ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่อัลไต ไม่ใช่น่านเจ้า ไม่ได้เริ่มที่สุโขทัย แต่คือ ‘สุวรรณภูมิ’

ภาพมุมสูง 'เขาพระ' และพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นเทือกเขาต่อเนื่องหลายลูก มีวัดพระศรีสรรเพชญาราม (วัดเขาพระ) บนยอด

“เขาพระนี้ เฮี้ยนมาตั้งแต่เดิม” ไม่ใช่คำกล่าวในรายการโทรทัศน์แนวสยองขวัญ

แต่เป็นข้อความจากรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ซึ่งออนแอร์ในตอนล่าสุด ด้วยชื่อ ‘สุวรรณภูมิ ชุมทางการค้า ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย’ ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

ถามว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับความเฮี้ยน ?

คำถามนี้ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ค่อยๆ เปิดเผยอย่างลึกซึ้ง เชื่อมโยงทั้งความคิด ความเชื่อ อีกทั้งเศรษฐกิจการค้าเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

Advertisement

เช็กอิน ‘วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี’ หรือ ‘เขาพระ’ แห่งอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ไก่และนกยูงสัมฤทธิ์ พบที่บ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี จัดแสดงที่ พช.พระนคร

เขาพระ จากหินตั้งสู่เจดีย์ เมื่อผีกลายเป็นพุทธ

Advertisement

“เขาพระ เป็นชื่อชาวบ้านเรียก ขุนแผนก็เรียกเขาพระ เฮี้ยนมาตั้งแต่เดิม แล้วเพิ่มเติมความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ โลเกชั่นอยู่ด้านตะวันตกของเมืองอู่ทอง มีหลายยอด ต่อกันเป็นพืด มีชื่อที่ชาวบ้านเรียก เช่น เขารางกะปิด เขาทำเทียม เขาพุหางนาค เขาถ้ำเสือ ทั้งหมดนี้เป็นเทือกเขา ต่อเนื่องอยู่กลางทุ่ง มีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาผี มีวัฒนธรรมหินตั้ง กระจัดกระจายทั้งบนยอดเขาและพื้นราบด้วย เมื่อพุทธศาสนาเข้ามา คนที่นับถือผีมาก่อนก็สร้างเจดีย์ครอบหินตั้งที่เคยเชื่อมาแต่เดิม” สุจิตต์เกริ่น

จากนั้น ร่วมกับ ขรรค์ชัย นำเสนอหลักฐานอย่าง ‘จารึกปุษยคิริ’ ที่จดจารลงบนแท่งหิน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เพิ่งรีโนเวตใหม่สดๆ ร้อนๆ

“จารึกปุษยคิริ คือ เขาปุษยคีรี แปลว่า ภูเขาดอกไม้ นักโบราณคดีพบจารึกนี้ตั้งแต่ก่อนผมกับขรรค์ชัยเกิด แต่ไม่รู้ว่าพบบนเขาลูกไหน ไม่มีบันทึก ก็เดาไปต่างๆ นานา แต่ส่วนตัวคิดว่า เขาพระก็คือปุษยคิริ เพราะตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึงทวารวดีสืบจนปัจจุบัน เขาพระไม่เคยร้าง ทุกวันนี้คนยังเคารพนับถืออยู่ เป็นที่ตั้งของวัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม นอกจากนี้ ยังปรากฏในวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ตอนพระพันวัสสาต้อนควายป่า เพราะสุพรรณบุรีเป็นแหล่งควายป่า และตอนขุนแผนหนีขุนช้างมาเขาพระ” สุจิตต์กล่าว

ธรรมจักรสลักจากหิน พบเมื่อบูรณะเจดีย์แห่งหนึ่งที่เมืองอู่ทอง

‘สุวรรณภูมิ’ คือแผ่นดินใหญ่ ไม่รวมเกาะ ไม่ใช่รัฐ ไม่เป็นอาณาจักร

จากนั้น อดีตสองกุมารสยาม พุ่งเป้าเข้าประเด็น ‘สุวรรณภูมิ’

