อดุลญา ฮุนตระกูล ผอ.หอศิลป์กรุงเทพฯ คนใหม่ ปลุกอาร์ตซีนไทย บนพื้นที่แห่งยุคสมัย ‘เราอยู่ในขั้นเทรนนิ่งเพื่อวิ่งให้ทัน’

“มันเป็นพื้นที่ที่พิเศษ”

คือคำนิยามสั้นๆ ของ ‘ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ คนใหม่ ในยุคที่เว็บไซต์ปรากฏนาม ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯกทม.จากการเลือกตั้ง นั่งเป็นประธานกรรมการ ‘ที่ปรึกษา’ หอศิลป์

1 เดือนกว่า นับจาก 1 ตุลาคม 2565 ที่ อดุลญา ฮุนตระกูล หรือ ‘คิม’ สวมบทบาท ผอ.รุ่นใหม่ ในวัย 37 ปี กำกับทิศทาง เชื่อมร้อยผู้คนในแวดวงให้สรรค์สร้างผลงานปรากฏสู่สายตาสาธารณะ ตามพันธกิจของมูลนิธิหอศิลป์ ไปพร้อมๆ กับนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีของ กทม. หวังเติมเต็มเมืองนี้ ให้ ‘ศิลปะสร้างสรรค์ แสงสี ดนตรี’ เข้ามาแทนที่ความเงียบเหงา

Advertisement

เป้าหมายหนึ่งในแผนที่ชีวิต ที่ได้เผยผ่านคำประกาศวิสัยทัศน์ คือการ ‘คืนประโยชน์ให้สังคม’ จึงขอใช้ทักษะนำทีมผลิตงานในแนวทาง ‘ต้อนรับผู้คน’ และ ‘เปิดกว้างทางสังคม’ มากขึ้น

อีกมุม ‘ผอ.คิม’ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ชอบกิจกรรมแอ๊กทีฟ ดำน้ำ เข้าถ้ำเดินป่า และเล่นเทนนิสตอนเช้า

ทว่า ดีกรีไม่ธรรมดา

Advertisement

‘อดุลญา’ บอกว่า เริ่มจากตั้งเป้าเล่นๆ ว่า อยากเป็นอินเดียนา โจนส์จึงเรียนปริญญาตรีด้านโบราณคดี ที่ School of Oriental and African Studies กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี’53 เคยเปิด Artist@Work เป็นพื้นที่พำนักให้ศิลปินสมัครเล่นได้ฉายผลงาน

ก่อนไปคว้าปริญญาโทจาก Goldsmiths ลอนดอน ในหลักสูตรประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชีย ของ LA SALLE College of Arts ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันยังมุ่งเก็บเกี่ยวความรู้คู่ขนานการทำงาน ต่อ ป.เอก ในสาขาศิลปะและภัณฑารักษ์ศึกษา ที่ GEIDAI หรือ Tokyo University of the Arts ควงหน้าที่ ผู้จัดการคอลเล็กชั่นส่วนตัวให้กับพิพิธภัณฑ์ของสะสม ‘ณรงค์ วลีพร อิงค์ธเนศ’ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง haiijaii project นิทรรศการสัญจรศิลปะ

เธอหลงใหลในศิลปะร่วมสมัย ร่วมจัดนิทรรศการกับทั้งภาครัฐและเอกชนมานับไม่ถ้วน และแน่นอน เคยรับบทเป็น ‘ภัณฑารักษ์’ให้กับหอศิลป์กรุงเทพฯ รวมถึงการเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ที่ ‘จอส เกร์ฮัม แกลเลอรี่’ กรุงลอนดอน อังกฤษ ช่วงปี’51-53

แต่ที่ไม่ธรรมดา คือปี’64 เป็นหนึ่งใน 518 รายชื่อศิลปินและนักวิชาการ ที่เซ็นลงนามท้ายหนังสือของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ช่วยเหลือนักศึกษา กรณีคณะวิจิตรศิลป์ ถูกผู้บริหาร ม.เชียงใหม่ เซ็นเซอร์ผลงาน

ต่อจากนี้ คือคำตอบที่จะบ่งบอกทิศทางของ bacc องค์กรหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนมหานครแห่งนี้

