แรงบันดาลใจได้ทั้งความฮึดและความเหนื่อย

ประโยคมาตรฐานเวลาเราอยากให้กำลังใจใครสักคนแต่ไม่ทราบจะพูดอย่างไรดีคือ “สู้ๆ!” ใช่ไหมคะ

บางคนอยากหลีกเลี่ยงการพูดแล้วจะเผลอกดดันมากเกินไปจึงเลือกจะให้สู้ๆ แทน

แต่จากประสบการณ์พบว่าไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ตัวคนฟังมากกว่าคนพูดค่ะ ต่อให้เรากดดันหรือปลอบโยนหรือแม้แต่สู้ๆ ถ้าคนฟังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองก็ไม่มีทางฉุดตัวเองขึ้นมาจากความสิ้นหวังได้แน่นอน

นักศึกษาคนหนึ่งมีปัญหาเครียดและอยากลาออกจากคณะที่เรียนอยู่ค่ะ สาเหตุที่เธอเลือกคณะนี้เพราะพ่อแม่บอกว่าที่บ้านไม่มีคนเรียนสายวิทย์เลย เธอซึ่งเรียนเก่งที่สุดจึงเป็นความหวังของทุกคนแม้ว่าที่จริงแล้วเธอชอบเรียนภาษามากกว่า

Advertisement

หลังเรียนปีแรกเธอก็รู้สึกทันทีว่าคณะนี้ไม่ใช่ที่ของเธอ ยิ่งเรียนก็ยิ่งทรมาน หนังสือก็ไม่อยากหยิบขึ้นมาอ่าน ไม่ยอมไปเรียน แต่ก็ไม่กล้าบอกที่บ้านเพราะเป็นความหวังของทุกคนในครอบครัว

“หนูเรียนที่นี่ก็ไม่มีความสุข เพื่อนก็ไม่มี เรียนก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะบอกพ่อแม่ยังไงเลยคิดว่าจะปล่อยให้สอบตกไปเองจะได้ถูกให้ออก แต่ก็กลัวว่าสอบตกแล้วพ่อแม่จะเสียใจ อุตส่าห์เรียนมาเกินครึ่งทางแล้วด้วย”

“ฟังดูคุณเครียดมาก มีกิจกรรมอะไรที่ทำแล้วรู้สึกมีความสุขบ้างไหมคะ”

Advertisement

เธอเหมือนจะยิ้มได้นิดหน่อยค่ะ เธอชอบอ่านการ์ตูนและวาดการ์ตูนจึงสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองมานาน แต่ความภูมิใจที่ได้วาดการ์ตูนและอ่านภาษาญี่ปุ่นของเธอไม่มีค่าอะไรในสายตาพ่อแม่ ซึ่งอยากให้ลูกเรียนสายวิทย์ ฟังแล้วก็อยากจะบอกว่าสู้ๆ อยู่เหมือนกันค่ะ แต่คิดว่าเธออาจจะต้องกินยารักษาอาการเศร้าก่อนดีกว่า สิ่งที่หายไปจากตัวเธอในตอนนี้คือแรงบันดาลใจในแบบวัยรุ่นค่ะ

แล้วในวัยที่กำลังค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเองแบบนี้จะอยู่ซังกะตายไปวันๆ กับการเรียนเรื่องที่ไม่ได้สนใจแม้แต่น้อยเพื่ออะไรกัน คุณค่าของชีวิตบางทีก็อยู่ที่ความหมายของมันนี่ล่ะค่ะว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร สำหรับนักศึกษาสาวคนนี้ เธอให้คุณค่ากับพ่อแม่มากกว่าความสุขของตัวเองก็เลยยังเศร้าอยู่

“Shounen Maid” หรือหนุ่มน้อยสาวใช้เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกัน เพิ่งเริ่มฉายทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นเมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมานี้เองค่ะ เรื่องนี้เป็นการ์ตูนตลกน่ารักกล่าวถึง “จิฮิโระ” เด็กชายวัยประถม ซึ่งอาศัยอยู่กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาตลอด อยู่มาวันหนึ่งคุณแม่เสียชีวิตกะทันหัน จิฮิโระซึ่งไม่มีญาติที่ไหนกลับได้รู้ว่าแท้จริงคุณแม่เป็นลูกสาวของมหาเศรษฐีที่หนีออกจากบ้านมาและโดนตัดขาดจากครอบครัว “มาโดกะ” น้าชายแท้ๆ ของจิฮิโระจึงขอรับหลานไปอยู่ด้วยกันแต่จิฮิโระไม่ใช่เด็กธรรมดาค่ะ เขาดูแลงานบ้านมาตลอดระหว่างที่แม่ไปทำงาน ดูแลตัวเองและเผลอๆ จะดูแลคุณแม่ด้วยซ้ำ แม่สอนจิฮิโระว่า “คนไม่ทำงานจะไม่มีข้าวกิน” ดังนั้น จิฮิโระจึงปฏิเสธไม่ขอไปนั่งกินนอนกินอยู่ในบ้านของน้าชายมหาเศรษฐี

