นับถอยหลัง 5 ปี ‘คลองหลวง สมาร์ทซิตี้’ เปิดแผน ‘ธรรมศาสตร์’ ผนึก สวทช.จับมือท้องถิ่น

ภาคการเกษตรยังไม่ถูกใช้งานอย่างครบวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ธรรมศาสตร์จะยังคงความเป็นธรรมศาสตร์ที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม”

คือหนึ่งในถ้อยคำให้สัมภาษณ์โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งแรก เมื่อปลายปี 2560

จากวันนั้นถึงวันนี้ ที่ รศ.เกศินี ยังคงนั่งเก้าอี้ตัวเดิมอย่างมั่นคง ภายใต้การสนับสนุนของคณาจารย์ โดยปรากฏโปรเจ็กต์ต่างๆ มากมายที่มาแนวล้ำสมัย ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ปทุมธานีได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายตัวของเมือง จึงเป็นความท้าทายว่าจะบูรณาการอย่างไร เพื่อสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ในพื้นที่

ล่าสุด จึงได้เห็นภาพธรรมศาสตร์ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาอำเภอคลองหลวงให้เป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ ตามโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคลองหลวง (Khlong Luang Smart City)

Advertisement

เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะคลองหลวง โดยเดินหน้าใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ปั้นต้นแบบสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นจริง ก่อนขยายผลสู่อำเภออื่น มุ่งไปที่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยและชาญฉลาดเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภายใต้แนวคิด Smart City และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

“ปทุมธานี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพหลากหลายด้าน และมีความพร้อมต่อการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะใน 7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, การบริหารจัดการภาครัฐอัจฉริยะ, การขนส่งอัจฉริยะ, พลังงานอัจฉริยะ, เศรษฐกิจอัจฉริยะ, การดำรงชีวิตอัจฉริยะและพลเมืองอัจฉริยะ ธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และ สวทช.ในฐานะองค์กรด้านการศึกษาและเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของอำเภอคลองหลวง ได้เห็นพ้องร่วมกันว่าจะพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เป็นต้นแบบของสมาร์ทซิตี้ในทุกด้านอย่างแท้จริง

ภาคการเกษตรยังไม่ถูกใช้งานอย่างครบวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

Advertisement

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ได้ทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและระบบการนำทางอัจฉริยะ การพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัย การจัดการสภาพแวดล้อม และการจัดการพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย SDGs ดังนั้น จึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำพาคลองหลวงและ จ.ปทุมธานี สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ” รศ.เกศินีกล่าวในวันจรดปากกาเซ็นเอ็มโอยู

5 ปี คือกรอบเวลาที่ถูกกำหนดไว้ในเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว โดยจะมีการจัดตั้ง “คณะทำงานร่วมด้านเมืองอัจฉริยะ” ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนปฏิบัติการ และติดตามการปฏิบัติการ รวมถึงบูรณาการองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาจากฐานรากที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

สำหรับมุมมองเจ้าของพื้นที่อย่าง ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.ปทุมธานี มองว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนานี้จะตอบโจทย์อย่างน้อย 4 ด้านคือ 1.การให้บริการ ซึ่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ทั้ง 7 ด้าน ขณะนี้มีหลายด้านที่พร้อมให้บริการพี่น้องประชาชน 2.การพัฒนา ที่จะช่วยกันพัฒนาทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น 3.การแก้ไขปัญหา ซึ่งภายใต้เอ็มโอยูฉบับนี้มีประเด็นปัญหาหลายเรื่องที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข 4.การรักษาข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 4 ด้านนี้จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอคลองหลวงได้รับความสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบรรลุตามเป้าหมายต่อไป

ส่วนนายอำเภอคลองหลวง นิติชัย วิริยานนท์ เปิดใจว่า ที่นี่คืออำเภอขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากกว่าในบางจังหวัด จึงทำให้เต็มไปด้วยปัญหา ความคาดหวัง และความต้องการที่หลากหลาย ทางอำเภอจึงหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยนำพาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวคลองหลวงให้ดีขึ้น และต่อยอดความสำเร็จไปสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดปทุมธานีต่อไป

