ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ‘มติชนอยู่มาถึงวันนี้ ถือเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่ง’ (ชมคลิป)

“การที่มติชนอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ ถือว่าเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่งเหมือนกันนะ”

คือคำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาของ ‘ผู้อ่าน’ หนังสือพิมพ์ ‘มติชนรายวัน’ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งตรงถึงบ้านในทุกเช้า

มองเห็นพัฒนาการตั้งแต่ยุคแรก นับแต่ฉบับปฐมฤกษ์วางแผงในเช้าตรู่ของวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ 9 มกราคม 2521 จนถึงฉบับวันนี้

อาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 วันที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 อย่างมั่นคง โดดเด่น และท้าทายในสารพัดสถานการณ์ดิสรัปต์

Advertisement

ไม่ใช่ใคร แต่เป็น ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้รู้จักคุ้นเคยกับ ‘คนมติชน’ มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง

เรียก ‘พี่ช้าง’ แทนชื่อ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

Advertisement

นั่งสนทนาหามรุ่งหามค่ำในวงร่ำสุรากับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม แต่ครั้งยังหนุ่มเหน้า

ร่วมเป็นประจักษ์พยานในหลายเหตุการณ์สำคัญ

แต่นั่น ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ต้องขอเคาะประตูบ้านย่านนนทบุรีที่ในวันนี้ยังมีหนังสือพิมพ์มติชนฉบับกระดาษวางบนโซฟา แม้ส่วนใหญ่ได้อ่านและติดตามข่าวสารผ่าน ‘มติชนออนไลน์’ ในหน้าจอตามไทม์ไลน์แห่งยุคสมัย

หากแต่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ศ.ดร.ธเนศ คือหัวหน้าคณะทำงานที่รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ ‘สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย’

ซึ่งกล่าวได้อย่างภาคภูมิว่าเข้าขั้น ‘งานวิจัย’ ชั้นดีที่ปรากฏเรื่องราวของมติชนบนเส้นทางยาวนาน สะท้อนตัวตนบนอุดมการณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยน สร้างประวัติศาสตร์ของตัวเอง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2549 ก่อนพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ออกจากแท่นพิมพ์สดๆ ร้อนๆ ก่อนถึงวันคล้ายวันเกิด ‘มติชน’เพียงไม่กี่วันทำการ

นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ไม่ต้องนำเสนอด้วยคำถาม-ตอบ แต่ขอร้อยเรียงเป็น ‘เล็กเชอร์’ ขนาดกะทัดรัดที่ฉายภาพ ‘มติชน’ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ

มรดกความคิด ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ ส่งต่อ ‘มติชนรุ่นแรก’

พอดูจากรายชื่อของทีมที่ทำตั้งแต่ยุคแรกอย่างขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ยืนโรง ทุกคนทำงานหนังสือ เขียนคอลัมน์ ตั้งแต่เป็นนักเรียนบ้าง นักศึกษาบ้าง หรือเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ของอย่างนี้คิดคนเดียวมันไม่เกิดนะ ปัจจัยที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลง ก็คือการเกิดสิ่งพิมพ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะการพิมพ์หนังสือ พิมพ์ใบปลิวซึ่งมันพาความคิดผ่าดินแดนไปทุกที่ ผมคิดว่าประเทศไทย ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคพัฒนา มันก็คือการเปิดชุมชนจินตกรรม ทุกคนต้องเข้ามากรุงเทพฯ ก็มาเจอกัน จากจุดนั้นจุดนี้ แล้วก็มาเขียนหนังสือลงวารสาร ใกล้ๆ กันบ้าง ผลัดกันอ่านบ้าง ผลัดกันเขียนบ้าง มันก็เลยกลายเป็น ความต้องการที่จะทำหนังสือพิมพ์

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าทำไมอยากทำหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่าเพราะอยากเห็นหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าว รอบคอบ เคารพแหล่งข่าว เคารพความเป็นคนซึ่งเป็นแนวคิดแบบใหม่

มติชนรุ่นแรก รับมรดกจากรุ่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งมีคติทางการเมืองด้วย เลยทำให้ภารกิจของสื่อมวลชน กลายเป็นการอาสาประชาชน

“…ยิ่งรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย

หนังสือพิมพ์แบบมติชน มันต้องอยู่!

