อาศรมมิวสิก : ดนตรีไทยและเพลงไทยจะปรับตัวอย่างไร

วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราเล่นเพลงไทย

อาศรมมิวสิก : ดนตรีไทยและเพลงไทยจะปรับตัวอย่างไร

จากการออกไปแสดงดนตรีในพื้นที่ต่างๆ ตอบได้ว่า “ดนตรีไทยและเพลงไทยตายแล้ว” คำตอบนี้อาจจะหนักไป คนจำนวนหนึ่งก็จะรับไม่ได้ แต่สื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับดนตรีไทยและเพลงไทยก็แทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว สื่อเก่าอย่างสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ของไทย ก็ไม่มีพื้นที่สำหรับดนตรีไทยและเสียงดนตรีไทย สื่อสมัยใหม่ก็ไม่มีเสียงดนตรีไทย เวทีการแสดงดนตรีในพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่มีเสียงดนตรีไทยและไม่มีเครื่องดนตรีไทยในทุกเวทีแล้ว เวทีงานศพก็ไม่มีวงดนตรีไทย เวทีความเป็นไทยที่ทุกคนหลงรักและหวงแหนก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน วันนี้ดนตรีไทยและเพลงไทยไม่มีพื้นที่อีกแล้ว

อย่าไปเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวในปัจจุบันหันมารักเพลงไทยหรือเครื่องดนตรีไทยเลย แม้คนเฒ่าคนแก่ในปัจจุบันก็ไม่รู้จักเพลงไทย ไม่รู้จักเครื่องดนตรีไทย ไม่เคยฟังเพลงไทย เห็นคนเล่นดนตรีไทยแล้วอึ้งทึ่ง ดนตรีที่มีชีวิตรอดจะต้องอยู่กับคน อยู่กับความต้องการของคน และดนตรีต้องทำหน้าที่รับใช้กิจกรรมของคนในสังคม เมื่อดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทย รวมทั้งเพลงไทย ไม่อยู่ในฐานะรับใช้คนในสังคมไทยแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ดนตรีไทยและเครื่องดนตรีไทยจะตายจากไป โดยที่คนไทยเองก็ไม่รู้ตัว

พิธีกรรมและกิจกรรมของชีวิตคนไทยและคนที่อยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีไทยและเครื่องดนตรีไทยเลย ดนตรีไทยจึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีความต้องการอีกต่อไป วงดนตรีไทยรวมทั้งนักดนตรีไทยทั้งหลายเมื่อไม่มีงานดนตรี ไม่มีเงินจ้างให้เล่นดนตรีไทย ไม่มีงานที่จะต้องใช้เสียงดนตรีไทย ทำให้เครื่องดนตรีที่มีอยู่ก็รกบ้าน นักดนตรีไทยจึงขายเครื่องดนตรีไทยทิ้ง เอาเงินที่ได้ไปทำอย่างอื่น ฝีมือคนเล่นดนตรีไทยก็ไม่ได้พัฒนา นักดนตรีไทยก็ตาย เครื่องดนตรีไทยก็ถูกทิ้ง เพลงไทยใหม่ๆ ที่วิจิตรพิสดารก็ไม่มีอีกแล้ว

Advertisement

เมื่อวงการดนตรีไทย นักดนตรีไทย รวมทั้งวงดนตรีไทยไม่เคลื่อนไหว ไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ได้พัฒนา เสียงดนตรีก็ตาย วันนี้ดนตรีไทยจึงตาย ความตายของเสียงดนตรีและวงดนตรีไทย ความตายของนักดนตรีไทย และความตายของเพลงไทย แม้ว่าจะมีการพัฒนาเครื่องดนตรีประดับมุก แกะสลักกะโหลกซอ ใช้งาประดับ ประดับเพชรหรือเม็ดทับทิม ลงรักปิดทอง ตีระนาด 2-4 ราง แต่ก็ยังใช้ไม้ระนาด 2 อัน ก็ไม่ได้พัฒนาเสียงดนตรีไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลง กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร

มาถึงยุคของการใช้เทคโนโลยีเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มีการนำเสียงสังเคราะห์เข้ามาใช้มากขึ้น ความจำเป็นในการใช้เสียงที่รวดเร็วและทันกับความต้องการมีมากขึ้น เสียงดนตรีไทยไม่อยู่ในระบบคิด นักดนตรีไทยก้าวไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้เสียงดนตรีไทยหายไปกับความมืด ตกหล่นไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ ไม่มีเสียงไทยในโลกปัจจุบันเสียแล้ว

