เคาะห้องรองผู้ว่าฯ สนทนา จักกพันธุ์ ผิวงาม ‘ถ้าทำอยู่แค่บนโต๊ะ…งานไม่จบ’

เคาะห้องรองผู้ว่าฯ สนทนา จักกพันธุ์ ผิวงาม ‘ถ้าทำอยู่แค่บนโต๊ะ...งานไม่จบ’

“ถ้าทำงานอยู่แค่บนโต๊ะ งานไม่จบ”

ประโยคสั้นๆ ที่ถูกย้ำชัดในหลายคำตอบของหลากคำถาม บนชั้น 2 ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ที่มีชื่อปรากฏบนแผ่นป้ายด้านหน้าว่า จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ประโยคสั้นๆ ที่ว่านี้ ยังช่วยอธิบายถึงภาพข่าวที่ปรากฏจนชินตาของการลงพื้นที่ในความถี่สูงมาก ทั้งในปฏิบัติการจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย ดูแลภารกิจสำคัญอย่างการจัดการขยะ รวมถึงสร้างสรรค์ ‘สวน 15 นาที’

ปรากฏตัวในเสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็คเรียบร้อยในวันเวลาราชการ และเสื้อโปโลแขนยาวด้วยลุคสบายๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ พูดคุยกับผู้ค้า ชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ อย่างใส่ใจ

Advertisement

ตรวจเป๊ะในทุกรายละเอียด ถามลึกทุกข้อสงสัย เปิดดูแม้กระทั่ง ‘กล่องเขียว’ ของเทศกิจ เมื่อตรวจ ‘จุดเสี่ยง’ ที่อยู่ในหน้าตัก ส่องถังขยะในชุมชนต้นแบบแยกขยะ เดินเท้าสัมผัสผืนดินในพื้นที่รกเรื้อเพื่อเนรมิตสวนสวย (อ่านข่าว วันหยุด ‘จักกพันธุ์’ ไม่หยุด! รุดตรวจหาบเร่-แผงลอยเขตดุสิต สั่งคุยแม่ค้าย้ายแผงหัวโค้งทางม้าลาย ปิ๊งไอเดียร่มสี่เหลี่ยม ไม่ล้ำผิวจราจร)

นับเป็นเวลา 4 เดือนบนเก้าอี้รองผู้ว่าฯ ‘รอบ 2’ หลังเคย ‘ลาออก’ จากกรณี (ไม่เซ็น) ‘เตาเผาขยะหมื่นล้าน’ ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จนสื่อพาดหัวด้วยฉายา ‘ตงฉิน’

Advertisement

แต่ไม่ว่าผู้ว่าฯยุคไหน ยืนยันทำงานตามกฎเกณฑ์ นโยบาย และ ‘ความถูกต้อง’

เป็น ‘ไม้บรรทัด’ ที่ไม่ได้วางตัวเองอยู่แค่บนโต๊ะในห้องแอร์เย็นฉ่ำ

“ใจดี ไม่ดุ ถามตลอดว่าเดือดร้อนไหม”

คือปากคำจากแม่ค้ากาแฟ ย่านตลาดเตาปูน ที่เคยผ่านมือตรวจแผง นามจักกพันธุ์ ในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาแล้ว

ย้อนกลับไปในเส้นทางชีวิต จักกพันธุ์เกิดเมื่อ พ.ศ.2499 ชื่อเล่น ‘น้อย’

เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เติบโตในบ้านซอยอพยพ 1 หลังตลาดย่านสามแยกบางขุนเทียน บิดาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มารดาเป็นช่างเรียงพิมพ์ในโรงพิมพ์ ย่านปากคลองตลาด

เป็นศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนวัดนางนอง

หลังจบปริญญาตรีศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้งานเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง

ถามว่า ครูจักกพันธุ์ดุไหม ได้คำตอบว่า ไม่ดุ แต่ไม่ถึงกับใจดี

เป็นครูไม่ถึงปี ได้งานใหม่ที่ ‘นิด้า’ แต่ยังรับสอนพิเศษช่วงเย็นเสาร์-อาทิตย์ ก่อนสอบบรรจุเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยตำแหน่งนักสถิติ กองผังเมือง แล้วโยกไปยังสำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ก่อนเป็น ผอ.เขตบางกอกใหญ่ จอมทอง จตุจักร และทวีวัฒนา

เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร ในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

หลังจากนั้น มีชื่อในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ด้วยตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ใน 2 ยุคสมัย จาก อัศวิน Bangkok Now ถึง ชัชชาติ ทำงาน ทำงาน ทำงาน

เช็กอินศาลาว่าการ กทม. ตั้งแต่ตี 5

“ตื่นตี 3 ครึ่ง วิ่งออกกำลังกาย พอตี 5 มาเคลียร์งาน ส่วนใหญ่เซ็นเอกสารตอนเช้า เสร็จปั๊บ บ่ายๆ ก็ลงพื้นที่ ไปดูทั้งหมดที่อยู่หน้างานว่าต้องตามอะไรบ้างซึ่งผมจะมีลิสต์อยู่ว่าเรื่องนี้ต้องไปดู ไปตามอะไร เวลาผมไปไหนมา ก็จะพิมพ์มา แล้วพยายามแก้ไปทีละข้อ” รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์กล่าวพลางเปิดเอกสาร และส่งสัญญาณพร้อมเริ่มสนทนา

● ลงพื้นที่จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยต่อเนื่อง คืบหน้าถึงไหน เขตไหนปัญหาชวนหนักใจที่สุด?
ขณะนี้หาบเร่แผงลอยที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนเสนอขออนุญาตเพื่อเป็นจุดทำการค้า ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด 2535 ทั้งหมด 95 จุด มีผู้ค้า 6,048 ราย ประเด็นหลักๆ ที่ต้องเข้าไปจัดการคือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ยอมรับว่าที่ผ่านมา หลังจากอนุญาตไปแล้ว ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ เช่น ต้องเก็บอุปกรณ์หลังทำการค้า การเว้นระยะห่างจากทางแยกทางร่วม และศาลาที่พักผู้โดยสาร ปรากฏว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วขยับไปขยับมา บางทีขยะทิ้งกันโดยไม่ดูแล ลักษณะเต็นท์ที่ไม่ควรจะมีก็มี หรือบางที ทิ้งน้ำ เทน้ำ ทิ้งเศษขยะลงไปในที่สาธารณะ

การจัดระเบียบเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขตจะเข้าไปดำเนินการ ประกอบกับรูปลักษณ์ อย่างเรื่องร่ม เรื่องแผงค้า ควรเป็นรูปแบบเดียวกัน เป็นแถว เป็นแนว ถามว่าหลังจากผู้ว่าฯชัชชาติเข้ามา ทำไปหรือยัง คือ ทำไปแล้ว จะเห็นตัวอย่างคือ เขตราชเทวีและเขตพญาไท อย่างสะพานหัวช้าง ซอยรางน้ำ เป็นต้น ซึ่งเรื่องพวกนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้งบประมาณของ กทม.เข้าไปจัดทำ เพราะตามระเบียบกฎหมายไม่สามารถทำได้ จึงขอความร่วมมือจากเอกชน ตามแผนจะทยอยทำ ซึ่ง 21 สำนักงานเขตรับปากว่าจะดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2566 เพียงแต่ตอนนี้ผมจะลงไปช่วยดูว่าปัญหาคืออะไร และติดตามความคืบหน้า

● การพูดคุยกับผู้ค้าเก่าและเก๋าที่ค้าขายในพื้นที่เดิมมานานหลายสิบปี มีอุปสรรคหรือไม่?
(ตอบทันที) ไม่ครับ ไม่มี เพราะในแง่หลักการแล้ว ผู้ค้าที่ขายของบนที่สาธารณะ เราก็ต้องเน้นตัวผู้ค้าเดิมอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไม่ก่อปัญหากับคนใช้ทางเท้า ต้องไม่ให้เกิดการจราจรติดขัด ยกเว้นการเอาของขึ้นลง ก็สามารถทำได้ แต่อยู่ดีๆ จะเอารถมาจอดแช่ไว้เลย ไม่ได้

ผมคุยได้กับทุกคน แต่ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบ สุดท้ายแล้วจริงๆ ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องยกเลิกเฉพาะร้าน เพราะระเบียบมีอยู่ว่ากรณีที่ไม่สามารถทำได้ ต้องยกเลิกร้านค้า ซึ่งไม่น่าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้น เพราะเมื่อเราใช้ที่สาธารณะเพื่อค้าขายซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นของชีวิตนั่นแหละ แต่เราก็ต้องทำพื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง (อ่านข่าว จักกพันธุ์ ทัวร์บางซื่อ คุยแม่ค้า อย่าขายนอกจุดตามบัญชี ย้ำเทศกิจโปร่งใสอย่าให้ชาวบ้านครหา)

