จากปาเลสไตน์สู่อิหร่าน-อิสราเอล สันติภาพตะวันออกกลางที่ยังไร้หนทาง?

จากปาเลสไตน์สู่อิหร่าน-อิสราเอล
สันติภาพตะวันออกกลางที่ยังไร้หนทาง?

“สุดท้ายเมื่อทุกฝ่ายเหนื่อยล้า สงครามจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นจุดเดิม”

เป็นความเห็นของ ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บนเวทีเสวนาวิชาการ ‘จากปาเลสไตน์สู่อิหร่าน-อิสราเอล : หรือจะไร้สันติภาพในตะวันออกกลาง’ จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ล้วงลึกถึงปมร้อน ในสมรภูมิโลกเวลานี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากรั้วมหาวิทยาลัยมาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงเหตุการณ์ที่มนุษยชาติต้องจับตา โดยเฉพาะเมื่อ ‘อิหร่าน’ ได้เปิดฉากสมรภูมิเดือดที่ส่งผลสะเทือนหลังคืนวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา

Advertisement

การแข่งขันของ ‘มหาอำนาจโลก’
สงครามสื่อหาแนวร่วม

เปิดเวทีด้วย ผศ.ดร.อาทิตย์ ซึ่งมองว่า สงครามในครั้งนี้ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจของโลกตามภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือการที่ประเทศอื่นๆ นอกจากมหาอำนาจก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน อย่างการโจมตีในทะเลแดงทำให้ประเทศที่มีความเกี่ยวข้องต่อทะเลแดงต้องออกมาแสดงจุดยืนเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทำให้เกิดความเห็นต่างๆ ที่มีต่ออิสราเอล และประเทศอาหรับ จนทำให้เกิดสงครามทางสื่อไปทั่วโลกเพื่อหาแนวร่วมของแต่ละฝ่าย อย่างในกรอบของยูเอ็นที่ประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้มีการแสดงจุดยืนให้อิสราเอลหยุดยิงโดยมีผลมาจากการสนับสนุนของอเมริกาที่เป็นตัวแทนของการกดขี่ประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้ หลายฝ่ายจึงมีการสรุปว่า ลาติน-อเมริกา นั้นอยู่ฝั่งเดียวกับปาเลสไตน์ และมองว่าสุดท้ายเมื่อทุกฝ่ายเหนื่อยล้าจากการทำสงครามและสร้างกติกาในการพักรบ สุดท้ายจะมีฝ่ายหนึ่งเริ่มโจมตีและจะกลับสู่จุดเริ่มต้นจุดเดิม

“ในส่วนของกติกายูเอ็น ควรเอาเรื่องของอิสราเอลและปาเลสไตน์ออกไปและร่วมมือกันบูรณะสิ่งที่สูญเสียไปและสร้างกฎกติกาใหม่ขึ้นมาในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศมุสลิมที่ไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน และไทยควรที่จะสนับสนุนจุดยืนนี้เพราะความสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีต่อทั้งประเทศอาหรับและตะวันตกที่เรามีและเพื่อหลีกเลี่ยงตัวแปรที่อาจทำให้เกิดปัญหาภายหลังขึ้น” ผศ.ดร.อาทิตย์กล่าว

Advertisement

คำถามสำคัญต่อ ‘มะกัน’ ความหวังปลดปล่อย
ดินแดนปาเลสไตน์อาจกลับมาอีกครั้ง?

ด้าน ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และโลกมุสลิม มองว่าขณะนี้เป็นช่วงท้ายของสงครามที่ตัดสินว่าจะจบลงด้วยสันติภาพหรือไม่ นอกจากนี้การทำสงครามครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพของการข่าวกรองของอิสราเอลที่สามารถลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าทำไมกองกำลังของอิสราเอลนั้นทำอะไรกับฮามาสที่ใช้การโจมตีแบบ hit and run แทบไม่ได้ โดยยังมีผลให้เสียงของประชากรโลกได้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ที่บางฝ่ายมองว่าฮามาสเป็นฝ่ายถูกกระทำและอีกฝ่ายที่มองว่าฮามาสเป็นผู้ก่อการร้าย

