โครงการสร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ ‘สร้างอาคาร ไม่สำคัญเท่าสร้างภูมิความรู้’

โครงการสร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ ‘สร้างอาคาร ไม่สำคัญเท่าสร้างภูมิความรู้’

โครงการสร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ
‘สร้างอาคาร ไม่สำคัญเท่าสร้างภูมิความรู้’

ในยุคสมัยที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำบนโลกไร้พรมแดน กระทั่ง เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ถือกำเนิดขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นทุกที

ทว่า หนังสือยังคงมีคุณค่าไม่เสื่อมคลาย ด้วยความแม่นยำถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับการคัดสรร กลั่นกรอง ทุกตัวอักษร ทุกคำ ทุกข้อความ

สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน คือหนึ่งในหนังสือชุดคุณภาพ หนักแน่นด้วยเนื้อหาเชิงวิชาการที่นำเสนออย่างเข้าใจง่าย ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไปกับความรู้ใหม่ๆ ในทุกหน้ากระดาษ

Advertisement

โดยเป็นสารานุกรมที่จัดทำโดยคนไทย เพื่อประมวลความรู้ที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในประเทศไทย ตลอดถึงความรู้ที่เป็นวิชาการสากลสำหรับเด็กและเยาวชนได้ใช้ค้นคว้าอ้างอิง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ให้นำไปแจกจ่ายยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ด้วยพระราชประสงค์ให้หนังสือแพร่หลายไปในหมู่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนผู้สนใจศึกษาค้นคว้า จะได้นำความรู้จากหนังสือไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมส่วนรวม

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

จากเริ่มจดทะเบียน
จน‘ผลิดอกออกผล’

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 ตามพระราชปรารภ ของพระบาทสมเด็จบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ ใช้ชื่อว่า ‘มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน’ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ที่ปรึกษา

Advertisement

หนังสือส่วนหนึ่งพิมพ์เป็นฉบับพระราชทานแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ขาดแคลน โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และโรงเรียนที่ด้อยโอกาส โดยหนังสืออีกส่วนหนึ่งออกจำหน่ายเพื่อนำมาเป็นทุนสมทบในการจัดพิมพ์หนังสือต่อไป

นอกจากนี้ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับเสริมการเรียนรู้เล่มเล็ก พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 22 เล่มเป็นหนังสือขนาดพกพา หรือเลือกเรื่องที่น่ารู้และควรรู้มาเรียบเรียงให้น่าอ่าน เน้นภาพประกอบ 4 สี ให้น่าสนใจ เป็นการเสริมการอ่านสารานุกรมให้แพร่หลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น

ล่าสุด เมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าว ‘โครงการสร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ’ ที่ห้องประชุมมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ย้อนเล่าว่า มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

“โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ปี 2506 แต่กว่าจะเริ่มผลิดอกออกผล ห่างกัน 10 ปี ใน พ.ศ.2516 มีการพิมพ์หนังสือชุดแรกขึ้นมา และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 44 เล่ม โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เขียนเรื่อง และสื่อวิชาการอื่นๆ ที่รวบรวมสาระความรู้แขนงต่างๆ เผยแพร่แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยทรงพระราชดำริให้พ่อแม่ลูกอ่านด้วยกัน พี่สอนน้อง หรือคุณพ่อคุณแม่ใช้เรื่องนี้เป็นสื่อสร้างสถาบันของครอบครัว ทั้งหมดนี้ปรากฏในพระราชปรารภของหนังสือสารานุกรมตั้งแต่เล่มแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนมหาศาลสำหรับคนไทย รวมไปถึงเป็นสมบัติของบ้านเมืองอีกด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว ทั้งยังเล่าเกร็ดอันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า มูลนิธินี้ ถือว่าแปลก เพราะไม่มีคำว่า ‘ในพระบรมราชูปถัมภ์’ เนื่องจากมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนใหญ่เป็นมูลนิธิที่มีผู้ก่อตั้งขึ้น หรือเจ้านายทรงก่อตั้งขึ้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่มูลนิธินี้ไม่ได้มีนามต่อท้ายว่าในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่ตั้งขึ้นด้วยพระราชประสงค์ แม้แต่ที่ตั้งของมูลนิธิก็ยังอยู่ในเขตพระราชฐาน

