ถึงเวลาหันหน้าคุย ก่อนสิ้นปี ก่อนมี ‘นิรโทษกรรม (ฉบับ) ประชาชน’

ถึงเวลาหันหน้าคุย ก่อนสิ้นปี ก่อนมี ‘นิรโทษกรรม (ฉบับ) ประชาชน’
(จากซ้าย) พูนสุข พูนสุขเจริญ, รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล และณัฐชนน ไพโรจน์

ถึงเวลาหันหน้าคุย ก่อนสิ้นปี ก่อนมี ‘นิรโทษกรรม (ฉบับ) ประชาชน’

“การนิรโทษกรรมการปรองดองระหว่างประชาชนทั้งประเทศ เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดนี้ก็จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและมีเสถียรภาพ ซึ่งรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มี ส.ส. ฉะนั้นเรื่องการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ”

คือคำตอบของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อคำถามประเด็น ‘นิรโทษกรรม’ สลายสีเสื้อ บนเวทีเสวนา ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา

วันเดียวกับกับที่มีคำพิพากษา (อดีต) นักกิจกรรมหลายรายส่งท้ายปีเก่าในรัฐบาลใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมจากฝุ่นพิษ PM2.5 เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่อยู่ระหว่างการผลักดัน

Advertisement

23 ครั้ง คือตัวเลขของออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดย 11 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหาร

ปัจจุบัน สังคมไทยยังจับจ้องการเสนอร่างฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีหลากหลายฉบับจากฟากฝั่งการเมือง ประกอบจุดเหมือน-ต่างในรายละเอียดและจุดยืน ขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) แถลงข่าวเปิดตัว ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ล่าสุด ภาคประชาชนไม่รอช้า ตื่นตัวแอ๊กทีฟจับเข่าล้อมวงเสวนาอย่างเข้มข้น ร่วมเสนอความคิดเห็น บนสนามการเมืองอันดุเดือดในปีหน้าที่นับถอยหลังใกล้เข้ามาเร็ววันนี้ โดยกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หรือ ‘ไอลอว์’ จัดเสวนาหัวข้อ ‘Stand Together3 ก่อนวันสิ้นปี ก่อนวันมีนิรโทษกรรมประชาชน’ ร่วมวงพูดคุยสุดเข้มข้นโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือทนายเมย์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนไอลอว์ ณ อาคาร ALL Rise บ้านกลางเมืองรัชดา-ลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

Advertisement

‘เคลียร์คดี-นิรโทษ’ ก้าวแรก ‘อยู่ร่วมกัน’ ในวันที่เห็นต่าง

พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจุดประเด็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชนว่า ถึงเวลาแล้วที่แต่ละฝ่ายต้องหันหน้ามาคุยกัน สร้างสังคมที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย ซึ่งการ ‘นิรโทษกรรม’ ถือเป็นอันดับแรก

พูนสุข พูนสุขเจริญ

“ยังมีส่วนอื่นๆ ที่สังคมอื่นเขาทำกัน เพื่อสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ทั้งการค้นหาความจริง การเอาคนผิดมาลงโทษ การเยียวยา การเดินหน้าสร้างความจดจำ เป็นเรื่องที่เราจะทำในขั้นต่อไป

แต่นาทีนี้ความเร่งด่วน ความเร่งร้อนของคนที่ถูกดำเนินคดีเป็นพันคน คนที่อยู่ในเรือนจำแล้ว คนที่กำลังจะเดินหน้าเข้าเรือนจำ หรือแม้กระทั่งคนที่เลือกไม่อยู่แล้วในประเทศนี้ หนีออกนอกประเทศไป เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดการเคลียร์คดีอันนี้ก่อน แล้วก็เริ่มที่จะพูดคุยเพื่อสร้างสังคมที่คนจะอยู่ร่วมกัน”

เทียบชัดๆ ฉบับก้าวไกล เหมือน-ต่างอย่างไรกับ ‘ฉบับประชาชน’

ทนายเมย์ กล่าวต่อไปในรายละเอียดว่า การเสนอนิรโทษกรรมร่างฉบับประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยขณะนี้มี 2 ร่างเท่านั้นคือ ร่างของพรรคก้าวไกล และร่างฉบับของประชาชน

“เราพิจารณาแล้วว่าร่างของก้าวไกลใช้วิธีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าคดีไหนมีเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ไม่ได้ระบุฐานความผิดใดๆ ซึ่งประเด็นที่ภาคประชาชนเสนอว่ามีคดีบางประเภทที่สามารถระบุได้เลยว่าเป็นคดีทางการเมือง แล้วให้นิรโทษกรรมไปเลย เช่น คดีเกี่ยวกับประกาศคำสั่งของ คสช. คดีที่ขึ้นศาลทหาร คดี ม.112 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีประชามติ คดีเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้

เรากำหนดให้คดีเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรมไปเลย ส่วนประเภทคดีอื่นๆ ที่ต้องดูมูลเหตุจูงใจ ก็จะมีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาเหมือนกัน แต่ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการก็จะแตกต่างกันออกไป

