ถกได้ เถียงได้ ถามได้ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ประกาศนาม ‘อโยธยา’ เขย่าสารตั้งต้น ‘สุโขทัย (ไม่ใช่) ราชธานีแห่งแรก’

ถกได้ เถียงได้ ถามได้ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ประกาศนาม ‘อโยธยา’ เขย่าสารตั้งต้น ‘สุโขทัย (ไม่ใช่) ราชธานีแห่งแรก’

ฮอตมากระดับฉุดยาก

สำหรับ ‘อโยธยาเก่ากว่าสุโขทัย’ ผลงาน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

โกยหลักฐานกางชัดๆ ณ บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ J47 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 เมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ใน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ที่ยิงยาวไปจนถึง 8 เมษายนนี้

Advertisement

หลังแจกลายเซ็นจุกๆ ในช่วงบ่าย นักวิชาการชื่อดัง นั่งเก้าอี้ที่รายล้อมด้วยแฟนๆ คอประวัติศาสตร์ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประเด็นหลากหลาย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นท่ามกลางมายาคติ ที่ปฏิเสธเรื่อง ‘อโยธยา’ และไม่พร้อมเปิดใจ ฉะนั้น นักวิชาการสายประวัติศาสตร์คิดว่าต้องมี แต่สายโบราณคดีอาจจะมีความอคติ คิดว่ามันไม่มี

“ปัญหาใหญ่ของบ้านเรา เป็นสายที่ไม่กล้าเถียงอาจารย์ เถียงอาจารย์โดนด่าไหม สอบตกด้วย ฉะนั้น ถ้าเรายังยึดติดแบบนี้ สายนี้จะเรียวเล็กลงไปเรื่อยๆ เหมือนกบเหลาดินสอที่จะเหลาจนเหลือแต่ขี้ผง” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

Advertisement

แค่เปิดประเด็นก็เผ็ดร้อนขนลุก ว่าแล้วมาฟังต่อแบบยาวๆ ได้ในบรรทัดจากนี้

วิพากษ์ได้ ไม่ว่ากัน ยัน สังคมไทย

‘ต้องถก ต้องเถียง ต้องถาม’ จึงก้าวหน้า

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยขยายความรู้ออกไป หรือช่วยสำหรับการทบทวนวรรณกรรม (Literature review) ก็จะสามารถขึ้นต้นด้วยหนังสือเล่มนี้ได้ จะผิดจะถูกเราไม่ว่ากัน เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้

“สังคมเราจะมีคนประเภทคนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยแล้วออกมาถกเถียง แต่อีกประเภทหนึ่ง คือ เพิกเฉยแล้วเงียบไป เราจะเลือกแบบไหน เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ผมบอกในคำนำหนังสือเล่มนี้ว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการสร้าง แต่ขอให้เบี่ยงออกไปหน่อยได้ไหม ถ้าเรารู้ว่าตรงนั้นมีความสำคัญของเมืองเก่า สังคมก็จะรู้ว่าตรงนั้นไม่ควรทำรถไฟผ่าน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวย้ำอีกว่า ตนไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่ควรมีรถไฟความเร็วสูง แต่มันควรมีทางเลือกในการสร้างมากกว่านี้ เอาแบบง่ายเลยจะสร้างผ่านเมืองเก่าทำไม ในเมื่อมีเมืองใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว

“เคยไปอยุธยาไหม ไปด้วยรถไฟ หรือรถยนต์ส่วนตัว เราก็มักจะตอบว่าขับรถไปเองสะดวกกว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วรถไฟมันจะตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้อย่างไร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยากเพราะว่า ‘อโยธยา’ มันถูกผูกปมแรกว่าไม่มี ตนต้องค่อยๆ คลี่ออกทีละปม มันจึงเป็นเรื่องที่ดูแล้วค่อนข้างซับซ้อน

“เราเริ่มง่ายๆ จากการตั้งคำถามว่า ทำไมโบราณฯเขาถึงคิดว่าไม่มี แล้วไม่มีเพราะอะไร อยุธยาเป็นราชธานีแห่งแรก แล้วก่อน พ.ศ.1893 อยุธยาไม่มีอะไร ถ้าเราสลายจุดนี้ไปได้มันก็จบ เราจะคิดมุมอื่นได้” รศ.ดร.รุ่งโรจน์แนะ

มายาคติ ‘สุโขท้ย สารตั้งต้น’

ชวน ‘อ่านก่อน’ อภิปรายทีหลัง

สำหรับเสียงตอบรับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เป็นไปในทิศทางที่ดี แต่เขาซื้อไปแล้วไปติไปด่าก็คงมี มันเป็นธรรมดาของโลก จะให้คนเห็นตามเราทั้งหมดก็ไม่ได้