 

● ฟุตปาธในฝันของจักกพันธุ์ ผิวงาม หน้าตาเป็นแบบไหน?
ทางเท้าที่เรียบ ไม่ต้องดูสีสวยนะ ประชาชนใช้สัญจรไปมาได้ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก่อให้เกิดความสะดวก แค่นี้เอง เมื่อทางเท้าเรียบแล้ว แต่มีหาบเร่แผงลอย ก็ต้องอยู่ด้วยกันได้ ที่ผ่านมาประกาศกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อประกอบการค้ามีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งว่าต้องมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่เดินเท้า คนอยู่บ้านใกล้เคียง คนทำงานบริเวณนั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ค้าเองก็มีสิทธิเสนอความเห็นได้ แต่ก็เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

หลังจากนั้น พอเรากำหนดเป็นจุดทำการค้า และทาง บช.น.อนุมัติแล้วจะมีคณะกรรมการเข้ามาควบคุม กำกับ ซึ่งก็คือประชาชนกลุ่มนี้ช่วยกันดูแล มีสิทธิตัดสิทธิคนนู้นคนนี้ก็ได้ตามเกณฑ์ที่เราบอกไว้

กรณีที่มีคนเสนอขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของสำนักงานเขตที่จะตัดสิทธิผู้ค้าได้หากทำไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าตัดสิทธิทันที มีตั้งแต่การเตือน การสั่งให้หยุด 1-2 เดือน สุดท้ายถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาตัวเองได้อาจต้องตัดสิทธิ ถามว่ามีไหม มี เพียงแต่เราไม่เคยไปบอกว่าทำตรงไหนอย่างไร

 

● นักข่าวที่ติดตามบอกว่า รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ตรวจละเอียดมากกกก ในทุกภารกิจ?
(หัวเราะ) อาจเป็นเพราะเคยเป็น ผอ.เขตมาก่อน แนวคิดของผม คือ ถ้าทำงานอยู่แค่บนโต๊ะ งานไม่จบ ถ้าอ่านแต่รายงาน ไม่ลงไปดูหน้างาน เราจะไม่เห็นของจริง ผมไม่ได้บอกว่าเขารายงานไม่ดีนะ แต่บางทีอ่านในหนังสือเข้าใจอย่างหนึ่ง หน้างานเป็นอีกอย่าง อาจไม่เข้าใจเหมือนการลงไปดูของจริง บางครั้งสิ่งที่หน่วยงานอยากได้ กับสิ่งที่ควรทำเป็นคนละอย่าง ซึ่งต้องหารือกันว่า ท่านคิดอย่างนี้ แต่ผมคิดอย่างนี้ อะไรดีที่สุด แล้วเราก็ปรับเข้าหากัน ผมว่าจะเกิดความสำเร็จ

● โดยเฉพาะ ‘จุดเสี่ยง’ ที่ต้องไปดูให้เห็นสถานที่และสถานการณ์จริง?
แถวถนนพระราม 3 ผอ.เขตยานนาวาพาไปดูอุโมงค์สำหรับคนเดินข้ามซึ่งเด็กนักเรียนใช้เยอะ แต่ไฟดับ ประเด็นคือไม่มีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ หรือแจ้งไปแล้ว อาจดำเนินการล่าช้า ขณะเดียวกัน ไฟไม่ได้ดับเนื่องจากใช้งานเยอะ แต่เพราะคนถอดหลอด ขโมยหลอดไป (หัวเราะ)

ผมเลยไปคุยกับเขาว่าสำนักงานเขตต้องเข้าไปเดินตรวจหน่อยหนึ่งก่อนประตูปิด อุโมงค์ไม่ได้เปิด 24 ชม. เพราะอาจเกิดอันตราย ไม่ใช่ทิ้งให้ประชาชนใช้โดยไม่ตรวจสอบ เพราะทางฝ่ายเทศกิจก็มีตู้เขียวไปติดไว้ด้วย

