อีก (สัก) ครั้งกับปัญหาภัยแล้ง เขื่อน ความจำเป็น และชีวิตของคนในพื้นที่

สภาพฝายที่แห้งแล้ง

คงเป็นอีกวิกฤตหนึ่งที่คนไทยหนีไม่พ้น-อย่างน้อยก็ในระยะนี้ สำหรับปัญหาภัยแล้ง

เจอมาทุกปี มากบ้างน้อยบ้างว่ากันอีกเรื่อง แต่ปีนี้คงต้องรับกันตรงๆ ว่าหนักหนาสาหัสชนิดทำน้ำตาเกษตรกรหลั่งแทนน้ำฝน

เพราะแม้จะมีน้ำไว้สำหรับการอุปโภค บริโภคบ้าง แต่ก็ไม่มากพอขนาดจะเอาไปทำการเกษตรได้ ซึ่งเมื่อไม่มีงาน ไม่มีผลผลิต ก็เป็นเรื่องของภาวะความเป็นอยู่ที่แห้งแล้งพอกับแม่น้ำ

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากปริมาณฝนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี ขณะที่ความต้องการน้ำนั้นไม่ได้ลดลงไปด้วย การบริหารจัดการน้ำของชลประทานเองก็จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ แน่นอนว่าความสำคัญอันดับแรกคือเพื่ออุปโภคและบริโภค ลำดับต่อมาคือน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ

Advertisement

ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร-ซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนการใช้น้ำสูงสุดถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งระบบนั้น ก็จำเป็นต้องงดลงเสีย เพื่อความอยู่รอดในส่วนอื่นซึ่งสำคัญกว่า

แม้ทางกรมชลประทานจะยืนยันว่ายังคงมีน้ำใช้ได้จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ แต่ใช่หรือไม่ว่าเวลาดังกล่าวก็งวดเข้ามาใกล้ทุกที ไม่นับความจำเป็นของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

เฉพาะแถบ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด กำแพงเพชร, นครสวรรค์ และอุทัยธานีนั้น ก็เข้าขั้นวิกฤตหนักนาจนต้องใช้มาตรการงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร แม้จะได้น้ำจากเขื่อนทับเสลาและเขื่อนคลองโพธิ์ระบายออกเพื่อการอุปโภคบริโภคได้บ้างในระยะนี้ แต่ก็ยังนับเป็นภาวะหืดขึ้นคอของคนในพื้นที่ซึ่งยังต้องทำการเกษตรเลี้ยงชีพอยู่

Advertisement

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำสะแกกรังนั้นผ่านมาแล้วทั้งท่วมและแล้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้พื้นที่อย่างนครสวรรค์และอุทัยธานีเผชิญปัญหาน้ำล้นน้ำขาดอยู่เสมอ

“ทั้งประเทศนี้มีจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ 29 จังหวัด นครสวรรค์เองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ต่อให้เรามีแก้มลิงขนาดใหญ่อย่างบึงบอระเพ็ด-ซึ่งประกอบไปด้วยดินและน้ำ แต่น้ำก็ลดหายไปมากกว่าครึ่งในปัจจุบัน จนที่สุดแล้วอาจไม่เหลือภาพความเป็นบึงอยู่แล้วในตอนนี้”

ข้อเท็จจริงนี้ถูกตอกย้ำจากข้อมูลของ วิศาล วสุนธาราพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน นครสวรรค์

“บึงเหลือน้ำน้อยลง ตะกอนตกเยอะ รวมทั้งประสบปัญหาการบุกรุกอีกด้วย คือคนเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่บอกก่อน สูบน้ำจากบึง ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อการอุปโภค บริโภคเท่านั้น แต่ยังสูบไปเพื่อการเกษตรอีกด้วยซึ่งทางเราไม่อนุญาตเพราะมันใช้น้ำเยอะ”

“แต่จริงๆ เราเข้าใจว่าชาวบ้านเองก็ขาดแคลนน้ำมากๆ”

พ้นไปจากนั้น ปัญหาของบึงบอระเพ็ดคือการถูกบุกรุกครอบครองพื้นที่บึง การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การตื้นเขิน ภัยแล้งหรือการขาดแคลนน้ำ ไปจนถึงการลักลอบจับสัตว์น้ำและนกน้ำ

จากปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ส่งผลให้เดือนเมษายนที่ผ่านมา บึงบอระเพ็ดตกอยู่ในสภาพตื้นเขินและถูกรุกราน จนน้ำเหลือไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร

ประวิทย์ เปรมศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 อธิบายเพิ่มเติมว่า ฝายเขาแดง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อช่วยในการเพาะปลูกนั้นปีนี้ก็แล้งจัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง รวมถึงการเกษตรอื่นๆ ในระยะนี้ไปก่อน หากจะกลับมาทำการเกษตรได้นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่าฟ้าฝนเป็นใจมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมไม่ใช่ในห้วงเวลาเช่นนี้

