‘โลก’สู้โควิดกลายพันธุ์ ในวันที่‘เดลต้า’อาละวาด โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจ

คิวยาวเหยียดรอตรวจโควิด ที่สถานีรถไฟในกรุงโซล (รอยเตอร์)

พุ่งสูงเฉียดหมื่นรายส่งท้ายวันศุกร์ที่ไม่สุขมาพักใหญ่ สำหรับยอดติดเชื้อโควิดในไทยที่มาพร้อมๆ กับการเคาะมาตรการ (กึ่ง) ล็อกดาวน์ที่ไม่เรียกล็อกดาวน์ โดยให้เวิร์กฟรอมโฮม ปิดห้าง ร้านสะดวกซื้อ 2 ทุ่มถึงตี 4 ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4 ห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน มีผลจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม คือวันนี้เป็นวันแรก

ไม่เพียงเท่านั้น ‘บิ๊กตู่’ พร้อมคณะรัฐมนตรี ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน โดยให้นำไปใช้ประโยชน์สำหรับแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ทว่ากระแสตอบรับตรงกันข้ามกับกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นาม ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ที่สละเงินเดือน 3 เดือน มาก่อนหน้า นำมาซึ่งความชื่นชมล้นหลาม

ในขณะที่โควิดในไทยยังน่าหวาดหวั่น ยอดพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแทบทุกเมื่อเชื่อวัน สถานการณ์โลก รวมถึงเพื่อนบ้าน ก็ยังต้องติดตามในภาพรวม บ้างก็วิกฤต บ้างเริ่มฟื้นตัว บ้างก็มีโมเดลการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ

ต่อไปนี้คือสภาพการณ์ปัจจุบันในรอบสัปดาห์ ณ ห้วงเวลาที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกทะลุ 4 ล้านคน!

Advertisement

โควิดคร่าชีวิตเทียบคนตายใน‘สงคราม’
4 ทศวรรษทั่วโลก

เริ่มต้นด้วยจำนวนผู้ถูกพรากลมหายใจด้วยเชื้อโรคร้าย โควิด ดังที่กล่าวไปแล้วว่า มีถึงกว่า 4 ล้านคน นับถึงวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ระบุว่า เป็นจำนวนพอกับๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ถูกสังหารในสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับจากปี 1982 เป็นต้นมา รวมกัน

Advertisement

มากกว่าผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลกในแต่ละปีถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดทั่วโลก น่าจะยังต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ว่าจะด้วยการละเลย หรือจงใจปกปิดข้อมูลก็ตามที

จนถึงขณะนี้ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ที่กว่า 6.2 แสนราย ตามมาด้วยบราซิล 5.2 แสนราย, อินเดียกว่า 4 แสนราย, เม็กซิโก 2.3 แสนราย และเปรู 1.9 แสนราย

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 185 ล้านราย สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดที่กว่า 34.6 ล้านราย, อินเดีย 30.7 ล้านราย, บราซิล 18.9 ล้านราย, ฝรั่งเศส 5.7 ล้านราย และรัสเซีย
5.6 ล้านราย

ทั้งนี้ หลังมีการฉีดวัคซีน ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตรายวันทั่วโลกลดลงมาอยู่ที่ราว 7,900 รายต่อวัน จากที่เคยสูงกว่าวันละ 18,000 ราย ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

‘เดลต้า’ตัวเปลี่ยนเกม กระจายเร็ว โลกหวั่น
มาเลย์เตือน‘แลมบ์ด้า’ระบาดไวกว่า!

ขณะที่ทั่วโลกพยายามเร่งกระจายฉีดวัคซีนแข่งกับการแพร่ระบาดของไวรัส ก็มีการพบการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ‘เดลต้า’ ที่สร้างความวิตกไปทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการ
กระจายฉีดวัคซีน อย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอิสราเอล โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม อังกฤษมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหนึ่งวันสูงกว่า 3 หมื่นรายเป็นครั้งแรก นับจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งที่เตรียมจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงปลายเดือนนี้

ซิดนีย์ขยายเวลาล็อกดาวน์อย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังเจอเดลต้าระบาด

ในขณะที่ชาวนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย มากกว่า 5 ล้านคนต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ต่อไปอีกอย่างน้อยถึงวันที่ 16 กรกฎาคม หลังเจอเดลต้าระบาด โดยทางการระบุว่ามีความก้าวหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาด แต่จำเป็นต้องขยายเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมบางอย่างต่อไป เพราะเดลต้าเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ เนื่องจากระบาดง่ายมาก ด้านมุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ชี้ว่า จำเป็นที่จะต้องมีการถอนรากถอนโคนไวรัสให้หมดไปจากชุมชน เพราะเราไม่ต้องการที่จะตกอยู่ในจุดที่จะต้องอยู่ระหว่างการล็อกดาวน์และไม่ล็อกดาวน์สลับกันไปมา

