เหตุเกิดบนถนนดินสอ 10.12 น.กระสุนยางนัดแรก สู่อีกความเคลื่อนไหวที่ยังไม่มีตอนจบ

เหตุเกิดบนถนนดินสอ 10.12 น.กระสุนยางนัดแรก สู่อีกความเคลื่อนไหวที่ยังไม่มีตอนจบ

เหตุเกิดบนถนนดินสอ 10.12 น.กระสุนยางนัดแรก สู่อีกความเคลื่อนไหวที่ยังไม่มีตอนจบ

ลุกลามบานปลาย กลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจจบลงโดยง่าย

สำหรับม็อบ ‘ราษฎรหยุดเอเปค 2022’ ที่ถูกสลายชุมนุมบนถนนดินสอในช่วงเที่ยงของวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนมีผู้ถูกควบคุมตัวไปกว่า 25 ราย บาดเจ็บหลายราย ทั้งสื่อมวลชนและผู้ร่วมชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของ ‘พายุ ดาวดิน’ ที่โดยกระสุนยางในระยะประชิด บาดเจ็บที่ดวงตาขวา ต้องผ่าตัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ 22 พฤศจิกายน เพื่อซ่อมท่อน้ำตา ส่วนการมองเห็นยังคงเป็น 0 เปอร์เซ็นต์

คฝ.เตะประชาชนก่อนลากไปตามถนน
กระแสปิดตาขวาโพสต์ลงโซเชียลหลัง ‘พายุ ดาวดิน’ ถูกกระสุนยางจนการมองเห็นยังเป็น 0 (ภาพ ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์ มช.)

คลิปเตะประชาชนไม่ยั้ง แล้วลากไปตามถนน การวิ่งตามทำร้ายภิกษุที่ร่วมชุมนุมคาสบงที่หลุดลุ่ย ภาพ คฝ.โบกมือยั่วล้อผู้ชุมนุม สุ้มเสียง ‘กูนี่แหละของจริง’ ที่ออกจากปากเจ้าหน้าที่ คำพร่ำสอนให้สื่อมวลชนแยกย้ายไปทำข่าวที่ ‘มีประโยชน์ต่อสังคม’ ผ่านเครื่องขยายเสียงของตำรวจ

เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งไทม์ไลน์หลักและรายละเอียดปลีกย่อยล้วนนำมาซึ่งคำถามมากมายว่าอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุปะทะเช่นนั้น ทั้งที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายการยื่นหนังสือต่อผู้นำเอเปคถึงเกือบ 8 กิโลเมตร

Advertisement

10.12 น. คือช่วงเวลาที่กระสุนยางนัดแรกถูกยิงจากปลายกระบอกปืนของเจ้าหน้าที่

12.35 น. เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตา รัวกระสุนยาง โดยช่วงเวลานี้เองที่มีผู้บาดเจ็บหลายราย หนึ่งในนั้นคือ ‘พายุ ดาวดิน’ ที่ส่งผลให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ด้วยการโพสต์ภาพปิดตาขวา ถ่ายรูปลงโซเชียลให้กำลังใจ และเรียกร้องความเป็นธรรม พร้อมแฮชแท็ก #ดวงตาหนึ่งดวงจะสร้างดาวอีกล้านดวง

เจ้าตัวเล่าว่า กำลังวิ่งเข้าไปจะพาคนออกมา และไปบอกรถเครื่องเสียงว่าอย่าเพิ่งถอย จังหวะที่หันหน้าเข้าหา คฝ.ก็ยิงเข้าใส่ในระยะใกล้

Advertisement

วินาทีนั้น ชีวิตของบัณฑิตหนุ่มนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

ถ้อยแถลงประณามฉบับแล้วฉบับเล่าถึงการใช้ความรุนแรงของฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าวโดยย้ำว่าเป็นไปตามหลักการ แม้ค้านสายตาประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังระบุว่า ภาพตำรวจควบคุมฝูงชนหรือ คฝ. ยิงกระสุนยางซึ่ง อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คฝ.ยิงกระสุนยาง ภาพโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง ที่ ตร.ระบุว่าเป็นภาพเก่า ก่อนถูกยกข้อมูลโต้

