โดยทั้ง 3 ชุมชนต่างอาศัย และทำมาหากินอยู่แถบบริเวณหนองจิก, ท่าน้ำริมทะเลสาบสงขลา และชุมชนมุสลิมบ้านบนอย่างกลมเกลียว

จนทำให้ชุมชนเหล่านี้กลายเป็นชุมชนหนึ่งที่เข้มแข็ง กระทั่งหลายหน่วยงานต่างพยายามยกระดับอาคารสถาปัตยกรรมโบราณ และชุมชนมีชีวิตเหล่านี้ให้กลายเป็นเมืองมรดกโลกในปี 2564

Advertisement

เพียงแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเมืองไปในทิศทางดังกล่าว

โดยมี 4 สถาบันจากประเทศไทยและจีนร่วมกันออกแบบพื้นที่ และร่วมพูดคุยกับตัวแทนชุมชนต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่ออนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

อาจารย์ธิป ศรีสกุลไชยรัก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ บอกว่าสิ่งที่อยากที่สุดในการทำงานทางด้านการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมคือการอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจ เพราะชีวิตปกติของเขาต้องหาเช้ากินค่ำ

ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

ต้องดูแลครอบครัว

“ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปในพื้นที่ และบอกเขาว่าเราต้องการเข้ามาช่วยอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน วัดวาอาราม และโบราณสถานต่างๆ ที่อยู่รายรอบชุมชนที่ต่างมีประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ โดยให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม เพราะถ้าเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการมองเห็นต้นทุนของสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ชุมชน อาหาร และศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ก็จะทำให้ต้นทุนเหล่านี้สะวิงกลับมาที่พวกเขาเอง

“จนที่สุดต้นทุนเหล่านี้จะทำให้เกิดธุรกิจหมุนเวียนภายในชุมชน โดยที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการดำเนินชีวิตของตัวเอง ใครเคยขายอาหารอะไรก็ขายแบบนั้น ใครเคยขายขนมอะไรก็ขายแบบนั้น หรือใครเคยทำงานบริการอะไรที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม เกสต์เฮาส์ โฮสเทลอะไรต่างๆ ก็สามารถกลับมาบุกเบิกธุรกิจเหล่านี้ในชุมชนของตัวเองได้”

แม้แรกๆ จะยาก

เพราะอย่างที่ทราบปากท้องเขายังไม่อิ่ม เรื่องอะไรจะมาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ สู้ไปทำอะไรเพื่อครอบครัวจะดีกว่า เพราะเห็นผลชัดเจนว่าทำแล้วคนในครอบครัวกินอิ่มนอนหลับอย่างแน่นอน

ตรงนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

ซึ่งไม่ใช่ “อาจารย์ธิป” ไม่รู้ เพราะจากประสบการณ์ครั้งแรกที่เขาเข้าไปปรับปรุงคุกเก่าแก่ในจังหวัดเชียงรายที่มีอายุ 90 กว่าปี เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ

เขายังทำงานโครงการสถาปัตย์อนุรักษ์ในอีกหลายโครงการ อาทิ ชุมชนท่าม่วง กาญจนบุรี, วัดตองปู ลพบุรี, ชุมชนเก่าเมืองปอน แม่ฮ่องสอน, เมืองเก่าอู่ทอง สุพรรณบุรี, เชียงคาน เลย, ศาลาเก่า วัดคูเต่า สงขลา, เกาะยาวน้อย พังงา, ชุมชนริมน้ำจันทบูร ฯลฯ

ซึ่งต้องยอมรับว่าบริเวณชุมชนริมน้ำจันทบูรถือเป็นการทำงานอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมเห็นผลอย่างชัดเจนที่สุด เพราะนอกจากชุมชนกว่า 200 คนจะเข้าใจแนวทางการทำงานของเขา

หากคนในพื้นที่ และคนอื่นๆ ที่สนใจงานอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมยังช่วยกันถือหุ้น หุ้นละ 1,000 บาทผ่านบริษัท จันทบูรรักดี จำกัด รวมทั้งหมด 501 คน เป็นจำนวนเงิน 8.8 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนตั้งต้นในการทำงานอนุรักษ์ ก็ล้วนเกิดจากการยอมรับในแนวทางการทำงานของ
“อาจารย์ธิป” และสถาบันอาศรมศิลป์ทั้งสิ้น

จนทำให้เกิด “จันทบูรโมเดล” เพื่อใช้สำหรับทำงานอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

รวมถึงชุมชนเมืองเก่าสงขลาที่เกิดขึ้นขณะนี้ด้วย
ถามว่าความสำเร็จเกิดขึ้นเกิดจากอะไร ?

“อาจารย์ธิป” บอกว่าเราต้องเข้าใจเขาก่อน อย่านำความคิดของเราไปใส่ให้เขา สิ่งสำคัญ เราต้องมาดูว่าจะเชื่อมโยงสิ่งที่ชาวบ้านรู้กับสิ่งที่เราเห็นคุณค่าให้ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร เพราะเราไม่มีวันรู้เท่าชาวบ้านในชุมชน

“ดังนั้น การที่เราไปคุยกับชาวบ้าน เพราะต้องการอยากทราบว่าสิ่งที่เรารู้ กับเขารู้ จะเชื่อมกันได้อย่างไร ที่สำคัญ สิ่งที่เรารู้ถูกต้องหรือเปล่า เราต้องฟังจากปากของเขา พูดง่ายๆ คือเราต้องให้เกียรติเขาเป็นอันดับแรก และเราเองต้องทำหน้าที่แค่ตัวประสานเพื่อให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้น เพราะคนที่เป็นเจ้าของจริงๆ คือชาวบ้านเหล่านั้น”

ซึ่งเหมือนกับที่ “อาจารย์ธิป” นำนักศึกษาปริญญาตรี และโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากสถาบันอาศรมศิลป์, มทร.ศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยชิงหวา และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงจากประเทศจีนลงพื้นที่ในการออกแบบชุมชนเมืองเก่าสงขลาครั้งนี้

ทุกคนจึงต้องลงไปคุยกับชาวบ้าน

เพื่อจะได้ทราบความต้องการของชาวบ้านในชุมชนจริงๆ ว่า…พวกเขาต้องการให้ชุมชนเมืองเก่าสงขลาเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

เพราะเจ้าของชุมชนที่แท้จริงก็คือชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image