ประมวล #ม็อบ64 สู้มาทั้งปี ‘พรุ่งนี้ก็ไม่ยอมแพ้’

ม็อบ 14 พฤศจิกา แกงแล้วแกงอีก สุดท้ายไปสถานทูตเยอรมัน

31 ธันวาคม 2564

วันสิ้นปีที่คนส่วนใหญ่เฉลิมฉลองกับครอบครัวและเพื่อนฝูงในเทศกาลแห่งความสุข นักต่อสู้ทางการเมืองหลายคนยังถูกจองจำอยู่ในคุก

ทั้งผู้ที่ถูกให้นิยามว่า ‘แกนนำ’ ดังเช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง, และ อานนท์ นำภา ซึ่งถูกตีตกคำร้องขอสิทธิประกันตัวในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา

ทั้งผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จัก

Advertisement

นำมาซึ่งถ้อยแถลง ‘ขอไม่ยื่นประกันตัวอีกต่อไป’ ของทั้ง 4 โดยไม่ผูกพันถึงบุคคลอื่นซึ่งยังไม่ได้รับอิสรภาพ โดยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นถ้อยคำแถลง มีข้อความสำคัญว่า

‘ขอประกาศว่า นับจากนี้พวกเขาจะไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ในระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลอาญาอีก และไม่อนุญาตให้ทนายความและบุคคลใด ไปดำเนินการดังกล่าวทั้งสิ้น

การตัดสินใจของพวกเขาทั้ง 4 ไม่ผูกพันบรรดาผู้ต้องขังและนักโทษการเมืองที่ยังถูกจับกุมคุมขัง และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวคนอื่นแต่อย่างใด

Advertisement

พวกเขาทั้ง 4 ยังยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง และยังยืนยันที่จะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศนี้ตามแนวทางที่ได้ร่วมต่อสู้มาโดยตลอด โดยไม่หยุดยั้งไม่ว่าจะถูกคุมขังอยู่หรือไม่ก็ตาม

พวกเขาทั้ง 4 ขอร่วมกันเรียกร้องให้มวลหมู่มิตรสหายที่ได้ร่วมต่อสู้ด้วยกันตลอดมาจงยืนหยัดในข้อเรียกร้องทั้งสามประการ และต่อสู้ต่อไปตามแนวทางประชาธิปไตยโดยสงบ สันติวิธี ทั้งนี้ พวกเขาทั้งสี่ขอยืนยันว่าพวกเขาทั้งสี่ขอเป็นกำลังใจและจะยืนหยัดต่อสู้กับพี่น้องข้างนอกด้วยกันตลอดไป

กลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ ที่เคยออกมาทำกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 แล้วยุติไปเมื่อทุกคนตามเป้าหมายได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวม 71 วัน ต้องกลับมายืนเรียกร้องสิทธิประกันให้คนเหล่านี้อีกครั้งหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน โดยในรอบนี้คาดการณ์กันตามสัญญาณว่าคงต้องยืนกันไปยาวๆ หากย้อนดูภาพรวมของศักราช 2564 นับเป็นปีที่ม็อบซึ่งมีชื่อขึ้นต้นด้วยแฮชแท็ก #save ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ‘ภาคีเซฟบางกลอย’ ขับเคลื่อนประเด็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยตั้งแต่ต้นปี ตามมาด้วย ‘เซฟจะนะ’ ที่ออกมาทวงสัญญาปมยุติเดินหน้านิคมอุตสาหกรรม ก่อนปิดท้ายปีที่ ‘เซฟนาบอน’ คัดค้านโรงไฟฟ้า

ทะลุแก๊ซ เปิดสมรภูมิดินแดง สิงหาคม 2564

นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่ถ้อยคำว่า ‘ความเท่าเทียม’ ที่ถูกทำให้ปรากฏต่อเนื่องบนท้องถนนมาก่อนหน้า ยิ่งถูกขับเน้นผ่านข้อเรียกร้องของม็อบกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และอีกมากมายที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่าประชาธิปไตย แต่แน่นอนว่าหากไม่มีประชาธิปไตยอันจริงแท้ ปัญหาย่อมถูกแก้ได้ไม่ง่าย

‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นคำสำคัญที่ถูกนำมาจดจารบนป้ายเรียกร้อง โดยเฉพาะหลังการมาถึงและแพร่ระบาดระลอกต่างๆ ของไวรัสโควิด-19 ที่ขยันกลายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจของครอบครัว นักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาอย่างมากมาย เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองต้องตกงาน

เปิดฉากปีใหม่ 2564 แม้มีคำปรามาส ‘ม็อบแผ่ว’ มาพักใหญ่ สืบเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ทว่า เดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลต้องพบกับการรวมตัวประท้วง ‘ชุดใหญ่’ ไม่ว่าจะกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, พยาบาลวิชาชีพ, สหพันธ์แรงงานนอกระบบประเทศไทย ที่เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาลว่าต้องการให้รัฐดูแลสวัสดิภาพและเยียวยาถ้วนหน้าในช่วงวิกฤตโควิด กลุ่มนักร้อง นักดนตรี อาชีพอิสระ ทวงสิทธิที่รัฐควรชดเชยจากมาตรการสั่งให้พักกิจการ งานสถานบันเทิง ลามไปจนถึงหน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อยื่นข้อเรียกร้องขอผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าเบียร์สดได้ แต่ยังไม่ทราบคำตอบ “สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย” ทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชนเบียร์ จึงนัดหมายรวมตัวชูป้าย เรากำลังจะตาย จากนโยบายของรัฐ เท “ดริงก์” ทิ้งความเที่ยงธรรม ลงไปในถังขยะ

เทเบียร์ทิ้งหน้ากระทรวงสาธารณสุข กุมภาพันธ์ 2564

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเคลื่อนไหวของเหล่าพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ กลุ่ม Nurses Connect โดยหลายครั้งบุคคลเหล่านี้ร่วมปราศรัยกับม็อบ ‘ราษฎร’ อย่างดุเดือดเผ็ดร้อนด้วยข้อมูลเชิงลึก

อีกปรากฏการณ์สำคัญคือการเกิดขึ้นของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ส’ และอีกหลายกลุ่มที่มีชื่อและแนวทางใกล้เคียงกัน ทั้งการประกาศ ‘สันติวิธีเชิงตอบโต้’ ปักหลักนัดหมายโดยไม่ต้องประกาศแต่รู้กันว่าเย็นนี้มีม็อบที่ ‘แยกดินแดง’

พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ กลายเป็นอุปกรณ์ชนิดใหม่ประจำม็อบในแนวทางดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังเกิด ‘คาร์ม็อบ’ (Car Mob) และ ‘ไบค์ม็อบ’ (Bike Mob) ขับขี่ยานพาหนะไปตามเส้นทางต่างๆ อีกทั้งประกาศเตรียมตั้ง ‘ป้อมค่าย’ ที่แยกอโศกมนตรี นำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. แต่ต้องพับโปรเจ็กต์ไปด้วยผลตอบรับยังไม่เป็นไปตามคาดหวัง

ขณะที่กลุ่ม ‘ไทยไม่ทน’ รวมคนหลายกลุ่ม หลากสี โดยมี ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ นำขบวน จัดชุมนุมทั้งที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม หัวมุมถนนราชดำเนิน เมื่อเดือนเมษายน ก่อนเบรกตัวเองเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด กระทั่งเคลื่อนไหวอีกครั้งโดยนัดเดินขบวนประชิดทำเนียบในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

