สุริยะ วิษณุ กฤษณะ ‘ชิ้นเอกศรีเทพ’ มรดกชาติ มรดกโลก

สุริยะ วิษณุ กฤษณะ
‘ชิ้นเอกศรีเทพ’
มรดกชาติ มรดกโลก

กรมศิลปากร ระบุว่า เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก ราว 1,700 ปีมาแล้ว) และถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จากหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรมที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการติดต่อรับอารยธรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย วัฒนธรรมเขมรและจากวัฒนธรรมทวารวดีแหล่งอื่นๆ จนเกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้น และมีเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองศรีเทพ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีการรับวัฒนธรรมทางศาสนา 3 ศาสนาอยู่ร่วมสมัยกัน ทั้งศาสนาพุทธแบบเถรวาท ศาสนาพุทธแบบมหายาน และศาสนาฮินดู โดยมีรูปแบบศิลปกรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเองที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างอินเดีย เขมร ทวารวดี และงานช่างท้องถิ่นเกิดขึ้น

พระสุริยเทพ
พุทธศตวรรษที่ 13-14 พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
สวมศิราภรณ์ทรงกระบอก ประดับแผ่นประภามณฑลด้านหลังพระเศียรพระพักตร์กลม พระมัสสุและพระทาฒิกะยาวและหนา สวมกุณฑลและกรองศอ ลักษณะที่ปรากฏนี้เป็นการผสมผสานศิลปกรรมที่ถ่ายทอดจากดินแดนภายนอก เกิดเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างพื้นถิ่นได้อย่างกลมกลืน

เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพ คือ ผังเมืองที่มีลักษณะเป็นเมืองแฝด โดยเมืองสมัยแรก (เมืองใน) มีลักษณะเป็นรูปเกือบวงกลมต่อมาได้ขยายเมืองไปทางทิศตะวันออกอีกชั้นหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน (เมืองนอก) ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ทำให้เมืองศรีเทพมีขนาดพื้นที่โดยรวมประมาณ 2,963 ไร่ ซึ่งเทียบกับเมืองโบราณที่สำคัญในสมัยทวารวดีแล้ว ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 รองจากเมืองโบราณนครปฐมหรือเมืองโบราณนครชัยศรี ที่มีขนาดโดยประมาณ 3,800 ไร่

คูเมืองศรีเทพมีความกว้างระหว่าง 20-75 เมตร และคันดินกำแพงเมืองกว้างประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร ปรากฏช่องทางเข้าออกหรือประตูเมือง บริเวณเมืองใน 6 ช่องทาง คือ ประตูแสนงอน ประตูน้ำ ประตูท่าเพนียด ประตูหนองบอน ประตูศรีเทพ และประตูหนองกรด บริเวณเมืองนอก 6 ช่องทาง ได้แก่ ประตูแลง ประตูมะพลับ ประตูน้ำ ประตูเกวียน ประตูผี และประตูแดง

Advertisement

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองโบราณศรีเทพตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2506 กำหนดเขตโบราณสถานขนาดเนื้อที่ประมาณ 2,887 ไร่ 2 งาน โดยการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีมรดกโลกได้กำหนดพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนไว้ตามขอบเขตคูเมืองภายในขอบเขตขึ้นทะเบียนตามราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวและใช้พื้นที่ร่วมกันกับโบราณสถานเขาคลังนอก มีเนื้อที่ประมาณ 17,346 ไร่

⦁ ลำดับกาลของเมืองโบราณศรีเทพ

1.สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย-สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 9-11)
จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เมืองใน เมืองโบราณศรีเทพ พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและพิธีกรรมการฝังศพในพื้นที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว หลักฐานสำคัญที่พบ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกสุนัขเต็มโครงฝังร่วมกับกระดูกมนุษย์กระดูกไก่ กำไลและแหวนสำริด เป็นต้น นอกจากหลักฐานโบราณวัตถุแล้ว สันนิษฐานว่าการขุดคูน้ำเป็นขอบเขตเมืองที่มีแผนผังเป็นรูปเกือบวงกลม (ปัจจุบันคือเมืองใน) น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน อันแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาในยุคสมัยนี้ด้วย