⦁ผอ.หอศิลป์กรุงเทพฯ ใช่หนึ่งในความฝันไหม กว่าจะมาถึงจุดนี้ผ่านอะไรมาบ้าง?
ตำแหน่งไดเร็กเตอร์ เป็นอะไรที่มุ่งฝันอยู่แล้ว ลึกๆ ก็อยากให้เป็นหอศิลป์กรุงเทพฯ คิมโตเมืองนอก แต่อยู่แถวปทุมวันมาตั้งแต่เด็กเรียกว่าเป็น My neighborhood

บ้านอยู่ใกล้ๆ หอศิลป์เลย 10 นาทีถึง (หัวเราะ) ก็เลยมีความผูกพันกับพื้นที่และความเป็นกรุงเทพฯ

จริงๆ เรียนปริญญาเอกอยู่ วางแผนว่าจบแล้วจะเริ่มหาประสบการณ์ที่พาเราไปถึงตำแหน่ง ผอ.ได้ แต่โอกาสมันมาก่อน หอศิลป์กรุงเทพฯ ประกาศรับสมัคร อาทิตย์สุดท้ายที่ขยายเวลา มาสะกิดเราว่า ‘ลองสิ’ ก็คิดไปคิดมา ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ก็คงไม่ใช่ตอนอื่น ถ้าไม่สมัครตอนนี้คงต้องรออีก 8 ปี เพราะวาระ ผอ.หอศิลป์เป็น 4+4 กว่าจะถึงตอนนั้นเราก็คงไปอยู่ที่อื่น ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง โอเค! มันก็เหมือน Now or Never

อีกอย่าง ส่วนตัวก็มีประสบการณ์การจัดการพอสมควร เป็นภัณฑารักษ์ (Curator) ด้วย ได้ทำงานร่วมกับหอศิลป์กรุงเทพฯ มาแล้วประมาณ 5 ปี เลยพอรู้จักทีมงาน ตัวตึก รู้จักความเป็นหอศิลป์ในเชิงสถานที่ เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และเราอยากทำงานด้วย

⦁การคว้าโอกาส พาตัวเองมาสู่จุดนี้เร็วกว่าที่คิด?
แน่นอนเลยเป็นการคว้าโอกาส (หัวเราะ) เราเองอาจจะคิดว่าไม่พร้อม แต่มันไปถึงจุดที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง สัมภาษณ์รวมๆ แล้ว 6 เดือน ก็พรีเซ็นต์วิสัยทัศน์ตามอุดมคติที่คิดว่ามันควรจะเป็น และอยากจะเห็นทิศทางที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เดินต่อ ซึ่งเราก็ทำเต็มที่อาจจะตรงกับวิสัยทัศน์ที่มูลนิธิหอศิลป์ อยากจะได้คนที่มาผลักดันหลายๆ จุด เหมือนเป็นการให้โอกาส

ที่ทำมาเดือนครึ่งซึ่งยังน้อยมาก แต่รู้แน่นอนเลยว่ามันเป็นพื้นที่ที่พิเศษ และก็ต้องเรียนรู้งานเยอะพอสมควร

⦁อะไรคือความท้าทายของการรับบทนี้?
เอ่อ…เยอะมาก (หัวเราะ) คงเป็นการทำงานกับปัญหาที่ต้องแก้วันต่อวัน ร่วมไปกับวางแผนสำหรับอนาคต มันเหมือนเราต้องทำประมาณ 10 อย่างต่อวัน ต้องจัดความสำคัญให้ได้ คิดว่าทุกคนก็คงจะเจออะไรแบบนี้ แต่นี่เป็นสเกล ‘ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ เหมือนเป็นการเทรนนิ่งที่จะวิ่งมาราธอน ตอนนี้เรากำลัง Build endurance ให้วิ่งให้ทัน

⦁ตั้งเป้าหมายในการเป็น ผอ.หอศิลป์ ไว้อย่างไร จะนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาประยุกต์กับบ้านเราไหม?
เราอยากจะโฟกัสสิ่งที่มีในไทย อยากสร้างเครือข่ายให้สมดุล สามารถทำงานไปด้วยกันได้และเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งศิลปิน องค์กร แกลเลอรี่ นักสะสม สถาบันเรียนศิลปะต่างๆ เพื่อที่จะไม่มีฝ่ายไหนเติบโตไม่ทัน ถ้าไปไกลได้ฝั่งเดียวมันจะไม่เป็นอะไรที่ยั่งยืน