อีกหนึ่งประเทศที่ถูกเดลต้าอาละวาดหนัก คือ เกาหลีใต้ ทำให้ทางการต้องขยายเวลาคุมเข้มการเคลื่อนย้ายของประชาชนในกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบออกไป พร้อมพิจารณาผลักดันมาตรการเข้มงวดสูงสุดหลังจากเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,212 ราย สูงสุดนับจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

คิม บู คยอม นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ กล่าวว่า การระบาดรอบ 4 ของเกาหลีใต้ที่เป็นผลจากเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า กำลังแพร่ลามไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนช่วงอายุ 20-30 ปี ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ในขณะที่ ประธานาธิบดีมุน แช อิน สั่งการให้กองทัพระดมกำลังเข้าร่วมสมทบในการช่วยตรวจหาเชื้อและเร่งให้เจ้าหน้าที่จัดตั้งศูนย์ตรวจหาเชื้อโควิดเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่น

ทั้งนี้ ราว 30% ของประชากรเกาหลีใต้ที่มีราว 52 ล้านคน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส

ข่าวเดลต้ายังไม่จางหาย ยังมีอีกหนึ่งเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของหลายประเทศ แสดงความกังวล นั่นคือ ‘แลมบ์ด้า’ (Lambda variant) หรือเชื้อ ซี.37 (C.37) โดยเป็นไปได้ว่าจะสามารถต้านทานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด

ประเด็นนี้ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า แลมบ์ด้าเป็นอันตรายมากกว่าเชื้อเดลต้า ซึ่งสร้างปัญหาด้านสาธารณสุขให้กับหลายประเทศในเอเชียอยู่ในเวลานี้ โดยมีการตรวจพบเชื้อแลมบ์ด้าแล้วในกว่า 30 ประเทศ

แพทย์‘อินโด’ฉีด‘ซิโนแวค’ครบยังป่วย
ชาวบ้านแห่ซื้อยาฆ่าพยาธิต้านโควิด

อินโดนีเซียเผชิญวิกฤตระบาดหนักระลอกล่าสุดจากสายพันธุ์เดลต้าซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย ก่อนกระจายอย่างน้อย 85 ประเทศ (เอเอฟพี)

ท่ามกลางเชื้อโควิดที่ขยันกลายพันธุ์พร้อมๆ กับความพยายามในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สำนักข่าวเอเอฟพีก็รายงานว่า ชาวอินโดนีเซียแห่กักตุนยาไอเวอร์เม็กติน (ivermectin) ซึ่งเป็นยาฆ่าพยาธิ โดยเชื่อว่าสามารถรักษาโควิดได้ โดยผู้ที่สนับสนุนความเชื่อนี้คือเหล่านักการเมืองและอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายไปทั่วประเทศ

โยยอน หัวหน้าแผนกเซลส์ขายยาที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตาระบุว่า ผู้ที่เดินทางมาซื้อยา โชว์ภาพถ่ายหน้าจอที่ระบุว่า ยาไอเวอร์เม็กตินสามารถรักษาโควิดได้ และตอนนี้ยาขาดแคลนมาก เนื่องจากมีผู้คนเดินทางมาซื้อกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นจาก 175,000 รูเปียห์ (390 บาท) เป็น 300,000 รูเปียห์ (669 บาท)

หนึ่งในผู้ที่เผยแพร่แนวคิดนี้คือ เรซา กุนาวัน ผู้ที่อ้างว่าตนเองเป็นแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 350,000 คนบนทวิตเตอร์ ได้ทวีตว่า ไอเวอร์เม็กตินเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญและมีประสิทธิภาพในการจบการแพร่ระบาด โดยอ้างอิงจากแพทย์หลายราย พร้อมด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก

ทำเอาขายเกลี้ยงประเทศ!

สำหรับฟากฝั่งทางการอินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มกระตุ้น ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ฉีดวัคซีนของซิโนแวคครบโดสไปแล้ว

“มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ยังมีอาการป่วยปานกลางและรุนแรง หรือไม่ก็เสียชีวิต” นายสลาเม็ต บูดิอาร์โต รองหัวหน้าสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมลกี ลากา เลนา รองประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านสาธารณสุข ของรัฐสภาอินโดนีเซีย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันพวกเขาจากผลกระทบที่เลวร้ายและน่ากังวลจากเชื้อกลายพันธุ์ใหม่

ขณะที่บางข้อมูลของการใช้งานจริงชี้ว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 จากการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการป่วยรุนแรง ทว่า ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าที่พบครั้งแรกในอินเดีย

ล่าสุด มีการขยายล็อกดาวน์ทั่วประเทศไปถึงวันที่ 20 กรกฎาคม ครอบคลุมตั้งแต่เกาะสุมาตราถึงปาปัวที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศ จากเดิมที่ครอบคลุมพื้นที่เกาะชวากับเกาะบาหลีเท่านั้น