Advertisement
พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ
พุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
หนึ่งในอวตารของพระวิษณุ แสดงตนในรูปของชายหนุ่มที่ช่วยเหลือชาวบ้านผู้เลี้ยงโค โดยยกภูเขาโควรรธนะขึ้นเพื่อกำบังพายุฝนที่เกิดจากการบันดาลของพระอินทร์

2.สมัยวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)

เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี มีการขยายพื้นที่เมืองไปทางทิศตะวันออก โดยขยายแนวคูน้ำออกมาอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เกิดพื้นที่เมืองนอก ภายในเมืองศรีเทพพบโบราณสถานมากกว่า 112 แห่ง และพบประติมากรรม
ลักษณะโดดเด่นรูปแบบเฉพาะของ “สกุลช่างศรีเทพ” นอกจากนี้ ได้มีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ด้านทิศเหนือ คือ โบราณสถานเขาคลังนอกที่ได้รับอิทธิพลทั้งรูปแบบและแนวคิดในเรื่องของมณฑลจักรวาลหรือศูนย์กลางจักรวาลจาก
วัฒนธรรมอินเดีย รวมถึงมีการแกะสลักประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ด้วย

พระสุริยเทพ
พุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
พระสุริยเทพ หรือพระอาทิตย์ เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู อยู่ในฐานะเทพชั้นรองตามไวษณพนิกาย และเทพสูงสุดตามเสาระนิกาย ปรากฏลักษณะทางประติมานวิทยาที่สำคัญคือ สวมศิราภรณ์ทรงกระบอก (กิรีฎมกุฎ)
ประดับประภามณฑลด้านหลังพระเศียร ถือดอกบัวทั้งสองพระหัตถ์

3.สมัยวัฒนธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ 16-18)

อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรเริ่มแผ่เข้ามาในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีเอกสารประวัติศาสตร์เขมรกล่าวถึงการที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โปรดให้รุกรานอาณาจักรทวารวดี ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นเหตุให้งานศิลปกรรมสมัยทวารวดีเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พบงานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมร (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17) ที่เมืองศรีเทพอยู่หลายแห่ง เช่น ปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องภายในเมืองใน และปรางค์ฤๅษีที่สร้างอยู่นอกเมืองด้านทิศเหนือ นอกจากนี้ ยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ชิ้นส่วนของโคนนทิ และทับหลังสลักเป็นรูปอุมามเหศวรที่พบที่ปรางค์องค์เล็กของปรางค์สองพี่น้อง แสดงให้เห็นว่าในยุคนี้มีการนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย อีกด้วย

4.สมัยสุโขทัย-สมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 18-ปัจจุบัน)

หลังพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณศรีเทพก็หมดความสำคัญลง หลังการเกิดขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย ศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายออกจากเมืองโบราณศรีเทพไปบริเวณที่ตั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ทางตอนเหนือแทน ตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัย และการพบโบราณสถานในสมัยสุโขทัยที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 19 สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถานภายในเมืองศรีเทพที่พบว่าชั้นดินที่มีการใช้งานในสมัยวัฒนธรรมเขมรเป็นชั้นวัฒนธรรมชั้นสุดท้าย รวมถึงไม่มีศิลปะ-สถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย-สมัยรัตนโกสินทร์ ณ เมืองศรีเทพอีกเลย อันเป็นการแสดงถึงการที่เมืองนี้ถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18

กระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ.1447 และทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ที่ชาวบ้านเรียกชื่อตามพระธุดงค์ว่า “เมืองอภัยสาลี” อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงสันนิษฐานว่าเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะชื่อว่า “เมืองศรีเทพ” ที่ปรากฏในเอกสารสมุดไทยดำสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองชัยบาดาลกับเพชรบูรณ์