ประชาชนอยากมั่นใจว่า 5-6 คดีดังกล่าว ซึ่งมันเกี่ยวกับการเมืองแท้ๆ ควรจะต้องได้รับการนิรโทษกรรมแน่ๆ ส่วนคดีอื่นให้คณะกรรมการพิจารณามูลเหตุจูงใจไปอีกที เราอยากมั่นใจว่าทุกคนจะได้เหมือนกัน แล้วเราก็คิดว่าร่างของประชาชนเป็นตุ๊กตา คือ เวลาร่างกฎหมายในหลักการเดียวกัน คณะกรรมการที่สภา หรือกรรมาธิการเขาก็จะเอามาพิจารณาร่วมกันอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้น สุดท้ายมันไม่ได้หมายความว่าร่างก้าวไกลผ่าน มันจะเป็นร่างของก้าวไกลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันคือการพูดคุยหรือต่อรองกัน และนี่คือตุ๊กตาของประชาชนที่เราต้องการแบบนี้ มันเป็นความต้องการของประชาชน และคนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงเวลานี้” ทนายเมย์กล่าว พร้อมย้ำว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้ร่วมกันผลักดันเรื่องอื่นนอกเหนือจากนิรโทษกรรม หรือคดีทางการเมือง โดยเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำร่วมกันในขั้นต่อไป เห็นด้วยในการมีพื้นที่ร่วมกัน ที่ใครจะมีจุดยืนอะไร ก็มาคุยกันในพื้นที่ปลอดภัย

‘นักการเมือง’ ได้ประโยชน์? ทำไมต้องนิรโทษ ‘เพราะเขาก็เป็นประชาชน’

ด้าน รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนไอลอว์ ตอบคำถามในประเด็นที่ว่าการนิรโทษกรรม รวมถึง ‘นักการเมือง’ ด้วยหรือไม่? โดยตอบว่า เหตุผลของการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เพราะเขาเป็นนักการเมือง แต่เพราะว่า ‘เขาก็เป็นประชาชน’ ผู้ออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แล้วถูกดำเนินคดีในฐานะประชาชน ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ดังนั้น สถานะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่การกระทำสมควรที่จะถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรกหรือไม่

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล

“การกระทำของเขาถูกดำเนินคดีโดยมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจรัฐบาลหรือไม่ ถ้าการกระทำของเขาเข้าข่ายนี้แล้วเราเห็นว่าใช่ เขาก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่ใช่เพราะเขาเป็นนัการเมือง เขาเป็นประชาชน ดังนั้น ผมคิดว่าข้อครหาเรื่องที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วทำให้กลุ่มนักการเมืองได้ประโยชน์อย่างนู้นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาคุยกัน มันไม่ใช้หลักที่มีเหตุมีผลมากพอที่ต้องเสียเวลาไปคุยด้วย

“ผมคิดว่ามันชัดเจนอยู่แล้วว่า เขาใช้สิทธิเสรีภาพในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นเขาเป็นนักการเมือง เป็นตัวแทนของประชาชนที่พูดในสิ่งที่ประชาชนอยากให้เขาพูด เขาพูดออกมาเขาถูกดำเนินคดี ถ้าเกิดมันเกิดขึ้นแบบนั้น สมมุติว่ามีนักการเมืองคนหนึ่งไปพูดแบบหนึ่งแล้วถูกดำเนินคดี โดนกล่าวหาว่าพูดในสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง หมายความว่าคนที่เลือกเขามา ไม่ถูกต้องด้วยหรือเปล่า การดำเนินคดีแบบนี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง” รัชพงษ์กล่าวหนักแน่น

นอกจากนี้ ยังย้ำในประเด็นที่ว่า ใครจะได้ประโยชน์ไม่ใช่เรื่องที่มีเหตุมีผลสักเท่าไรนัก เพราะไม่ว่าใคร สถานะใด ออกมาแสดงความคิดเห็นก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม หากเป็นคดีทางการเมือง

ส่วนการตั้ง ‘คณะกรรมธิการศึกษานิรโทษกรรม’ ตัวแทนไอลอว์มองว่า ประเทศนี้เสนออะไรมาเยอะแล้ว ไม่รู้จะศึกษาอะไรอีก แต่ถ้าอยากจะตั้งขึ้นมาศึกษาอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างศึกษาต้องมีเงื่อนไขคือ คดีต่างๆ ต้องหยุดไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ถูกขนานนามว่า ‘ถ่วงเวลา’

“คุณจะไปศึกษาอะไรก็ได้ ใช้เวลา 3 เดือนก็ได้ แต่ 3 เดือนนี้การพิจารณาคดีทุกอย่าง คดีเกี่ยวกับการเมืองทุกอย่างจะต้องหยุดไว้ก่อน ห้ามเดินหน้า ถ้าไม่อยากให้กรรมาธิการนี้ถูกเรียกว่าเป็นการถ่วงเวลา หรือแสดงความจริงใจออกมา อย่างน้อยผมคิดว่านี่ก็เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ”

4 ประเด็นต้องดู คดีไหนเข้าข่าย? ต่างอย่างไรกับ ‘สุดซอย’?

