ศาสตราจารย์ เออิจิ มูราชิมา ค้นสัมพันธ์ลึกพุทธญี่ปุ่น-พุทธไทย ในสายธารประวัติศาสตร์

ศาสตราจารย์ เออิจิ มูราชิมา ค้นสัมพันธ์ลึกพุทธญี่ปุ่น-พุทธไทย ในสายธารประวัติศาสตร์

เออิจิ มูราชิมา (Eiji Murashima) อดีตศาสตราจารย์ประจําบัณฑิตวิทยาลัย ศูนย์เอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ผู้มีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ไทยอย่างละเอียดลึกซึ้งผ่านร่องรอยหลักฐานโดยเฉพาะเอกสารชั้นต้น ขลุกตัวในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ประเทศไทย จนกลายเป็นภาพคุ้นตา

ฝากผลงานไว้แก่วงการประวัติศาสตร์ไทยมากมาย อาทิ หนังสือกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พ.ศ.2473-2479), การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ.1924-1941 และบันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม ซึ่งเป็นผลงานแปลที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อ พ.ศ.2562

นับว่าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงวิชาการโดยเฉพาะผู้สนใจในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

ในวันนี้ อาจารย์มูราชิมาขยับมาให้ความสนใจในประเด็นความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและญี่ปุ่น แม้เราอาจคุ้นเคยอยู่บ้างแล้วว่า ศาสนาพุทธของไทยและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันมากพอสมควร โดยเฉพาะนิกายซึ่งไทยยึดถือแบบ ‘เถรวาท’ ในขณะที่ญี่ปุ่นยึดถือแบบ ‘มหายาน’

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หลังจากอาจารย์มูราชิมาได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างลึกซึ้ง จึงพบว่าให้สายธารทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของทั้ง 2 ชาติ ไม่ได้ดำเนินไปอย่าง ‘ตัวใครตัวมัน’ แต่มีการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์และส่งอิทธิพลซึ่งกันและกันโดยตลอด

ล่าสุด อาจารย์มูราชิมาเดินทางมายังคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อบรรยายในหัวข้อ ‘The Modern Buddhism Exchange between Thailand and Japan’อธิบายถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและญี่ปุ่น

หลังจบการบรรยาย อาจารย์มูราชิมาให้เกียรติสละเวลาพูดคุยเส้นทางชีวิต พร้อมตอบคำถามในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยในสายตานักวิชาการต่างชาติ

Advertisement

● ขอเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานที่ว่า ทำไมต้องศึกษาประวัติศาสตร์?
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องตื่นเต้น ก็เหมือนกับว่าเรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงในสังคม เมื่อเราเจอสิ่งที่ยังไม่ทราบแต่น่าจะเป็นข้อเท็จจริงนั้น มันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น แล้วก็มีความรู้สึกพอใจที่เราสามารถหาเรื่องใหม่ๆ มามอบให้แก่สังคมได้ ผมถือว่านี่คือจรรยาบรรณของอาชีพ ทุกอาชีพก็เป็นแบบนี้ไม่ต่างกัน อย่างเช่นในด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสามารถหาสิ่งใหม่ๆ ได้ก็มีประโยชน์ต่อสังคมเยอะ ต่อให้ใครว่าไม่มี อย่างน้อยก็จะมีประโยชน์ต่อวงการวิชาการ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดได้