“สุวรรณภูมิเป็นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย คำว่าประวัติศาสตร์ไทยของผม หมายถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่และผู้คน พื้นที่ ก็คือ ประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้คน หมายถึง คนที่อยู่ในดินแดนซึ่งเป็นประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ชาติพันธุ์อะไร เพราฉะนั้นต้นทางที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ไทย ไม่ได้มาจากอัลไต ไม่ได้มาจากน่านเจ้า และไม่ได้เริ่มที่สุโขทัยเป็นราชธานี” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เปิดนิยามศัพท์คำว่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองของตัวเอง และเรียกได้ว่าเป็นนิยามประวัติศาสตร์อย่างเป็น ‘สากล’

สุวรรณภูมิ แปลว่า ‘แผ่นดินทอง’ ดินแดนทอง หรือแหลมทอง ตรงกับเอกสารจีนว่า ‘จินหลิน’ หรือ กิมหลิน

“ตามรูปศัพท์เดิม สุวรรณภูมิ หมายถึง แผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่แผ่ขึ้นไปถึงทางตอนใต้ของจีน ไม่รวมหมู่เกาะ เพราะเกาะ ใช้คำว่า ทวีป เช่น สุวรรณทวีป หมายถึง เกาะสุมาตรา ทวีป หมายถึงเกาะ ภูมิ หมายถึงแผ่นดิน ศัพท์มันแยกกันอยู่ แต่คนพื้นเมืองไม่ได้เรียกพื้นที่ของตัวเองว่า สุวรรณภูมิ เรียกอะไรไม่ทราบ คำนี้ไม่มีในเอกสารท้องถิ่น มีแต่ในเอกสารจีน อินเดีย กรีก โรมัน ฯลฯ”

อีกประเด็นสำคัญ ที่ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ลุกขึ้นเคลียร์ให้ชัด นั่นคือ สุวรรณภูมิ ไม่ใช่อาณาจักร ไม่ใช่รัฐ แต่เป็นชื่อ ‘พื้นที่’ ซึ่งไม่ใช่อาณานิคมของใคร

“สุวรรณภูมิ ไม่เป็นอาณาจักร ไม่เป็นรัฐ ไม่เป็นอาณานิคมของใครทั้งสิ้น เป็นชื่อพื้นที่ๆ หนึ่ง ไม่ได้บอกขอบเขต ไม่ใช่อาณานิคมอินเดีย เรื่องนี้เรื่องใหญ่ จริงๆ แล้วก่อนอินเดียมา พ่อค้ามาก่อน ศาสนายังไม่มา อย่าเข้าใจผิด ถามว่าสุวรรณภูมิมีคนไหม มีสิ ถ้าไม่มีคน อินเดียจะมาทำไม แต่ขอให้เข้าใจว่า คนน้อย พื้นที่มาก กว้างใหญ่ไพศาล กระจุกเป็นกลุ่ม ไม่ใช่เต็มประเทศแบบวันนี้”

กล่าวจบ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ งัดหลักฐานโชว์ย้ำชัด นั่นคือ แผนที่เก่าในตำราภูมิศาสตร์ของ ‘เซบาสเตียน’ นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2083 หรือกว่า 500 ปีก่อน ตรงกับยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ฟังดูไม่เก่าเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า แผนที่ดังกล่าวจำลองจากบันทึกของ ‘ปโตเลมี’ นักภูมิศาสตร์-ดาราศาสตร์ชาวกรีกที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 1,800 ปีที่แล้ว ก็ต้องร้องว้าววว โดยแผนที่ดังกล่าวแสดงดินแดนทองบนแผ่นดินใหญ่ที่มีแหลมยื่นลงไปทางใต้ ตรงกับพม่า ไทย มาเลเซีย ฯลฯ ในปัจจุบัน

“ไม่เกี่ยวกับหมู่เกาะเลย”

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน

ไม่ได้เกิดเพราะศาสนา ก่อนพุทธมา ‘พ่อค้า’ ถึงแล้ว!