ผมเชื่อว่าผู้ที่รับผิดชอบมติชนมาตลอด

ยังยืนหยัดในแนวทางที่วางไว้

จากที่รู้จักกันในแง่ชีวิตส่วนตัวในแง่ความประพฤติ

ผมก็ไม่เห็นว่าคนเหล่านี้เขาเปลี่ยนไป…”

‘อาสาแทนประชาชน’ ความคิดที่ฝังในดีเอ็นเอ

ช่วงเวลาเดียวกันถ้าไปถามนักหนังสือพิมพ์อเมริการุ่นนั้น และรุ่นต่อๆ มา ผมคิดว่า เขาคงไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องนั้นเพราะเขามี ส.ส. มี ส.ว. ซึ่งทำหน้าที่แทนอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ หนังสือพิมพ์ต้องไปคุมพวก ส.ว. กับ ส.ส. เก่งกว่าด้วย ไม่ต้องไปอาสาแทนประชาชน แต่ของเรามันไม่มี เพราะ ส.ว. ส.ส. แทนพวกกันเองหมดเลย เพราะฉะนั้น หนังสือพิมพ์ไทยตั้งแต่รุ่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ความคิดเรื่องอาสาเป็นตัวแทนให้ประชาชน มันฝังอยู่ในดีเอ็นเอของพวกนักหนังสือพิมพ์ แต่หลัง 2475 ลงมา ก็ถูกปราบอยู่เรื่อย ไม่มียุคไหนที่ตลอดรอดฝั่งได้ ต้องล้มหายตายจากไป เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว บางทีก็อยู่ประเทศไม่ได้ ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

ยิ่งรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ‘มติชน’ ยิ่งต้องอยู่

อาชีพนักหนังสือพิมพ์เมืองไทยนี่มันระหกระเหินมากนะ ผลตอบแทนก็ไม่ได้มหาศาลเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น การที่มติชนอยู่มาถึงปัจจุบันนี้ได้ ก็ต้องถือว่าเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่งเหมือนกันนะ โลกาภิวัตน์ มีส่วนที่ทำให้ มติชนเป็นอวตารของประชาชาติรุ่นแรก แล้วก็ยังอยู่ต่อมาได้ มีลูกค้า มีประชากรผู้อ่าน มีคนที่อยู่ในจินตกรรมร่วมของชุมชนแบบนี้

ยิ่งรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่า หนังสือพิมพ์แบบมติชน มันต้องอยู่ ต้องสร้างสังคมต่อ ที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้สะท้อนสิ่งใหม่ สะท้อนเนื้อหาที่รับกับยุคสมัย กลายเป็นภารกิจของหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นความยากลำบากมากของสื่อมวลชนในขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย แต่สื่อทั่วโลกโดยเฉพาะสื่อกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ฯลฯ กระเทือนหมดจากการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ก็ต้องพยายามปรับตัวเองให้อยู่ได้

ไม่จัดหน้าแบบ ‘สวนสัตว์’ ตอบสนอง ‘ผู้อ่าน’ ไม่ใช่ตามใจผู้ทำ

ที่ผ่านมา มติชนปรับตัวมาตลอด ตั้งแต่รุ่นแรก อย่างหน้าตา มีการทำให้หน้าหนังสือพิมพ์รายวัน ไม่เป็นแบบ ‘หน้าสวนสัตว์’ คือในหนึ่งหน้ามีทุกอย่าง แสง-สี ใส่ลงไป อ่าน 2 บรรทัดแล้วไปต่อหน้าหลัง อ่านยากนะอย่างนี้ ทีมมติชนรุ่นคุณสุจิตต์-ขรรค์ชัย เคยพยายามปรับหน้าตั้งแต่ทำงานที่สยามรัฐ แล้วคงเอาจารีตนี้เข้ามาใช้กับมติชน ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์มันตอบความต้องการ คือ ไม่ใช่ตามใจผู้ทำ แต่คำนึงถึงผู้อ่านด้วย ทั้งความสะดวก ความเข้าใจ ภาษาอะไรต่างๆ ต้องถูกต้อง