“สงครามครั้งนี้อิสราเอลยังต้องเปลี่ยนความคิดที่เคยต่อสู้กับประเทศอาหรับใหม่เพราะการต่อสู้กับทั้งปาเลสไตน์และอิหร่านที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้การกระทำของฮามาสอาจทำให้ความหวังในการปลดปล่อยดินแดนกลับมาอีกครั้งและอาจนำไปสู่การตอบโต้อิสราเอล ถึงแม้ทางอิสราเอลจะมีการตอบโต้ที่รุนแรงและยังมีการสนับสนุนจากสหรัฐก็ตาม

เนื่องจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อของสงครามครั้งนี้อาจจบลงด้วยการการพูดคุยกันของประเทศที่เกี่ยวข้องจนเกิดเป็นเหตุการณ์แบบ Talking while Fighting และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศอาหรับรวมตัวกันได้มากขนาดนี้ อย่างในกรณีของซาอุดีอาระเบียที่มีการหยุดความขัดแย้งกับอิหร่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าสหรัฐ จะปกป้องอิสราเอลไปอีกนานแค่ไหน” ศ.ดร.จรัญวิเคราะห์

‘อิสราเอล-อิหร่าน’ ซัดกันนัว ในที่ประชุม UNSC วอนคว่ำบาตรอิหร่าน เตหะรานชี้ใช้สิทธิป้องกันตัว เมื่อ 14 เม.ย. (ภาพจาก AFP)
ชาวอิหร่านออกมาเฉลิมฉลองหลังยิงขีปนาวุธและส่งโดรนไปถล่มอิสราเอล ในช่วงกลาง เม.ย. ระงับเที่ยวบินหลายเมือง พร้อมเปิดระบบป้องกันภัยทางอากาศ หลังอิสราเอลเปิดฉากถล่ม (ภาพจาก AFP)

เปิดไทม์ไลน์เดือด
4 วันประวัติศาสตร์ใน 7 เดือน

ขณะที่ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ความเห็นว่าเหตุการณ์การสู้รบระหว่างประเทศตะวันออกกลางและอิสราเอลที่สู้รบยืดเยื้อมานาน 7 เดือน มี 4 วันที่สำคัญต่อสงครามครั้งนี้ วันแรกคือ วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นวันแรกที่ทำให้เห็นศักยภาพทางการรบของอิสราเอลและการต่อสู้ของฮามาสที่สร้างความเสียหายต่ออิสราเอลเป็นอย่างมาก และเปลี่ยนความคิดของอิสราเอลที่มีต่อการโจมตีประเทศอาหรับ

วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นวันที่อิสราเอลจะได้ประเมินว่าสหรัฐจะเข้ามาช่วยทำสงครามเต็มรูปแบบหรือไม่ ซึ่งสหรัฐเลือกที่จะไม่ได้เข้ามาช่วยเต็มรูปแบบเนื่องจากความไม่พร้อมในการทำสงครามที่เกิดขึ้นจากการแสดงจุดยืนของประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้สหรัฐจะใช้พื้นที่ต่างๆ ของประเทศที่เกี่ยวข้องได้อย่างไม่เต็มที่

ต่อมา วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นวันที่น่าสนใจอีกวันที่มีการใช้อาวุธทางอากาศจากอิหร่านโจมตีอิสราเอล ซึ่งสร้างผลกระทบต่อฐานทัพอากาศของอิสราเอลและเชื่อว่าหากอิสราเอลสกัดได้ 99 เปอร์เซ็นต์ตามที่ได้ออกมาชี้แจงจริง อิสราเอลคงมีการตอบโต้กลับไปแล้ว

นอกจากนี้การโจมตีในครั้งนี้ยังทำให้สหรัฐออกคำสั่งไม่ให้อิสราเอลตอบโต้กลับ

“วันสุดท้าย คือ วันที่ 19 เมษายน 2567 เป็นวันที่มีข่าวออกมาว่าอิสราเอลทำการโจมตีกลับไปแต่สุดท้ายไม่มีการยืนยันจากรัฐของอิสราเอลว่าการโจมตีนั้นเกิดขึ้นจริง ทำให้มองว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่คนอิหร่านภาคภูมิใจที่อิสราเอลไม่สามารถโจมตีกลับมาได้ ในทางกลับกันทางฝั่งอิสราเอลเองก็มองว่าอิหร่านนั้นไม่กล้าโจมตีกลับมาเช่นกัน จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลนั้นเงียบลง

