จวบลมหายใจสุดท้าย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ‘ในแจ๊กเก็ตมติชน’

จวบลมหายใจสุดท้าย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ‘ในแจ๊กเก็ตมติชน’
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ อาจารย์ปั๋ง รองประธานมติชน อดีตบรรณาธิการ นสพ.มติชนรายวัน และมติชนสุดสัปดาห์ (7 กุมภาพันธ์ 2486-2 มกราคม 2567)

จวบลมหายใจสุดท้าย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ‘ในแจ๊กเก็ตมติชน’

‘คนมติชน’

คำนามที่ยังไม่มีนิยามความหมายในพจนานุกรมเล่มใด

ศัพท์บัญญัติอย่างไม่เป็นทางการที่มาตรวัดดูเหมือนมาจากจิตวิญญาณและความรู้สึก

Advertisement

ชายอาวุโสผิวขาวในเสื้อแจ๊กเก็ตปักภาพที่หน้าอก สื่อความหมายถึงเครือมติชน ไม่ว่าจะโลโก้กรอบวงรีที่คุ้นตาจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวัน, รูปหมาเฝ้าบ้าน รหัสเชิงสัญญะของ ‘ข่าวสด’ กับใบหน้าที่มีรอยยิ้มแทบทุกอิริยาบถ

คือภาพจำทางกายภาพของผู้คนที่มีต่อ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ผู้ขีดเขียนเส้นทางชีวิตของตนเองตลอดห้วงเวลา 80 ปี อย่างไม่อาจแยกจากความเป็น ‘มติชน’

จากวัยรุ่นบางขุนเทียน ก๊วนเดียวกับ ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครรู้ตัวว่าในอนาคตข้างหน้าที่รออยู่ไม่ไกล จะเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ไทยในฐานะ ‘สื่อหลัก’ ของประเทศที่เริ่มต้นจากสำนักงานในตึกแถวเล็กๆ ย่านเฟื่องนคร สู่อาคาร 9 ชั้น ย่านประชาชื่น

Advertisement

จากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ปรากฏบนแผงครั้งแรกในเช้าตรู่ของจันทร์ที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2521 จนถึงวันที่สังคมเห็นพ้องให้ค่ายกเป็น ‘สถาบัน’

ทั้งหมด มีบุคคลชื่อ เรืองชัย-พี่ปั๋ง-อาจารย์ปั๋ง เป็นประจักษ์พยานในทุกเหตุการณ์ ทั้งห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ ทั้งสถานการณ์แห่งความท้าทาย

แม้วันที่ร่างกายอ่อนแรง ยังนั่งรถเข็นร่วมงานวันเกิดมติชนสู่ปีที่ 46 เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2566

ก่อนสุขภาพทรุดลงตามลำดับ กระทั่งจากไปด้วยโรคมะเร็งตับในวันอังคารที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพฯ

สั่งเสียขอสวมเสื้อแจ๊กเก็ต ‘มติชน’ เมื่อสิ้นลมหายใจ

มีกำหนดการพระราชทานเพลิง 10 มกราคมนี้ หลังงานวันเกิด ก้าวสู่ปีที่ 47 ของหนังสือพิมพ์มติชน 9 มกราคม 2567 เพียง 1 วัน

อาจารย์ปั๋ง ซ้ายสุดของภาพ ครั้งสมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศฯ กดปุ่มเปิดแท่นพิมพ์มติชน

ก่อนจะเป็นนักข่าว ‘ทุกเช้าผมขอหนังสือพิมพ์จากแม่ฉบับหนึ่ง’

เรืองชัย เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 มีศักดิ์เป็นหลานน้าของ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เจ้าของนามปากกา ‘หลวงเมือง’ จึงคลุกคลีกับวงวรรณกรรมตั้งแต่วัยเยาว์

เริ่มทำหนังสือตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เขียนเรื่องสั้นตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ อาทิ ช่อฟ้า, ชาวกรุง, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ทำให้เป็นที่รู้จัก คือ ‘นิทานงานศพ’ ซึ่งเขียนขึ้นหลังบิดาเสียชีวิต

ต่อมายังเขียนเรื่องสั้นชุด ‘ไอ้เณร’ หลังมีประสบการณ์เป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี

เหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ อาจารย์ปั๋ง เคยเขียนเล่าไว้ด้วยตนเองในคอลัมน์ ‘วางบิล’ มติชนสุดสัปดาห์

‘ไอ้เณร’ ผลงานจากประสบการณ์ครั้งเป็นทหารเกณฑ์เมื่อ พ.ศ.2509 และลายมือ ‘ขอบคุณที่อ่าน’ พร้อมลายเซ็น ตัวเล่มเคยอยู่ในห้องสมุดสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