ปรากฏว่ามีเรื่องที่พอได้ยินแล้วตกใจ คือคนถือกุญแจไม่ใช่คนของสำนักงานเขต แต่เป็นเด็กนักเรียนถือเอง ยิ่งแล้วใหญ่ (หัวเราะ) ผมบอก อ้าว! ทำไมทำอย่างนั้น เขาบอกว่าจะให้เด็กคนสุดท้ายปิดประตู ซึ่งอย่างนี้ไม่ถูก เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเข้าไปดู

ช่วงวันหนึ่งแค่เดินไปสำรวจความปลอดภัยของอุโมงค์แล้วปิด-เปิดประตู อย่างดีก็ 2 ทุ่มปิด ซึ่งสำนักงานเขตเองมีข้าราชการทำงาน 24 ชม.อยู่แล้ว หรือตอนเช้าตี 5 ไปเปิดให้คนเดิน ก็สามารถทำได้ ตอนนี้เขตก็โอเค ทำเรียบร้อยหมดแล้ว

● หน้าตักที่คิดว่าหนักสุดคือภารกิจเรื่องการจัดการ ‘ขยะ’?
วันหนึ่ง กทม.มีขยะประมาณ 9 พันกว่าตัน ต่อไปในอนาคตน่าจะแตะประมาณ 12,000 ตัน ปีงบประมาณนึงเราใช้เงินงบประมาณเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดที่ กทม.ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายของแต่ละปี ถ้าตีเป็นเงินแล้วก็ประมาณ 6,500 ล้านบาทต่อปี การกำจัดขยะ เป็นเรื่องสำคัญ แต่การกำจัดขยะที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะน้อยที่สุด เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า

ขณะนี้เรามีโรงขยะทั้งหมด 3 ศูนย์คือ ศูนย์อ่อนนุช ศูนย์หนองแขม และศูนย์สายไหม ซึ่งทั้ง 3 ศูนย์ล้อมรอบด้วยหมู่บ้าน ขณะเดียวกัน ถ้าพูดถึงขยะ ทุกคนพูดถึงกลิ่นเหม็นก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่ในกรณีบริหารจัดการที่เป็นไปตามสัญญา ตามข้อกำหนด กทม. ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้อาจมีน้อยหรือไม่มีเลย เพราะฉะนั้นการกำจัดขยะอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เป็นเรื่องที่ดี

สิ่งหนึ่งที่ กทม.ทำมานานแล้วแต่อาจสำเร็จไม่มากพอ คือการส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะ ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีโอกาสพูดคุยกับสำนักสิ่งแวดล้อมสำนักงานเขตด้วย เวลาลงพื้นที่ก็ไปคุยกับประชาชนในชุมชน ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน พบว่ามีหลายแห่งแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางโรงเรียนที่เขตหนองแขมสามารถแยกขยะได้จนกระทั่งไม่ต้องส่งขยะอินทรีไปให้เขตกำจัด ส่งเฉพาะขยะทั่วไปให้ กทม.กำจัด คือสามารถทำให้เป็น Zero waste (ลดขยะเป็นศูนย์) ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นผมก็มั่นใจว่ามันอยู่ที่ กทม. โดยจะเป็นสำนักสิ่งแวดล้อมก็ดี สำนักงานเขตก็ดี ต้องพยายามเข้าไปส่งเสริม และติดตามให้ความรู้และขยายสถานที่ให้เขาแยกขยะมากยิ่งขึ้น

● ทำไมเลือกลงพื้นที่ดูชุมชนแยกขยะบ่อยมาก?
บางครั้งหน่วยงานเอกชน โรงเรียน ชุมชน อยากให้เราไปดูสิ่งที่เขาทำ เขาบอกว่าดีใจนะ เขาทำมา 4-5 ปี ไม่มีใครสนใจ และในขณะเดียวกันก็อยากให้คนทั่วไปไปดูว่าสิ่งที่เขาทำ ก่อให้เกิดประโยชน์ในชุมชนอย่างไร ถ้ามีการแยกขยะกันมากขึ้น จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม อย่างน้อยตัวเลขจากสำนักสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกับสำนักงานเขตทำ มี 988 สถานที่ โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2566 จะทำได้ให้อย่างน้อยรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3,600 แห่ง คือเพิ่มทุกเดือน เพื่อส่งเสริมให้มีการแยกขยะ ความสำเร็จอาจไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ในอนาคตถ้าเราช่วยกัน ติดตามดูแล ส่งเสริม โอกาสที่เราจะแยกขยะแล้วมีคุณภาพ ก็เป็นไปได้

