หนุมาน : เทพแห่งสรรพวิทยา (19)

พระกฤษณะ กับอรชุน ภาพจาก http://oprinchniki.blogspot.com/2013/08/blog-post.html

ผู้อ่านคงทราบดีแล้วว่า เมื่อฤษีวาลมิกิ (Valmiki) แต่งรามายณะขึ้นในราว พ.ศ.700 ในอินเดียกลาง หรือที่เรียกกันว่ามัธยมประเทศ เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็คงมีอยู่เพียงเล่มเดียว ในชั้นแรกจึงต้องใช้วิธีท่องจำให้คนไปเล่าตามที่ต่างๆ ในครั้งนั้น คนอินเดียนับถือเรื่องรามายณะว่าเป็นคัมภีร์วิเศษ เพราะเป็นเรื่องของเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่อวตารลงมาปราบอธรรม ใครได้ฟังแล้วก็ล้างบาปได้

ในสมัยพันกว่าปีมาแล้ว คนที่ท่องจำได้ก็เดินสายไปตามเมืองต่างๆ เพื่อท่องโศลกเล่าเรื่องรามายณะให้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายฟัง เพราะคนที่มีบาปมากก็อยากฟังเพื่อบาปจะได้หมดไป ส่วนคนที่บาปน้อยก็ปรารถนาที่จะมีความสุขความเจริญ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ก็ตั้งอกตั้งใจรอพวกเล่าเรื่องรามายณะที่นานๆ จะมากันสักครั้งหนึ่ง เพราะรามายณะเป็นเรื่องราว เล่ากันแต่ละแห่งก็ใช้เวลาแรมเดือน ที่กระวนกระวายมากหน่อยก็เป็นบรรดาญาติของคนตายที่ไม่เคยได้ฟังรามายณะ ก็พากันเกรงว่าคนตายจะตกนรก ต้องช่วยกันจัดการให้สวดรามายณะในพิธีศารทพรต คือทำบุญให้คนตาย เป็นการล้างบาปให้อีกทางหนึ่ง

พิธีสวดรามายณะหรือเล่าเรื่องรามายณะให้คนตายจะแพร่เข้ามาในเมืองไทยบ้างหรืออย่างไร ไม่พบหลักฐาน แต่ปรากฏว่าทางภาคอีสานสมัยโบราณเคยมีประเพณีนำเรื่อง “พระรามชาดก” มาอ่านในงานศพด้วยเหมือนกัน แต่จะอ่านให้คนเฝ้าศพหรือหวังให้คนตายได้ขึ้นสวรรค์ ไม่มีคำอธิบาย

ตามที่กล่าวมาในตอนแรกแล้วว่า กษัตริย์เนปาลและชวาในสมัยโบราณประดับรูปหนุมานไว้ที่ธงชัย ตามประเพณีชวาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราก็จะมีธงกบี่ธุชนำเสด็จ ในเรื่องมหาภารตะก็มีธงกบี่ธุชปักอยู่บนรถของอรชุน เหตุที่อรชุนจะนำรูปหนุมานมาประดับที่ธงชัยนั้น มีเรื่องเล่าว่า

Advertisement

วันหนึ่งขณะที่กฤษณะกับอรชุนเดินไปตามริมฝั่งแม่น้ำยมุนานั้น อรชุนซึ่งได้ชื่อว่าชำนาญในการใช้ธนูได้เปรยขึ้นว่า พระรามไม่น่าจะเสียเวลาทำสะพานข้ามไปลงกา น่าจะใช้ธนูจัดสร้างให้จะรวดเร็วกว่า หรือว่าพระรามไม่ถนัดในการใช้ธนู กฤษณะจึงพูดขัดขึ้นว่าทหารของพระรามมีมากมายก่ายกอง ก็อาสาทำสะพานถวายเป็นเพื่อเป็นเกียรติยศ จึงไม่ได้ใช้ธนู แต่อรชุนก็คงวางท่าเป็นเชิงดูแคลนอยู่นั่นเอง กฤษณะรำคาญจึงพูดตัดบทว่า ถ้าอย่างนั้นให้อรชุนสร้างสะพานด้วยธนูตามที่อวดอ้าง อรชุนก็ยิงธนูสร้างสะพานขึ้น กฤษณะก็เชิญหนุมานเดินบนสะพาน แต่เดินไปไม่กี่ก้าวสะพานก็พัง กฤษณะจึงเตือนอรุชุนว่าไม่ควรลบหลู่ผู้ที่อาวุโสกว่า

ด้วยเหตุนี้อรชุนจึงนับถือหนุมาน นำรูปหนุมานมาประดับที่ธงชัยเรียกว่ากปิธวัช (Kapidhvaja) ใช้ประดับรถศึกในการทำสงคราม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image