ความตอนหนึ่งว่า

‘ระหว่างที่เรียนในชั้นมัธยม 4 ขณะนั้นแม่มีแผงขายหนังสือพิมพ์หน้าตึกแถวที่ผมอาศัย ทุกเช้าผมจึงขอหนังสือพิมพ์จากแม่ฉบับหนึ่ง คือหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย น่าจะฉบับละ 1 บาท ไปโรงเรียนเพื่อให้เพื่อนร่วมห้องได้อ่านข่าวที่เกิดขึ้น

หนังสือและหนังสือพิมพ์เป็นสินค้าชนิดเดียวกระมังที่ส่งคืนได้ ผมจึงนำไปโรงเรียนได้ อ่านเสร็จ ตกเย็นนำกลับมาคืน แม้จะยับยู่ยี่บ้างไม่เป็นไร ทำได้สักพัก ไม่ทราบว่ามีเหตุใด จึงเลิกนำไปให้เพื่อนในห้องอ่าน

ผมมีโอกาสได้จัดทำหนังสือขนาด 16 หน้ายก เป็นหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขายในโรงเรียนและนำไปขายในโรงเรียนข้างเคียง มีอาจารย์ประจวบกาญจน์ เมธางกูร ครูสอนวิทยาศาสตร์และควบคุมห้องแล็บวิทยาศาสตร์แนะนำและสนับสนุน ขายได้ไม่ถึงกับขาดทุน แต่ผมได้กำไรเพราะมีโอกาสเข้าโรงพิมพ์และเรียนรู้เรื่องการพิมพ์กับการขายหนังสือ

เราสามคน ผม ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ สนุกกับการอ่าน การเขียน และการทำหนังสือ ขรรค์ชัยกับสุจิตต์ชอบเขียนกลอน ขรรค์ชัยขณะนั้นเขียนกลอนลงนิตยสารได้ค่าต้นฉบับมาแล้ว’

ต่อมา ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อ พ.ศ.2521 เป็นคอลัมนิสต์วิพากษ์สังคมการเมือง ทั้งในหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ เขียนคอลัมน์ ‘วางบิล’ และ ‘โลกสองวัย’ เป็นเจ้าของนามปากกาหลากหลาย อาทิ ทองทา เรืองอุไร และ บางกอกเกี้ยน

‘อุดมคติแย้ง’ รวมเรื่องสั้นพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2522 และ ‘พ่อบ้านเลี้ยงลูก’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2536

ในช่วงบั้นปลาย ได้รับรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ เมื่อ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโสผู้สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และผลงานเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวาง

ความในใจ ‘ขรรค์ชัย’ ถึง ‘พี่ปั๋ง’

สดมภ์หลักร่วมสร้างมติชน ‘เราล้มลุกคลุกคลานด้วยกันมา’

ขรรค์ชัย บุนปาน หนึ่งในมิตรแท้ตั้งแต่นุ่งขาสั้น กระทั่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดใจในวันที่ได้รู้ข่าวการจากไปของ ‘พี่ปั๋ง’ ว่า ถือเป็นหนึ่งใน ‘สดมภ์หลัก’ หรือเสาหลักของเครือมติชน เป็นพี่ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี และเป็นที่รักของชาวมติชน อีกทั้งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน โดยนอกจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีความโดดเด่นในการเขียนเรื่องสั้น

“รู้จักกันตั้งแต่เรียนวัดนวลนรดิศ เราจบราชโอรสมาเข้า ม.7 ส่วนสุจิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม) จบ ม.6 จากมกุฏกษัตริย์ มาเข้า ม.7 พี่ปั๋งเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพอย่างยิ่ง จิตใจดีอย่างแท้จริง ไม่ทิ้งเพื่อน เคยล้มลุกคลุกคลานด้วยกันมา” ขรรค์ชัยเล่า

‘สุจิตต์’ ย้อนความทรงจำ

‘อ.ปั๋ง’ ชี้เป้าเข้าวงวรรณกรรม แนะนำ ‘เรื่องนู้นเรื่องนี้’ ทุกมิติชีวิต

ขณะที่อีกหนึ่งสมาชิกก๊วน (อดีต) วัยรุ่นฝั่งธน อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เปิดหน้ากระดาษแห่งความทรงจำถึง ‘อาจารย์ปั๋ง’ ว่าเป็นผู้ให้ความรู้ด้านวงการหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ แนะนำเรื่องต่างๆ ให้อ่าน ก่อนหน้านั้นไม่ใช่คนอ่านหนังสือ เมื่อได้รู้จัก ‘2 ชัย’ คือ เรืองชัย และ ขรรค์ชัย จึงซึมซาบมา

นอกจากนี้ ยังชักชวนตนร่วมทำนิตยสารช่อฟ้า ของวัดมหาธาตุ ตามที่นายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ซึ่งเป็นน้าชายแจ้งให้มาทาบทาม จึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทต่อเส้นทางชีวิตในฐานะคนทำหนังสือ ส่วนในมุมของความเป็นเพื่อนพี่น้อง คือ ดื่มสุรา เมามายมาด้วยกัน ทั้งยังแนะนำ ‘เรื่องนู้นเรื่องนี้’ มากมายด้วยจิตใจปรารถนาดี