● เหตุผลที่ทำให้หันมาสนใจประวัติศาสตร์ไทยคืออะไร?
เริ่มต้นจากตอนที่อายุประมาณ 23 ปี ผมได้มาทำงานที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2518 เป็นช่วงลาพัก 1 เดือน ตอนนั้นที่สนามหลวงมีตลาดนัด แล้วก็มีพวกหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์ช่วงปี พ.ศ.2440-2490 มาวางขาย คนขายเขาจะรับซื้อเป็นเศษกระดาษแบบชั่งกิโลฯแล้วก็คัดเลือกเล่มที่น่าจะขายได้มา ราคาก็จะถูกกว่าหนังสือใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่าสมัยนั้นคนไทยยังไม่มองเห็นความสำคัญของหนังสือเก่า ผมก็ไปที่นั่นแล้วก็เริ่มซื้อหนังสือเก่าเหล่านั้นมาเก็บสะสมไว้ พอกลับไปประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีโอกาสได้เขียนเรื่องราวของประเทศไทย ก็อาศัยหนังสือที่ได้มาจากสนามหลวง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเกิดความสนใจเรื่องราวของเมืองไทยและประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น

● จุดเริ่มต้นในการแปลหนังสือ ‘บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475’ เป็นภาษาไทย?
ด้วยความที่ว่าผมศึกษาการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 แล้วได้เห็นบันทึกทูตฉบับนี้ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่น พบว่าข้อความที่บันทึกไว้มีหลายเรื่องที่คนไทยไม่น่าจะรู้นะ ซึ่งก็มีหลายประเด็นอย่างเช่น กรณีฉลอง 150 ปีของกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนก่อนการปฏิวัติ 2475 สักพักหนึ่ง แล้วก็การเจรจากับฝ่ายคณะราษฎรและอาจารย์ปรีดีเรื่องรัฐธรรมนูญที่ฝั่งคณะราษฎรเสนอ สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นฉบับชั่วคราว เลยต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น เพราะฝั่งคณะราษฎรมองว่าจะรักษาอำนาจได้ดีกว่าถ้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ในบันทึกเล่มนั้นมีหลายเรื่องที่เมื่อผมอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่เคยมีฝ่ายไหนกล่าวถึงมาก่อนเลย ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราแปลบันทึกเล่มนี้เป็นภาษาไทย ตอนแรกผมก็คิดว่าทูตท่านนั้นเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่มาพบว่าลูกเขายังมีชีวิตอยู่ และเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส ก็เลยขออนุญาตจากเขา ซึ่งเขาก็ยินดีให้ผมแปล นี่คือจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้

● แล้วในฐานะนักประวัติศาสตร์ มองเหตุการณ์ 2475 อย่างไร?
เท่าที่ผมศึกษาหลักฐานจากฝั่งคณะราษฎร การปฏิวัติ 2475 นั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลายปัจจัย ฝั่งคณะราษฎรเขารู้สึกไม่พอใจฝ่ายที่ถือครองอำนาจปกครองอยู่ ณ ตอนนั้น อย่างเช่นในโรงเรียนทหาร คนจากคณะราษฎรที่เป็นฝ่ายทหาร เขาก็ได้เข้าเรียนที่เดียวกันกับลูกหลานของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน เพราะอย่างนี้จึงได้เกิดความรู้สึกสำนึกร่วมกันระหว่างมนุษย์ เกิดความไม่พอใจที่ลูกหลานของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนพวกนี้ได้รับอภิสิทธิ์ที่ดีกว่าพวกตน พวกนี้เขาก็มีความรู้สึกของเขาอยู่ บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น ทำให้ข้าราชการต้องออกจากที่ทำงาน ส่วนคนที่ไม่ได้ออกก็รู้สึกไม่มั่งคงในชีวิต นั่นก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง จริงๆ แล้วมันก็มีหลายปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิวัติในปี 2475