ความรู้ไทยๆ โดยคนไทย
สารานุกรม ‘ของคนไทย’
สมบัติของบ้านเมือง

สำหรับเนื้อหาภายในสารานุกรม ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง เผยว่า ในเล่ม มีความรู้ที่เป็นสากล และความรู้ที่เป็นของไทยด้วย แต่ละเล่มจะมีเนื้อหาประมาณ 8 เรื่อง อาทิ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เป็นต้น โดยเชื่อว่าทุกคนเห็นประโยชน์ของการศึกษา การสร้างบ้าน หรือการสร้างอาคารบ้านเรือน ไม่มีความสำคัญเท่ากับการสร้างภูมิปัญญา ภูมิความรู้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตของเด็ก

“ในแต่ละเล่มมีประมาณ 7-8 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องมีวิธีการเขียนเป็น 3 ลำดับขั้น สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจระดับหนึ่ง มีข้อความที่ไม่ซับซ้อน และขยับขึ้นมามีข้อความมากขึ้น สำหรับเด็กรุ่นกลาง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่ โดยในเล่มจะกล่าวถึง อาทิ เรื่องลิเกป่า โดยสังเขปจะเป็นการแสดงมหรสพพื้นบ้านท้องถิ่นของภาคใต้ เราอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย เราควรที่จะรู้จัก เพราะสิ่งนี้เป็นของมีคุณค่าในบ้านเรา, เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กล่าวถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง, เรื่องโลมาสีชมพู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่อ่าวไทยที่มีลักษณะเฉพาะ และหาชมได้ยาก และเรียนรู้วิธีการป้องกันรักษาโรคมือเท้าปาก เป็นต้น” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว

ส่วนในด้านการเผยแพร่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง เผยว่า ‘สโมสรไลออนส์’ ถือเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่หนังสือชุดนี้ ตั้งแต่เมื่อครั้ง พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี โดยทุกปีสโมสรไลออนส์จะมีการจัดการประกวดแข่งขัน อาทิ แข่งขันตอบปัญหา การประกวดโครงงาน แข่งขันประกวดวาดภาพ และแข่งขันบทกวีนิพนธ์ เป็นต้น

รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ช่วยดูแลและสนับสนุน ให้โรงเรียนทั้งหลายได้ตระหนักถึงความสำคัญของสารานุกรมชุดนี้ และมาร่วมกันสร้างความรู้ในที่นี้ ในการแข่งขันกิจกรรมทุกปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศ

‘โครงการสร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ’
สนองพระบรมราโชบาย
การศึกษาสร้างภูมิปัญญา
ภูมิความรู้ ภูมิ (คุ้มกัน) ชีวิต

เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงจัดทำ ‘โครงการสร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ’ ขึ้น เป็นการสนองพระบรมราโชบาย

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ โดยร่วมบริจาคเงินสนับสนุนการเผยแพร่ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ซึ่งจัดเป็นชุด ในชุดหนึ่งมีหนังสือ 33 เล่ม ประกอบด้วยสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ตั้งแต่เล่มที่ 12 จนถึงเล่มล่าสุด คือเล่มที่ 44 จำนวนเงินบริจาคชุดละ 10,000 บาท

สำหรับผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จรับเงินไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หนังสือบริจาคในโครงการ ‘สร้างปัญญาเฉลิมพระเกียรติ’ ทุกเล่ม จะประกอบหน้ารองปกระบุนาม ผู้บริจาคสั่งซื้อ จัดส่งไปยังสถานศึกษา หรือแหล่งเรียนรู้ที่ยังขาดแคลนด้วย

นภัสสร มงคลรัฐ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image