‘ปี่กลองชนะ’ เชิญน้ำหลวงอาบศพ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

‘ปี่กลองชนะ’เชิญน้ำหลวงอาบศพเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ปี่กลองชนะประโคมในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ศาลา 4 วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เย็นวันพุธที่ 3 มกราคม 2567

ปี่กลองชนะประโคมในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ศาลา 4 วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เย็นวันพุธที่ 3 มกราคม 2567

ปี่กลองชนะประโคมก้องฌาปนสถานวัดโสมนัส กรุงเทพฯ เมื่อเชิญน้ำหลวงอาบศพ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ตอนเย็น วันพุธที่ 3 มกราคม 2567

Advertisement

“ปี่กลองชนะ” มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมากจากประเพณีเป่าปี่ตีกลอง ซึ่งเป็นเครื่องประโคมในพิธีกรรมของราชสำนักโบราณ ตั้งแต่ก่อนอโยธยา-อยุธยา เช่น ทวารวดี ฯลฯ ครั้นถึงราชสำนักอโยธยา-อยุธยา เรียกเป็นภาษาไทยว่าปี่ไฉนกลองชนะ หรือปี่ชวากลองแขก จากนั้นเป็นมรดกตกทอดถึงกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

เครื่องประโคมเหล่านี้มีต้นแบบจากเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย

อินเดียเป็นต้นแบบ

Advertisement

อินเดีย เครื่องประโคมในพิธีกรรม เรียก ปัญจตุริยะ หรือ ปัญจวาทยะ มีความหมายเดียวกันว่าเครื่องตีเป่า 5 อย่าง ประกอบด้วยเครื่องตี 4 อย่าง กับเครื่องเป่า 1 อย่าง

เครื่องตี 4 อย่าง หมายถึง กลองต่างชนิด 4 ใบ ประกอบด้วยกลองตีด้วยมือ 3 ใบ และใช้ไม้ตี 1 ใบ (สมัยหลังๆ ถูกปรับเปลี่ยนตามความนิยมท้องถิ่น)

เครื่องเป่า 1 อย่าง ปี่สฺรไน ได้จากวัฒนธรรมเปอร์เซีย (อิหร่าน)

ลังกา รับจากอินเดียในเรื่องเครื่องประโคมตีเป่า 5 อย่าง แล้วเรียกด้วยคําบาลีว่า มังคลเภรี กับ อวมังคลเภรี

งานมงคล เรียก มังคลเภรี ใช้ประโคมเมื่อพระราชาเสด็จ และใช้ประโคมยามในวิหารพระเขี้ยวแก้ว ส่วนงานอวมงคล เรียก อวมังคลเภรี ใช้ประโคมงานศพ

อุษาคเนย์รับอินเดีย

ราชสํานักของภูมิภาคอุษาคเนย์รับวัฒนธรรมอินเดีย ตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000 ต่างรับเครื่องมือและแบบแผนตีเป่าจากอินเดียแล้วปรับใช้ตามประเพณีของตนโดยจําแนกกว้างเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มภาคพื้นทวีป มีอาณาจักรเมืองพระนคร (กัมพูชา) เป็นแกนหลัก กับ กลุ่มหมู่เกาะ มีอาณาจักรชวา (อินโดนีเซีย) เป็นแกนหลัก

รัฐอโยธยา-อยุธยามีต้นตอรากเหง้าเก่าแก่จากรัฐโบราณดั้งเดิมในวัฒนธรรมทวารวดีได้แก่ รัฐละโว้ (ลพบุรี) กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

ดังนั้น เครื่องมือและแบบแผนเครื่องประโคมเป่าปี่ตีกลองรับจากราชสํานักดั้งเดิมก่อนมีรัฐอโยธยา-อยุธยา เมื่อรับมาแล้วเรียก เบญจดุริยางค์ (ตามต้นแบบจากอินเดีย) ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนทั้งจากรัฐกลุ่มภาคพื้นทวีปแล้วเรียก ปี่ไฉนกลองชนะ และรัฐกลุ่มหมู่เกาะแล้วเรียก ปี่ชวากลองแขก

1.ปี่ไฉนกลองชนะ (มโหระทึก)