● มาถึงประเด็นการบรรยายในครั้งนี้ โดยภาพรวมแล้ว พุทธไทยกับพุทธญี่ปุ่น เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร?
เมื่อพูดถึงความแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธนิกายเถรวาทของไทยและนิกายมหายานของญี่ปุ่น การประพฤติตนเป็นนักบวช (ลัทธิถือเพศ) มีลักษณะที่ไม่เหมือนกันอยู่บ้าง พระญี่ปุ่นจะไม่ค่อยถือศีลเหมือนกับ
พระไทย พระญี่ปุ่นในปัจจุบันโดยทั่วไปแล้วชอบดื่มสุราเมรัย สามารถแต่งงานและฉันอาหารในยามวิกาลได้ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า จริงๆ แล้วในสมัยเอโดะหรือช่วงก่อน พ.ศ.2411 พระญี่ปุ่นก็เคยถือศีลเคร่งครัดในแบบนิกายเถรวาทมาก่อน คือไม่สามารถแต่งงานและดื่มสุราเมรัยได้ ซึ่งเป็นอิทธิพลทางศาสนาของนิกายเถรวาทที่ได้รับมาจากไทย มีเพียงพระสงฆ์นิกายชินชูที่เรียกตัวเองว่า ‘พระกึ่งฆราวาส’ ที่ไม่ยึดหลัก
ปฏิบัตินี้ เพราะมองพุทธนิกายเถรวาทยึดถือวินัยตามคัมภีร์มากเกินไป จนถึงสมัยที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตก (ยุคเมจิ) รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดชาตินิยม จึงมีแนวคิดในการรื้อฟื้นลัทธิชินโตซึ่งเป็นลัทธิดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เคยรุ่งเรือง และได้สนับสนุนให้พระสงฆ์สามารถแต่งงานได้ จะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธของญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่ก็มีพระญี่ปุ่นบางรูปที่ต้องการค้นหาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาและบวชในลัทธิเถรวาทเช่นกัน

ในส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าของทั้งสองนิกายใช้คำสอนเหมือนกัน แต่พุทธนิกายเถรวาทจะใช้คัมภีร์ภาษาบาลี ในขณะที่นิกายมหายานนั้นจะใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต แต่ถึงกระนั้น เมื่อเราไปถามคนญี่ปุ่นทั่วไปว่ารู้จักอริยสัจ 4 ไหม เขาก็อาจจะตอบว่าไม่รู้จัก ยกเว้นว่าจะเป็นคนที่ศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ เพราะคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับคำสอนของเจ้าลัทธิ อาทิ เจ้าลัทธิคุไก (ลัทธิชินโต) เจ้าลัทธิชิรัน (ลัทธิโจโดชินชู)

● บุคคลหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เป็นจุดเชื่อมร้อยสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในด้านพุทธศาสนา?
บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการติดต่อและสานสัมพันธ์ทางด้านพุทธศาสนาระหว่างไทยและญี่ปุ่นก็คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่น เป็นผู้ที่มีบทบาทในการติดต่อแลกเปลี่ยนทางด้านพุทธศาสนาของไทยและญี่ปุ่นอย่างมาก เนื่องจากท่านมีความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาของไทยเป็นอย่างดี และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ท่านจึงเป็นที่นิยมของบรรดาชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในเมืองไทยเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศาสนา

ตัวอย่างบทบาทของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในการเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพุทธไทยและญี่ปุ่น เช่น ตอนที่นายอิคุตะ โทคุโนะ ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ได้มาพำนักอาศัยที่เรือนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จากการเดินทางมาศึกษาครั้งนั้น นายอิคุตะได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า ‘สภาวการณ์พระพุทธศาสนาในสยาม’ ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2434 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ในระหว่างที่พำนักนั้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็ได้เชื้อเชิญให้นายอิคุตะออกบวชด้วย แต่เขาปฏิเสธ

ต่อมา นายอินางาคิ มันจิโร อัครราชทูตคนญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางมายังประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2440 ได้ติดต่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการเพื่อเจรจาขอให้พระญี่ปุ่นสามารถเข้ามาพำนักในวัดญวนและวัดไทยได้ ซึ่งเสนาบดีท่านดังกล่าวก็คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทำให้พุทธศาสนาของทั้ง 2 เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนอิทธิพลกันมาโดยตลอด แม้จะต่างนิกายกันก็ตาม

