ประวัติศาสตร์ (การเมือง) ร่วมสมัย Front Page – Headline บันทึกไว้บน ‘หน้าหนึ่ง’

‘คิดถึงทักษิณ ก้องสุวรรณภูมิ’
‘กราบแผ่นดินทักษิณ-ร่ำไห้’
‘คณะปฏิรูปนำทหารปฏิวัติ’
‘นับแสนผนึกไล่ล่าแม้ว’
‘มาร์คลั่นไม่ถอย’
‘เต็มพรึบ-สนามหลวง ม็อบทะลัก’
‘คลัสเตอร์คลองเตยพุ่ง 304 ราย ให้ฉีดวัคซีนด่วน’
‘ส้ม-แดงยึดประเทศ’
‘8 พรรคชูพิธานายก’
‘เพื่อไทยทิ้งก้าวไกล’
‘พิธาชวดนายก’
ฯลฯ

ข้อความข้างต้น คือ ส่วนหนึ่งของ ‘พาดหัวข่าว’ บน ‘หน้า 1’ หนังสือพิมพ์หลากฉบับ หลายช่วงเวลา ต่างวาระ ต่างสถานการณ์ บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Front Page – Headline บันทึกไว้บนหน้าหนึ่ง ซึ่งเพิ่งจบลงไปหมาดๆ

จัดเรียงอย่างมีนัยบนผนังสีขาวของสำนักงานโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือ iLaw (ไอลอว์) แห่งใหม่หมาดๆ ณ หมู่บ้านกลางเมืองรัชดา-ลาดพร้าว คัดสรรโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้จัดการ ‘ไอลอว์’ ในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’

คัดแล้วคัดอีก จากคอลเล็กชั่นหนังสือพิมพ์มากกว่า 500 ฉบับ เลือก ‘หน้าหนึ่ง’ ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ มาเรียงร้อยเป็นนิทรรศการ พาผู้อ่านนั่งไทม์แมชชีนเจาะเวลาหาอดีต เปิดบทเรียนจากหน้ากระดาษวานนี้ ก่อนถึงนาทีคลิกอ่านข่าวผ่านสมาร์ทโฟนดังเช่นปัจจุบัน

Advertisement

⦁หน้า 1 ‘เรื่องมันต้องแกรนด์’

สื่อออนไลน์ สามารถโพสต์ทั้งวัน กี่ชิ้นก็ได้ ในขณะที่สื่อกระดาษ การเลือกข่าวขึ้น หน้า 1 เรื่องมันต้องแกรนด์จริงๆ เพราะมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดใน 1 กรอบ หน้าหนังสือพิมพ์ คุณจะต้องเลือกข่าวที่เด่นที่สุด
สื่อหนังสือพิมพ์ต่างจากสื่อออนไลน์ที่มีทุกชั่วโมง ทุกนาที ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์อาจตามไม่ทัน เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น จะลองจัดนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ดู นี่เป็นเฮดไลน์การเมืองทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ผมเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนในปี 2561 เพราะฉะนั้น หนังสือพิมพ์ในยุคก่อนหน้านั้นไม่มีเก็บ หลายฉบับต้องขอบคุณป้าๆ คนเสื้อแดงที่นำมาบริจาคให้” อานนท์ แห่งไอลอว์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน เกริ่นถึงที่มาของนิทรรศการ รวมถึงวัตถุจัดแสดง

Advertisement

ก่อนชี้ชวนให้กวาดสายตาไปยังหน้า 1 หนังสือพิมพ์ที่ยังคงเหลืออยู่บนแผงไม่มากมายในวันนี้ โดยนำเสนอเหตุการณ์สำคัญอย่าง ‘ทักษิณกลับบ้าน’ ซึ่งมาประจวบเหมาะกับห้วงเวลาการจัดนิทรรศการพอดิบพอดีโดยมีหน้า 1 ในอดีตครั้งทักษิณกราบแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.2551 ครั้งเดินทางกลับเมืองไทย ก่อนออกนอกราชอาณาจักรอีกนานกว่าทศวรรษ กระทั่งหวนคืนอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง 2566