ปี่ไฉนกลองชนะ จากรัฐกลุ่มภาคพื้นทวีป ใช้ประโคมเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเข้า-เสด็จออก และงานเกียรติยศ เช่น ขบวนแห่พระบรมศพ, งานศพเจ้านาย เป็นต้น เอกสารโบราณ เช่น กฎมณเฑียรบาล เรียกมโหระทึก

“มโหระทึก” ชื่อที่พบในกฎมณเฑียรบาล (สมัยอยุธยาตอนต้น) คือกลองขึงหนังจากอินเดีย เป็นเครื่องประโคมเป่าสังข์และเป่าปี่ตีกลองในพิธีกรรมราชสํานัก (ส่วน “มโหระทึก” ที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักวิชาการไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มโบราณคดี มีความหมายเพิ่งสร้างใหม่ว่ากลองสําริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์)

มโหระทึกในกฎมณเฑียรบาลเป็นกลองอินเดียแบบหนึ่ง ถูกนําเข้าสู่ราชสํานักก่อนสมัยอยุธยาจากทมิฬอินเดียใต้ เพื่อประโคมเป่าสังข์ตีกลองในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังจากนั้นผสมกับเครื่องประโคมพื้นเมืองอุษาคเนย์ เช่น ฆ้อง ฯลฯ แล้วถูกยกเป็นเครื่องประโคมในราชสํานักรัฐโบราณก่อนสมัยอยุธยา กระทั่งสืบเนื่องถึงราชสํานักอยุธยา

ประโคมเครื่อง 5 พิธีพราหมณ์ในอินเดียต้องบรรเลงประโคมเครื่อง 5 นําโดยพราหมณ์เป่าสังข์ แล้วตามด้วยพราหมณ์ตีกลองพร้อมกัน 4 ใบ เรียก “ปัญจวาทยะ” แต่บางแห่งเรียก “ปัญจตุริยะ” ในบรรดากลองเหล่านั้นมีใบหนึ่งเมื่อตีด้วยไม้จะมีเสียงดังมากกว่ากลองใบอื่น ภาษาทมิฬเรียกกลองแบบนี้ว่า “อึฎึกกิ” (Udukki หรือบางเมืองเรียก Idakka) เป็นกลองสองหน้า ขึงหนังรอบตัวมีเอวคอด บรรเลงโดยใช้ไม้ตีหรือใช้มือตีก็ได้

ครั้นอยู่ในราชสํานักอยุธยานานไป (ชวนให้เดาว่า) ก็หล่อหลอม คําทมิฬ “อึฎึกกิ” กลายคําเป็น “อึกทึก” แล้วมีความหมายเพิ่มขึ้นในภาษาไทยว่ากึกก้องอื้ออึงโครมคราม ครั้นนานไปเพื่อยกย่องความสําคัญยิ่งใหญ่ของเสียงจึงเพิ่ม “มหา” เข้าไปให้อลังการเรียก “มหาอึกทึก” แล้วแผลงคําเป็น “มโหระทึก” (ตามแนวทางคําที่มีอยู่ก่อนคือ มโหรสพ หรือ มหรสพ)

“ปัญจวาทยะ” หรือ “ปัญจตุริยะ” ในอินเดีย หมายถึงเครื่องประโคมรวม 5 สิ่ง ได้แก่ ปี่กับกลองต่างชนิด 4 ใบ (รวมเป็น 5) ส่วนลังการับจากอินเดียที่แพร่กระจายลงไปแล้วเรียก “มังคลเภรี” (มัง-คะ-ละ-เพ-รี)

ไทยรับทั้งจากอินเดียและลังกาในช่วงเวลาต่างกัน สมัยแรกสุด รับจากอินเดีย มีชื่อในจารึกไทยว่า “เบญจดุริยางค์” เป็นต้นตอเครื่องประโคมปี่กลองขบวนเสด็จสมัยอยุธยาทั้งสถลมารคและชลมารค รวมถึงยกทัพ (พบตามภาพสลักปราสาทในกัมพูชา เช่น นครวัด) แต่ภาษาปากเรียก “กลอง 4 ปี่ 1” ใช้ประโคมเล่นกระบี่กระบอง, ชกมวย และเผาศพ สมัยหลังรับจากลังกา เรียกวงมังคละ (ปัจจุบันยังพบบริเวณสุโขทัย, พิษณุโลก), วงกาหลอ (ปัจจุบันยังพบในท้องถิ่นภาคใต้)

