คนปั้นปูน ปูนปั้นคน ชัชวาลย์ สหัสสพาศน์ ปริศนา นางยักษ์เล่นฮูลาฮูป

ใครเห็นนางยักษ์เล่นฮูลาฮูป ก็ต้องหยุดมอง

เป็นความตั้งใจของเขาที่จะหยิบนางในวรรณคดี (ฮา) มาสร้างเสน่ห์ดึงดูดใจเด็กๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ได้ฉุกคิดกันสักนิด

“ตัวยักษ์น้าทองร่วงบอกว่า จะต้องปั้นให้ดุ เราก็คิดว่าถ้ายักษ์วันนี้มันน่ารักล่ะ…”

“…อยากให้งานปูนปั้นเข้ากับเด็กได้ ยุคนั้นพอดีเห็นเด็กๆ เล่นฮูลาฮูป ก็มาคิดว่าหรือเราจะทำอะไรกับฮูลาฮูปดี เพราะเราปั้นสัตว์หิมพานต์   มันห่างไกลกับเยาวชน ก็นึกว่าเอานางยักษ์นี่แหละ เพื่อให้เด็กเข้าถึงและสะดุดตาถ้าเปลี่ยนบริบทของตัวละคร”

Advertisement

ทายาทหัตถศิลป์ ปีล่าสุด ประเภทหัตถกรรมปูนปั้นสด เล่าถึงที่มาของชิ้นประติมากรรมปูนปั้นสดเมืองเพชร รูปนางยักษ์เล่นฮูลาฮูป ที่เขาหยิบมานำเสนอในรูปงานร่วมสมัย

ชัชวาลย์ สหัสสพาศน์ เป็นเด็กเมืองเพชรโดยเนื้อแท้ อดีตครูสอนกวดวิชาศิลปะ ผู้เปิดบ้านพื้นที่สร้างสรรค์ บ้านศิลปะเอเชียปูนปั้น ใช้งานปูนปั้นปลุกจิตสำนึกที่ดีแก่เด็กๆ

ยังมีโครงการต่อยอดปูนปั้นโบราณสู่งานศิลปะร่วมสมัย ภายใต้การขับเคลื่อนโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อให้เยาวชนห่างไกลอบายมุข เกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่น ฯลฯ

Advertisement

ศิษย์เก่าโรงเรียนราษฎร์วิทยา (กวงตง) และโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ก่อนจะสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์ (ปวช.) และมาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

ผลงานในยุคแรกๆ ของเขาจึงเป็นงานจิตรกรรมเสียมากกว่า

ตอนเรียนช่างศิลป์ ผมเขียนลายไทย ขายที่แกลลอรี่แถวถนนสุขุมวิท เลยมีพื้นฐานของงานเขียน

“ครูตี๋” หรือที่บางคนเรียกว่า ครูชัช บอกว่าก่อนจะปั้นต้องเขียนเป็น ยิ่งมีพื้นฐานด้านการเขียนมาก่อน งานปั้นจะไปได้เร็ว เพราะจาก 2 มิติ เป็น 3 มิติ ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานด้วย

สนใจศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่?

ผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่ประถม เป็นตัวแทนประกวดวาดภาพ ได้รับคำชื่นชมแล้วรู้สึกว่าวาดเก่งเลยวาดมาเรื่อยๆ และตั้งใจมากๆ ว่าจะต้องเรียนศิลปะ หลังออกจาก ม.4 เข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และระหว่างที่รอเอ็นทรานซ์ ก็เรียนศิลปะไทย

ผมเข้ามหาวิทยาลัย ปี 2537 ระหว่างที่อยู่มหาวิทยาลัยก็ไปเป็นครูสอนพิเศษ สอนการดรออิ้ง และเขียนภาพขายด้วย สนุกๆ

พอเรียนจบก็สอนต่ออีก 2-3 ปี มาทำงานเบื้องหลังวงการบันเทิงอยู่ฝ่ายอุปกรณ์ประกอบฉากรายการ ทำอยู่ 1 ปี ก็ไปอยู่เบื้องหลังเอ็มวี มิวสิกวิดีโออีก 3 ปี รู้สึกว่าการที่ต้องอดหลับอดนอน ทำงานไม่เป็นเวลาร่างกายเราต้องไม่ดีแน่ๆ กลับไปอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ดีกว่า พออายุ 30 ปั๊บก็กลับบ้าน

นึกถึงงานช่างเมืองเพชรตอนไหน?

จริงๆ คำนึงตลอดว่าเราต้องทำงานศิลปะต่อไปให้ได้ เพราะลงทุนมาตลอดตั้งแต่แรก จะถอนทุนให้ได้ (หัวเราะ) เพราะการศึกษาคือการลงทุน เราต้องแน่วแน่ตรงนี้ คิดว่าจะทำอย่างไรดี วาดรูปอย่างเดียวอยู่ที่เพชรบุรีไม่ได้ ถ้าทำไปมันคือแค่ช่างเขียนป้าย เลยมาคิดว่าน้าๆ ญาติๆ คือช่างปูนปั้น แต่เราปฏิเสธมาตลอดชีวิต คิดในใจว่างานปูนปั้นเราจะไม่จับ แต่วันหนึ่งเกิดคิดว่าไหนลองสักหน่อยซิ น้าทองร่วง (ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์) น้าของผมชวนให้เขียนแบบ เริ่มที่เขียนแบบสะพานที่ประจวบฯ เขียนซุ้มวัดนั้นวัดนี้

ตอนนั้นก็ช่วยโดยการเขียนแบบเป็นส่วนใหญ่ น้าทองร่วงอยากให้เราเป็นคนบริหาร เพราะช่างมีเยอะแล้ว แต่คนที่บริหารช่าง วางงานต่างๆ ไม่มี เลยอยากให้ทำตรงนี้ แต่เราก็อยากจะทำงานปั้นอยู่ เพราะเห็นว่าน่าสนใจ ทั้งในเรื่องของการตำปูน

 

มีความคิดว่างานปูนน่าสนใจเมื่อไหร่?