พิธีกรรมของโรงเรียน สถานศึกษา ในวัด และในงานพิธีต่างๆ ก็พอมีเสียงไทยอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นเพลงไทยที่อยู่ในรูปแบบของเพลงลูกทุ่ง ส่วนเสียงดนตรีของวงมโหรีปี่พาทย์นั้น ไม่มีอีกแล้ว เพราะเป็นเสียงเก่าและโบราณ สถาบันอุดมศึกษาของไทยที่เปิดสอนวิชาดนตรี ไม่มีการสอนดนตรีไทยเสียแล้ว โดยสถาบันอ้างว่าไม่มีคนจะเรียนดนตรีไทย หากมีเด็กที่จะเข้าเรียนดนตรีไทยก็ไม่มีเงินเสียค่าเล่าเรียน ไม่มีตำราดนตรีไทย ไม่มีครูดนตรีไทยสอน สถาบันอุดมศึกษาไทยก็ไม่เป็นที่พึ่งหรือดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติอีกต่อไป

Advertisement

ดนตรีไทยและเพลงไทยจะอยู่ต่อไปอย่างไร ดนตรีไทยและเพลงไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่ายิ่ง แต่สังคมไทยรวมทั้งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย มองไม่เห็น “มรดกทางวัฒนธรรม“ ที่เป็นสินค้าสำคัญของชาติ ซึ่งไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ (แร่ธาตุต่างๆ) ที่ไทยได้ขุดขายไปหมดแล้ว ดนตรีไทยและเพลงไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่า เมื่อรัฐไทยมองไม่เห็น ก็ตกอยู่ในสภาพยาจกนั่งอยู่บนถุงทอง มองไม่เห็นว่าทรัพย์สินและมรดกทางวัฒนธรรมอยู่ตรงไหน

ขายพิธีกรรมและดนตรีไทยอีสาน

ทางออกของดนตรีไทยและเพลงไทยเป็นอย่างไร เมื่อถึงทางตันก็จะมีทางออก แน่นอนเมื่อเครื่องดนตรีไทยและวงดนตรีไทยตายแล้ว โดยไม่ได้คิดพัฒนาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง จะเป็นการตั้งรับก็ตาย คอยรับงานก็ตาย คอยฤดูกาลหรือเทศกาลก็หมดเวลาและหมดอาชีพไปแล้ว

ทางออก บ้านนักดนตรีไทยต้องปรับให้เป็นพื้นที่แสดงดนตรีให้ได้ ตั้งวงดนตรีและฝึกซ้อมเอาไว้ มีเวลาจัดแสดงที่ชัดเจน ต่อไปนี้ลูกค้าคือนักท่องเที่ยว มีรายการแสดงดนตรีอยู่ในสื่อออนไลน์ ใช้สื่อสารทางเทคโนโลยี ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่อยากรู้จักอยากฟังเพลงไทยต้องมาฟังได้ตามวันเวลานัด ฟังแล้วต้องประทับใจและสุดยอดเท่านั้น และนักท่องเที่ยวก็จะเล่าต่อๆ กันไป

ในกรณีของเครื่องดนตรีไทยและวงดนตรีไทย รวมไปถึงวงดนตรีไทยที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ด้วย ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า “วงพื้นบ้าน” จะต้องปรับใหม่ให้เป็นวงดนตรีไทยภูมิภาค เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปในแต่ละพื้นที่ก็จะมีวงดนตรีแสดง เป็นศิลปินไทยอีสาน บ้านหมอลำ หมอแคน กันตรึม หมอโหวด หมอพิณ ศิลปินไทยภาคเหนือ วงสะล้อซอซึง วงช่างซอ ศิลปินไทยภาคกลาง รำวง ลำตัด ลิเก งิ้ว ศิลปินไทยภาคใต้ โนรา หนังตะลุง รองเง็ง ลิเกป่า ลิเกฮูลู ทุกๆ การแสดงเข้าชมได้ตามรอบที่ระบุเวลาไว้ชัดเจน เมื่อแสดงแล้วต้องไม่สร้างความผิดหวังให้นักท่องเที่ยว ที่สำคัญต้องมีข้อมูล มีข้อความหรือเอกสารที่สามารถอธิบายและสื่อสารให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจ นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาดู เขาตั้งใจมาดูและมีเงินจ่ายเพื่อจะดูทุกคน

