ย่ำไปในดงเพลง : สมัย อ่อนวงศ์ ขุนพลแคน ทะลุอีสานไปอีกแสนไกล

ก่อนจะถึงยุคของครูสมบัติ สิมหล้า ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นขุนพลแคน หรือหมอแคนนิ้วทองคำในปัจจุบัน

เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น มีผู้บุกเบิกการใช้เครื่องดนตรีอีสานชนิดนี้ให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในวงกว้างมาก่อนแล้ว

คือเขาล่ะ-สมัย อ่อนวงศ์

ทิ้งท้ายเอาไว้เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่แล้ว ว่านี่คือขุนพลแคนแดนสยามผู้ไม่ได้มีถิ่นที่มาจากภาคอีสานเพราะเอาเข้าจริงรกรากของเขาทะลุเลยไปไกลกว่านั้นอีกไกล

Advertisement

สมัยเป็นคนบ้านทับคาง เขาย้อย เพชรบุรี ฐานะทางบ้านยากจน เรียนจบแค่ชั้นมัธยม 2 ก็ต้องออกไปช่วยทางบ้านทำนา จนอายุครบบวช ถึงอุปสมบทจนครบพรรษา

ลูกชายคนโตเล่าประวัติของพ่อให้ฟังว่า เป็นคนชอบดนตรีมาแต่เล็ก

ตั้งแต่เรียนยันทำนา ถ้าว่างก็จะไปหัดเครื่องดนตรี ทั้งจะเข้ ขลุ่ย แคน

Advertisement

จะเข้กับขลุ่ยนั้นไม่น่าสงสัย เพชรบุรีคือหนึ่งในดินแดนมหาอำนาจทางดนตรีมาแต่ไหนแต่ไร แต่แคนนี้สิ มายังไง

ถ้าเป็นท่านที่ชอบประวัติศาสตร์โบราณคดีหน่อยก็อาจจะไม่แปลกใจ เพราะเพชรบุรีคือหนึ่งในพื้นที่ซึ่งรัฐไทยสมัยโบราณใช้กวาดต้อนผู้คนที่จับมาได้หลังศึกสงครามให้มาตั้งรกราก

หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านั้นคือไทดำ หรือผู้ไทดำ หรือไททรงดำ

หรือที่แต่ก่อนเรียกกันว่าลาวโซ่ง

เป็นไทดำกลุ่มเดียวกันกับที่ ก วิเสส

นักร้องผู้โด่งดังชาวลาว ร้องเอาไว้ในเพลงฮิตที่สะเทือนเลื่อนลั่นภูมิภาคสุวรรณภูมิในยุคร่วมสมัยกับสมัย อ่อนวงศ์-ไทดำรำพัน

ทำไมไทดำถึงต้องรำพัน

ชีวิตของชาติพันธุ์ไทยกลุ่มนี้น่าสนใจและน่าเห็นใจไปพร้อมๆ กัน

รกรากดั้งเดิมของชาวไทดำอยู่ที่เมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู ที่มีหลักฐานว่าเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดเบื้องต้นของคนเผ่าไท

แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยกระจายกันอยู่ตามภาคต่างๆ ในลาว

เมื่อเกิดสงคราม กองทัพธนบุรีและรัตนโกสินทร์ที่บุกขึ้นไปถึงหลวงพระบาง กวาดต้อนครัวไทและลาวลงมาด้วยจํานวนมาก

เฉพาะที่อยู่เพชรบุรีอย่างน้อยก็สามพวกคือไทดำ ลาวพวน และลาวเวียง

แต่เดิมนั้นเรียกกันว่าพวกสามลาว โดยเรียกไทดำเป็นลาวโซ่ง

สันนิษฐานว่าโซ่งมาจากคำว่า “ซ่วง” ที่แปลว่ากางเกง เพราะไทดำชอบนุ่งกางเกง

ที่เรียกว่าไทดำ เพราะนิยมสวมเสื้อผ้าสีดำ

และเขาเหล่านั้นถือว่าตัวเป็นไท ไม่ใช่ลาว จึงไม่นิยมให้เรียกลาวโซ่ง แต่ให้เรียกผู้ไทดำ หรือไททรงดำ

ที่ต่อมาก็กร่อนเหลือแค่ผู้ไท หรือไทดำเฉยๆ

แต่ความระกำถึงขั้นรำพันยังไม่หมด

ในช่วงสงครามอินโดจีน ไทดำที่เมืองแถนแตกเป็นสองพวก กลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกับฝรั่งเศสเพื่อหวังว่าหลังสงครามแล้วจะแยกตัวออกจากลาวมาตั้งสหพันธรัฐไท

