เริงโลกด้วยจิตรรื่น โดย จันทร์รอน : ‘เมตตา’ที่แท้

ถ้าพูดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบในสังคมมนุษย์โลก คำที่มักได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ “เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก”

“เมตตา” ในความหมายของ “ไมตรี” คือมีความเป็น “มิตร” ต่อกัน เป็น “กัลยาณมิตร” สัมพันธ์กันด้วยความปรารถนาดี

และมีบ่อยครั้งที่จะได้ยินผู้รู้ชี้ทางว่า “เมตตาที่สำคัญ” คือทั้งต้องหาทางให้เกิดก่อน และหาวิธีรักษาไว้ให้มั่นคงคือ “เมตตาต่อตัวเอง”

การมี “เมตตาต่อตัวเอง” จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เข้าถึงเมตตาต่อคนอื่น สิ่งอื่นได้กระจ่างชัด กระทั่งความเมตตาต่อคนอื่น สิ่งอื่นนั้น ดูจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากใครคนนั้นไม่สามารถสร้าง “เมตตาต่อตัวเอง” ให้เกิดขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้ฟังดูจะรู้สึกว่าเป็นแค่คำพูดเก๋ๆ “เมตตาตัวเอง” เพราะง่ายที่จะนึกว่า “ทุกคนต้องรักตัวเองอยู่แล้ว”

รักตัวเองก็ต้องเมตตาตัวเองโดยอัตโนมัติ เพราะรักใครย่อมปรารถนาดีต่อคนนั้น

แต่เอาเข้าจริง “เมตตาตัวเอง” ในความหมายของ “เมตตา” ที่แท้กลับเป็นเรื่องยากยิ่ง

Advertisement

ยากเสียยิ่งกว่าเมตตาคนอื่นด้วยซ้ำ

เหตุเนื่องจากธรรมชาติของคนเรานั้นมักเข้าข้างตัวเอง มีสัญชาตญาณในทาง “ปกป้องตัวเอง”

อะไรที่เป็น “ความสุข” ก็จะหาทางรักษาไว้ให้อยู่กับตัวเองนานๆ อะไรที่ไม่น่าพอใจก็หาทางให้พ้นไปเสียโดยเร็ว หาเหตุผลให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก โยนความผิดให้คนอื่น

พฤติกรรมเช่นนี้เสี่ยงต่อการทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งถึงที่สุดแล้วจะส่งผลกลับมาที่ตัวเองอยู่ดี

ความคิดปกป้องตัวเอง ทำให้ง่ายต่อการไม่ยอมรับความจริง และเลยไปถึงการโกหกตัวเอง

ความรักตัวเองแบบนี้เป็นการสร้างความเท็จขึ้นมาห่อหุ้มความคิดตัวเองไว้ มีความเป็นไปได้ที่ความคิดเหล่านี้จะห่อหุ้มจนบดบังความจริง

กลายเป็นคนที่หมดความสามารถในการมองเห็นความจริงได้

ที่สำคัญคือง่ายมากที่สัญชาตญาณเช่นนี้จะทำให้เห็นว่า “การปกป้อง” ดังกล่าวเป็น “ความเมตตาต่อตัวเอง”

ซึ่งถือเป็นความผิดพลาด

“เมตตา” ต้องหมายถึงการให้ “อิสระ” จากชีวิต ไม่ใช่การนำชีวิตไปจองจำไว้ในความเชื่อ หรือความคิดบางอย่างที่ผิดไปจากความเป็นจริง

ดังนั้น “เมตตาตัวเอง” จึงหมายถึงการทำให้ชีวิตไม่ถูกมัดโยงไว้กับความคิด ความเชื่อที่เกิดจากการปกป้องตัวเอง

คนที่จะ “เมตตาตัวเอง” ได้ จะต้องฝึกที่จะปกป้องตัวเอง ฝึกให้ตัวเองอยู่กับความเป็นจริง เพื่อจะหาทางพัฒนาตัวเองจากความเป็นจริงนั้นได้

คล้ายกับว่ามองตัวเองเป็น “คนคนหนึ่ง” เหมือนกับ “คนอื่นๆ”

มองแบบรู้เฉยๆ ว่าตัวเองเป็นอย่างไร โดยไม่มีความคิดจะหาเหตุผลมาปกป้องตัวเอง เป็นมิตรกับตัวเองด้วยการไม่ปล่อยให้ความเชื่อความคิดมาลากตัวเองออกไปจากความเป็นจริง

เมื่อมี “เมตตาตัวเอง” ที่ถูกต้องเป็นจุดเริ่ม การพัฒนาตัวเองจากความเป็นจริงจะเกิดขึ้น

และเมื่อใครสักคนที่เรียนรู้การพัฒนาที่เริ่มจากเมตตาในความหมายของการนำชีวิตเคลื่อนไปในความจริง ไม่ใช่เมตตาแบบเบี่ยงเบนตัวเองไปด้วยความคิดปกป้องตัวเอง

ความรู้ที่ได้จาก “เมตตาตัวเอง” นี้ จะทำให้สามารถเมตตาต่อผู้อื่นในทางที่ถูกที่ควรได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image