จบจากประเด็นที่ตั้ง เข้าสู่หลักฐานการเป็น ‘ชุมทางการค้า’ อันรุ่งโรจน์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

“ก่อนหน้านั้นไม่มีตรงไหนเป็นชุมทางการค้า เมื่ออินเดียมาที่สุวรรณภูมิก่อน แล้วมาเจอกับจีน เลยกลายเป็นชุมทางระยะไกลสมัยแรกๆ นับเลขกลมๆ ราว พ.ศ.1 ทำให้เกิดเรื่องสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ไทยโดยตรงอย่างน้อย 2 อย่าง 1.) กระตุ้นความเคลื่อนไหววัฒนธรรมชุดหนึ่ง และ 2.) ภาษาไทย

วัฒนธรรมชุดหนึ่งคือความเชื่อเรื่องขวัญซึ่งมีอยู่ทางจีนตอนใต้ แต่ยังมาไม่ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เกิดความเคลื่อนไหวกระจายมาจากตอนใต้จีนลงมา และน่าเชื่อว่าภาษาไท (ย) มาด้วยกัน โดยมีภาษาอื่นอยู่ด้วย
ทั้งมอญ-เขมร ม้ง-เย้า ภาษาไท (ย) ง่ายที่สุดสำหรับการสื่อสารถ้าเทียบกับภาษาอื่น เลยกลายเป็นภาษากลางทางการค้าในดินแดนภายใน ส่วนดินแดนข้างล่างเป็นภาษามลายู” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ร่วมกันอธิบาย

จากนั้นโฟกัสมาที่ ‘เมืองอู่ทอง’ สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นตอนบนของคาบสมุทร

“บริเวณคาบสมุทรนี่แหละ มันเป็นบริเวณที่เรือการค้าระยะไกลเดินทางมา ระยะแรก เลียบชายฝั่งมาจากอินเดียใต้ บังกลาเทศ เข้าพม่า เลาะมาเรื่อยๆ แล้วลงมาถึงตะวันตกของไทย มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้น รอบคาบสมุทรคือสถานีการค้า เรือยุคนั้นเทคโนโลยียังต่ำ
ไม่สามารถข้ามมหาสมุทรลงไปชวาได้ แม้จะข้ามช่องแคบได้ แต่กลัว เพราะคลื่นลมแรง โจรสลัดก็มาก เลยจอดฝั่งตะวันตกคือฝั่งอันดามันแล้วขนถ่ายสินค้ามาอ่าวไทย เจอเรือจากจีนที่นี่ แล้วซื้อขายกัน”

2 วิทยากรอาวุโสอธิบาย นำไปสู่เรื่องราวของลมมรสุม ปัจจัยสำคัญในการเดินเรือ

“ถามว่าสุวรรณภูมิได้ชื่อจากอะไร? ได้ชื่อจากนักเดินทางเสี่ยงโชค สุวรรณภูมิไม่ได้เดินทางมาง่ายๆ คลื่นลมแรง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้ ลมมรสุมทั้ง 2 นี้ ทำให้คนที่มากับเรือ เมื่อจอดที่สุวรรณภูมิ มีเวลาพักผ่อน แลกเปลี่ยนสินค้า แต่งงานกับคนพื้นเมือง รุ่งขึ้นอีกปี จึงมีลมกลับ”

ว่าแล้ว ถึงคิวยกหลักฐานทางโบราณคดีมากมายขึ้นโชว์ ทั้งภาพตะเกียงโรมันสัมฤทธิ์ พบที่พงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อายุราว พ.ศ.600-700 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร, เหรียญโรมันรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิวิคโตรินุส กษัตริย์โรมันที่ครองราชย์ในช่วง พ.ศ.800 พบที่เมืองอู่ทอง

“ก่อนพุทธมา พ่อค้ามาแล้ว โรมันมาแล้ว เพราะฉะนั้นสุวรรณภูมิไม่ได้เกิดเพราะพระพุทธศาสนา”

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร มติชนทีวี, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ

ถ้าดินแดนทอง ไม่ใช่ทองคำ? ‘ผมทุบโต๊ะเลยว่าหมายถึงทองแดง’

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง นั่นคือคำว่า ดินแดนทอง หรือแผ่นดินทอง ที่แปลจากสุวรรณภูมินั้น ‘ทอง’ ที่ว่านี้ หมายถึง ‘ทองคำ’ จริงหรือ ?