มีอยู่เขตหนึ่ง ผมไปคุยกับชุมชน พอชุมชนพูดมา เราก็ต้องมองตัวเองเหมือนกัน เขาบอกว่าเดิมไม่ได้แยกขยะ ต่อมามีหน่วยงานจากเขตไปชวน เขาก็ทำ ทำไปทำมา นานเข้า หน่วยงานของ กทม. หายไปไหนไม่รู้ เขาก็ยังพยายามทำอยู่ แต่ก็ไม่เหมือนในอดีต ผมบอกสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต ว่าต้องเข้าไปดูเขานะ เขาอาจตั้งใจแยกขยะแต่มีปัญหาบางเรื่อง หรืออาจมีคำแนะนำบางอย่างที่ กทม.สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อเป็นแนวทางต่อไป เราต้องเอาความเห็นของเขามาพิจารณา

● การเป็นรองผู้ว่าฯกทม.มาแล้ว 2 ครั้ง ในสไตล์การทำงานของผู้ว่าฯ 2 คนที่แตกต่างกันมาก ต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหน?
การที่เรามาทำงานในระบบราชการไม่ว่าจะเป็นข้าราชการก็ดี หรือในฐานะนักการเมืองก็ดี มันมีกรอบนโยบายกับระเบียบกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าเราทำได้หมด แต่ผมมีแนวคิดอย่างหนึ่งว่า อะไรก็ตามที่เราทำไม่ได้ ก็ควรให้คนอื่นมาทำแทนเรา

● คำตอบนี้ย้อนไปเรื่อง ‘เตาเผาขยะหมื่นล้าน’ หรือเปล่า?
(หัวเราะ) ก็แล้วแต่ คิดแล้วว่าคุณต้องถาม เลยตอบดักไว้ก่อน คือถ้าในกรณีที่มีบางเรื่อง ซึ่งดูแล้วเราไม่น่าจะทำได้ในความรู้ความสามารถของเรา เราไม่ควรทำ ผมไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิดนะ

● เรื่องที่ตัดสินใจยากที่สุดในชีวิตการทำงาน คือการลาออกจากรองผู้ว่าฯ ยุคก่อนหน้าไหม?
ประมาณนั้นมั้ง (หัวเราะ)

● ความรู้สึกตอนเดินออกจากศาลาว่าการในวันนั้น กับตอนเดินเข้ามาใหม่ในวันนี้ เมื่อ 4 เดือนก่อน ในตำแหน่งเดิม เป็นอย่างไร?
ตอนลาออก ก็อย่างที่บอกว่า อะไรที่ทำไม่ได้ อย่าไปฝืน หลังจากมั่นใจแล้ว ถ้าจำไม่ผิด วันนั้นน่าจะเป็นเสาร์-อาทิตย์ พอถึงวันจันทร์ก็บอกหน้าห้องให้พิมพ์หนังสือ เซ็น แล้วไปเลย แค่นั้นเอง จะเห็นว่าวันนี้ห้องทำงานผมไม่มีสมบัติอะไรเลย คือไปปั๊บ ก็ไปแต่ตัว เดินดูได้เลย ผมทำงานมาทุกที่ เป็นอย่างนี้หมด ห้องทำงานคือสถานที่ราชการไม่ใช่ที่ของเรา

● อยู่ในชายคา กทม.มานาน มองเห็นพัฒนาการอย่างไรบ้าง จากภาพจำของ กทม.กับชาวบ้าน เทศกิจกับแม่ค้าที่เหมือนไม้เบื่อไม้เมา จนมาถึงวันนี้?
มีบางส่วนมองว่าผู้ปฏิบัติงานของ กทม.ไม่โปร่งใสในบางเรื่อง ผมก็ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่มันเกิดจากสมาชิก บุคลากรบางส่วนของคน กทม.เอง เพราะฉะนั้นเราต้องทำตัวเองให้ดีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบว่าขณะนี้ กทม.กำลังจะทำอะไร และจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

