แท็งก์ความคิด : เรียนรู้จาก‘บินไทย’

แท็งก์ความคิด : เรียนรู้จาก‘บินไทย’

แท็งก์ความคิด : เรียนรู้จาก‘บินไทย’

องค์กรใดกำลังเพลี่ยงพล้ำธุรกิจโดนกระหน่ำจนซัดเซแต่จิตใจยังฮึดสู้ขอเป็นกำลังใจให้องค์กรนั้นๆ ผ่านพ้นมรสุมดังกล่าวไปให้ได้
วันก่อนที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ เครือมติชนจัดเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023”

ตอนหนึ่ง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวบนเวที

กล่าวในหัวข้อ “Speed up การบินไทย-ท่องเที่ยวไทย”

Advertisement

หลายคนคงจำได้ว่าการบินไทยเป็นองค์กรหนึ่งที่เพลี่ยงพล้ำผลประกอบการขาดทุน และต้องหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก่อนประกาศเข้าสู่แผนฟื้นฟู

มี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานกรรมการบริหารแผนฟื้นฟู ส่วนนายชาญศิลป์ เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารแผนฟื้นฟู

นายชาญศิลป์เคยบริหารการบินไทยมาก่อนจะมาบริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ตอนที่นายชาญศิลป์เข้าไปกุมบังเหียนการบินไทยนั้น องค์กรแห่งนี้ก็ทรุดลง

Advertisement

ต่อมาโลกทั้งใบเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 ธุรกิจการบินกลายเป็นอัมพาตทันที เพราะทุกชาติต่างปิดประเทศ

ช่วงที่โควิด-19 ระบาด ธุรกิจการบินขาดทุนสูงสุดในรอบ 100 ปี

ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน สร้างเครื่องบิน ธุรกิจอาหาร และแรงงาน ต่างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ สายการบินหลายสายในโลกต้องหยุด และล้มละลาย

การบินไทยก็ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่าง

วันนั้นดูเหมือนว่าการบินไทยเองมองไม่เห็นอนาคต

แต่วันนี้การบินไทยมองเห็นอนาคตของตัวเอง และมีแนวโน้มเติบโตและแข็งแรงขึ้น

ในมุมมองของผู้บริหารแผนฟื้นฟูอย่างนายชาญศิลป์เห็นว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็น “โอกาส” ของการบินไทย

เพราะโรคระบาดทำให้โลกหยุดหมุน ธุรกิจการบินตกทรุดลงมาเหมือนๆกัน ขณะที่การบินไทยทรุดมาก่อน และกำลังตระเตรียมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อธุรกิจการบินต่างๆ หล่นตุ้บลงมาอยู่ระดับใกล้ๆ การบินไทย เราก็มีความหวังในการก้าวเดิน

การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 จากนั้นยื่นแก้ไขแผน โดยปัจจุบันใช้แผนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

แผนปัจจุบันเป็นเหมือนแผนที่การก้าวเดินของการบินไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

เริ่มจาก 1.เจรจาแฮร์คัตหนี้เรื่องเครื่องบิน 2.แปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งรัฐบาลจะแปลงหนี้เป็นทุน 100% แต่เอกชนจะแปลงหนี้เป็นทุนประมาณ 25% มีการเพิ่มทุน

ต่อไปภายในปี 2567-2568 การบินไทยจะมีสัดส่วนทางการเงินที่ดี มีทุนเป็นบวก และน่าจะกลับมาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568

วันนี้การบินไทยยืนยันว่าไม่ต้องกู้เพิ่ม เพราะการบินไทยมีเงินใช้ถึงปี 2567

และหากแปลงหนี้เป็นทุนได้ ปรับโครงสร้างหนี้ได้ ปรับโครงสร้างทุนได้ การบินไทยก็รอด

เงื่อนไขสู่ความสำเร็จ คือ ต้องจดทะเบียนเพิ่มทุน ต้องไม่มีเหตุผิดนัดเจ้าหนี้ ต้องมีกำไรหลังจากหักค่าเช่าแล้วอย่างน้อย 12 ล้านบาทต่อปี และต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

เหล่านี้คือว่าเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ

นายชาญศิลป์บอกว่า ณ เวลานี้ การบินไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เหลือแต่การรอโอกาสที่จะกลับมาทะยานอีกครั้ง

ต้องแสดงความยินดีกับชาวการบินไทย และขอแสดงความนับถือคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูที่ทำให้การบินไทยพลิกจากขาดทุนเป็นมีกำไร

พลิกจากที่ต้องร้องขอเงินกู้จากรัฐบาล มาสู่การเลือกที่จะกู้หรือไม่กู้ก็ได้

ความหวังของคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟู คือ ปักธงให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ

การจะทำเช่นนั้นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติแล้ว ทั้งประเทศและประชาชนล้วนได้รับประโยชน์

ปี 2565 ถือว่าการบินไทยพ้นวิกฤต พนักงานการบินไทยเพิ่งได้รับเงินเดือนเต็มเดือนเมื่อต้นปี 2566 นี้เอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยอมเสียสละหั่นเงินเดือนตัวเองเพื่อองค์กร

ปี 2566 โอกาสของการบินไทยเริ่มสดใส การท่องเที่ยวกำลังกลับมา

โรคโควิด-19 มาตอนที่การบินไทยทรุด และกำลังจากไปตอนการบินไทยเริ่มแข็งแรงขึ้น

โลกปิดตอนที่การบินไทยกำลังแย่ แต่ตอนโลกมาเปิดตอนที่การบินไทยกำลังเติบโต

องค์กรใดที่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้ อยากให้เรียนรู้จากการบินไทย

บางที “วิกฤต” ก็เป็น “โอกาส” เหมือนที่นายชาญศิลป์บอกไว้

โอกาสทองเกิดขึ้นทุกๆ จังหวะ โดย การทำงาน คือ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

การทำงานที่มีเป้าหมาย การขับเคลื่อนที่ได้รับความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร และผู้นำที่ผู้ตามเชื่อในฝีมือ ล้วนมีความหมายต่อการอยู่รอดขององค์กร

การบินไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

อีกไม่นานคงได้เห็นการบินไทยลอยอยู่บนฟ้าเต็มความภาคภูมิ ในฐานะสายการบินแห่งชาติไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image