ขายความเป็นอีสานด้วยเพลงอีสาน

ในกรณีของเพลง ซึ่งมีเพลงไทยภาคเหนือ เพลงไทยภาคอีสาน เพลงไทยภาคกลาง เพลงไทยภาคใต้ ซึ่งเดิมเรียกว่าเป็นเพลงพื้นบ้าน ก็มีนักปราชญ์ทั้งหลายได้ทักท้วงว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามว่า “ไม่ไทย” แต่ยังเป็นพื้นบ้านต่ำต้อย ก็รับข้อเสนอมาปรับการเรียกชื่อใหม่ เป็นเพลงสำเนียงไทยอีสาน เพลงสำเนียงไทยเหนือ เพลงสำเนียงไทยกลาง เพลงสำเนียงไทยใต้ เพื่อให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมในความเป็นไทย

หน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องเป็นเจ้าภาพนำเพลงไทยทั้งหลายไปเผยแพร่และขายให้เป็นสินค้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องหาเงินเข้าประเทศ แทนที่จะเอาเงินไปซื้อเพลงหรือจ้างศิลปินต่างชาติเข้ามา แต่เอางบของกระทรวงจ้างวงดนตรีไทยไปแสดงในต่างประเทศ กระทรวงทั้งหลายจัดกิจกรรมขายวัฒนธรรม โดยจ้างวงดนตรีไทย นักดนตรีไทย เล่นเพลงไทยเพื่ออวดชาวต่างชาติ

ไม่มีเพลงมอญและวงปี่พาทย์มอญในงานศพอีกต่อไป
ต้องมีบ้านเครื่องดนตรีมอญเล่นเพลงมอญและวัฒนธรรมมอญขายนักท่องเที่ยว

ตัวอย่าง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดโครงการให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาจัดการประกวดวงดนตรีไทย เพลงไทย เป็นวงดนตรีไทยแบบไหนก็ได้ (ไทยเหนือ ไทยกลาง ไทยอีสาน ไทยใต้) โดยมีรางวัลอย่างหรู ให้เป็นทุนการศึกษาแก่นักดนตรี มีถ้วยรางวัลระดับชาติ มอบให้สถาบันการศึกษาต่างๆ จัดการแข่งขันเพลงไทย โดยกระทรวงทั้งหลายให้งบประมาณไปจัดการประกวด เมื่อได้วงดนตรีไทยที่ชนะเลิศแล้ว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศ นำวงดนตรีไทยที่ได้รางวัลไปต่อยอด โดยนำไปแสดงเผยแพร่ดนตรีไทยในต่างประเทศ ในเวทีการแสดงสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก วงดนตรีไทยทั้งหลายก็จะมีพื้นที่ มีเป้าหมาย และมีบทบาทความสำคัญทันที

อีกวิธีหนึ่ง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศ นำเพลงไทยที่มีอยู่มากมายหลายพันเพลง ทั้งไทยเหนือ ไทยกลาง ไทยอีสาน ไทยใต้ มาบันทึกเสียงใหม่ด้วยวงนานาชาติ วงซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อกระตุ้นให้นำเพลงไทยไปประกอบภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์การ์ตูน เพลงประกอบสารคดีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยรัฐไทยเป็นผู้ลงทุนในส่วนของดนตรี ให้งบประมาณดนตรีแก่ผู้ทำงานภาพยนตร์และสารคดี ดนตรีเพื่อการโฆษณาประเทศไทย การท่องเที่ยวไทยต้องใช้บทเพลงที่มีกลิ่นไทย การนำวงดนตรีซิมโฟนีที่เล่นเพลงไทยไปเสนอในนามกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

เพลงไทยจะอยู่ในรูปแบบใด เล่นด้วยเครื่องดนตรีหรือวงดนตรีแบบไหนก็ไพเราะ การขุดทรัพย์สินและมรดกไทยที่เป็นเสียงดนตรีและเพลงซึ่งเป็นนามธรรมมานำเสนอ จะทำให้เพลงไทย ดนตรีไทย อยู่ได้ในโลกสมัยใหม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image