ยกตัวอย่าง หาบเร่ แผงลอย ทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนเยอะ เพราะเรามีทั้งผู้ค้าที่อยู่นอกจุด ในจุด และยอมรับว่าการปฏิบัติของพวกเราเองบางคนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การไปเรียกเก็บอะไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ผิด แม้บางกรณีอาจเป็นลักษณะสมยอมกัน ในฐานะข้าราชการหรือพนักงาน กทม. ไม่ควรทำอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่าจำนวนของบุคลากรหรือสมาชิก กทม.ที่เป็นแบบนี้ มี แต่คงไม่มาก ถ้ามีคนไม่ดีมากกว่าคนดี องค์กรคงอยู่ไม่ได้ สำหรับคนที่ทำไม่ดี ก็ต้องพูดคุยหรือดำเนินการตามกฎหมาย

● รองฯจักกพันธุ์ ‘รู้ทุกเรื่อง’ ในจักรวาล กทม. อย่างที่ ‘เฮียล้าน’ สุทธิชัย วีรกุลสุนทร แซวกลางสภา กทม. จริงไหม?
(หัวเราะ) ไม่จริงครับ อาจเป็นเพราะว่าผมดูแลหลายสำนัก เพราะเคยเป็นรองปลัดฯ อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วเป็นรองผู้ว่าฯ สมัยแรก จนมาถึงปัจจุบันก็ไปดูในส่วนของสำนักงบประมาณ แน่นอนที่สุดก็มีหน้าที่พิจารณางบประมาณให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน อย่างที่ผมเรียนแล้วว่าการที่เราจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องลงไปดูหน้างานจึงจะรู้ปัญหา

ครั้งหนึ่ง มีหน่วยงานขอจัดสรรงบทำท่อระบายน้ำลงคลอง ซึ่งถ้าเลาะไปตามขอบกำแพงวัดจะลงคลองข้างวัด ความยาวสัก 100 เมตรเอง ปรากฏว่าเขตทำท่อระบายน้ำแล้วหักลงคูอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นคูของเอกชน ต้องไปขุดลอกคู ใช้งบเพิ่มอีกหลายเท่า

ผมถามว่าทำไมไม่เจรจากับเจ้าอาวาส คุยไปคุยมาปรากฏว่า ยังไม่ได้คุยกับเจ้าอาวาส เพียงแต่เจ้าหน้าที่ไปคุยกับคนแถวนั้น เลยทำโครงการขึ้นมา แทนที่จะใช้เงินสักล้านสองล้าน กลายเป็นใช้เงินเยอะแยะมากมาย แล้วปรากฏว่าพอใช้ไป ระบบการระบายน้ำที่ควรแก้ไขปัญหาได้ ก็ไม่เกิดขึ้น เลยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย สุดท้ายแล้วเขาไปคุยกับเจ้าอาวาส ท่านก็ให้ใช้เลย อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการที่เราดูจากเอกสารบนโต๊ะแล้วลงไปดูของจริงด้วย จะทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น และประเด็นสำคัญคือทำให้งานนั้นมีคุณภาพและประหยัดงบด้วย (อ่านข่าว ‘ชัชชาติ’ ฮาเฮียล้าน แซวจักกพันธุ์ ‘รู้ทุกเรื่อง’ แจงยิบของบแค่ 1 หมื่น ‘ไม่มาก แต่ภาษีปชช.’)

● ผู้ว่าฯชัชชาติเคยพูดในไลฟ์ว่า รองจักกพันธุ์ปิดทองหลังพระ ไม่ชอบออกสื่อ สิ่งที่มองย้อนกลับไปแล้วภูมิใจที่สุดตลอดชีวิตการทำงานคืออะไร?
การรับราชการจนกระทั่งสูงสุดเป็นรองปลัด กทม. ถามว่าง่ายไหม ก็ไม่ง่าย แต่ผมคิดว่าอยู่ที่ความตั้งใจของเรา ทุกคนมีแนวคิดในการทำงานของตัวเองอยู่ ตั้งแต่ตอนเป็น ผอ.เขต ผมมักพูดเสมอว่า ถ้าไม่ติดตามงาน ไม่ลงพื้นที่ ไม่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การทำงานจะไม่ประสบความสำเร็จ