“วันนี้มีแฟนหนังสือเดินเข้ามา ถามถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ดีเพราะความรู้เกิดจากการดิสคัส (discuss) บางทีประเด็นใหม่ๆ อาจจะเกิดจากมิตรรักแฟนหนังสือของผมก็ได้ อันนี้ผมก็ชอบ เราอย่าปิดกั้น เพราะถ้าเราปิดกั้นเราจะจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ ปิดกั้นไม่ได้ทำให้ลอยขึ้นไป แต่ยิ่งจะจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้ใช่หรือไม่ใช่ให้มาอ่านก่อน แต่ด้วยมายาคติที่เรามอง สุโขทัยว่าเป็นสารตั้งต้น แต่ตามจริงแล้วโครงสร้างประวัติศาสตร์ไทย มันเริ่มต้นจากอโยธยา แล้วอโยธยามาจากไหน มาจากศรีเทพหรือเปล่า

“เราต้องอ่านก่อน อย่าลืมว่าเรื่องอโยธยาคนเขารู้หมด แล้วแต่ว่าจะศึกษายังไงต่อ งมตรงไหนต่อ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่เราอ่านแล้วจะต้องต่อยอดมุมมอง” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

จากนั้น ลงลึกถึงเรื่องราวของอโยธยาว่า ประเด็นที่อโยธยาหายไป แล้วสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง เสด็จมาจากเมืองอู่ทอง ประกอบกับการยึดมั่นว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก อโยธยาก็เงียบหายไป ตั้งแต่ช่วง ร.6-7 และช่วงสมัยสงครามโลก
จนมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 ตอนปลาย ก็เริ่มมีการพูดถึงอโยธยาอีกครั้ง โดยการเขียนของนายธนิต อยู่โพธิ์ ก็ได้ทำให้นายจิตร ภูมิศักดิ์ ได้สืบสานงานต่อ รวมถึงงานของ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่มีการเอาหลักฐานโบราณวัตถุมาพูดขึ้นอีก

“ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่ว่า นักวิชาการกระแสหลักนั้น ยังยึดติดกับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก และที่มาของพระเจ้าอู่ทอง ก็เลยทำให้ไม่กล้าออกมาอภิปรายถกเถียง

ดังนั้น อโยธยาจึงถูกนักวิชาการกระแสหลัก เรียกว่า เมืองในจินตนาการ เหมือนความหวานชื่น เมื่อหลับตื่นก็หายไป ไม่มีตัวตนจริง แต่ทีนี้พอเอาเข้าจริงแล้วมันต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่า เรารู้ว่าสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแรก และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก็ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง
เรื่องอโยธยาก็มีสิทธิเอากลับมาทบทวนว่า มันมีจริงหรือเปล่า อย่าให้มันเป็นแค่เมืองในความฝัน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ปกนี้มีที่มา ทำไมต้อง ‘วัดสมณโกฏฐาราม’

เมื่อถามว่า ปกหนังสือที่ปรากฏภาพ วัดสมณโกฏฐาราม พระนครศรีอยุธยา มีแนวคิดอย่างไร

รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผยว่า วัดสมณโกฏตามเอกสารคำให้การของวัดประดู่ทรงธรรม บอกว่าพระมหาธาตุที่เป็นหลักของพระนคร มีพระปรางค์อยู่ 5 แห่ง 1.วัดราชบูรณะ 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดพระราม ซึ่ง 3 วัดนี้อยู่ในเกาะเมือง

“ระบุชัดแน่ว่าวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้าง และวัดราชบูรณะ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สร้าง ส่วนวัดพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างอยู่บนตำแหน่งศูนย์กลางของเมืองวัดสมณโกฏก็ต้องเข้ากับกรณีเหล่านั้น และที่สำคัญภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ วัดสมณโกฏ มีพระปรางค์ที่ใหญ่มาก คนยืนอยู่ตัวกระจึ๋งเดียว พร้อมแสดงตำแหน่งพระปรางค์อย่างเด่นชัด

หลายอย่างในการกำหนดอายุโบราณสถานอยุธยามีปัญหามาก เพราะว่าเราไปติดกับปัญหาว่าก่อนหน้า พ.ศ.1893 มันไม่มีอะไร เรามองเหมือนว่าอยุธยาเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ พอถึง พ.ศ.1893 มีจานบินอยู่หนองโสน มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีอยู่ก่อน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า มีการกำหนดว่าอะไรก็ตามที่ใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุ ลพบุรี อันนั้นจะต้องเก่า แต่เก่าได้สูงสุดได้แค่ พ.ศ.1893 ทำไมใกล้เคียงกว่านั้นไม่เป็น ทำไมใกล้เคียงมากไม่เป็น พ.ศ.1850 เพราะฉะนั้นอะไรหลายชิ้น มีความใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุ ลพบุรีเยอะ อะไรก็ตามกำหนดไม่เกิน พ.ศ.1893 ที่เป็นเพดานกำหนดสำคัญ

เปิด 4 เอกสารสำคัญ

ยัน อโยธยาเก่ากว่าสุโขทัย

เมื่อถามต่อไปว่า จากการค้นคว้าหลักฐาน พบว่า ‘อโยธยา’ เป็นรากฐานสำคัญของอยุธยาหรือไม่

