จังหวะต่าง-วิธีต่าง : คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น

จังหวะต่าง-วิธีต่าง

คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น

โดย จันทร์รอน [email protected]

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตใจคนเรา ไม่ว่าจะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” เป็น “สุข” หรือ “ทุกข์” ล้วนเกิดจากสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบต่อทัศนคติที่เราเป็นอยู่ในขณะนั้น

Advertisement

สิ่งเร้าอาจจะเป็นสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะมีชีวิต ไม่มีชีวิต หรือเป็นเรื่องราว เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนทัศนคตินั้น เกิดขึ้นจากความเชื่อ ศรัทธาที่ก่อเกิดขึ้นในจิตใจของเรา

เรื่องก็มีอยู่ว่า หากสิ่งเร้านี้เป็นไปในทางถูกอกถูกใจเรา เป็นความสมหวัง สมใจ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะดี และทำให้มีความสุข แต่หากสิ่งเร้านั้นไปในทางที่ไม่ตรงกับความชอบใจของทัศนคติเรา เราอาจจะเกิดความรู้สึกเฉย หรือไม่พอใจที่ไม่สมหวัง และหากเป็นสิ่งเร้าที่เป็นไปในทาง “ขัดใจ” ไม่เป็นอย่างที่หวัง ความรู้สึก “ไม่ดี” หรือ “ทุกข์ร้อน” จะเกิดขึ้น

Advertisement

ขณะที่ความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกดี ไม่ดี เกิดขึ้นเป็นปกติในทุกชีวิต ไม่มีใครที่จะอยู่กับความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียวได้ เนื่องจากทุกสิ่งอย่างเกิดจากปัจจัยที่มาประกอบกัน ทำให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้น ความหวัง ความอยากให้เป็นของเรา แม้จะมีส่วนอยู่บ้างที่จะทำให้เป็นไป แต่เป็นส่วนเพียงปัจจัยเดียวในองค์ประกอบที่เกิดจากหลากหลายปัจจัย

การควบคุมให้สมหวัง เป็นสุข รู้สึกดีตลอดจึงเป็นไปไม่ได้

แต่มนุษย์เราชอบที่จะอยู่อย่างมีความสุข มากกว่าจะอยู่กับความทุกข์

ด้วยทัศนคติที่โน้มไปในทางหาความสุขนี้เอง ได้นำพาพฤติกรรมของมนุษย์เราให้หาทางหลบเลี่ยงจากความทุกข์

เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกจิตใจอยู่ในความทุกข์ จะเกิดปฏิกิริยาที่จะหลีกหนี หรือขจัดความทุกข์นั้นออกไป

วิธีการที่จะเลี่ยงจากความรู้สึกไม่สบายใจนั้น มีวิถีใหญ่ๆ อยู่ 3 ทาง

หนึ่ง ต่อสู้จัดการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่สบายใจนั้นให้พ้นไปจากชีวิต มีเป้าหมายอยู่ที่การจัดการกับสิ่งเร้า ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกตัวเรา หาทางทำลายสิ่งเร้าในลักษณะนั้นเสีย เปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่เราชอบ

นี่เป็นการจัดการกับสิ่งภายนอก

หนทางที่สองคือ หลีกเลี่ยง ไปสนใจเรื่องอื่นเสีย อย่างเช่น หาทางที่จะไปให้พ้นจากเรื่องที่กลัดกลุ้มใจนั้น หนีไปเสียเรื่องราวนั้น หรือเปลี่ยนความสนใจ ใส่ใจให้ไปอยู่เรื่องอื่น ความบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อบริการผู้ที่เลือกใช้วิธีการหลีกเลี่ยงนี้ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว เข้าสถานบันเทิง เข้าสังคม สังสรรค์เสวนาไปตามเรื่อง เพื่อให้พ้นไปจากสิ่งเร้าที่นำไปในทางทุกข์ใจนั้นเสีย

และอีกหนทางหนึ่ง คือทางที่สาม นั่นคือจัดการกับทรรศนะตัวเอง ไม่ว่าจะมีเรื่องใดก็ตามที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เป็นทุกข์ หนทางที่จะแก้ไขคือตั้งสติ ให้ไปพิจารณาว่าที่จิตใจของเราคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตามด้วย ทำไมคิดเช่นนั้น อะไรเป็นสาเหตุให้มีความคิดเช่นนั้น สาวลึกลงไปเรื่อยๆ เป็นการทบทวนความทรงจำ ประสบการณ์ กระทั่งเห็นที่มาของความเชื่อที่ทำให้เรามีทัศนคติต่อสิ่งเร้าอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นหนทางที่ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง แล้วหาทางจัดการให้รับกับสิ่งเร้านั้นด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้น

ดีขึ้นในความหมายของไม่ได้ถูกครอบงำด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด้ แต่ด้วยความเข้าใจว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุอย่างนี้ หากต้องการให้เป็นไปอีกอย่างจะต้องไปจัดการเปลี่ยนแปลงที่เหตุ เรียนรู้ว่าจะจัดการอย่างใด

ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ไปคาดหวังเกินกว่าผลของปัจจัยต่างๆ ที่มาประกอบกันขึ้น

มนุษย์เราอยู่กับวิธีการจัดการสิ่งเร้าใน 3 วิธีนี้

บางคนหนักไปในทางเป็นนักสร้างสรรค์และนักทำลาย

บางคนเป็นพวกสุขนิยม

บางคนเป็นนักปฏิบัติธรรม

แต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละจังหวะของชีวิต หรือกระทั่งแต่ละช่วงวัย มนุษย์เราจะปรับเปลี่ยนตัวเองตลอด เพื่อเลือกว่าจะเผชิญโลกด้วยวิธีการใด

ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่มนุษย์มักคิดและตัดสินว่าวิธีการของตัวเองดีกว่า ถูกต้องกว่า วิธีการแบบคนอื่นผิดและไม่เหมาะสม ทั้งที่แต่ละคนในจังหวะที่ชีวิตใจปัจจุบันขณะที่แตกต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image