กทม.เป็นองค์กรใหญ่ มีระเบียบกฎเกณฑ์หลายฉบับ ในขณะเดียวกันมักมีประชาชนบอกว่าหน่วยงานเดียวกันใช้กฎเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องจริง (หัวเราะ) มีข้อบัญญัติ มีระเบียบ มีบันทึกสั่งการ บางทีบันทึกสั่งการออกมาปีนี้ฉบับหนึ่ง ปีถัดมา ฉบับหนึ่ง ออกมา 4-5 ปี 4 ฉบับ ความจริง 4-5 ฉบับนั้นเป็นการออกแนวทางปฏิบัติที่ไม่ได้ขัดข้อบัญญัติกับระเบียบ แต่การตัดสินใจต้องเอาทั้ง 4 ฉบับมานั่งดูพร้อมกัน ถ้าดึงมาเฉพาะฉบับใดฉบับหนึ่ง ไม่ศึกษาทั้งหมด จะทำให้การตัดสินใจและความเข้าใจไม่ครบถ้วน (อ่านข่าว ‘ชัชชาติ’ ชมจักกพันธุ์ หล่อ ‘ปิดทองหลังพระ’ รู้งาน-ทำไม่พัก แถมธรรมะธัมโม)

● ทีมชัชชาติ คนรุ่นใหม่เยอะ และหลากหลาย ทำงานร่วมกันลื่นไหลหรือไม่?
ไม่มีปัญหาครับ ผมคิดว่าการทำงานอยู่ที่อุดมการณ์กับแนวคิด ถ้าตรงกัน การทำงานก็ไม่ต่างกัน ถ้าสามารถนำประสบการณ์ของแต่ละคน อาจจะในสายงานราชการ เอกชน นักวิชาการมารวมกันแล้วได้นโยบาย แนวทางปฏิบัติที่มีคุณภาพ ศักยภาพ อาจดีกว่าจากบุคลาการสายใดสายหนึ่ง

● ตั้งแต่รับราชการใหม่ๆ มาถึงวันนี้ มีแนวนโยบาย กทม.ที่ขัดแย้งกับความรู้สึกบ้างหรือไม่?
ไม่นะ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็แล้วแต่ ผมเน้นเรื่องนโยบายการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย การใช้หลักทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ร่วมกัน เป็นสิ่งที่ต้องทำ การใช้กฎหมายอย่างเดียวโดยไม่มีการพูดคุยกัน คงไม่ใช่ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่ต้องทำงานกับประชาชนอย่างใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเปิดใจชาวบ้านให้ได้ว่า เราทำแบบนี้แหละ ตรงไปตรงมา พูดคุยกันซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ผมยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ตอนเป็นรองผู้ว่าฯ สมัยท่านอัศวิน และกรณีสะพานเหล็กซึ่งรุกล้ำคลอง ตอนเป็นรองปลัดฯ สมัยท่านสุขุมพันธุ์ คลองดำ น้ำไม่ระบาย

ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เข้าใจว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร การทำงานกับประชาชน ต้องมีทางออกให้เขาด้วย อย่างสะพานเหล็ก ไม่ได้ไล่ไปโดยไม่มีที่ให้เขา คำสั่งศาลก็ออกมาแล้วด้วยว่าต้องมีการรื้อย้ายออก เราก็ประสานงานกับทุกแห่งว่าถ้ามีการรื้อย้ายจะมีส่วนหนึ่งไปอยู่ที่นั่นที่นี่ ส่วนใหญ่ก็โอเค ไป

มีส่วนน้อยที่ต้องพูดคุยกันหลายครั้งหน่อย แต่โดยรวมเข้าใจกันได้ดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จักกพันธุ์ ตรวจการบ้าน ‘บางเขน’ รวดเดียว 5 จุด ดูทางเสี่ยง-ส่องที่ทำสวน-จัดงบแก้น้ำท่วม

‘จักกพันธุ์’ อุดจุดเสี่ยงภัย ‘เขตภาษีเจริญ’ ส่อง ‘สวนแห่งรอยยิ้ม’ เยี่ยมชุมชนปลอดขยะ คลองลัดภาชี

จักกพันธุ์ เยี่ยมชุมชนต้นแบบแยกขยะ บางบอน เร่งแก้จุดเสี่ยง-ปรับปรุงสวน

‘จักกพันธุ์’ ลิสต์ผลงาน 99 วัน จัดหาบเร่-ทำสวน15นาที-เคลียร์ขยะ ประหยัดวันละ 85,400 ปีหน้าขยายผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image