ขายได้-ไม่ได้ ก็พิมพ์ไว้ก่อน’

‘ข่าวศิลปวัฒนธรรม’ สะท้อนจุดยืนผู้ก่อตั้ง

ประเด็นข่าวด้านศิลปวัฒนธรรมก็เป็นจุดเด่น ซึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนถึงจุดยืนของคุณขรรค์ชัย-สุจิตต์ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น เจ้าของเขาไม่ได้อินกับศิลปะหรือวัฒนธรรมขนาดนั้น คือเขามีทุน เขามีความสนใจในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ซาบซึ้งถึงขนาดที่ว่าต้องนำเสนอให้ได้ ในขณะที่มติชนมองว่า จะขายได้หรือขายไม่ได้ ก็พิมพ์ไว้ก่อน มติชนพิมพ์งานหายาก งานที่ไม่มีตลาด แต่รู้ว่ามันสำคัญ ต้องต่อชีวิตให้กับหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมติชนยังทำมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความสนใจ หรือตระหนักถึงความสำคัญของข่าว ซึ่งจริงๆ แล้วในทางอ้อมคือการยกระดับผู้อ่านด้วย

‘ผมยังไม่เห็นว่าคนเหล่านี้เขาเปลี่ยนไป’

ถ้าคุณรายงานข่าวฆาตกรรมทุกวัน ผมไม่คิดว่ามันสร้างคุณภาพของผู้อ่าน หรือคุณภาพของพลเมืองไทยสักเท่าไหร่ แต่การที่มติชนให้น้ำหนักกับการค้นพบทางศิลปะ โบราณคดี พอเป็นข่าว ราชการก็ต้องทำ ถ้าหนังสือพิมพ์รายงาน แล้วไปถามทุกวัน ขุดไปถึงไหนแล้ว ขอดูหน่อยได้ไหม เขาต้องตอบ ตอบผิดก็ไม่ได้ เพราะนักข่าวที่ถาม รู้เรื่อง ก็เรียนจบมาจากศิลปากรด้วยกัน มติชนทำหน้าที่แทนกรมศิลป์บางส่วน กรมศิลป์น่าจะมีปัญหากับมติชนมาก แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะดีใจว่าทำให้งานเขามีความสำคัญ งบไม่น่าจะถูกตัดนะ มันน่าจะถูกเพิ่มนะ (หัวเราะ)

ผู้จัดทำตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังยืนหยัดอยู่ในเจตนารมณ์ดั้งเดิม ต้องการสร้างคุณภาพของคน และคุณภาพของประเทศ เราตื่นแล้ว แต่เราก็ไปไหนไม่ได้ เพราะตื่นแล้วมันไม่มีทางไป ตอนนี้คือปัญหาหนึ่งที่เราก็ต้องหาทางออกกัน ต้องช่วยกันสร้าง ต้องขยับต่อไป

ผู้ที่รับผิดชอบมติชนมาตลอด ผมเชื่อว่ายังยืนหยัด ยังอยู่ในแนวทางที่ได้วางเอาไว้ ตั้งแต่รู้จักกันในแง่ชีวิตส่วนตัว ในแง่ความประพฤติ ผมก็ไม่เห็นว่าคนเหล่านี้เขาเปลี่ยนไป ก็ยังคงเส้นคงวา

สิ่งพิมพ์เอกชน หลัก (คิด) ไม่มั่นคง อยู่ไม่ได้

‘มติชนกำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่’