พราหมณ์ตีกลองมโหระทึก “ขุนดนตรี ตีหรทึก” ข้อความในกฎมณเฑียรบาลหมายถึงเชื้อสายพราหมณ์ ราชทินนาม “ขุนดนตรี” เป็นผู้มีหน้าที่ใช้ไม้ตีมโหระทึก เป็นหลักฐานสําคัญมาก ยืนยันว่ามโหระทึกเป็นกลอง “อึฎึกกิ” ของอินเดียใต้ เพราะ คําว่า “ดนตรี” เกี่ยวข้องกับตระกูลพราหมณ์อยุธยาที่สืบสายจากพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้

พราหมณ์ราชสํานักอยุธยาเจตนาให้พราหมณ์ตีมโหระทึกซึ่งเป็นกลอง “อึฎึกกิ” มีราชทินนาม “ขุนดนตรี” สืบเนื่องจากประเพณีพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้ในระบอบตันตระที่ยกย่องดนตรี

[คําอธิบายละเอียดอยู่ในบทความเรื่อง “ความลี้ลับของเกระละ ภาคที่ 2” ของ ไมเคิล ไรท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 18 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2540) หน้า 52-55 และมีรวมอยู่ในหนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง) สํานักพิมพ์มติชน พ.ศ.2551 หน้า 41-42]

“ดนตรี” สมัยอยุธยา มีอย่างน้อย 2 ความหมาย ได้แก่

1.หมายถึงนักดนตรี, นักร้อง (จากภาษาสันสกฤตว่า ตนฺตรินฺ)ความหมายนี้มีสืบเนื่องถึงปัจจุบันโดยขยายขอบเขตรวมถึงทํานองเพลงดนตรีด้วย

2.หมายถึงเครื่องมีสาย (จากภาษาบาลีว่า ตนฺติ มีคําอธิบายอยู่ในหนังสือดนตรีใน พระธรรมวินัย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2498 หน้า 13-16) พบหลักฐานบอกเป็นลายลักษณ์อักษรเรียกเครื่องมีสายบรรเลงมีเสียงเบา ได้แก่ พิณ, ซอ ฯลฯ ใช้เห่กล่อมในที่รโหฐานว่า “ดนตรี” อยู่ในอนิรุทธคําฉันท์ (สมัยอยุธยาตอนต้น) กับร่องรอยหลายแห่งในกฎมณเฑียรบาล เช่น พระราชนุกิจว่า “6 ทุ่มเบิกเสภาดนตรี” และนอกจากนั้นยังพบในภาพปูนปั้น (สมัยทวารวดี) กับภาพแกะสลักไม้ (สมัยอยุธยา) รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ (ในวังหน้า สมัย ร.1
กรุงรัตนโกสินทร์)

“มโหระทึก” ในพิธีพราหมณ์ พิธีพราหมณ์ในราชสํานักสมัยอยุธยาตอนต้นมีเครื่องประโคมบรรเลงโดยพระครูพราหมณ์ (หรือมิฉะนั้นก็ขุนนางในตระกูลพราหมณ์) พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่าพระราชพิธีดุลาภารมีคณะพราหมณ์พิธีทําหน้าที่ประโคมบรรเลงสังข์ ฆ้อง, กลอง ดังนี้ (1.) ขุนศรีสังขกร เป่าสังข์ (2.) พระอินทโร ตีอินทเภรี (3.) พระนนทิเกษ ตีฆ้องชัย (4.) ขุนดนตรี ตีมโหระทึก

สังข์ เป่าโดยขุนศรีสังขกร นามนี้เป็นตําแหน่งอธิบดีโหรดาจารย์ (ศักดินา 300) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พราหมณ์พิธี

ฆ้อง ตีโดยพระนนทิเกษ เรียก “ฆ้องชัย”