● ในประวัติศาสตร์ เคยมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาบวชเป็นภิกษุในประเทศไทยหรือไม่ มีประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษหรือไม่?
จากหลักฐานเท่าที่หาได้ คาดว่ามีชาวญี่ปุ่นมาบวชภิกษุในเมืองไทยอย่างจริงจังเป็นคนแรกในช่วง พ.ศ.2479-2483 มีชื่อว่าโยชิโอกะ ชิเกียว โดยอุปสมบทภิกษุเณรที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพฯ แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ว่าไม่มีเลย ในช่วง พ.ศ.2411 มีชาวญี่ปุ่นที่คาดว่าเข้ามาบวชเณรที่วัดสระเกศ คือนายโอมุเน เกียวคุโจ กับนายเอนโด เรียวมิน

 

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องราวของนายอิวาโมโตะ ชิซุนะ และนายยามาโมโตะ ชินซึเกะ ที่ได้เข้ามาบวชในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2439 แต่แท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองไม่ได้เข้ามาบวชเพื่อต้องการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่ต้องการมาสำรวจบริเวณภาคอีสานของไทยและประเทศลาว เพื่อหาหลุมฝังศพของเจ้าชายทาคาโอกะ ชินโนะ ทายาทของจักรพรรดิญี่ปุ่น โดยเดินทางจากอยุธยาถึงกรุงฮานอย

ระหว่างการเดินทาง นายอิวาโมโตะได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า ‘การสำรวจสามประเทศ สยาม ลาว และอานัม’ ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2440 กลับกลายเป็นว่า นี่คือหนังสือที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักเรื่องราวของเมืองไทยมากขึ้น

● ตัดภาพมาในปัจจุบัน จริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองเป็นผู้ไม่นับถือศาสนา?
ถ้าเราไปถามชาวญี่ปุ่นว่าคุณมีศาสนาหรือไม่ เขาอาจจะตอบว่าไม่มีศาสนา แต่อิทธิพลทางด้านศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ ยังคงมีปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมการชีวิตของคนญี่ปุ่น เช่น งานศพที่ยังคงทำพิธีในแบบศาสนาพุทธ แต่อย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่าศาสนาพุทธของญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็นหลายลัทธิ และคำสอนหลายอย่างที่ชาวญี่ปุ่นเขายึดถือก็มาจากเจ้าลัทธิในอดีต ดังนั้น อาจจะไม่ได้ยึดถือและเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างที่คนไทยเราคุ้นเคย แต่ก็ถือว่าเป็นศาสนาพุทธเหมือนกัน

● สุดท้าย อยากให้ช่วยแนะนำการเขียนงานประวัติศาสตร์ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด?
ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง ผมคิดว่านักประวัติศาสตร์บางคนอาจจะเอาข้อมูลเท็จมาพูดประกอบทำให้ข้อเท็จจริงทางประวิติศาสตร์เกิดความไม่แน่นอน โดยเฉพาะพวกหนังสือพิมพ์ กลุ่มการเมืองบางกลุ่มก็ต้องการแก้ประวัติศาสตร์ หรือจะแก้ประวัติศาสตร์เพื่อกลุ่มของเขา ทั้งที่ไทยและที่ญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน แต่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ เราไม่ได้เชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราอาศัยข้อเท็จจริงมาพูด แต่ผมกลับคิดว่าแม้แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็ทำเหมือนกับว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์นั้น นอกจากว่าวิจัยศึกษาแล้ว ต้องพยายามที่จะรักษาข้อมูลเก่าๆ ไว้ด้วย อย่างเช่นเอกสารหลักฐานในหอสมุดแห่งชาติ เพราะข้อมูลหรือข้อเท็จจริงก็สามารถถูกทำลายได้

ดังนั้น นอกจากการยึดมั่นกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามหลักฐานแล้ว เราก็ต้องพยายามที่จะรักษาข้อมูลข้อเท็จจริงเอาไว้ด้วย สำหรับผม นี่เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักประวัติศาสตร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image