⦁งานล่าสุดของ กทม. Colorful Bangkok เข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง?
Colorful Bangkok เป็นแคมเปญล่าสุดที่ทาง กทม.ขอให้หอศิลป์ กรุงเทพฯ ช่วยเป็นโฮสต์ กทม.อยากจะไฮไลต์ 3 เดือน คือ พ.ย. ธ.ค. และ ม.ค. จัดเป็นช่วงให้กรุงเทพฯดูมีสีสัน ทีนี้ทาง bacc มี 1 ในโปรเจ็กต์ที่งอกออกมาจากแคมเปญ Colorful Bangkok คือเว็บไซต์ www.bangkokartcity.org จะเป็นศูนย์รวมข้อมูลของงานที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการ พวกงานเฟสติวัล เทศกาลดนตรี หรือเวิร์กช็อปที่มีอยู่ใน กทม. สามารถเสิร์ชได้เลย เขตนี้มีงานศิลปะ มีงานดนตรีกี่งาน หาข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ถือเป็นครั้งแรกและที่แรก ที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หลายฝ่ายรู้สึกว่า โอ้! ในที่สุดก็มีที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างไว้ในที่เดียว ทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น ส่วนใครที่อยากส่งข้อมูลในพื้นที่ของตัวเองว่ามีงานอะไร ก็จะมีทีมงานนำขึ้นเว็บไซต์ให้ด้วย

⦁ทำงานร่วมกับ กทม.และคุณชัชชาติเป็นยังไงบ้าง สนุกไหม?
ต้องบอกว่า คิมไม่เคยได้ทำงานกับท่านผู้ว่าฯท่านอื่น (หัวเราะ) แต่เท่าที่ได้สัมผัสมา เหมือนผู้ว่าฯจะให้ความสำคัญกับหอศิลป์ กทม. แอ๊กทีฟกับการโปรโมตงานศิลปะ ในฐานะคนทำงาน ตื่นเต้นที่มีผู้ใหญ่มาสนับสนุนอย่างนี้

‘ศิลปะ’ คือวิถีชีวิต อยู่รอบตัวเรา และมันเป็นได้มากกว่านั้น มันไม่ใช่แค่เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แต่มันคืออาชีพของคน มันคืองานที่เป็นอคาเดมิก มันเป็นอะไรหลายๆ อย่างที่อาจจะคาดไม่ถึง แต่จริงๆ แล้วครบวงจรทั้งหมด ถ้าขาดตรงนี้ไปก็จะเห็นได้ชัดเลยว่ามีช่องโหว่ในสังคม

⦁ตอนวัยรุ่น เป็นเด็กคนหนึ่งที่มาเดินเล่นหอศิลป์ไหม หอศิลป์สำคัญกับคนทั่วไปอย่างไร ทำไมถึงต้องมี?
ตอนอายุ 18 ก็ชอบการเดินมิวเซียม สนุกดี แต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องศิลปะนี้เท่าไหร่ (หัวเราะ) จะมาซีเรียสเรื่องวิถีการงาน กับเป้าหมายชีวิตก็อายุเลย 26-27 ปีไปแล้ว

ถ้าพูดถึงช่วงวัยรุ่น การเดินหอศิลป์ มันเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ เราอาจจะมองหาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่แค่อะไรที่เห็นจากสภาพแวดล้อมของเรา เหมือนมันเป็นประตูเพื่อไปค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง จากที่ต้องเดินทาง หรือต้องเป็นเมมเบอร์ของกลุ่มนี้เพื่อที่จะได้เห็น เลยคิดว่าพวกศูนย์ศิลปะแบบนี้ มีหน้าที่เปิดโลกทางความคิดให้กับหลายคนได้ และเปิดโอกาสด้วย

⦁ในฐานะคน กทม. มองชีวิตในเมืองใหญ่ ภายใต้รัฐไทย บน ‘มาตรฐานโลกปัจจุบัน’ ใช้ชีวิตง่ายหรือยาก?
สภาวะโลกตอนนี้ มีความยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรืออาหารการกิน คือมันเหมือนกับว่า ทุกอย่างลดลง ป่าไม้เคยเขียวกว่านี้อากาศเคยไม่เหวี่ยงเท่านี้ เหมือนกับคำพูดที่พูดพร้อมกันๆ คือ ‘สมัยก่อนดีกว่านี้’ เลยเชื่อว่าเป็นมุมมองที่ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย เพราะชีวิตยากขึ้น อะไรๆ ก็แย่ลง