“ตลกมาก ในไทม์ไลน์ที่เราจัดนิทรรศการนี้ ทุกอย่างช่างประจวบเหมาะกันเหลือเกิน (ชี้ให้ดูข่าวทักษิณกลับบ้าน) เรามีหนังสือพิมพ์ หน้า 1 เหตุการณ์ทักษิณกลับไทยปี 51 ทักษิณกราบแผ่นดิน ผ่านไป มาถึงวันนี้ที่ทักษิณกลับมา” อานนท์กล่าว ก่อนผายมือไปยังมุมจัดแสดงที่ว่าด้วย ‘การชุมนุมทางการเมือง’ เรียกง่ายๆ ว่า ข่าวม็อบขึ้นหน้า 1

 

 

 

 

 

 

 

 

“วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เราเห็นตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมครั้งใหญ่หลายกลุ่ม เช่น พันธมิตร จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549 หลายฉบับที่นำมาจัดแสดง ยุติการพิมพ์ไปแล้ว มุ่งหน้าออนไลน์เต็มตัว”

ว่าแล้ว ชี้ให้ชมหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ‘ข่าวสด’ โดยเอ่ยปากชมช่างภาพว่า ‘ถ่ายได้จังหวะมาก’ ดังปรากฏรูปชายหนุ่มถอดเสื้อผ้า เหลือแต่กางเกงชั้นใน ยืนเด่นโดยท้าทายท่ามกลางเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนับเป็นโมเมนต์สำคัญ

ถัดไปเป็นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่นำเสนอข่าวการชุมนุมของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ‘กปปส.’ ใน พ.ศ.2556

ชวนให้อ่านพาดหัวตัวเบิ้ม ‘ม็อบพักรบ’ จากนั้น คือหน้า 1 ‘รัฐประหาร’ ในปี 2557 อันนำพาประเทศมาถึงจุดนี้

‘ฉบับที่อยากชวนดูคือฉบับนี้ ข่าวการชุมนุมในปี 2558 บุคคลในข่าว 2 คน ตอนนี้อยู่ในสภา คือ ส.ส. รังสิมันต์ โรม โชว์อก คงเสื้อหลุดระหว่างยื้อกับเจ้าหน้าที่ อีกคนคือ ส.ส. จีน พุธิตา ชัยอนันต์ พรรคก้าวไกล’
อานนท์กล่าวถึง หนังสือพิมพ์ ‘มติชนรายวัน’ โลโก้อักษรดำ ในกรอบสีแดง ที่มาพร้อมสโลแกน ‘หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ’ ซึ่งนำภาพข่าวม็อบขึ้นหน้า 1

ส่วนจัดแสดงถัดมา คือหน้า 1 หนังสือพิมพ์ในช่วง พ.ศ.2563 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์การชุมนุมของ ‘คนรุ่นใหม่’ มากมายด้วยแฟลชม็อบแบบรายวัน อานนท์ คัดไฮไลต์โดยชี้ไปที่ หนังสือพิมพ์ ‘ข่าวสด’ พาดหัว
‘เต็มพรึบสนามหลวง-ม็อบทะลัก’

นำเสนอข่าวเหตุการณ์ชุมนุม 19 กันยายน ต่อเนื่อง 20 กันยายน 2563 ในชื่อม็อบ #19กันยาทวงคืนอำนาจคืนราษฎร ซึ่งเช้าวันรุ่งขึ้นมีการฝังหมุดคณะราษฎร 63 ณ ท้องสนามหลวง

⦁‘ข่าว’ คู่ ‘ของ’ ประจักษ์พยานแห่งยุคสมัย
อีกฉบับที่ถูกคัดมาเป็นไฮไลต์คือ ‘ไทยรัฐ’ ที่นำข่าว ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กรีดแขนเป็นตัวเลข 112 ขึ้นหน้า 1 โดยในวันนั้น รุ้ง อ่านแถลงการณ์ซึ่งถูกนำมาใส่กรอบ จัดแสดงบนผนัง ในสภาพเกรอะกรังด้วยเลือด
ถัดลงมา คือ เสื้อเปื้อนเลือดแดงฉานที่วันนี้กลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เจ้าของเดิมคือ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งในวันนี้คือ สมาชิกพรรคเพื่อไทย