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยกหลักฐานเผยว่า เอกสารก่อน พ.ศ.1893 มีสำคัญอยู่ 4 ชิ้น 1.โองการแช่งน้ำ และพระอัยการ ซึ่งหมายถึงกฎหมายอีก 3 ฉบับ กล่าวคือ โองการแช่งน้ำเป็นเรื่องราวมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการใช้ภาษาไท-ลาวเกิดขึ้น แสดงว่ากลุ่มผู้มีอำนาจใช้ภาษากลางในภาษาราชการ

“โองการแช่งน้ำเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ระบบกษัตริย์ในอโยธยา พัฒนาไปกว่าระบบวงศ์พระร่วง หัวเมืองแม่น้ำปิง วัง เพราะระบบกษัตริย์เหล่านี้บอกว่า เกิดจากฤๅษี หรือพญานาค แต่อโยธยาบอกว่าสืบมาจากองค์สมมุติไปเลย เป็นกษัตริย์องค์แรกตามคัมภีร์อคัญญสูตรดูศักดิ์สิทธิ์กว่า ฉะนั้น โครงสร้างเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่เก่าแก่มาก เพียงแต่ว่าเรายึดติดว่าไม่มีเมืองก่อน 1893 แล้วอันนี้ล่ะ หมายความว่าอย่างไร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

ส่วนหลักฐานที่ชี้ว่าเมืองอโยธยาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการค้าขายกับเรือสำเภา?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์อธิบายว่า ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.1500-1600 ราชวงศ์ซ่งส่งเรือสำเภามาค้าขายเอง ศูนย์กลางเดิมจากลพบุรี มาหาแหล่งใหม่ที่สำเภาจีนเข้าได้ก็เลยมาเป็นศูนย์รวมที่อโยธยา เราจะพบตัวอย่างพระพุทธรูปหินทราย แพตเทิร์นที่เราเรียกว่าอู่ทอง กระจายตัวอยู่ตามชุมชนที่รองรับการค้าสำเภากับจีน

รศ.ดร.รุ่งโรจน์อธิบายต่อไปว่า หนังสือเล่มนี้ตนชี้ว่าอโยธยาเป็นศูนย์กลางที่เก่าแก่กว่าสุโขทัย คือ สุโขทัยเป็นชุมชนอยู่แล้ว แต่ความเป็นเซ็นเตอร์เกิดที่อโยธยาแล้วขึ้นไปที่สุโขทัย

“อโยธยาประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการปี 1776 โครงสร้างภาษามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะที่หลายท่านไปตรวจสอบ ช่วงพีเรียดร่วมสมัยจารึกของพระมหาธรรมราชา พระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัยยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาว เพิ่งได้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่อยุธยาเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีไปเรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ขยี้ต่อไปว่า เนื้อหาข้างในพูดถึงว่าอโยธยาเป็นเซ็นเตอร์ก่อนสุโขทัย ถ้าจะบอกว่าสุโขทัยเจอเครื่องถ้วยซ่ง งั้นบ้านเชียงก็เก่ากว่าอโยธยาเพราะเจอเครื่องถ้วยเหมือนกัน แต่สุโขทัยไม่เคยแสดงอะไร ที่แสดงความเป็นเซ็นเตอร์เก่ากว่าอโยธยา

อนุรักษ์-พัฒนา อยู่ร่วมได้ไม่ขัดแย้ง

แต่ ‘อย่าบังคับสูญหาย’

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่ว่า การพัฒนาพื้นที่อโยธยากับการอนุรักษ์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ตอบว่า การพัฒนาก็จะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพียงปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเราคิดว่ามันไม่มี เราก็เลยละเลย เปรียบเสมือนว่ามันหาย เหมือนถูกบังคับให้สูญหาย สะกดจิตกันเองให้มันหายไป

“เอาง่ายๆ หนังสือเล่มนี้บอกว่า อโยธยาเป็นต้นกำเนิดอยุธยา อยุธยาเป็นต้นกำเนิดกรุงธนบุรี ธนบุรีต้นกำเนิดรัตนโกสินทร์ ซึ่งอโยธยาเป็นตัวรัฐที่ใช้ภาษาไทในทางการที่มีความเก่าแก่ และลักษณะแบบแผนสำนวนภาษา ก็สืบต่อมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้ายอีกที ขยี้ซ้ำอีกรอบว่า คำนำในหนังสือตนเขียนชัดว่า ไม่ได้คัดค้านรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตอนนั้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกแล้วว่าจะให้มีการสร้างหลายแนวทางเลือก แต่ทำไมยังอุตส่าห์ตัดทางเข้าสู่ตัวเมืองอโยธยา ต้นทาง ที่เป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์

ตัดจบวงสนทนาแบบฝากไว้ให้อ่าน ‘ระหว่างบรรทัด’อย่างลึกซึ้ง #ทำถึง ทุกแง่มุม

ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image