แน่นอน ทุกเมืองจะมีชาเลนจ์ต่างกัน แต่ถ้ามองในกรุงเทพฯ มันเหมือนมีอะไรหลายๆ อย่างที่คนต้องฝ่าฟันด้วยตัวเอง ทำอะไรด้วยตัวเอง ถ้าคิดในเชิงนั้นก็อาจจะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ต้องแข่งขันกัน

⦁ซึ่งเมืองน่าจะดีกว่านี้ ถ้ามีการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น?
อยากให้สนับสนุนเรื่องสวัสดิการและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนให้ทั่วถึงในหลายๆ มุม อาจจะเป็นสวัสดิการด้านการรักษา หรืออะไรก็ตาม ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะมันเป็นที่ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาได้จริงๆ เราไม่ได้เก็บเงินใดๆ
จากการอยู่ที่นั่นมา 1 เดือนครึ่ง สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเลยคือ เป็นที่ที่หลายคนมาพัก พักใจ พักกาย หรืออะไรก็ตาม เขาเข้ามาใช้บริการนั่งห้องสมุด นั่งพักผ่อนอ่านหนังสือ หรือเดินเล่นดูงานศิลปะ คิมว่า ‘สถานที่ที่สามารถพักได้’ สำคัญมากกับเมืองที่ต้องต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง เรียกว่า หอศิลป์กรุงเทพฯ มีหลายบทบาท แล้วหนึ่งในนั้น คือการเป็นศูนย์เซอร์วิสในเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะ การแสดง หรือดนตรี เป็นสถานที่ที่สามารถมาขอใช้บริการ เป็นพื้นที่สำหรับผู้มาเยี่ยมชม และมันก็เป็นสถานที่ที่มาใช้เวลาส่วนตัวได้ในวันที่ชีวิตยาก มาเรียนรู้ มาเปิดกว้างความคิด มาเห็นอะไรที่ปกติไม่เคยเจอ

⦁คำประกาศวิสัยทัศน์ ที่ว่า ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นมากกว่าพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย’ หมายความว่าอย่างไร จากนี้ผลงานจะเข้าไปจัดแสดงได้หลากหลายขึ้น?
ตอนนี้ bacc ขึ้นชื่อกับงานนิทรรศการสเกลใหญ่ โดยเฉพาะงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งปกติจัดอยู่ที่ชั้น 7-9 แต่ยังมีฟังก์ชั่นอื่นๆ อีกเยอะที่ควบคุมระบบนิเวศของศิลปะ คือเราเป็นศูนย์ที่ผลิตบุคลากรที่ทำงานศิลป์ด้วย
เราเป็นเซอร์วิสเซ็นเตอร์ให้กับองค์กรอื่นๆ ที่อยากมาใช้พื้นที่ และเราก็เป็นผู้อยู่อาศัยในปทุมวันด้วย ฉะนั้น นอกจากฐานะผู้ผลิต เราก็เป็นผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้บริการของทาง กทม.ด้วยเหมือนกัน เราเป็นพื้นที่สำหรับให้ประชาชนมาเจอกัน เป็นมีตติ้งเพลส มันกลายเป็นศูนย์รวมอะไรหลายๆ อย่างไปแล้ว มันเลยเป็นมากกว่าแค่ศูนย์รวมศิลปะร่วมสมัย

⦁จากนี้ไปจะได้เห็นจุดเปลี่ยนสำคัญของลานหน้าหอศิลป์ ที่คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ รวมถึงม็อบ?
ก่อนที่คิมจะมารับตำแหน่ง เราก็เป็นคนกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่เห็นว่าที่นี่ไม่เคยปิดกั้น ไม่เคย ‘ไม่ให้’ เลยเหมือนกับว่าเห็นชอบกับวิธีการที่หอศิลป์บริหาร ซึ่งคิมก็จะทำตามที่ทำมา หน้าลาน เป็นสถานที่ที่สามารถมาขอใช้ได้ แต่บางทีมีงานของคนอื่นด้วย เราก็ต้องสามารถจัดการให้อยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่ทำลายสิ่งของของคนอื่น แต่ถ้าใครอยากใช้ลานหน้าหอศิลป์ ก็สามารถมาขออนุญาตได้