“อาจารย์ปั๋งเป็นคนให้ความรู้เรื่องวงการหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่วัดนวลนรดิศ แนะนำให้อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย เขาเป็นคนชักนำให้ไปทำนิตยสารช่อฟ้า ของวัดมหาธาตุ ซึ่งตอนนั้นน้าราญ (สำราญ ทรัพย์นิรันดร์-หลวงเมือง) เป็นบรรณาธิการ” สุจิตต์ย้อนความทรงจำ

สมรส มิถุนายน 2522 สร้างครอบครัวทรัพย์นิรันดร์ เมื่อ ‘พ่อปั๋ง’ ยังหนุ่มแน่น

แจ๊กเก็ตที่ใส่ทุกวัน ‘พ่อรักมติชนมาก’ ตราบวาระสุดท้าย

“พ่อรักมติชนมาก เขาใส่เเจ๊กเก็ตทุกวันเลย”

คือคำบอกเล่าที่ตรงกันของลูกชาย-ลูกสาวอันเป็นที่รัก เมฆ-ต้นฝน ทรัพย์นิรันดร์ และ คิส-อริยา จรูญธิตากุล เมื่อสอบถามถึงคำสั่งเสียที่ว่า ขอให้สวมเเจ๊กเก็ตมติชนเมื่อจากไป

ก่อนเผยถึงบทสนทนาในช่วงท้ายๆ ที่ล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘วงการสื่อ’

“วันท้ายๆ คิส ถามว่า พ่อเป็นนักข่าวอาวุโส มีอะไรจะคุยกับนักข่าวรุ่นใหม่ไหม เขาก็บอกว่า นักข่าวรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง พูดเรื่องการเมืองให้ฟัง พ่อสนับสนุนทุกเป้าหมายของลูก สอนให้เคารพความคิดเห็นผู้อื่น ไม่เคยห้ามว่าจะคิดอะไร ชอบอะไร แต่ถ้าเกินขอบเขตก็จะมีวิธีสอน

พ่อให้ดูข่าวทุกวัน อ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราโตมาด้วยการยอมรับคนอื่น เข้าสังคมได้ง่าย ที่สำคัญคือรักครอบครัวมาก รักคุณแม่ (นันทา ทรัพย์นิรันดร์) มาก ดูแลซึ่งกันและกัน บอกรักกัน ให้กำลังใจกัน” คิส อริยา บุตรสาว เล่าทั้งน้ำตาในบางจังหวะที่สุดกลั้น

วันรดน้ำและสวดพระอภิธรรมคืนแรก 3 มกราคม 2567 ณ ศาลา 4 วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ย่านบ้านเกิดและบวชเรียน (จากซ้าย) ศิริน บุญเสนอ (สะใภ้), อริยา จรูญธิตากุล บุตรสาว, นันทา ทรัพย์นิรันดร์ ภรรยา และต้นฝน ทรัพย์นิรันดร์ บุตรชาย

เมฆ-ต้นฝน ที่ดำเนินรอยตาม ‘พ่อปั๋ง’ ด้วยความชอบ ‘ศิลปะ’ การสื่อสาร ด้วยหน้าที่การงานในตำแหน่งอาจารย์วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันการศึกษาที่คุณพ่อเป็นศิษย์เก่าตั้งแต่ครั้งยังเป็นวิทยาลัยครู

“ผมมาแนวภาพยนตร์ แนวสถาปัตยกรรม แต่ชอบงานศิลปะเหมือนๆ กัน คุณพ่อเป็นคนใจดี ดูแลคนในครอบครัว สอนให้อยู่ในลู่ในทางเสมอ สอนให้ใช้ชีวิตที่ดี สอนให้คิดวิเคราะห์เป็น และให้อิสระในการเดินตามทางของตัวเอง ไม่เคยกำกับ ถ้าเลือกแล้วก็เดินไปอย่างเข้มแข็ง อย่าหลงในสิ่งเร้า ให้รู้จุดยืนของเราเองให้ได้”

นี่คือส่วนหนึ่งในเรื่องราวชีวิตในห้วง 8 ทศวรรษของ พี่ปั๋ง อาจารย์ปั๋ง และพ่อปั๋ง ไม่ว่าในฐานะหรือสรรพนามใด เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เคยถักทอไว้ซึ่งความทรงจำที่งดงาม เคยเป็นส่วนสำคัญในการจรรโลงประกอบสร้างซึ่งวงการสื่อสารมวลชนไทยภายใต้เสื้อแจ๊กเก็ตปักตัวอักษรบนหน้าอกข้างซ้ายด้วยคำว่า ‘มติชน’

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร / ชญานินทร์ ภูษาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image