ฆ้องชัย คือ ฆ้องที่มีลายรูปขวัญเป็นแฉกอยู่ล้อมปุ่มกลางบนหน้าฆ้อง สืบเนื่องตกทอดจากหน้ากลองสําริดหรือกลองกบของอุษาคเนย์ 2,500 ปีมาแล้ว ไม่เป็นเครื่องดนตรีอินเดีย แต่ได้รับยกย่องเป็นของ “เฮี้ยน” จึงถูกผนวกเข้าไปอยู่ในพิธีพราหมณ์สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะฆ้องใช้ไม้ตีมีเสียงดังไกล ยิ่งฆ้องขนาดใหญ่ เสียงยิ่งดังก้องกังวานไกลมาก (เรียกฆ้องหุ่ย) ดังนั้นฆ้องจึงมีบทบาทหน้าที่สําคัญในรัฐใหญ่ (ส่วนกลองสําริดถูกเลิกใช้ เพราะใช้ไม้ตีมีเสียงดังไม่ก้องและไม่ไกล)

กลอง มี 2 ใบ ได้แก่ กลองอินทเภรี ตีโดยพระอินทโร กับ กลองมโหระทึก ตีโดยขุนดนตรี (อินเดียได้รับการกล่าวขวัญยกย่องจากทั่วโลกว่า “ราชาแห่งเครื่องหนัง” (หมายถึงกลอง) จึงมีกลองหลากหลายรูปแบบและตีสองมือด้วยลีลาพลิกแพลงโลดโผน)

“อินทเภรี” เป็นชื่อท้องถิ่นตั้งขึ้นตามประเพณีราชสํานักอยุธยา ส่วน “มโหระทึก” เป็นชื่อกลายคําจากภาษาทมิฬว่า “อึฎึกกิ”

“อินทเภรี” แปลว่า กลองพระอินทร์ เป็นชื่อตามประเพณีดั้งเดิมที่ยกย่องเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์เป็นของพระอินทร์ แต่ในที่นี้เชื่อว่าน่าจะหมายถึงกลองอินเดีย (แบบหนึ่ง) มีสองหน้า ใช้มือตีมีสายคล้องคอเดินไปตีไป (มีภาพลายเส้นในหนังสือลา ลูแบร์) ต่อมาถูกเชิญเป็น “ครูใหญ่” เรียก “ตะโพน” แล้วทําขาตั้งและนั่งตีในวงปี่พาทย์ ได้รับยกย่องเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ก่อนบรรเลงต้องจุดธูปบูชาพร้อมดอกไม้

2.ปี่ชวากลองแขก

ปี่ชวากลองแขก จากรัฐกลุ่มหมู่เกาะ ใช้ประโคมในขบวนเสด็จพยุหยาตราทั้งทางบกและทางน้ำ แต่ที่มีประจําคือทางน้ำ เพราะอยุธยาเป็นเมืองน้ำ มีเส้นทางหลักในการคมนาคมเป็นแม่น้ำลําคลอง

เครื่องประโคมเป่าปี่ตีกลอง ล้วนมีต้นแบบจากปัญจตุริยะของอินเดีย เมื่ออยู่ในรัฐอยุธยาเรียกปัญจดุริยางค์ หรือเบญจดุริยางค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์อธิบายว่า “อันเครื่องประโคมทั้งหลายไม่ว่าสิ่งไร เห็นจะมาแต่ ‘ปัญจดุริยางค์’ ทั้งสิ้น คือมีเสียงเป็น 5 อย่าง เสียงกลองใหญ่ กลาง เล็ก กับเสียงเครื่องลม เครื่องทองเหลืองจะเป็นเครื่องมากอย่างหรือน้อยอย่างก็มีเท่านี้เอง” [ลายพระหัตถ์ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2483]

วงบัวลอย มาจากปี่ชวากลองแขกต่อมาปรับจากปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 4 ลูก (หรือ กลอง 4 ปี่ 1) ให้ลดเหลือกลองคู่เดียว (มี 2 ลูก) ปี่ชวา 1 ฆ้องเหม่ง 1 เรียก วงบัวลอย ใช้ประโคมทั้งงานศพกับงานมหรสพที่ท้องสนามหลวง (กรุงรัตนโกสินทร์) เช่น ไต่ลวด,

ลอดบ่วง, นอนหอกนอนดาบ [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่16 กรกฎาคม 2483]