รัฐบาลอินโดนีเซียยังเตือนว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 50,000 คนต่อวัน แม้ว่าขณะนี้โรงพยาบาลในอินโดนีเซียจะประสบปัญหาคนไข้ล้นมือจนระบบสาธารณสุขแทบล่มสลาย และออกซิเจนขาดแคลนจนต้องนำเข้าจากสิงคโปร์แล้วก็ตาม

เวียดนามล็อกดาวน์‘โฮจิมินห์’ติดเชื้อพุ่ง
เกิดปัญหากระจายวัคซีน

เวียดนามล็อกดาวน์โฮจิมินห์หลัง ‘เดลต้า’ ระบาด

ขยับเข้ามาดูประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เข้ามาอีกนิด อย่างเวียดนาม ล่าสุดรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์นครโฮจิมินห์ เมืองศูนย์กลางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งมีประชากรถึง 9 ล้านคน หลังผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไป 8 พันกว่าคน

มีผลทันทีเมื่อศุกร์ที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ อนุญาตให้ออกจากบ้านพักเพียงเพื่อซื้ออาหารและยาเท่านั้น โดยมีรายงานว่าชาวโฮจิมินห์พากันไปซื้อข้าวของมากักตุน

ที่ผ่านมา เวียดนามเคยเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ประสบปัญหาในการจัดหาและกระจายวัคซีน โดยจากประชากรของเวียดนามที่เกือบ 100 ล้านคน มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้วเพียง 4 ล้านโดส ซ้ำยังมาพบการระบาดของโควิดกลายพันธุ์อย่างเดลต้าอีกด้วย

สปป.ลาวลุยฉีดวัคซีน ยอดดับทั้งประเทศไม่ถึงหลักสิบ
‘ซูจี’ ก็ฉีดแล้ว

สำหรับเพื่อนบ้านที่ถูกคั่นเพียงลำน้ำโขง ‘ศูนย์ข่าวการแพทย์สุขศึกษา’ สปป.ลาว เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มในแต่ละวันซึ่งมักอยู่ระหว่างหลักสิบกลางๆ ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมมีไม่ถึง 10 ราย ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม มีเพียง 3 รายเท่านั้น ขณะที่ยอดผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว มีจำนวน 956,535 ราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว มีจำนวน 595,647 ราย แม้ดูเผินๆ ตัวเลขไม่มาก แต่หากเทียบกับจำนวนประชากรซึ่งมีไม่ถึง 10 ล้านคน ถือว่าฉีดไปได้ไม่น้อย นอกจากนี้ เพิ่งมีการเปิดใช้ระบบปฏิบัติการต้านโควิด 19 ‘ลาวสู้สู้’ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับใช้ในการรายงานอาการของตนระหว่างกักตัวอยู่ที่บ้านพัก หรือสถานกักตัว เช่น อุณหภูมิร่างกาย ไข้ ไอ เมื่อย และอื่นๆ รวมถึงติดตามการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด

ส่วน เมียนมา ล่าสุด จากประชากรทั้งประเทศราว 54 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 2.8% หนึ่งในนั้น คือ ออง ซาน ซูจี ซึ่งบีบีซีรายงานว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายี่ห้อไหน และเมื่อใด ในขณะที่แทบไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชน หลังจากถูกจับกุมคุมขังอยู่ในบ้านพักจากการถูกกองทัพยึดอำนาจ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมียนมากำลังพยายามที่จะจัดหาวัคซีนต้านโควิดให้ได้มากขึ้น หลังจากเมียนมาได้รับวัคซีนมาจากอินเดียจำนวน 1.5 ล้านโดส และอีก 500,000 โดส จากจีนเมื่อช่วงต้นปี ทางการยังห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านในพื้นที่กรุงเนปยีดอ มีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กัมพูชาเจอระลอกใหม่
วิพากษ์หนัก‘ฮุนเซน’สั่งซื้อโลงจากไทย

ฮุน เซน เห็นชอบซื้อโลงศพ 3,000 โลงจากไทยเมื่อผู้ติดเชื้อในกัมพูชาพุ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ราว 1,000 รายต่อวัน (Khmernas Media via RFA)

ปิดท้ายด้วยบรรยากาศในกัมพูชา ซึ่งเพิ่งเกิดวิวาทะไปหมาดๆ จากการที่ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี เห็นชอบในการจัดซื้อโลงศพ 3,000 โลง จากประเทศไทย ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกัมพูชาพุ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ มีการติดเชื้อเพิ่มโดยเฉลี่ยแล้วเกือบ 1,000 รายต่อวัน โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วกว่า 55,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 748 ราย โดยเกือบ 500 รายเป็นการเสียชีวิตจากการระบาดระลอกใหม่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

วิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) รายงานว่า ประเด็นดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชนทั่วไป โดยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อโลงจากต่างประเทศ เพราะเป็นการสูญเงินโดยใช่เหตุ

แต่ควรหาวิธีการจัดจ้างภายในประเทศ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้จะดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image