ถ้าหากไม่มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ก็เหนื่อยเปล่า เรารู้ว่างานนี้ไม่ชนะได้ง่าย แต่จะชนะในอนาคต หมายความว่าอีกนาน แล้วเราจะต้องลำบากในการค้ำจุนให้อยู่ต่อไป คือรัฐคุมสังคมอยู่ เขาไม่แคร์ แต่กิจการปัจเจก-เอกชน ถ้าคุณไม่มีความเป็นสังคมเข้ามารองรับ หรือต่อยอดให้อยู่ได้ ตัวมันเองอยู่ไม่ได้ เพราะเล็ก และมีข้อจำกัด

เอกชนเนี่ย ถ้าคนที่เป็นหลักไม่มั่นคง มันอยู่ไม่ได้หรอก ก็ต้องเซไป ทรุดไป แล้วก็เลิกไป เพราะการอยู่จะต้องอุทิศ มันเป็นการต่อสู้ ทั้งทางอุดมการณ์ เศรษฐกิจ และการต่อสู้ทางสังคม หากสังคมคือ ผู้ซื้อ ผู้อ่าน ผู้เขียน ผู้ร่วมงาน ร่วมใจกัน พูดง่ายๆ ว่า เห็นด้วย มันจะเป็นผนังทองแดง ที่ทำให้มั่นคง และอยู่ได้

มติชนกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการหนังสือพิมพ์ของไทย ว่ามีความเป็นสถาบันทางสังคม ที่พิสูจน์ ปฏิบัติ แล้วก็เห็นผล ต่อไปไม่ต้องเถียงกันว่า อิทธิพลของใคร รับเงินมาจากใคร อยู่ฝ่ายไหนหรือไม่ เวลาที่มันผ่านมาแล้วผ่านไป จะทำให้ทุกอย่างแจ่มชัดขึ้นมา เห็นเค้าลางเลยว่า ประวัติศาสตร์ที่สดใสของมติชน จะมี มันจะต้องค่อยๆ ไปสู่จุดนั้นให้ได้

ในประเทศที่การพัฒนา มันลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สม่ำเสมอ ในที่สุดแล้ว รัฐต้องยกระดับ มันต้องมีคุณภาพของประชาชน ไม่ใช่เป็นคุณภาพของนักเทคโนแครตอย่างเดียว

ออนไลน์ท้าทาย การเมืองยิ่งท้าทาย สื่อเตรียมรับความขัดแย้ง

ผมเป็นคนรุ่นเก่า โตมากับหนังสือ การอ่านทำให้เกิดความสุข การอ่านจากมือถือก็อ่านได้ แต่ไม่มีความสุข อ่านเพราะเปิดที่ไหนก็ได้ เพราะกลัวว่าจะไม่รู้เรื่อง แต่ส่วนตัวผมมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากการอ่านหนังสือ มากกว่าที่จะอ่านจากเครื่อง ขอฝากให้มติชนทำต่อ มันยังมีทางที่จะทำได้ อาจจะไม่มากเท่าแต่ก่อน แต่ก็ยังทำได้

อย่างไรก็ตาม ข่าวหลายข่าว ถ้าพิมพ์อาจจะช้า หรือสุ่มเสี่ยง ก็ลงออนไลน์ไปเลย นี่คือความได้เปรียบของแพลตฟอร์มอันใหม่ที่ทำให้นำเสนอได้มากขึ้น กว้าง ลึก หรืออาจจะแหย่ เปิดประเด็นอะไรต่างๆ การมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้อ่านกับผู้เสนอข่าว

ผมคิดว่า ต้องเอาคนที่มีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์มาช่วยกันคิดว่าจะขยับขยายอะไรให้อยู่ได้ ให้คนที่อ่านเป็นหนังสือยังมีความสุขตรงนี้อยู่ เป็นงานที่เกือบจะต้องทำตลอดเวลา ไม่มีสูตรสำเร็จ สูตรนี้อาจใช่ได้แค่ 3-5 ปี พอเกิดโควิด ไม่รู้ว่าคนทำสื่อรู้สึกหรือไม่ว่ามีอะไรมากระเทือน คนอยู่บ้านน่าจะอ่านหนังสือมากขึ้น อาจจะเพิ่มส่วนนี้ สำหรับออนไลน์ต้องใช้อยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ในส่วนอื่นๆ ก็เพิ่มได้