ด้าน ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในอำเภอนี้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาคมในพื้นที่ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งในส่วนนี้ สวทช.จะมีส่วนร่วมในฐานะหน่วยงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาและบริหารจัดการอื่นๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

การลงนามเอ็มโอยูระหว่าง ม.ธรรมศาสตร์ สวทช. และท้องถิ่น

“แม้โครงการความร่วมมือนี้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ทุกฝ่ายล้วนมีความพร้อมและแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกันผลักดันงานและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ ส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของกรอบความร่วมมือฉบับนี้ที่จะพลิกโฉมให้คลองหลวงเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เป็นศูนย์กลางการศึกษา ตลอดจนการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ไร้มลพิษ ซึ่งสามารถที่จะขยายผลอย่างยั่งยืนนี้ไปทั่ว จ.ปทุมธานี ได้ต่อไป” ตัวแทน สวทช.กล่าว

ก่อนจะมาถึงวันนี้ ย้อนไปเมื่อต้นปี 2563 ธรรมศาสตร์เปิดเผยทิศทางชัดเจนถึงความพยายามในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ 3 บริษัทเอกชนชั้นนำ ประกอบด้วย บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ หรือ “Thammasat – Nava Nakorn Smart City” ภายในงานเดียวกัน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตนา (LOI) ร่วมกับ Graduate School of Design ของ Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ และจัด Option Studio สำหรับนักศึกษานานาชาติระดับปริญญาโทจากสาขาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และการออกแบบเมือง โดยจะศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมในโครงการด้วย

ในครั้งนั้น ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การศึกษาโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักจาก 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การผังเมือง การออกแบบและพัฒนาชุมชนเมือง และการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้มุมมองการพัฒนาและตัวอย่างผลลัพธ์ในเชิงการออกแบบวางผัง และนวัตกรรมที่นำไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะในหลากหลายมิติ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และผู้ช่วยวิจัย ผ่านการแนะนำโดยคณาจารย์ประจำ และเชี่ยวชาญต่างประเทศของคณะที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในหลากหลายด้าน

สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ แนวนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งหน้าผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาโครงข่ายให้บริการรถโดยสารอัจฉริยะคือหนึ่งในแนวทางของโครงการ

ตัดภาพกลับมายังปัจจุบัน กับ โครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคลองหลวง (Khlong Luang Smart City) มีการเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานน่าที่สนใจ อย่างศักยภาพของปทุมธานี ซึ่ง 43 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประกอบด้วย 10 แหล่งความรู้ที่หลากหลาย 7 แหล่งทุนวิจัยและพื้นที่เศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อันดับ 13 ด้วยตัวเลข 235,596 บาทต่อปี

ในส่วนของปมปัญหา จำนวนประชากรและผู้สูงอายุเตรียมก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2569 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีดัชนีผู้สูงอายุถึง 118 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประชากรวัยทำงานมีอัตราการเพิ่มลด
น้อยลง มีผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิงมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

สำหรับปัญหาการเกษตรพบว่า ภาคการเกษตรยังไม่ถูกใช้งานอย่างครบวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน

ส่วนปัญหาด้านการจราจร มีอัตราการเสียชีวิตทางถนนเป็นอันดับ 1 ของปริมณฑล โดยสถิติเมื่อปี 2560 อยู่ที่ 9.628 ต่อ 1 แสนคน รถจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3,000 คันต่อปี

ด้านมลภาวะและขยะ นับว่าปริมาณขยะมีทิศทางเพิ่มขึ้น สวนทางกับพื้นที่การจัดการขยะ ทำให้ไม่สามารถรับมือปริมาณขยะทั้งหมดได้ โดยมีขยะมูลฝอยประมาณ 1,676-1,700 ตันต่อวัน ขึ้นแท่นอันดับ 3 ของภาคกลาง แนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของโจทย์ท้าทาย ในเวลาที่เข็มนาฬิกานับถอยหลัง 5 ปี สู่เมืองอัจฉริยะตามที่ขีดเส้นไว้อย่างมุ่งมั่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image