อีกประเด็นที่ถูกถามบ่อย จนเข้าข่ายการถกเถียง นั่นคือทำไมต้องนิรโทษกรรม ทำไมไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติ รัชพงษ์อธิบายว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ มันเป็นเรื่องของ ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’

อำนาจอธิปไตยเรามี 3 อันด้วยกัน เรามีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ตามหลักการสามอำนาจนี้ควรจะมีการตรวจสอบและถ่วงดุลกัน

ดังนั้น นอกจากเหตุผลด้านการสมานฉันท์ความขัดแย้งแล้ว นี่ก็เป็นเหตุผลทางการเมืองเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลภายในอำนาจอธิปไตยกันเองด้วย

แม้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีการเสนอกฎหมายนิรโทษหลายฉบับ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เรามีคดีทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 2 ครั้ง แล้วมีความขัดแย้งทางการเมืองที่ตามมา ผมขอชี้ประเด็นให้เห็นว่าการที่เราดูกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องดูประเด็นหลักอะไรบ้าง

หากเมื่อจะมีพรรคการเมืองในอนาคตเสนอร่างประกบขึ้นมา เราต้องดู 4 ประเด็น หนึ่งดูว่าเขาจะเริ่มเมื่อไหร่ จุดเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมมีเมื่อไหร่ ที่ผ่านมาหลายฉบับเห็นตรงกันว่า 19 กันยายน 2549 ก็คือวันที่ ‘รัฐประหาร 19 กันยา’ คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็รวมอยู่ในนิรโทษกรรมทั้งหมด อาจจะมีความแตกต่างเล็กน้อยกับพรรคก้าวไกล ถ้าผมจำไม่ผิดจะเริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพราะว่าเป็นหมุดหมายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ครั้งแรกเมื่อปี’49

ประเด็นที่สอง ต้องดูว่าคดีไหนบ้างที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม กฎหมายที่ใครก็น่าจะจำได้ เขาได้ชื่อว่า สุดซอย หรือ เหมาเข่ง ปี 2556 ซึ่งเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยในตอนนั้น เกือบจะผ่านได้ ทำไมเขาเรียกว่าสุดซอย คือ มันไปจนสุดซอย ไปหมด เอาหมดเลย ทุกคดีทุกรูปแบบที่เป็นคดีทางการเมืองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรืออะไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ารวมหมด ยกเว้น ม.112

แต่ของภาคประชาชนของเรา เรามีบางมาตราหรือกฎหมายบางฐานความผิด ที่เราบอกว่าต้องนิรโทษกรรมทันทีโดยอัตโนมัติ แต่วิธีการเขียนอีกแบบ เช่น ร่างของพรรคก้าวไกลจะเปิดกว้างไว้ก่อน ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรบ้าง มีความผิดฐานไหนบ้าง แต่ถ้ามีฐานความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็ใช้กลไกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าอะไรบ้างที่เข้าข่ายคดีนี้” รัชพงษ์กล่าว

จากนั้นไปต่อยังประเด็นที่ 3 ต้องดูร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านมาว่าไม่รวมอะไรบ้าง ซึ่งจะมีการระบุชัดเจนเลยว่าคดีแบบนี้ไม่รวม เช่น ฉบับสุดซอยปี 2556 ไม่รวม ม.112 และของพรรคก้าวไกล รวมถึงของภาคประชาชน คือ ไม่รวม ม.113 พูดง่ายๆ ว่าคือมาตราที่ล้มล้างการปกครอง ยึดอำนาจบริหารนิติบัญญัติ ตุลาการ หรือเรียกอย่างง่ายว่าผู้ ‘ทำรัฐประหาร’ จะไม่รวมอยู่ในนี้ด้วย

“ส่วนประเด็นที่ 4 เราต้องดูว่าเขารวมเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหรือเปล่า ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา เรามีกฎหมายนิรโทษกรรมประมาณ 23 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น บางฉบับอาจจะรวมประชาชนเข้ามาด้วย แต่เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติหรือสั่งการรวมทั้งหมด ถ้าคุณทำรัฐประหารก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย

ร่างบางฉบับก็บอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม เราจะไม่รวม อันนี้เป็น 4 ประเด็นหลัก คือ เริ่มเมื่อไหร่ รวมคดีอะไรบ้าง ไม่รวมอะไรบ้าง และนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหรือไม่” ตัวแทนไอลอว์กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า

อนาคตถ้ามีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ก็อยากให้ดูตรงนี้ไว้ แล้วเทียบในใจว่ากฎหมายแบบนี้ใครได้ประโยชน์ กฎหมายแบบนี้อยู่บนฐานความคิดแบบใด

ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image