“นี่คือเสื้อเปื้อนเลือดของจ่านิวที่นำไปแสดงหลายงานมาก ในการเคลื่อนไหวรณรงค์ช่วงเลือกตั้ง 62 เรียกร้อง ส.ว. อย่าโหวตนายกฯ ก่อนถูกทำร้ายร่างกาย ผ่านไป 4 ปี ยังหาตัวคนร้ายไม่ได้” อานนท์เล่า ผู้ชมพินิจพิจารณาเสื้อดังกล่าวคู่กับหน้า 1 ที่ตีพิมพ์ภาพข่าวในครั้งนั้น

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ส่วนที่ว่าด้วยการเลือกตั้งและการยุบพรรคไทยรักษาชาติในปี 2562 รวมถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ จากนั้น เป็นเซตหน้า 1 ช่วงการเลือกตั้ง 2562 และ 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

“เลือกตั้ง 62 และเลือกตั้ง 66 เป็นหน้า 1 ที่ค่อนข้างมีไดนามิก ผมนำหนังสือพิมพ์แต่ละค่ายมาวางคอนทราสต์กัน ให้เห็นว่าในช่วงการฟอร์มรัฐบาลระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคมมีอะไรเกิดขึ้นหลายอย่าง พอดูหน้า 1 เทียบกัน เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจในหนังสือพิมพ์ มันจะมีระหว่างบรรทัดที่ซ่อนอยู่” อานนท์ยิ้มบางๆ ก่อนพาไปชมนิทรรศการในอีกฟากฝั่งของผนังห้อง ที่จัดแสดง ‘ข่าวสำคัญของประเทศ’

“ที่น่าสนใจ คือ ช่วงเวลาที่มีการนำคิวอาร์โค้ดมาใส่ในหน้ากระดาษ ให้คนสแกน สะท้อนความพยายามเมิร์ชสิ่งพิมพ์กับโลกออนไลน์ สร้างความมีชีวิตให้กระดาษที่ราบเรียบให้มีมิติขึ้นมาโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ”

⦁รายชื่อบน Front Page ‘คนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข’
ถัดไป เป็นมุมจัดแสดงข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนอกจากหนังสือพิมพ์ไทยแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ 1 ฉบับ นั่นคือ The NewYork Times

“The NewYork Times มีวิธีคิดการนำเสนอข่าวที่น่าสนใจคือ หน้า 1 ปกติเราจะคุ้นเคยว่า ต้องมีรูป หรือพาดหัวใหญ่ๆ แต่ฉบับนี้ พาดหัวใช้พื้นที่เล็กมาก ว่ามีผู้เสียชีวิตในสหรัฐ 1 แสนราย แต่ความน่าสนใจคือ เขาเอารายชื่อคนที่เสียชีวิตมาลง นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจของสื่อนอก ปกติเวลาเราพูดถึงภัยพิบัติใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะเห็นแค่ภาพ และจำนวนผู้เสียชีวิต มีตัวเลข แต่นี่เขาคัดเอารายชื่อมาลงประวัติสั้นๆ ว่าเป็นใคร มาจากไหน เสียชีวิตเมื่ออายุเท่าไหร่ และอาจมีข้อความของคนที่รักด้วย เป็นวิธีคิดที่สื่อต่างประเทศพยายามทำให้เห็นว่าคนตายในภัยพิบัติ ไม่ใช่แค่ตัวเลขที่มานับโชว์ตัวใหญ่ๆ แต่คนมีชีวิต มีครอบครัว มีคนที่เขารักอยู่เบื้องหลัง” อานนท์กล่าว

จากนั้นมาถึงหนังสือพิมพ์ไทยที่มีข่าวน่าสะเทือนใจในช่วงโควิดมากมาย อานนท์ เลือกข่าวหน้า 1 ที่ผู้หญิงประกอบอาชีพเป็นยามในโรงงาน เมื่อเกิดโควิดได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง โดยตัดสินใจวาดภาพพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งไว้

“เป็นข่าวที่ผมรู้สึกสะเทือนใจ” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

“เป็นช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์รุ่นพวกเรา เมื่อผ่านไป 10-20 ปี คนรุ่นหลังอาจจินตนาการไม่ถึง ว่าครั้งหนึ่งเราอยู่ในยุคที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด แอลกอฮอล์ เจล ขาดตลาดอะไรอย่างนี้”