ปี พ.ศ.2527 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการเพื่อจัดตั้งเมืองโบราณศรีเทพขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ทำให้โบราณสถานในพื้นที่ยังคงรักษาคุณค่าอันโดดเด่น และมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จนกระทั่งได้รับการเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกในปี พ.ศ.2564 ปัจจุบันได้รับการพิจารณาขึ้นมรดกโลก วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2566 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

พระวิษณุ 4 กร
พุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
เทวรูปอิริยาบถยืนแบบตริภังค์ สวมศิราภรณ์ทรงกระบอก (กิรีฎมกุฎ) พระวรกายด้านซ้ายหักหาย เหลือเพียงซีกขวาปรากฏพระหัตถ์ขวา 2 ข้าง ลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มพระวิษณุ 4 กร ที่สัมพันธ์กับกลุ่มเทวรูปสมัยก่อนเมืองพระนคร

⦁โบราณสถานคลังนอก

โบราณสถานเขาคลังนอก เป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่มาก ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสชนาด 64 x 64 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวารประจำทิศทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 ชั้น ขนาดเจดีย์บริวารจะมีขนาดใหญ่ไปหาเล็กลดหลั่นกัน

แผนผังลักษณะนี้เป็นแผนผังที่ได้รับอิทธิพลทั้งรูปแบบและแนวความคิดในเรื่องของมณฑลจักรวาล โดยมีเจดีย์ประธานเป็นเขาพระสุเมรุ หรือเป็นศูนย์กลางจักรวาล

ส่วนเจดีย์บริวารที่ล้อมรอบแต่ละชั้นอาจมีที่มาจากเขาสัตตบริภัณฑ์ คือ ภูเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ จำนวน 7 ชั้น ซึ่งพบอยู่ในศิลปะอินเดีย ทั้งที่เป็นศาสนฮินดูและมหายาน ตัวอย่างเช่น ศาสนสถานในอินเดียภาคใต้ หรือศาสนสถานมหายานในศิลปะชวาภาคกลาง เช่น บุโรพุทโธ

ด้านฐานชั้นที่ 2 เป็นลานประทักษิณร่องรอยหลุมเสา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหลังคาของระเบียงคดล้อมรอบเจดีย์ที่อยู่ตรงกลาง เจดีย์มีสภาพชำรุดมากจนไม่สามารถศึกษารูปแบบได้ โดยนักวิชาการเสนอรูปแบบสันนิษฐานขององค์เจดีย์ไว้ 3 ลักษณะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม สันนิษฐาน-รูปแบบคือ แบบที่ 1 เจดีย์ทรงระฆังเอวคอด (แบบทวารวดี) แบบที่ 2 เจดีย์ทรงระฆังแบบโอคว่ำ หรือแบบครึ่งวงกลม

ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี สันนิษฐานไว้ 2 แบบ คือ แบบที่ 2 เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบโอคว่ำ และแบบที่ 3 เจดีย์ทรงปราสาทหลัง

ในระยะหลังมีการปิดบันไดทางขึ้น 3 ด้าน เหลือเพียงทางขึ้นด้านทิศตะวันตกเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญทางด้านทิศตะวันตก อันเป็นทิศที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ที่อยู่ในแกนทิศเดียวกัน สัมพันธ์กับความเชื่อในแนวคิดของการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ประกอบด้วย

1.เขาคลังนอก 2.ปรางค์ฤๅษี 3.สระแก้ว 4.สระขวัญ 5.สระปรางค์ 6.ปรางค์สองพี่น้อง (Prang Song Phi Nong)

7.ปรางค์ศรีเทพ 8.เขาคลังใน 9.ประตูแสนงอน 10.เขาถมอรัตน์ 11.ถ้ำถมอรัตน์ 12.ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

⦁⦁⦁⦁⦁⦁⦁⦁⦁⦁

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญเข้าชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ‘เมืองโบราณศรีเทพ สู่มรดกโลก’
ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2566 ถึง 14 มกราคม 2567
เวลา 08.30-16.00 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 0-2224-1370, 0-2224-1402
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เลขที่ 4 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image