ตั้งรางวัล 1 หมื่นบาท สำหรับผู้ให้เบาะแสว่าเป็นใครนั้นคือ ‘ภาพเก่า’ เตรียมเอาผิดตามกฎหมายถึงการปล่อยภาพเท็จ ทว่า ปฏิภัทร์ จันทร์ทอง ช่างภาพตัวจริงโชว์ข้อมูล metadata จากภาพต้นฉบับว่าถ่ายในเหตุการณ์ดังกล่าวจริง เมื่อเวลา 12.34.05 น.

ก่อให้เกิดเครื่องหมายคำถามถึงความน่าเชื่อถืออย่างหนักหน่วงอีกครั้ง

ตำรวจยัน ทำตามขั้นตอน
อาจารย์นิติศาสตร์ชี้‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ ต้องขอศาลสั่งเลิกม็อบ

หลังเกิดเหตุ 1 วัน 19 พฤศจิกายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ในฐานะโฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค 2565 แถลงยืนยันว่าตำรวจปฏิบัติตามขั้นตอนและยุทธวิธีในการสลายการชุมนุม เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ ซึ่งผิดเงื่อนไข และตำรวจก็ได้แจ้งเตือนด้วยเครื่องขยายเสียงอยู่ตลอดเวลา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับใช้ลวดสะลิงขึงเพื่อดึงทำลายแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายและขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังมาโดยตลอด แต่สถานการณ์ในขณะนั้น ตำรวจจำเป็นต้องเข้ายับยั้งตามยุทธวิธีหรือเหตุการณ์ซึ่งหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับลำดับการใช้ยุทโธปกรณ์หรือระยะเวลาการควบคุมสถานการณ์ แต่ขึ้นอยู่กับความอันตรายของสถานการณ์ ณ เวลานั้น เช่น มีการใช้ท่อนไม้ตีประชิดตัวเจ้าหน้าที่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เพื่อระงับเหตุ เป็นต้น

ด้าน ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวว่าการสลายการชุมนุม ที่ถนนดินสอ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิกไปแล้ว กล่าวคือ การสลายการชุมนุมในช่วงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยต้องทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เลย เนื่องจากมาตรา 3(6) บัญญัติยกเว้นไว้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ใช้บังคับกับ ‘การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน’

แต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ยกเลิกไปแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งจะสลายการชุมนุมได้ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 21, มาตรา 22, มาตรา 23 และมาตรา 24 จนครบถ้วนก่อน

ดร.ปริญญา ยังสรุปขั้นตอนไว้ให้ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ต้องแจ้งผู้ชุมนุมให้เลิกชุมนุมก่อน (ม.21 วรรคหนึ่ง)
สอง ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องไปร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม (ม.21 วรรคสอง)
สาม ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกชุมนุม ก็ต้องไปปิดคำสั่งศาลและแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบ (ม.22 วรรคสี่)
สี่ ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมก็ให้ประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุม” และกำหนดเวลาให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ (ม.23)
ห้า เมื่อกำหนดเวลาครบแล้วจึงจะถือว่าผู้ชุมนุม “กระทำผิดซึ่งหน้า” แล้วถึงจะดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมได้ (ม.24)

ดังนั้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอ้างว่า ผู้ชุมนุมขออนุญาตใช้สถานที่ชุมนุมเฉพาะที่ลานคนเมือง การเดินไปสถานที่อื่นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการแจ้งให้เลิกชุมนุมแล้ว แต่การจะสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมได้ จะต้องไปขอคำสั่งศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม จึงจะดำเนินการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมได้

อาจารย์นิติศาสตร์ท่านนี้มองว่า ควรต้องมีการดำเนินคดีให้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แล้วควรต้องฟ้องนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ โดยย้ำว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายกรัฐมนตรีจะต้องเคารพ หากมีอะไรที่เกินเลยไปกว่ากฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติกับผู้ชุมนุมตามกฎหมาย มิใช่ใช้กำลังโดยผิดกฎหมายและเกินเลยไป