“ถ้าอย่างนั้นจิฮิโระก็ช่วยทำงานบ้านที่นี่สิ เหมือนเป็นแม่บ้านแบบกินอยู่ ถ้าไม่อยากได้ค่าขนมก็จะให้เป็นค่าแรงแทน”

มาโดกะบอกแค่นี้โดยไม่มีการให้กำลังใจหรือสู้ๆ เลยค่ะแต่จิฮิโระรู้ทันทีว่าชีวิตที่หมดหนทางหลังเสียคุณแม่ไปกลับมามีความหมายอีกครั้ง โชคดีที่จิฮิโระเป็นเด็กที่รักความสะอาดเรียบร้อยเป็นที่สุดจึงเหมาะกับงานสาวใช้เป็นอย่างมากค่ะ

จะเห็นว่านอกจากการให้กำลังใจและบอกให้สู้ๆ แล้ว แรงบันดาลใจยังเกิดจากการมองเห็นคุณค่าในตัวบุคคลนั้นและบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำสร้างประโยชน์ต่อคนรอบข้างได้มากมายแค่ไหน แต่มีงานวิจัยด้านสุขภาพจิตองค์กรบอกว่าการมีหัวหน้าที่คอยกระตุ้นแรงบันดาลใจให้ลูกน้องแม้จะมีผลดีเรื่องงานแต่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพของพนักงานในระยะยาวได้

การวิจัยจาก UEA โดยคุณคารินา นีลเซน และคุณเควิน ดาเนียลส์ พบว่ามีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างการมีหัวหน้าที่บริหารแบบผู้นำซึ่งกระตุ้นความเปลี่ยนแปลง (transformational leader) กับอัตราการลาป่วยหรือป่วยแต่ยังคงมาทำงานของลูกน้องในระยะยาวค่ะ แต่เดิมเราเชื่อมาตลอดว่าหนึ่งในคุณลักษณะที่ดีของผู้นำคือต้องกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องอุทิศตัวเพื่องานและเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม กระทั่งเจ็บป่วยก็ขอให้สู้จนถึงที่สุดก่อนค่อยลาป่วย

เขาพบว่าผู้นำแบบนี้ช่วยให้งานก้าวหน้าและพนักงานเองก็ภูมิใจที่งานสำเร็จด้วยค่ะ อัตราการลาป่วยต้องน้อยแน่นอนเพราะผู้นำช่วยกระตุ้นให้ฮึกเหิมสู้ตาย ดังนั้น ต่อให้ป่วยก็ยังต้องมาทำงาน แต่เมื่อติดตามต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีจึงพบว่าแม้ปีที่ 1 ลูกน้องยังฮึดอยู่ แต่ปีที่ 2 แต่ละคนมีวันลาป่วยเพิ่มขึ้นถึง 14 วันเมื่อเทียบกับปีแรก พอปีที่ 3 อัตราการลาป่วยไม่ต่างจากเดิมแต่กลับมีวันทำงานทั้งที่ยังป่วย (presenteeism) มากขึ้นแทนโดยเฉพาะโรคหวัด

ซึ่งเราทราบดีว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยรวมคือในระยะยาวเหล่าลูกน้องต่างสุขภาพแย่ลงไปตามๆ กัน

แรงบันดาลใจยังคงเป็นเรื่องดีค่ะโดยเฉพาะการกระตุ้นให้ฮึดแต่คงได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น หากปล่อยนานไปจะส่งผลต่อสุขภาพแต่ก็ใช่ว่าไม่ควรกระตุ้นต่อเนื่องนะคะ ถ้าพ่อแม่ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ฮึดกันระยะยาวๆ เช่น จนกว่าจะเรียนจบหรือจนกว่าจะโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ การหมั่นเอาใจใส่สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image