พูดง่ายๆ ว่า ต่อไปการทำงานหนังสือพิมพ์จะท้าทายมากกว่าที่คิด มากกว่าที่ผ่านมา มากมหาศาล ทางการเมืองยิ่งท้าทาย ดูจากความขัดแย้งตอนนี้แล้ว สื่อก็ต้องเตรียมรับความขัดแย้งว่าจะทำอย่างไร ในฐานะสื่อ เราจะอยู่กันอย่างไร

ตัดเกรด ‘บีบวกก็น้อยไป’ ในคุณภาพกว่า 4 ทศวรรษ

ถ้าให้ เอหรือเอบวก ไปเลย มันก็เกินไป แบบนั้นคือไม่ต้องปรับปรุงแล้ว แต่ผมคิดว่ามีช่องที่จะปรับปรุงอีกเยอะ เมื่อพูดถึงศักยภาพ ความสามารถ และความตั้งใจเลยคิดว่าในระดับเอลบ น่าจะได้ ส่วนบีบวกก็น้อยไป คุณภาพออกมาตั้ง 30-40 ปี ก็เห็นๆ อยู่ผ่านจุดนั้นไปแล้ว

ยกระดับผู้อ่าน ‘ทำงานระหว่างบรรทัด’ สู่ ‘สถาบัน’ เพื่อการเรียนรู้

อีกประเด็นสำคัญคือ คนจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยมีความรู้นอกจากสิ่งที่เขาทำมาหากิน เช่น ความรู้เรื่องภาษา ตัวละคร ไปถึงเรื่องเล่า ตำนาน พูดง่ายๆ ว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่มันไม่มีช่องให้คนพวกนี้แสดงฝีมือ กรมศิลป์ไม่ไปถามเขาแน่ๆ หนังสือพิมพ์ก็ไม่ไปถาม ใครจะไปถาม ถ้าไม่มีเรื่องเราก็ไม่ไปถาม หรือไม่รู้จะไปถามใคร เขาไม่เคยบอก แต่ผมดูจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน ซึ่งมีคนเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการ เพื่ออธิบายเรื่องนี้ แล้วก็วิจารณ์เรื่องนั้น บทความนี้อย่างนั้น บทความนั้นอย่างนี้ แสดงว่าเขามีความรู้ เพียงแต่ไม่มีเวลาหรือไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะต้องมาถกเถียง ซึ่งเมื่อสื่อเปิดเวที หาเรื่อง หาประเด็นให้ เราจะพบว่ามีผู้รู้ ผู้วิพากษ์ได้ กระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคทั่วประเทศไทย นี่คือสิ่งที่สร้างผลงานเหมือนกับสถาบันการศึกษา

การศึกษาสร้างบัณฑิตที่ต้องมาเรียน แต่คนที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้เป็นบัณฑิต แต่มีความรู้ สถาบันการศึกษาก็ไม่สามารถไปหาเขาได้ เอาเขาเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ ระเบียบยุ่งมาก คนที่มาเป็นอาจารย์พิเศษต้องมีคุณวุฒิบ้าบอ คนเก่งๆ มาสอนไม่ได้เลย มีแต่คนที่มีคุณสมบัติตามคอมพิวเตอร์ของเขาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามติชนต้องทำงานที่อยู่ระหว่างบรรทัด เพราะทางการก็จะเอาแต่หลักเกณฑ์ที่ครบถ้วน จึงควรเอาคนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในวงการของสื่อ ถ้าผลักดันอย่างนี้ออกไปได้ ทางด้านศิลปะก็ได้ ทางด้านการเมืองก็ได้ ด้านอื่นๆ ก็ได้ มีทุกทางเลย

มติชนจะกลายเป็นสถาบันทางวัฒนธรรม คือเป็นการเรียนรู้จริงๆ ของประเทศไทยที่ผ่านสื่อสำนักหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image