⦁สมมุติว่า มีศิลปินอิสระอยากจัดแสดงงานในหอศิลป์ มีโอกาสไหม?
มีๆ เราได้รับการเสนอเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ก็แค่อาจจะต้องมองความเหมาะสมและดูว่าแต่ละงานไปในทางเดียวกับมิสชั่นของเราไหม ต้องมองความเหมาะสมในเชิงรูปแบบ และเวลาด้วย

⦁อะไรคือเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมลงนามเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ ให้วิจิตรศิลป์ มช.?
ตอนนั้นเพิ่งเริ่มเรียนปริญญาเอก ในฐานะ น.ศ. เราอาจจะไม่ได้เป็นศิลปินในภาคปฏิบัติ แต่เราก็อยู่ในแวดวง เป็นภัณฑารักษ์ ก็คิดง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นเราก็คงไม่อยากให้เขามาปิดกั้นความคิดของเรา คิดแค่ง่ายๆ สั้นๆ เลย ไม่ชอบ และอยากให้คนมาช่วย ก็เลยตัดสินใจลงนาม เพราะเชื่อในอิสระทางความคิด

⦁มองอย่างไรกับกรณีที่อาจารย์และ น.ศ. ถูกคณบดีแจ้งข้อหาจากการตัดโซ่เข้าไปแสดงงานในหอศิลป์ มช. พอไปรับทราบข้อกล่าวหา ชูป้ายแสดงออกหน้า สน.ก็โดน ตร.ล็อกคอ ปัจจุบันคนไทยยังสามารถแสดงออกได้ด้วยวิธีอะไรบ้าง ขนาดสื่อผ่านศิลปะยังถูกคุกคาม?
เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงมาก มันเป็นเหมือนสัญญาณว่า ถ้าเราออกความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปก็อาจจะมีปัญหาได้ ถ้าเราคิดต่างอาจจะโดนปราบแบบนี้

ถ้ามองจากเหตุการณ์ สิ่งที่ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี ต้องไปทำแบบนี้ ก็อาจจะเหมือนกับว่า พื้นที่การแสดงออกน้อยลงหรือเปล่า เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเอาตัวเองไปอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ จนถึงจุดนั้น ถ้าเกิดเรามีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนความคิด คุยกันได้ ผลลัพธ์จะไปอีกแบบนึงแน่นอน

⦁สำหรับคุณคิม ศิลปะรับใช้อะไร?
ส่วนตัวเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ หนึ่งในหน้าที่ของศิลปะ เรียกว่าเป็น ‘ผู้เก็บเรื่องราวในประวัติศาสตร์’ ซึ่งประวัติศาสตร์เราอาจจะเห็นเป็นการเขียนลงหนังสือ หรือเป็นบทความ แต่ถ้าเรามองว่าตัวศิลปินเอง เขาสามารถเป็นผู้เก็บประวัติศาสตร์ได้ ก็จะสะท้อนออกมาผ่านงานศิลปะ รูปแบบไหนก็ได้

มันเป็นอะไรที่สำคัญมาก บางทีนักประวัติศาสตร์ก็อาจจะเขียนไปได้ในมุมมองเดียว แต่พอมีศิลปินที่คอยเก็บสิ่งที่เกิดขึ้นในรูปแบบอื่น อาจจะเป็นในสเกลคอมมูนิตี้ก็ได้ หรือสเกลเมือง สเกลประเทศ มันสำคัญในเชิงนี้ เหมือนกับเก็บข้อมูลได้ทั่วถึงกว่า ได้มุมมองที่หลากหลายขึ้น เพราะประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่ที่ลงเป็นลายลักษณ์ แต่ยังมีประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมา มันเป็นวิธีการเก็บวัฒนธรรมด้วย ไม่ให้สูญหายไป หรือให้มันอัพเดต

⦁มีคำกล่าวที่ว่า คนไทยไม่ค่อยให้คุณค่ากับงานศิลปะ ผลงานถูกกดราคา เป็นอย่างนั้นจริงไหมถ้ามองเทียบวงการในบ้านเมืองอื่น?
We have to face the truth. เราต้องเผชิญความจริงของประเทศไทย นั่นคือการเสพศิลปะ หรือการใช้ชีวิตกับศิลปะ ไม่ใช่อะไรที่คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาส

พูดตรงๆ ถ้าอยู่ดีๆ จะไปบอกคุณป้าที่เขาพยายามทำมาหากินวันต่อวัน ว่า ‘ศิลปะมีความสำคัญต่อชีวิตคุณนะ’ ก็คงโดนด่า หรือไม่ก็ไล่กลับบ้าน เพราะวันๆ เขาต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ด้วยตัวเอง ถ้ามองในแง่นั้น คนส่วนใหญ่เขามีเวลาให้กับศิลปะขนาดนั้นด้วยหรือเปล่า ที่ว่าคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะ ถึงได้บอกว่าเราไปเทียบกับยุโรปไม่ได้ ประเทศเขาอยู่กับศิลปะมานานหลายร้อยปี วิชาศิลปะก็อยู่ในเนื้อหาการสอนมานานกว่าเรา ฉะนั้น วัฒนธรรมมันไม่เหมือนกันเลย

ศิลปะร่วมสมัย เป็นอะไรที่ใหม่มาก ต้องใช้เวลาอีกสักพักที่จะให้เราอยู่กับมันได้ในเชิงที่ต่อยอดกันได้ เลยมองว่าช่วงนี้ 10-20 ปีข้างหน้า สำคัญมากกับการพัฒนาศิลปะในเมืองไทยให้เติบโตขึ้น เพราะว่ารุ่นที่ผ่านมา 40 ปีที่แล้วพยายามสร้างรากฐาน พอมาถึงรุ่นนี้ เหมือนเริ่มที่จะ Formulate อะไรได้เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เลยถือว่าพีเรียดนี้สำคัญมากที่จะต้องสนับสนุน

⦁เห็นด้วยไหม ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เล็งปรับศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า สู่พิพิธภัณฑ์เมือง ให้เป็นแลนด์มาร์ก ‘เหมือนพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์’?
เราสนับสนุนทุกแบบ ทุกๆ ฟอร์ม ที่เกี่ยวกับสถานที่วางงานศิลปะ และมันน่าจะกระจายไปทั่วเมือง ทั่วประเทศด้วย ตอนนี้ทุกอย่างก็จะมาลงที่ bacc เพราะเป็นแหล่งเดียว ซึ่งเราก็มีลิมิต จะเป็นการเสียโอกาสถ้ามีอยู่แค่ที่เดียว อยากให้มีศูนย์ศิลปะ มีพิพิธภัณฑ์เพิ่ม คนจะได้มุมมอง ได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ซึ่งก็จะหลากหลายขึ้น พอมีพื้นที่มากขึ้น

⦁การจะเรียกคนคนหนึ่งว่าเป็นศิลปิน คนนั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร บางคนมีฝีมือ อย่าง ‘ครูมืด’ แต่ไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ตำแหน่งนี้ควรมีเกณฑ์คัดเลือกอย่างไร?
ศิลปิน โจเซฟ บอยส์ พูดไว้ว่า “Everyone is an artist” (ทุกคนเป็นศิลปิน) ในความคิดของคิมเองเลยเชื่อว่า มันก็เป็นระบบหนึ่งที่แต่งตั้งกันมานานแล้ว มีวัฒนธรรมอะไรของเขา เลยคอมเมนต์ไม่ได้จริงๆ

แต่ก็เข้าใจว่าทำไมการที่ได้แต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติถึงสำคัญ ถ้าเรื่องวิธีการแต่งตั้ง คิดว่าก็อาจจะตอบโจทย์อะไรไป 1 โจทย์ แต่มันไม่ได้หมายความว่าศิลปินท่านอื่นไม่ได้มีบทบาท หรือไม่ได้สำคัญในการผลักดันวงการศิลปะ