‘ไทยไม่ทน’ รวมหลายกลุ่ม-หลากสี ร่วมไล่ประยุทธ์

ในปีนี้ยังเกิดความสูญเสียที่ไม่ควรเกิด ดังเช่นกรณี ‘วาฤทธิ์’ เยาวชนที่เสียชีวิตจาก ‘กระสุนปริศนา’ หน้า สน.ดินแดง ฌาปนกิจท่ามกลางความโศกเศร้าไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อีกทั้งการสูญเสียการมองเห็นของดวงตาข้างขวาที่ ลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ผู้เปลี่ยนฟากฝั่งมาอยู่ข้างประชาธิปไตยต้องพบเจอในเดือนสิงหาคม 2564

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกตีตก 2 รอบ ทั้งฉบับ ‘ไอลอว์’ และการยื่น 1.5 แสนชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ โดยกลุ่ม ‘รีโซลูชั่น’

หนึ่งในการชุมนุมครั้งสำคัญในช่วงท้ายปี คือ #ม็อบ14พฤศจิกา64 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำโดย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย DRG, กลุ่มเหล่าทัพราษฎร, ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, SUPPORTER THAILAND, We Volunteer และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ต่อมา ‘แกงแล้วแกงอีก’ โดยประกาศย้ายไปยังแยกปทุมวัน และเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมัน โดยสถานทูตได้รับเรื่อง และรับปากว่าจะส่งเรื่องต่อไปยังทูตเยอรมนี ในเหตุการณ์นี้ โลกออนไลน์ร่วมกันแชร์ภาพเจ้าหน้าที่สถานทูตเยอรมันที่ออกมารอรับหนังสือจากผู้ชุมนุมบริเวณด้านหน้าสถานทูต โดยระหว่างนั้นผู้ชุมนุมยังอยู่ระหว่างการเดินทาง พร้อมมองว่านี่เป็นการกระทำของผู้ที่มาจากประเทศที่เจริญแล้ว เพราะรู้ว่าทุกเสียงมีคุณค่า

ไม่เพียงม็อบใหญ่ๆ ที่แม้บางม็อบต้องยอมรับว่าอาจ ‘ไม่ปัง’ อย่างที่เคยเป็น แต่การชุมนุมกลุ่มย่อยยังมีอยู่ตลอด โดยเฉพาะหน้าเรือนจำคลองเปรม ซึ่ง อาเล็ก หรือโชคดี ร่มพฤกษ์ ในนาม ‘ศิลปินเพื่อราษฎร’ และคณะ พากันร้องเพลงและเล่นดนตรีเป็นประจำแทบทุกวันไม่มีขาด

การโด่งดังขึ้นของ ‘ป้าเป้า’ วรวรรณ แซ่อั๊ง สตรีสูงวัยที่นอนชูขาอย่างท้าทายหน้าแถวตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในการชุมนุมครั้งหนึ่งที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อเกิดสร้อยนาม ‘ทะลุกี’ สอคล้องชื่อกลุ่ม ทะลุฟ้า และทะลุแก๊ซ

ปรากฏการณ์ ‘ยืนหยุดขัง’ กระจายไปทั่วประเทศ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมองว่า 2564 เป็นปีของ ‘การโต้กลับของอำนาจรัฐ’ ผ่านการปราบปรามผู้ชุมนุมและผู้แสดงออกทางเมืองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในมิติของการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ทั้งจับกุมคุมขังแกนนำคนสำคัญ การกล่าวหาดำเนินคดีความ ทำให้เกิดภาระในด้านต่างๆ ต่อเหล่าผู้เคลื่อนไหว รวมทั้งส่งผลให้เกิดความหวาดเกรงจากประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองสืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 นับได้ว่าเกิดขึ้นในวงกว้าง และในปริมาณที่เข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปไม่น้อยกว่า 1,747 ราย คิดเป็นจำนวน 980 คดี

จากจำนวนคดีทั้งหมด มีจำนวน 150 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ตำรวจหรือศาลทำการลงโทษปรับ คดีจึงสิ้นสุดลง ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 830 คดี ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่างๆ