“คำว่าดินแดนทองหลายคนบอกว่า ทองคำ นั่นเป็นความเข้าใจในสมัยหลัง อย่าแปลตามพจนานุกรม ทองนั้น ทองแน่ แต่มีทองตั้งกี่อย่าง ทั้งทองคำ ทองแดง ทองเหลือง สำหรับผม ทุบโต๊ะเลยว่าหมายถึงทองแดง ผมไม่ได้ด่วนสรุป แต่ดูตามหลักฐานว่าเมื่อ 2,500 ปีมาแล้วมีทองคำหรือไม่ มี แต่เอามาใช้หรือไม่ ไม่รู้ เพราะทั้งยุคนั้น เทคโนโลยีสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการทำทองสัมฤทธิ์ ซึ่งคนโบราณเรียกว่าทอง อย่างพระสัมฤทธิ์ คนเรียกพระทอง ทองสัมฤทธิ์ ทำจากดีบุกและตะกั่วผสมทองแดง โดยมีทองแดงเป็นโลหะหลัก ทองแดงมีเต็มไปหมดในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคกลางถึงแม่น้ำโขง อีสาน ขึ้นไปจนถึงยูนนาน จีนตอนใต้ พบการถลุงตลอด เหมืองทองแดงในประเทศไทยก็มีมาตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว เช่น ภูโล้น จังหวัดหนองคาย เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี และอีกมากมาย”

จากภาพกว้าง กลับมาส่องสปอตไลต์ที่เมืองอู่ทอง ถามว่าที่นี่มีสัมฤทธิ์หรือไม่ ?
ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยกตัวอย่างโบราณวัตถุสัมฤทธิ์มากมายซึ่งพบที่ ‘บ้านดอนตาเพชร’ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ไม่ว่าจะเป็น ไก่และนกยูงสัมฤทธิ์งดงามสะดุดตาราวกับงานศิลปะร่วมสมัย

แม้เป็นพื้นที่ข้ามจังหวัด ทว่า ย้อนไปครั้งบรรพกาล ไม่ได้มีเส้นแบ่งของกระทรวงมหาดไทยดังเช่นทุกวันนี้

“ไก่ นกยูง ทั้งหมดพบที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ห่างจากอู่ทอง 20 กิโลเมตร มันคืออู่ทองในสมัยโบราณ เขตจังหวัดมาแบ่งทีหลัง ยังมีถ้วยโถโอชาม ภาชนะ กำไลสัมฤทธิ์ที่ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี ขุดพบที่ดอนตาเพชรเหมือนกัน ท่านเขียนไว้ในรายงานว่าเป็นสัมฤทธิ์ที่บางเหมือนเปลือกไข่ แสดงว่าเทคโนโลยีสูงมาก” ขรรค์ชัย-สุจิตต์กล่าวก่อนเผยข้อสันนิษฐานว่า

“อินเดียมาค้าที่ใดที่หนึ่ง ที่ไหนไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าอินเดียมาเจอกับจีนที่อู่ทอง” สุจิตต์ทิ้งไพ่

ถามต่อไปว่า รู้ได้อย่างไรว่าจีนมา ?

อดีต 2 กุมารสยาม ยกภาพ ลิง-ลิง-โอ ต่างหู 2 หัวขึ้นมาเป็นพยานหลักฐาน “ต่างหูลิง-ลิง-โอ เป็นของเนื่องในศาสนาผีของเมืองชายทะเลตั้งแต่ไต้หวันลงมา เลาะมาอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ พบของแบบนี้หมด ของเหล่านี้เป็นเครื่องราง ใช้ป้องกันอะไร ยังศึกษาไม่ถึง แต่รู้ว่าเมืองท่าที่ไหนค้าขายกับจีน จะพบลิง-ลิง-โอ สมัยโน้นจีนยังไม่ออกมาค้าขาย มันมีคนกลางระหว่างจีนกับอุษาคเนย์ คนกลางที่ว่านี้พูดภาษามลายู ต่อมารู้จักในนามศรีวิชัย”

สุจิตต์ วงษ์เทศ โชว์ภาพต่างหู ‘ลิง-ลิง-โอ’

‘ตะกอนน้ำพารูปพัด’ เผยความ (ไม่) ลับ

เมืองอู่ทอง 2,000 ปี ไม่ใช่แค่ยุคทวารวดี

ปิดท้าย ขรรค์ชัย-สุจิตต์ สรุปรวบตึงภาพรวมการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ‘สุวรรณภูมิ’