แต่ฝรั่งเศสแพ้สงครามย่อยยับที่เดียนเบียนฟูหรือเมืองแถนนี่เอง

ชาวไทดำจำนวนไม่น้อยต้องอพยพแยกย้ายกันไปหาแหล่งที่อยู่ที่ทำกินใหม่

ประมาณ 4,000 คน ไปอยู่ดาลัดในเวียดนาม

ประมาณ 2,000 คน ไปหลวงพระบาง

และอีกประมาณ 3,000 คน อพยพไปอยู่ที่เชียงขวาง กลุ่มที่อพยพมายังเชียงขวางนี้ ส่วนหนึ่งก็ได้อพยพมาอยู่ที่แขวงเวียงจันท์

เพลงไทดำรำพันแต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงการอพยพรอบหลังนี้เอง

ไปเสียไกล กลับมาที่สมัยอีกที

เห็นรกรากแล้วคงสิ้นสงสัย ทำไมถึงสนใจและเก่งกาจเรื่องแคน

เมื่อชอบถึงขั้นคลั่งไคล้ ก็เป็นปกติที่จะหาทางพัฒนาของชอบให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

นอกจากรวบรวมมือแคนมาเล่นร่วมกันเป็นวงดนตรี ยังหาทางติดสายไฟเข้าไปกับเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้กลายเป็นแคนไฟฟ้าประยุกต์ ที่เล่นออกมาแล้วได้เสียงชัดเจนครบถ้วนทุกตัวโน้ต

จากชนะเลิศดนตรีไทยประเภทแคน พ.ศ.2500 และตั้งวงแคนสมัยศิลปิน มาถึงประยุกต์แคนไฟฟ้า 2508

ราวๆ ปี 2510 สมัย อ่อนวงศ์ ร่วมตั้งวงลูกทุ่งกับนักแต่งเพลงคู่บุญ-กานท์ การุณวงศ์

ไม่นับที่ปั้นนักร้องคนอื่นให้โด่งดัง เพลงของตัวเองก็ติดปากคุ้นหูตั้งแต่สมัยนั้นยันยุคนี้

บ่เป็นหยังดอก ปืนบ่มีลูก คนหูหนวก เจ็บแท้น้อ บ่นแก้กลุ้ม เสียงพิณเสียงแคน แคนสวาท แม่ศรีไพร สาวหวึ่ง ฯลฯ

ความที่เป็นดนตรีที่ผสานวัฒนธรรมหลายอย่างเข้าด้วยกัน งานเชิญงานโชว์จึงไม่ขาดสาย

โดยเฉพาะในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรมในต่างประเทศ ตั้งแต่ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น (ไปได้รางวัลหมวกยอดขุนพล ซึ่งเป็นที่มาของฉายาขุนพลแคนแดนสยาม) ไปจนถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ

ถึงยุค 2520-2530 ก็ยังมีงานรับเชิญจากสหรัฐ ออสเตรเลีย

ในฐานะขวัญใจชุมชนไทย-ลาว

สมัย อ่อนวงศ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2539 ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี

เป็นนักร้องนักดนตรีคนเดียวที่มี “อนุสาวรีย์” เป็นของตัวเอง

รูปหล่อทองเหลืองผสมทองแดง ขนาดเท่าตัวจริง อยู่ในท่ายืนก้าวเท้าขวาเล็กน้อย หันหน้าไปทางทิศเหนือ สวมชุดผ้าลายแตงโม ซึ่งเป็นผ้าทอมือพื้นบ้านชาวไททรงดำ มือซ้ายถือแคนแนบอก มือขวาถือโล่รางวัลแผ่นเสียงทองคำ

ตั้งอยู่หน้าศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำเขาย้อย

ราคาค่าก่อสร้างอนุสาวรีย์ประมาณ 600,000 บาท เทศบาลเขาย้อยช่วยสมทบทุน 250,000 บาท ที่เหลือคือครอบครัว ชุมชน และลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันจัดหามา

เดือนเมษายนของทุกปี ศูนย์วัฒนธรรมฯ เทศบาลตำบลเขาย้อย ประชาชนชาวตำบลทับคาง และชาวจังหวัดเพชรบุรีจะจัดงานหงำฮอดสมัย อ่อนวงศ์ และประเพณีไททรงดำ

เป็นวันรวมชนเชื้อสายไททรงดำทั่วประเทศ เพื่อรำลึกถึง สมัย อ่อนวงศ์ มีการแสดงแคน วงฟ้อนไททรงดำ การละเล่นพื้นบ้าน ประกวดธิดาไททรงดำ การทำอาหารแบบดั้งเดิมของชาวไททรงดำ ฯลฯ

รักแคนชอบแคน เป็นแฟนสมัย อ่อนวงศ์

อยากรู้จักวัฒนธรรมพื้นถิ่น ไปร่วมงานเขาโดยพลัน

หรือจะฟังตัวอย่างเสียงแคนที่ทั้งอ้อน ทั้งออด ทั้งตอด และขับเสียงร้องให้เด่นขึ้นมาดูก่อนก็ได้

เจ็บแท้น้อ
https://www.youtube.com/watch?v=XhEN8rUXrr0

บ่นแก้กลุ้ม
https://www.youtube.com/watch?v=XZPeZZAtsVQ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image