อาจจะกลับไปที่ ‘การตอบรับในความเป็นศิลปินแห่งชาติจากประชาชน’ มากกว่า

⦁มีศิลปินห่วงว่า ต่อให้มีแนวคิดสมัยใหม่ คือ ‘เปิดกว้าง’ แต่ด้วยโครงสร้างที่ต้องยอมรับว่า ศิลปินไทยส่วนมากเป็นแนวอนุรักษนิยม ในทางปฏิบัติตามเป้าหมาย จะเป็นอุปสรรคหรือไม่?
เท่าที่เจอยังไม่มีอุปสรรคอะไร ตอนนี้แอตติจูดเราคือ ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ก็ต้องลองทำอะไรใหม่ๆ พอรู้ว่ามิสชั่นเราเป็นอะไรเราก็ต้องทำให้สุด แล้วก็หาคนที่คิดแบบเรา ไม่อย่างนั้นเราก็คงเดินหน้ากันไปต่อไม่ได้ ถ้าทุกคนคิดแบบเดียวมันก็จะอยู่ที่เดิม เราต้องสามารถพูดคุยกันได้ถึงไอเดียที่ต่างกัน แล้วมาไตร่ตรอง คิมเชื่อในการร่วมมือนะ เพราะมันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

⦁ตอนนี้วงการศิลปะในต่างประเทศไปถึงไหนแล้ว มีอะไรที่รู้สึกว้าว อยากให้มีในบ้านเราไหม?
พูดตรงๆ ว่าสิ่งที่ต่างกันอย่างเดียว ก็คือการสนับสนุนจากรัฐบาล (หัวเราะ) อันนี้แน่นอนว่าต่างกันออกไปทุกประเทศ แต่ถ้าพูดถึงวงการศิลปะ และความเป็นอยู่ของศิลปิน ทุกคนในโลกที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะพูดเป็นเสียงเดียวกันได้เลยว่า ‘ชีวิตศิลปินมันยาก’ (หัวเราะ) ค่าตอบแทนการทำงานก็ต่ำ คิมว่าไม่ได้เป็นเคสที่พิเศษสำหรับเมืองไทยเลย ‘เงินตอบแทนเวลาทำงาน’

ล่าสุด ก็มีที่อเมริกาบางรัฐ บังคับให้แต่ละบริษัทเผยแพร่เงินเดือนของแต่ละตำแหน่ง เราดูแต่ละพิพิธภัณฑ์ที่ชื่อใหญ่ๆ มีกำไรเยอะมาก แต่จ่ายพนักงานน้อยมาก (หัวเราะ) อันนี้คือเป็นปัญหาทั่วโลก

ถ้าเป็นพิเศษในไทย อยากจะได้ผู้ใหญ่ให้มาสนับสนุนการเติบโต ซึ่งตอนนี้เท่าที่ดู ผู้ว่าฯกทม.ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ เลยหวังว่าอย่างน้อยมันจะขยับขึ้นไปได้อีก 1 สเต็ป

⦁วงการศิลปะไทย ยังขาดอะไรอยู่?
เรื่องนี้แหละ ‘อีโค่ซิสเต็ม’ ที่จับมือกัน ตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว ทุกคนต้องมาปลูก มาสร้างอะไรด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพราะเป็นอย่างนั้นมันก็เลยแตกแยก ไม่ใช่ในเชิงว่าเกลียดกัน แต่แตกแยกเพราะต้องพยายามกันเอง ดิ้นรนกันเอง เลยมองว่า มันถึงเวลาแล้วหรือเปล่า มารวมกันดีกว่า แล้วสร้างอะไรให้มันเติบโตไปพร้อมกันทั้งระบบของโลกศิลปะ

⦁เพราะเชื่อว่าศิลปินไทยมีดีไม่แพ้ใคร?
ใช่ๆ (หัวเราะ) อันนี้แน่นอน มีหลายคนถาม เมืองไทยมีอาร์ตซีนหรือเปล่า จริงๆ มี แล้วก็แอ๊กทีฟมากด้วย ที่ผ่านมา 1-2 เดือนนี้ ทุกๆ สุดสัปดาห์ก็จะมีงานนู้นงานนี้ให้ดูตลอด เลยกลับมาคิด ไม่ใช่ว่าไทยไม่มีอาร์ตซีน

ของเรามีอยู่แล้ว แต่ที่อาจจะขาดคือการดีไซน์ และการสื่อสารว่า ‘นี่คืออาร์ตซีน’ ซึ่งตอนนี้สื่อก็เริ่มช่วยสร้างข่าว นี่ไงมีคอนเสิร์ตที่นั่น มีงานอันนี้ มีละครเวทีตรงนั้น ซึ่งเรามีทุกรูปแบบ ดีใจที่หลายคนยังกลับมาหา ยังให้ความสนใจ

เสียงแบบนี้แหละ ที่จะทำให้เห็นอาร์ตซีนในไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image