สวยกริบ เต็มสิบไม่หัก ฟุตปาธใหม่ กทม. คอนกรีตเสริมเหล็ก อัตลักษณ์บนฝาท่อ

สวยกริบ เต็มสิบไม่หัก ฟุตปาธใหม่ กทม. คอนกรีตเสริมเหล็ก อัตลักษณ์บนฝาท่อ

สวยกริบ เต็มสิบไม่หัก
ฟุตปาธใหม่ กทม. คอนกรีตเสริมเหล็ก อัตลักษณ์บนฝาท่อ

เปิดตัวปังมาก สำหรับฟุตปาธ หรือทางเท้าใหม่กริบในยุค ผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ดึงอัตลักษณ์ของย่านมาไว้บนฝาท่อ แต่ข้อสำคัญกว่านั้น คือความมั่นคง แข็งแรง เดินง่าย เท้าไม่พลิกให้เสียบุคลิกชาวกรุง

เปิด 10 มาตรฐานเข้ม เพิ่มฐานคอนกรีตเสริมเหล็ก แถมยังเตรียมขยาย 16 เส้นทาง

เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ณัฐพล นาคพันธุ์ ผอ.ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 สำนักการโยธา สุขวิชญาณ์ นสมทรง ผอ.เขตปทุมวัน นำทีมทอดน่องสำรวจทางเท้าบริเวณถนนราชดำริและถนนเพลินจิต ที่ กทม.เพิ่งมีการปรับปรุงไปเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมอธิบายยิบว่ากว่าจะกริบ เป๊ะปัง ต้องประกอบสร้างมาด้วยสิ่งใด?

Advertisement

เดินได้ เดินดี ตั้งเป้า 3 วิธี 1,000 กม.

เอกวรัญญู โฆษก กทม. เกริ่นว่า กทม.มีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าในพื้นที่ กทม.ให้เดินได้ เดินดี และน่าเดิน โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กม. ผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ สำหรับการทำใหม่ทั้งเส้นทางมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ โดยในส่วนพื้นที่ชั้นในและเส้นทางที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น จะปูโดยใช้กระเบื้องตามมาตรทางเท้าใหม่ ซึ่งฐานรากจะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 10 ซม. ที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้าได้

Advertisement

ปัจจุบันทางเท้าของ กทม.ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงทั้งเส้นทางด้วยมาตรฐานทางเท้าใหม่มี 16 เส้นทาง เช่น ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ถนนอุดมสุข โดยภายในปีนี้ มีแผนจะดำเนินการตามมาตรฐานทางเท้าใหม่อีก 38 เส้นทาง ในปี 2568 อีก 22 เส้นทาง ในส่วนพื้นที่ชานเมืองบางเส้นทางที่การสัญจรไม่หนาแน่นจะใช้วิธีปูด้วยแอสฟัลต์ โดยมีเส้นทางนำร่องที่ ถนนพุทธบูชา ถนนคุ้มเกล้า และกำลังขยายไปยังถนนทางรถไฟสายเก่า (ปากน้ำ) ถนนพุทธมณฑลสาย 1 และถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ด้วย

ศิลปะบนฝาท่อ สัญลักษณ์ประจำย่าน แรงบันดาลใจจากญี่ปุ่น

สำหรับการปรับปรุงแต่ละเส้นทางก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างออกไป เช่น ถนนเพลินจิต ถนนราชดำริ มีการนำศิลปะมาใช้กับฝาท่อ ผ่านการออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ-เพลินจิตซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง รวมทั้งจะพัฒนาในเส้นทางอื่นๆ ให้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมือง เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการนำฝาท่อกับสัญลักษณ์ประจำเมืองมาผสมผสานกัน นอกจากนี้ยังปรับรางระบายน้ำตลอดแนวถนนจากรูปแบบเดิมที่เป็นช่องระบายน้ำติดกับฟุตปาธ มาเป็นรางระบายน้ำตลอดแนวถนน เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังบนถนนได้เร็วขึ้น

“ฝาท่อออกแบบให้มีความโดดเด่นแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ เพลินจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางนำร่องในการใช้มาตรฐานทางเท้าใหม่ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น มีความเป็น Universal Design มากขึ้น และมีการปรับให้ทางเข้าออกอาคารกับทางเท้ามีความสูงที่ใกล้เคียงกัน” เอกวรัญญูอธิบาย

พอกันที! เหยียบแล้วพลิก น้ำกระฉอก บอกลาปัญหาเก่า

ส่วนการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุด โฆษก กทม. เผยว่า สำนักการโยธา และสำนักงานเขตที่รับผิดชอบจะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) ดำเนินการซ่อมแซมให้เร็วที่สุด และให้อยู่ในสภาพที่พร้อมโดยใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากจุดไหนสามารถทำเป็นทางเท้ามาตรฐานใหม่ได้จะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เมื่อพบเห็นจุดที่ชำรุดหรือเสี่ยงต่ออันตราย ทำให้เขตรับทราบปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเอง

“เส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการทำทางเท้าขึ้นมา เช่น ในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่มีทางเท้าแคบ ได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้า และใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น การขีดสีตีเส้นช่วยแบ่งแนวให้คนเดินเท้า รวมถึงนำพอรัสแอสฟัลต์ ซึ่งน้ำซึมทะลุได้มาล้อมคอกต้นไม้เพื่อเพิ่มความกว้างของทางเท้าที่มากยิ่งขึ้น” เอกวรัญญูกล่าว

ณัฐพล นาคพันธุ์ ผอ.ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 สำนักการโยธา เสริมว่า ทางเท้าใหม่ที่มีการปรับปรุงนี้ จะไม่เกิดปัญหาเดิม เช่น เหยียบแล้วกระเบื้องพลิก หรือมีหลุมน้ำเกิดขึ้น เนื่องจากตอนก่อสร้างมีการเสริมคอนกรีตอีก 1 ชั้นก่อนวางปูกระเบื้องทับ ทำให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่เมื่อรองพื้นด้วยทรายแล้วก็จะวางตัวหนอน เมื่อฝนตกน้ำไหลเข้าตามช่องว่างก็จะทำให้พื้นทรายถูกเซาะ กลายเป็นหลุมจึงเกิดปัญหาตามมา รวมถึงกวดขัน ไม่ให้มีการแอบขุดเพื่อวางท่อ ทั้งนี้ หากมีหน่วยงานใดจะดำเนินการขุด เพื่อวางท่อสาธารณูปโภค เมื่อขุดเสร็จแล้วจะต้องดำเนินการทำกลับให้เป็นเหมือนเดิม

ว่าแล้วต้องลองไปเหยียบย่างบนทางเท้าที่ กทม.ภูมิใจนำเสนอ

10 ข้อ มาตรฐานทางเท้าใหม่ กทม.

1.ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
2.ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่างๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
3.เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร


4.ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
5.ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1 : 12 ตามมาตรฐานสากล
6.เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
7.เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
8.วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
9.วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
10.ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น

ศศวัชร์ คมนียวนิช – เรื่อง
พัทรยุทธ หักผล – ภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image