ปัญหาจึงกลับมาที่ปาเลสไตน์และอิสราเอลที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องความเกี่ยวข้องของประเทศไทยต่อเหตุการณ์นี้ควรเริ่มจากการที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คนในประเทศได้รับความจริงที่ถูกต้อง และเรียนรู้การต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้” ผศ.ดร.มาโนชญ์อธิบาย

(จากซ้าย) ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม, ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์, ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ และ ผศ.ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ (ผ่าน ZOOM)

เมื่อประเทศโซนตะวันออกกลาง
ต้องหันมอง ‘การป้องกันตัวเอง’

ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ชี้ช่องให้มองข้อสังเกตว่า

การต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและอิหร่านหากพิจารณาดีๆ จะพบว่าการสู้รบของ 2 ประเทศนี้เกิดขึ้นมาสักระยะแล้ว เช่น การสู้รบกันทางไซเบอร์ก่อนจะนำมาสู่การรบแบบเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่อิหร่านออกมาไลฟ์สตรีมการเดินทางไปสู้รบให้ทั่วโลกเห็น มีการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะความตั้งใจของอิหร่านเองที่ต้องการโชว์ศักยภาพที่ตนเองมี ทำให้สหรัฐและอิสราเอลต้องออกมาเตรียมตัวป้องกัน

เปิดฉากศึกอิหร่าน-อิสราเอล เช้ามืดของวันสงกรานต์ 13 เมษายน พบโดรนติดระเบิด 170 ลำ, ขีปนาวุธวิถีโค้ง 120 ลูก กับจรวดแบบครูสอีก 30 ลูก ถล่มเข้าใส่เป้าหมายในดินแดนอิสราเอล (ภาพจาก AFP)
ตึงเครียดพุ่ง! อิสราเอลโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรีย ดับ ผบ.หน่วยรบพิเศษคุดส์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน

ขณะเดียวกันการเมืองของประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้อย่าง อิสราเอล เริ่มที่จะอยู่ในทิศทางที่ไม่ดี รวมไปถึงการเมืองและเศรษฐกิจของอิหร่านที่ไม่ได้เอื้อต่อสถานการณ์การทำสงครามในปัจจุบัน ส่งผลให้สหรัฐต้องกลับมาทบทวนการช่วยเหลือซึ่งส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐ ที่มีการวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์สงครามในครั้งนี้จะทำให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอาจต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในสมัยหน้า และตุรกีที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรงจากการไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนทำให้ประชาชนมุสลิมในประเทศไม่พอใจต่อรัฐบาลของตนจนเกิดปัญหาการเมืองในประเทศขึ้น

ในสภาวการณ์แบบนี้ทำให้ประเทศในโซนตะวันออกกลางต้องกลับมามองในเรื่องของการป้องกันตัวเองมากขึ้น ตัวอย่างของ อียิปต์และจอร์แดนเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ไม่ออกมาแสดงจุดยืนต่อสงครามในครั้งนี้เท่าที่ควร

“สิ่งที่กล่าวมาอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลนั้นเงียบลงไป ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลที่ยังคงปะทุขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจเกิดจากการที่อิสราเอลมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปาเลสไตน์นั้นคือเรื่องในประเทศของอิสราเอลที่ไม่พอใจกับการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา ส่งผลไปถึงการตั้งคำถามต่อยูเอ็นในเรื่องของวีโต้นั้นควรที่จะมีแค่ 5 ประเทศที่มีอำนาจตัดสินใจหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์นั้นไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง” ผศ.ดร.ยาสมินทิ้งท้ายชวนให้คิดต่อ

นับเป็นเวทีเข้มข้นที่ช่วยโฟกัส ตั้งคำถาม และพยายามทำความเข้าใจสมรภูมิรบที่ส่งผลสะเทือนต่อสมรภูมิโลกในหลากมิติ

เตชิต เสาะแสวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image