บุกสภาร้อง กมธ.
สอบปมสลายม็อบ
นัดถก ‘วันนี้’ 24 พ.ย.
เครือข่ายราษฎรยื่น กมธ. ให้เรียกสอบปมสลายชุมนุม

ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน ตัวแทนแนวร่วมราษฎร นำโดย อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บารมี ชัยรัตน์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน หนึ่งในผู้ถูกรวบตัวไปยัง สน.ทุ่งสองห้อง สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม โดยมี ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยจะนำเข้าสู่วาระการประชุม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริงในวันที่ 24 พฤศจิกายน อีกทั้งเวลา 11.00 น. ก่อนการประชุมจะมีกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมดังกล่าวมาส่งมอบพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่รัฐสภาด้วย

บารมี แห่งสมัชชาคนจน เผยว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว แกนนำได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจอะไรมาขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมมุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้พยายามเรียกร้องให้ตำรวจถอนกำลังออกไป มาอยู่เคียงข้างประชาชน

“ถ้าเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบ ก็ต้องไปร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม แต่นี่เป็นการใช้กำลังและอำนาจเถื่อนเข้ามาทำร้ายมวลชน จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียดวงตา ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ และยังเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของเรา จึงมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปคเข้ามาชี้แจง” บารมีกล่าว

ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ
ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวมาจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเดินทางไปยังศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อยื่นคำร้อง ขอให้ศาลเรียกตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มาไต่สวนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้กำลังสลายการชุมนุมจนประชาชนจำนวนมากรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บร้ายแรงหลายราย โดยยื่นคำร้องต่อศาลในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ระหว่างนายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ กับพวกรวม 2 คน เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่า ‘ให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมโดยคำนึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน’ แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.65 ที่ผ่านมา คฝ.ยังคงใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา คฝ.ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง นับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563-ปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง เท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และ Mob Data Thailand จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25 ราย โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนที่บาดเจ็บจากกระสุนยาง โดยมีอย่างน้อย 5 ราย ที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจากการใช้กระสุนยางในการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. จำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาแต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ.ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้ถูกสอบสวน ถูกตรวจสอบหรือดำเนินการทางวินัยใดๆ

#ดวงตาหนึ่งดวงจะสร้างดาวอีกล้านดวง
กลุ่มทะลุฟ้า ยื่นหนังสือ 6 สถานทูต ก่อนปิดท้ายที่ยูเอ็น ราชดำเนิน แจ้งเหตุการณ์ละเมิดสิทธิช่วงเอเปค

ภายใต้แฮชแท็ก #ดวงตาหนึ่งดวงจะสร้างดาวอีกล้านดวง ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งแรงใจให้ ‘พายุ ดาวดิน’ ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่าต้องสูญเสียดวงตา 1 ข้าง อย่างเจ็บปวดทั้งกายใจ บุคคลจากแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะนักกิจกรรมและนักการเมือง ร่วมโพสต์ภาพปิดตาขวาล้นโลกออนไลน์ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน กลุ่มทะลุฟ้ายังรวมตัว ณ จุดเกิดเหตุบนถนนดินสอ ยืนปิดตาขวาเป็นหมู่คณะ พร้อมโพสต์ข้อความวิพากษ์ คฝ.ที่สลายม็อบฝืนกฎสังคมโลก ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปยังบีทีเอสเพลินจิต ทำกิจกรรม ‘ยื่นหนังสือทะลุโลก’ ไปยังสถานทูตต่างๆ นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือปูนทะลุฟ้า หลังจากนั้น ยังก่อเกิดกิจกรรมอีกหลากหลายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ย้ำชัดว่าภาคประชาชนไม่ยอมศิโรราบต่อความรุนแรงอันไม่ชอบธรรม นับเป็นหนึ่งในน้ำผึ้งหลายหยดที่ราดรดลงในหลากสถานการณ์ที่ต้องติดตาม

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image