ปี่พาทย์นางหงส์ ขุนนางทําเลียนแบบเจ้านาย มาจากวงบัวลอย ต่อมาก็ประสมกลมกลืนกลายเข้ากับวงปี่พาทย์พิธี เพื่อใช้ประโคมเพลงนางหงส์งานศพคนชั้นสูงในราชสํานักเรียก ปี่พาทย์นางหงส์ [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ครั้นสังคมก้าวหน้าขึ้น และพิธีกรรมโบราณคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงเรื่อยๆ บรรดาขุนนางระดับสูงๆ ตลอดจนเจ้าสัวมีทรัพย์ ต่างพากันเลียนแบบเจ้านายยุคก่อนๆ ทํางานศพโดยมี ปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงงานศพหม่อมเฉื่อย (ชายาใหญ่ของกรมดํารงฯ) ว่า “เมื่อครั้งงานศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน เจ้าพระยาเทเวศร์ท่านจัดปี่พาทย์นางหงส์อย่างประณีต ไปช่วยที่สุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร์…” [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

เป็นพยานว่าเครื่องประโคมอย่างปี่พาทย์นางหงส์ สมัย ร.5 (และหลังจากนั้น) เป็นสมบัติของขุนนางชั้นสูงอย่างเจ้าพระยาเทเวศร์ (โดยมีสามัญชนบ่าวไพร่เป็นนักดนตรี แต่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องดนตรีปี่พาทย์นางหงส์)

ชาวบ้านเลียนแบบขุนนาง ปี่พาทย์นางหงส์ กับ วงบัวลอย นานเข้าก็แพร่ลงถึงงานศพสามัญชนชาวบ้านในกรุงเทพฯ ที่เป็นเครือญาติเครือข่ายข้าเก่าเต่าเลี้ยง หรือเป็นพวกมีอาชีพรับจ้างทําปี่พาทย์ที่เคยอยู่มาก่อนกับเจ้านายขุนนาง ซึ่งต้องถือเป็นงานพิเศษ ไม่มีทําทั่วไปเพราะพ้นออกไปจากกรุงเทพฯ ชาวบ้านไม่มีใครรู้จัก
ปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย

บ้านนอกไม่มีปี่พาทย์นางหงส์ ยิ่งบ้านนอกขอกนาออกไปไกลๆ ยิ่งไม่รู้จักปี่พาทย์นางหงส์

ครูพินิจ ฉายสุวรรณ (พ.ศ.2474-2560) ศิลปินแห่งชาติทางดนตรีปี่พาทย์ เกิดที่บ้านนา ต.บ้านนา อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เคยเขียนเล่าไว้ว่าบ้านนอกที่อยุธยา ไม่เคยได้ยินว่ามีปี่พาทย์นางหงส์ เพิ่งรู้จักเมื่อเข้ากรุงเทพฯ หลังสงครามโลก จะคัดมาดังนี้

“ในตอนที่ผู้เขียนมีอายุประมาณ 13-14 ปี ตอนนั้นพอที่จะรู้ถึงเรื่องปี่พาทย์และภาษา ปี่พาทย์บ้างแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังบรรดาครูทั้งหลายพูดถึงวงปี่พาทย์นางหงส์เลย”

“ผู้เขียนมาได้ยินชื่อ ‘วงปี่พาทย์นางหงส์’ ก็ตอนที่เข้ามาเรียนปี่พาทย์อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วนี่เอง แต่ก็ยังไม่รู้จักวงปี่พาทย์นางหงส์ว่าวงปี่พาทย์นางหงส์คืออะไร”

[ข้อเขียนเรื่อง “ปี่พาทย์นางหงส์” โดย พินิจ ฉายสุวรรณ ใน วารสารเพลงดนตรี ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 9 ฉบับที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ.2546]

ตามหลักฐานที่แสดงมาแต่แรก จะเห็นว่าตรงข้ามกับคำอธิบายของกรมศิลปากรว่าปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย เป็นประเพณีบรรเลงงานศพสามัญชนมาก่อน (จากบทความเรื่อง “แบบแผนการประโคมดนตรีในราชสํานัก และในงานพระบรมศพและพระศพ” พิมพ์ในเอกสารประกอบการเสวนา การมหรสพ และแบบแผนในการประโคมดนตรีในงานพระเมรุ ณ ห้องประชุมอาคารดํารงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2560 หน้า 21)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image