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก และนำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 3,325 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมสำคัญในช่วงท้ายปีมีการประกาศหลายครั้ง จากหลายบุคคล โดยมีเนื้อหาสำคัญสอดคล้องกัน นั่นคือ ‘สู้ต่อ’

‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ แย้ม นัดม็อบอีกกลางเดือนมกราคม 2565 จากที่ราบสูงสู่ลุ่มเจ้าพระยา

ในขณะที่ บอย ธัชพงศ์ แกดำ ในนาม ‘ราษฎร’ ประกาศเคลื่อนไหวต่อไปแบบไร้ข้อจำกัด ลั่น ‘ต่อจากนี้เป็นเกมของทุกคน’

“หากคิดว่าพวกเราจะสิ้นหวัง ยอมแพ้ ก็คิดผิด เพราะเราจะเดินหน้าต่อ ต่อจากนี้เป็นต้นไปเตรียมการเคลื่อนไหว การชุมนุมต่อจากนี้ไร้ขอบเขต ไร้ข้อจำกัด ทุกคนมีสิทธิที่จะเคลื่อนไหวของตัวเองได้ ไม่ได้อยู่ที่แกนนำคนใดคนหนึ่ง เพราะเกมต่อจากนี้เป็นของพวกท่านทุกคน” บอย ธัชพงศ์ กล่าว

ไม่เพียงนักต่อสู้ที่หลายคนยังเป็นเยาวชน ทว่า ‘ราษมัม’ หรือบรรดาแม่ๆ ของบุคคลเหล่านั้น ก็ออกมาร่วมเคียงข้างลูก

26 ธันวาคม กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรม ‘ฉลองวันเกิด ไมค์ ระยอง ครบ 25 ปี และฉลองคริสต์มาสให้คนข้างใน’ ที่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ยุพิน มะณีวงศ์ แม่ไมค์ ยอมรับว่าเครียด แต่ยืนยัน สะกดคำว่าแพ้ไม่เป็น

“แม่กับไมค์สะกดคำว่าแพ้ไม่เป็นค่ะ ถ้าถามว่าในความเป็นแม่ ถ้าลูกเรายังถูกจองจำแบบนั้นเป็นใครก็ไม่มีความสุข แต่เราก็ต้องเข้มแข็ง เพราะพลังที่เขาส่งออกมาหาแม่คือให้แม่สู้ แม่อย่าเครียดนะ ไมค์อยู่ได้ เขาก็จะบอกเราตลอดเวลา ถามว่าแม่เครียดไหม แม่ก็เครียดค่ะ แต่แม่ก็ต้องสู้ไปกับไมค์”

ปีแห่งการ ‘เซฟ’ ทั้งเซฟบางกลอย เซฟจะนะ เซฟนาบอน กระเพื่อมตลอดปี

ตัดภาพมาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หน่วยงานที่ถูกตั้งคำถามมากมายในสถานการณ์เช่นนี้ มีการแถลงผลการตรวจสอบกรณีการชุมนุมในปี 2564 โดยระบุว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มใช้สิ่งเทียมอาวุธ พร้อมกันนั้น กสม.เสนอให้รัฐเยียวยาผู้เสียหายทั้งผู้ชุมนุม ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ

ความตอนหนึ่งว่า

‘…หลายกรณี เจ้าหน้าที่ คฝ.ได้ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนด้วยวิธีการไม่เหมาะสม เช่น ใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ยิงกระสุนยางในแนวสูงระดับศีรษะ หรือยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement)…

นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ หรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เช่น ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (ตชด.ภาค 1) ส่งผลให้ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ในทันที

ขณะที่การดำเนินคดีบางกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ถูกจับกุม หรือไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติ ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย’

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวความเคลื่อนไหวตลอดทั้งปี ก่อนจะถึง ‘พรุ่งนี้’ วันแรกของศักราช 2565 ที่ยังต้องจับตา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image