จากนั้น หยิบหน้ากากอนามัยที่สกรีนภาพและข้อความ ‘เบื่อลุง’ ฉายภาพสะท้อนการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ แล้วชี้ให้ดูข่าวโศกนาฏกรรม 9/11 ก่อนเล่าถึงพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในสหรัฐที่โซนหนึ่งจัดนิทรรศการเรื่องคนอเมริกันในเหตุการณ์ดังกล่าว

“สะเทือนใจมาก มุมจัดแสดงมีกล่องกระดาษทิชชูวางอยู่ คือ คิวเรเตอร์รู้ว่า ผู้ชมเดินมาถึงจังหวะนี้ปุ๊บ ร้องแน่นอน เตรียมกระดาษไว้ให้เลย และมีการนำโครงสร้างตึกบางส่วนมาจัดวางไว้ด้วย ที่น่าสนใจคือ เขาพูดถึงคนหนังสือพิมพ์ พูดถึงคนข่าว ในมุมนั้นจะมีบัตรประจำตัว กล้องถ่ายรูปที่พังๆ ของผู้สื่อข่าวที่เข้าไปทำข่าว แล้วเสียชีวิตในหน้าที่จัดแสดงไว้ และมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับโชว์อยู่”

⦁เดือนตุลา หนังสือพิมพ์กับ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’

จากต่างแดน ย้อนกลับมายังเมืองไทย ในยุคเดือนตุลา

อานนท์ นำหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฉบับ ‘สแกน’ มาจัดแสดง เพราะไม่สามารถหาตัวจริงมาได้

“หนังสือพิมพ์ อายุการใช้งานมันสั้น ต้องขอบคุณโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ผมไปสแกนมาจากเขา ก่อนหน้านี้ผมไปดูที่หอสมุดแห่งชาติ แต่มันกรอบมากจนไม่สามารถทำอะไรกับมันได้แล้ว ตอนแรกตั้งใจจะซีร็อกซ์มา แต่เขาบอกว่า ห้ามแตะต้อง เพราะมันพร้อมจะย่อยสลายได้ทุกเมื่อ โชคดีที่มีคนสแกนแบบคุณภาพดีมากไว้”

อย่างไรก็ตาม มี นสพ. 1 ฉบับ ที่อานนท์บอกว่า ‘บังเอิญได้มา’ และยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี

“เป็นฉบับพิเศษที่แนบมากับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปี 1973 ในช่วง 14 ตุลา 16 มุมนี้เลยถือโอกาสเอาชามที่มีข้อความต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็น 1 ในการโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดก่อน 6 ตุลา มาจัดแสดงด้วย”
ถัดขึ้นไปจากตู้พลาสติกใสที่แสดงชามสังกะสี คือ ‘หนังสือพิมพ์ดาวสยาม’ ฉบับที่จุดชนวนนำไปสู่การนองเลือด พาดหัว ‘แผ่นดินเดือด ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ’

ก่อนปิดท้ายด้วยมุมประทับใจส่วนตัว คือ หนังสือพิมพ์กีฬาหลากหลายฉบับ ด้วยความที่เป็นแฟนตัวยงของ ‘ลิเวอร์พูล’

“เก็บสะสมหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวลิเวอร์พูล อย่าง สยามกีฬา สตาร์ซอคเก้อร์ เก็บข่าวที่ลิเวอร์พูลชนะแมตช์ใหญ่ๆ ไว้ส่วนตัว ไม่ได้กะเอามาโชว์ แต่เพราะหนังสือพิมพ์กีฬาที่อยู่คู่เมืองไทยมานานตอนนี้ โก ดิจิทัลกันหมดแล้ว ครั้งนี้เลยอามาจัดแสดงด้วย” อานนท์ทิ้งท้าย

แม้ไม่ได้หวือหวาด้วยเทคนิคจัดแสดงล้ำสมัยชวนตื่นตา ทว่า เนื้อหาบนหน้ากระดาษผ่านอักษรตัวแล้วตัวเล่า ประสมเป็นถ้อยคำ วลี ประโยคที่ต้องการสื่อสาร คือ บันทึกประวัติศาสตร์ที่นิทรรศการชุดนี้นำเสนอไว้อย่างตื่นใจยิ่ง

ขอบคุณภาพจากเพจ ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image