สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทวารวดีไม่เหมือนเดิม

“ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม” พิริยะ ไกรฤกษ์ แสดงหลักฐานรอบด้านหนักแน่น พิมพ์เป็นเล่ม (ในภาพ) ปรางค์ศรีเทพอยู่กลางเมืองศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ (ภาพจาก โดรนมติชนทีวี เมื่อเมษายน 2562)

ทวารวดีไม่เป็นเมืองอยู่ทางทิศตะวันตกที่นครปฐม แต่อยู่ทางทิศตะวันออกที่ลพบุรี มีนักวิชาการในกรมศิลปากรเคยเสนอหลักฐานโบราณคดีต่อแวดวงวิชาการเป็นสาธารณะเมื่อราว 50 ปีมาแล้ว แต่นักโบราณคดีกระแสหลักอนุรักษนิยมสมัยนั้นรับไม่ได้ ดังนั้นสังคมไทยเลยต้องอยู่กับข้อมูลชุดเดียวนานมาก

นักปราชญ์สมัยก่อนได้สถาปนาชุดความรู้เกี่ยวกับทวารวดีต่อสังคมไทยเมื่อราวศตวรรษที่แล้ว ว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ ลุ่มน้ำท่าจีน ทางฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา นับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท เป็นศาสนาหลัก ด้วยการอ้างหลักฐานมหาศาลเนื่องในศาสนาพุทธ ได้แก่ พระพุทธรูป, สถูปเจดีย์, ธรรมจักร, จารึก เย ธัมมา, ปูนปั้นรูปชาดกต่างๆ ฯลฯ

จากนั้นรัฐราชการรวมศูนย์ขยายเกินจริงในเรื่องราวของทวารวดีว่าเป็นอาณาจักรใหญ่โตมโหฬาร แล้วครอบงำผ่านระบบการศึกษาไทย เน้นทวารวดีเมืองพุทธ

ต่อมามหาวิทยาลัยไทยสนองนโยบายอย่างเชื่องๆ แล้วควบคุมการเรียนการสอนให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาต้องเชื่อความรู้ชุดเดียวนี้เสมือนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะละเมิดมิได้ หมายถึงผู้คิดต่างต้องรับความเสียหายจากการใส่ร้ายป้ายสี แล้วถูกหมายหัวจนอาจสอบไม่ผ่าน

Advertisement

ชุดความรู้เกี่ยวกับทวารวดีมีขึ้นจากนักปราชญ์สมัยก่อนที่พบข้อมูลทางโบราณคดีอย่างจำกัด และเทคโนโลยีไม่ทันสมัยของโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว แต่น่าประหลาดเมื่อราว 50 ปีมาแล้ว นักค้นคว้านักวิชาการพบข้อมูลชุดใหม่ต่างจากแต่ก่อน แล้วเสนอความเห็นว่าทวารวดีอยู่ทางฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองละโว้ (ลพบุรี) ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีนามทางการยืนยันว่ามีต้นตอจากทวารวดี แต่แล้วถูกรัฐราชการรวมศูนย์ไม่ไยดี นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังเยาะเย้ยไยไพ ไม่กระตุ้นให้มีถกเถียงทักท้วงทางวิชาการและการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม

แต่ข้อมูลทวารวดีมีหลายชุดที่ต่างจากกระแสหลัก เช่น ชุดของพิริยะ ไกรฤกษ์ และชุดของนักปราชญ์อื่นๆ หลายท่าน ซึ่งแตกต่างจากชุดของรัฐราชการรวมศูนย์และชุดของมหาวิทยาลัย

ทวารวดี ผีพราหมณ์พุทธ

Advertisement

ทวารวดีในไทยนับถือ “ผีพราหมณ์พุทธ” โดยยกย่องศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาหลัก มีศูนย์กลางอยู่เมืองศรีเทพ (. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) ลุ่มน้ำป่าสัก เชื่อม แหล่งทรัพยากรมั่งคั่งจากลุ่มน้ำโขง เช่น ทองแดง ฯลฯ กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีเครือข่ายเมืองละโว้ (. เมืองฯ จ. ลพบุรี) ลุ่มน้ำป่าสักลพบุรี ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งล้วนตรงข้ามกับชุดความรู้กระแสหลัก

การศึกษาไทยจงใจเน้นว่าเมืองในประวัติศาสตร์นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพียงศาสนาเดียว ซึ่งผิดปกติ เพราะหลักฐานมานุษยวิทยาโบราณคดีพบว่าแต่ละเมืองล้วนนับถือศาสนาผสมปนเปกันด้วยผีพราหมณ์พุทธ

ศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญเป็นที่นับถือสืบเนื่องจากชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์นับพันๆ ปีมาแล้ว ก่อนติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดีย

ศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธรับจากอินเดียวคราวเดียวกัน หรือไล่เลี่ยกันตั้งแต่เรือน พ.. 1000 (เพราะอาศัยเรือพ่อค้าลำเดียวกันจากอินเดียลังกา ถึงอุษาคเนย์) แล้วประสมกลมกลืนกับศาสนาผีจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกไม่ได้

ศาสนาหลักของทวารวดี คือ ศาสนาพราหมณ์ มีหลักฐานจากนามเมืองทวารวดีคือเมืองของพระกฤษณะในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งเป็นอวตารที่ 8 ของพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไวษณพ)

เมืองศรีเทพ พบเทวรูปเกี่ยวกับทวารวดี ดังนี้

1. พระกฤษณะ 3 องค์ ประติมากรรมสลักหินลอยตัว

2. พระวิษณุ 2 องค์ ประติมากรรมสลักหินลอยตัว

นอกนั้นพบเทวรูปและสิ่งเกี่ยวข้องลัทธิไวษณพอีกหลายอย่าง

เมืองละโว้ พบเทวรูปและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทวารวดีและพระกฤษณะ ดังนี้

1. พระวิษณุ 2 องค์ ประติมากรรมสลักหินลอยตัว

2. จารึกศาลเจ้า เมืองลพบุรี ระบุนาม “วาสุเทพ” ซึ่งเป็นบิดาของพระกฤษณะ

3. พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ รูปปูนปั้น เรือน พ.. 1800 บนทับหลังของมุขพระปรางค์ด้านทิศใต้ของพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เป็นหลักฐานว่าเมืองละโว้นับถือพระกฤษณะสืบเนื่องจนถึงสมัยเมื่อเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก

กรุงศรีอยุธยานับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก แต่ยังรักษาประเพณีสืบเนื่องจากทวารวดีดังพบในนามเมืองทางการว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” สืบมาจนถึงกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

ทวารวดีตามหลักฐานวิชาการอยู่ลพบุรีศรีเทพ ช่วยให้ประวัติศาสตร์ไทยปลอดโปร่งโล่งแจ้งมากขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ต้นจนปลาย ถ้าจะมีขลุกขลักบ้างต่อไปข้างหน้าก็ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image