“เราต้องดูตามหลักฐาน เท่าที่พบขณะนี้ ใต้สุดคือคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบลูกปัดจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ มากมาย ไม่ใช่น้อยๆ อายุราว 2,500 ปี ทุกวันนี้วัดคลองท่อมเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด คลองท่อมเชื่อมโยงลึกเข้าไปในแผ่นดิน ออกอ่าวพังงา กระบี่ ไปถึงนครศรีธรรมราช ไชยา สุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ก็มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่ามีการค้ากับจีนและอินเดียผสมกัน แต่ไม่พบเมือง พบเพียงชุมชน แต่พอมาถึงลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลองเราพบเมืองโบราณ”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังหยิบปากกาขีดเส้นใต้ไปที่รายงานการศึกษา ‘ตะกอนน้ำพารูปพัด’ ณ พื้นที่พิเศษเมืองอู่ทอง โดย สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 กรมทรัพยากรธณี เมื่อปี 2559 ซึ่งระบุชัดว่า คูน้ำกำแพงเมืองอู่ทอง มีอายุถึง 2,000 ปี ตกราว พ.ศ.500 ขัดกับหลักฐานโบราณคดีที่บอกว่าอยู่ในช่วงทวารวดี พ.ศ.ราว 1200

“นี่คือหลักฐานวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งหมด ยืนยันชัดเจนว่าอู่ทองเป็นสถานีการค้าสำคัญแห่งหนึ่งร่วมสมัยสุวรรณภูมิ อย่าใช้คำว่าศูนย์กลาง เดี๋ยวจะเป็นการตีขลุมเกินไป ต่อมายุคทวารวดีอู่ทองลดความสำคัญลง สอดคล้องหลักฐานทางโบราณคดีที่ว่าทวารวดีกระจายไปนครปฐม ราชบุรี คูบัว กำแพงแสน หลักฐานเข้ากันได้หมด”

ต้นทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง สะพานเชื่อมโลก ออก-ตก 2,500 ปี

สำหรับประเด็นที่กล่าวกันว่าพระเจ้าอโศกส่งภิกษุ 2 รูปมาเผยแผ่ศาสนาที่สุวรรณภูมิ ถ้าไปดูจารึกพระเจ้าอโศก ไม่มีระบุถึงเลย แล้วเราไปเอามาจากไหน ?

“เรื่องที่บอกว่าพระเจ้าอโศกส่งภิกษุ 2 รูปมาเผยแผ่ศาสนาที่สุวรรณภูมิอยู่ในมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา” สุจิตต์เฉลย

สุวรรณภูมิเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ในสมัยนั้นเริ่มจากอินเดีย-จีน จากนั้นจึงค่อยขยายไปตะวันไกล ไปยุโรป มาพบ มาแลกเปลี่ยนกัน อย่างน้อยที่สุด 2,500 ปีมาแล้ว

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ สรุปว่า นี่คือต้นทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง มีการผสมผสาน การเชื่อมโยง เป็นชุมทางการค้าที่เริ่มต้นจากการค้าทองแดง ทำให้บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน เติบโต ขยายตัว มั่งคั่ง เกิดเมืองนครปฐม นครชัยศรี กำแพงแสน อู่ทองเองก็ไม่เคยร้าง แต่ลดความสำคัญ หลัง พ.ศ.1500 จีนแต่งสำเภาออกมาค้าขายเอง ทำให้ลักษณะการค้าเปลี่ยน จากความสำคัญทางชายฝั่งทะเล เข้ามาถึงแม่น้ำ สำเภาจีนเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยาทวีความสำคัญ ทำให้สุพรรณฯ กับละโว้ ไปแย่งกันยึดอยุธยา

นำมาซึ่งประวัติศาสตร์อีกช่วงตอนหนึ่ง ซึ่งมากมายด้วยสีสันและไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากเพียงชนชั้นสูง หากแต่ผู้คนและการค้าคือส่วนสำคัญในการหมุนกงล้อแม้ถูกหลงลืมในแบบเรียนของไทยอยู่ร่ำไป

 

จารึกมีข้อความ ‘ปุษยคิริ’ หรือ ปุษยคีรี จดจารด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ตระหง่านใน พช.อู่ทอง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image