(จากซ้าย) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์, วิศาล วสุนธาราพร, ประวิทย์ เปรมศรี
(จากซ้าย) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์, วิศาล วสุนธาราพร, ประวิทย์ เปรมศรี

“ในหน้าแล้ง ถ้าฝายมีน้ำเราก็เปิดระบายน้ำช่วยเหลือภัยจากหน้าแล้งได้ เราจะมีคณะกรรมการในการดูว่าควรปล่อยน้ำหรือไม่ อย่างไร ถ้าคนในพื้นที่ต้องการน้ำก็ทำหนังสือมายื่นได้ คณะกรรมการก็จะพิจารณาถึงความจำเป็นและนำเข้าที่ประชุม ว่าควรปล่อยกี่วัน ปล่อยอย่างไร แค่ไหน”

การปล่อยน้ำที่ว่านั้นเป็นเรื่องยากสำหรับคนตัดสินใจ เพราะไม่เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ มากไปกว่านั้น หลายครั้งจำต้องตัดใจไม่ปล่อยน้ำให้เพราะรู้ดีว่าปล่อยไปก็เท่านั้น เนื่องจากดินในพื้นที่เหล่านั้นแห้งเสียจนน้ำไม่ช่วยเยียวยา ทำการเพาะปลูกใดๆ ได้

“อย่างฝายเขาแดง เรารับน้ำมาจากแม่วงก์ ซึ่งก็มีการพยายามกักเก็บน้ำไว้ในฝายแล้วแต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะถูกชาวบ้านหรือคนในพื้นที่แอบสูบเอาไปใช้บ้าง ปีนี้เราเลยไม่มีน้ำอีกแล้ว”

ทั้งหมดนี้ อย่างหนึ่งที่ชี้ชัดมากคือความจำเป็นในการต้องมี เขื่อน ขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของคนในพื้นที่

“ถ้ามีเขื่อนแม่วงก์ ก็ปล่อยน้ำเข้าฝายมาได้เรื่อยๆ ชาวบ้านก็ไม่ต้องลำบากกันขนาดนี้” เป็นความในใจที่ฟังดูชวนให้แห้งแล้งไม่แพ้น้ำในฝาย-ในแง่ที่ว่าความต้องการของชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องจริงและน่าหดหู่ไม่แพ้ข้อเท็จจริงอื่นๆ

“ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าชาวบ้านอยากได้เขื่อนแม่วงก์ เพราะเขาคือคนที่ต้องเจอทั้งน้ำท่วม ทั้งภัยแล้ง คนจากเขตนี้ต้องการเขื่อนกันทั้งนั้น เพราะน้ำ เวลาจะมาก็มาหลากจนท่วม แต่พอไม่มาก็แล้งสุดขีด” ประวิทย์กล่าว ก่อนขยายความถึงความจำเป็นของชาวบ้าน โดยเฉพาะอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ที่เผชิญความแปรปรวนของธรรมชาติอย่างหนักหน่วงทั้งท่วมทั้งแล้งมาเกือบทุกปี

ลำพังขาดน้ำดื่มน้ำใช้ก็ลำบากแล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร-ซึ่งก็เป็นส่วนมากในพื้นที่นี้-ล้วนขาดรายได้อย่างหนักเมื่อวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจมาถึง

“ถ้าสร้างเขื่อน ประโยชน์ที่จะตามมาคือมันกันอุทกภัยได้ บางที่ ข้าวเหลืองเต็มทุ่งแล้ว รอเกี่ยวอย่างเดียว แต่พอน้ำมาก็ไปหมดเลย รัฐต้องมาเสียงบชดเชยนับหมื่นล้านให้เกษตรกร ไม่นับต้องซ่อมถนนอีก แล้วถ้าสร้างเขื่อน เราก็จะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สมบูรณ์”

ผลอีกด้านของการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นอาจเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในวงกว้าง ถึงด้านนิเวศ และด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะระบบนิเวศจะถูกคุมคามอย่างหลีกเลี่ยง “ไม่ได้” และอาจนำไปสู่การลักลอบตัดไม้ริมอ่างเก็บน้ำ จนส่งผลให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ไปในที่สุด

นอกจากนี้ เพราะเป็นเขื่อนขนาดเล็กที่จุน้ำได้สูงสุด 262 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในการสร้าง และที่สำคัญคือเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้วได้อย่างยั่งยืน

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือความจำเป็นอย่างยิ่งของคนในพื้นที่ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ในวันนี้ เวลานี้ ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติอยู่อย่างฝืนทน

นี่อาจเป็นการตั้งคำถามอีกครั้ง และอีกครั้ง ถึงความต้องการของเกษตรกร ซึ่งอาจประสานงากับผลกระทบในส่วนอื่นๆ อย่างยากจะเลี่ยง

ฝายแล้ง02

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image