คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : 5 เรื่องราวทางดาราศาสตร์น่าจับตามองในปี 2017

ดาราศาสตร์นั้นเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ในห้วงอวกาศที่นอกชั้นบรรยากาศของโลก อวกาศเป็นสถานที่กว้างใหญ่ที่รอการสำรวจและค้นพบมากมาย เรามาดูกันดีกว่าว่าในปี 2017 นี้มีปรากฏการณ์และภารกิจอวกาศอะไรที่น่าสนใจจะเกิดขึ้นบ้าง

1.ดาวหาง C/2016 U1 (NEOWISE) 1

ภายในสัปดาห์แรกของปี 2017 เรามีโอกาสสังเกตเห็นดาวหาง NEOWISE ด้วยตาเปล่าและกล้องสองตาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มันจะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในวันที่ 14 มกราคม 2017 จากนั้นมันจะโคจรสู่ระบบสุริยะชั้นนอกแล้วไม่กลับมาให้เราเห็นอีกเลย

ดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในภารกิจ NEOWISE

Advertisement

2.ชุดวงโคจรสุดท้ายของยานอวกาศแคสซีนี 2

ภายในเดือนเมษายนในปี 2017 นี้ยานอวกาศแคสซินีที่สำรวจดาวเสาร์มานานนับตั้งแต่ 2004 จะเข้าสู่วงโคจรสุดท้ายที่เรียกว่า Grand Finale Orbits ทั้งหมด 22รอบ เพื่อเก็บข้อมูลระบบดาวเสาร์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนของดาวเสาร์เพื่อเผาไหม้ตัวเองในวันที่ 15 กันยายน 2017

สาเหตุที่ต้องเผาไหม้ตัวเองเพื่อจบภารกิจเพื่อป้องกันมิให้ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่อาจเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต (ทั้งในตอนนี้และในอนาคต) มีการปนเปื้อนทางชีวภาพ

Advertisement

3.ภารกิจฉางเอ๋อ 5 (Chang’e 5) ของประเทศจีน

ประเทศจีนวางแผนจะส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ 5 ซึ่งเป็นยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อนำตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์อย่างน้อยๆ 2 กิโลกรัมกลับมายังโลกเพื่อศึกษา หากทำสำเร็จนี่จะเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศจีนและจะเป็นการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี Luna 24 ของสหภาพโซเวียตนำดินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกในปี 1976

4.ดาวเทียม TESS โดยองค์การนาซา

ในเดือนธันวาคมปี 2017 องค์การนาซาจะการส่งดาวเทียม TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ความสว่างสูงที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเราทั่วท้องฟ้า ดาวเทียมดวงนี้จะตรวจจับการลดลงของแสงดาวฤกษ์เหล่านั้นเมื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเคลื่อนที่ผ่านหน้า (ส่วนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ที่เคยส่งขึ้นไปและกำลังทำงานอยู่จะสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ปรากฏในบริเวณเล็กๆ บนท้องฟ้าเท่านั้น)

ภารกิจนี้ตั้งเป้าจะศึกษาระบบดาวฤกษ์อย่างน้อยๆ สองแสนดวงเพื่อค้นหาและศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะภายในระยะเวลาปฏิบัติภารกิจ 2 ปี

3

5.ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Shower)

คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2017 มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ซึ่งเป็นฝนดาวตกที่มาในเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ในปี 2017 นี้เป็นคืนที่ดาวจันทร์เสี้ยวบางมากและไม่รบกวนการรับชมฝนดาวตก ดังนั้นถ้าสภาพท้องฟ้ามืดสนิทและปลอดโปร่งเราอาจสังเกตเห็นดาวตกได้มากถึง 100-120 ดวงต่อชั่วโมง

ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากเศษฝุ่นจำนวนมากที่หลุดมาจากดาวเคราะห์น้อย 3200 Phaethon เศษฝุ่นเหล่านี้เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกจนเกิดการลุกไหม้กลายเป็นดาวตก เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว

6.เรื่องอื่นๆ (แถม)

-การสำรวจดาวพฤหัสฯจากยานจูโนก็น่าติดตามว่าจะมีข้อมูลอะไรใหม่ๆ มาให้นักดาราศาสตร์ได้วิเคราะห์กัน

-11 กุมภาพันธ์ 2017 ดาวหาง 45P/Honda-Mrkos-Pajdu??kov? โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุด ถึงแม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ใครที่มีกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่พอก็สามารถถ่ายภาพได้

-ส่วนวันที่ 21 สิงหาคม 2017 ใครที่อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาสมารถรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้ด้วย โดยรัฐที่สามารถสังเกตเห็นได้คือ โอเรกอน, ไอดาโฮ, ไวโอมิง, เนบราสกา, แคนซัส, มิซซูรี, อิลลินอยส์, เคนตักกี, เทนเนสซี, จอร์เจีย, นอร์ธ แคโรไลนา และเซาท์ แคโรไลนา แต่จะเห็นได้ที่ตำแหน่งไหนบ้างสามารถหาข้อมูลได้ที่นี่เลยครับ

https://svs.gsfc.nasa.gov/12412

อ้างอิงเรื่องดาวหาง NEOWISE

http://www.jpl.nasa.gov/news/news.php?feature=6712

NASA’s NEOWISE Missions Spots New Comets

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image