ตั้งแต่ตอนน้าทองร่วงชวนให้ไปช่วยเขียน มีโอกาสได้เข้า-ออกบ้านน้าทองร่วงตลอด แต่น้าๆ ไม่เคยให้ปั้น ประมาณปี 2531-2532 ก็ลองซื้อปูนจากน้าเจือ (บุญเจือ เอมโอษฐ) ภรรยาน้าทองร่วง ตอนนั้นถุงละ 120 บาทเอง 10 กิโล คือเรามีความรู้สึกว่าเราเคยปั้นดินมาก่อนน่าจะปั้นได้ แต่ปรากฏว่าแข็งทั้งถุงเลย เพราะวัสดุก็ไม่ใช่แล้ว ต้องใช้เกียง เลยต้องมาเรียนรู้กันใหม่ตั้งแต่ต้น ปูนที่ซื้อมาแทบจะไม่ได้ทำอะไร แข็งคาถุง

หลังจากนั้น?

น้าทองร่วงชวนไปเขียน ก็ไปเห็นป้าเนียน (จำนามสกุลไม่ได้) ตำปูน เราก็ไปดูว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง มีปูนขาว กาว หนัง น้ำตาล เห็นว่ามันแปลกดี ตอนนั้นซื้อไปคิดว่ามันเหมือนๆ กัน แต่ไม่รู้ว่ามันมีส่วนผสมแบบนี้ จนเรารู้สึกสนใจ ตำปูนขาย แล้วยังสามารถขายวัสดุได้อีก

ครูพักลักจำจากป้าเนียน?

ครับ ซึ่งตรงนั้นก็เป็นสูตรหนึ่ง และผมมีน้าที่ทำงานพวกนี้ 5-6 คน ไปถามน้าคนหนึ่งว่าทำยังไง เขาก็จะบอกว่าต้องใส่กระดาษเยอะ อีกคนบอกใส่ทรายเยอะหน่อย อีกคนบอกใส่ปูนเยอะ ใส่กาวช่วยด้วย คือมันมีหลายสูตร แต่ละคนสูตรไม่เหมือนกัน แม้แต่ผมพอตำได้ สูตรก็จะไม่เหมือนพี่น้องน้าๆ เหมือนกัน เป็นการปรุงให้เข้ากับนิสัยที่เราถนัด เราใช้เกียงไม่เก่ง ฉะนั้นปูนเราต้องละเอียด ก็ต้องร่อนปูนให้ละเอียดมากขึ้น ใส่ทรายน้อยเพราะไม่อย่างนั้นมันหยาบต้องมาเอาเกียงรีด ฉะนั้น ปูนเพชรบุรีวัตถุดิบเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สัดส่วนว่าจะใส่อะไรมากน้อย ซึ่งขึ้นกับว่าปั้นอะไร ปั้นลายหนา หน้าบันชิ้นใหญ่ๆ หรือปั้นลายดอกไม้

นานแค่ไหน?

ชิ้นแรกเป็นปูนของสมชาย (สมชาย บุญประเสริฐ) ที่มีศักดิ์เป็นน้อง ให้มาที 5 ถุงเลย ทำออกมากเฬวราก ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้ส่วนผสม แต่อยากจะปั้นปูนตัวนี้เพื่อศึกษา เพื่อจะรู้ว่าเราทำได้แน่ๆ เพราะเราเคยเรียนมา แต่สรุปแล้วคือไม่ได้เลย แล้ว 5 ถุงที่เราเอามาทำก็มั่ว สมชายเป็นคนที่ช่วยแนะนำได้มาก ตั้งแต่วิธีการ การใช้เครื่องมือ เพราะเราไปแข่งในเวทีประกวดปูนปั้นแห่งประเทศไทย ผมนั่งหันหลังติดกับเขา ผมเห็นเทคนิคและถามรายละเอียดทุกอย่าง เขาบอกหมด

ผมพัฒนาวิธีการทั้งหมดจากเขาโดยตรง ส่วนน้าทองร่วง แนะนำวิธีคิด การคิดงาน เรื่องราว แนวความคิด จนถึงสิ่งที่น้าทองร่วงบอกว่าอย่าไปรับเหมาวัดเลย ไม่ทันเขาหรอก เพราะมันต้องรู้โครงสร้าง รู้ลาย รู้แนวคิดประเพณีทั้งหมด แล้วงานก็หนักต้องมีทีมงาน ไปเรียนอะไรมาก็ทำอย่างนั้น ซึ่งผมเรียนเชิงสากลแล้วมาประยุกต์ให้เป็นไทยผสมร่วมสมัย

พอฝึกไปเรียนรู้ไป จนถึง พ.ศ.2550 ผมไปต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และศึกษาศาสตร์ คือเป็นหลักสูตรที่ฝึกครู ชื่อสาขาทัศนศิลป์ศึกษา ผมเป็นรุ่นที่ 2 แต่ผมไม่ได้เขียนหลักสูตรแต่เสนอผลงาน ตั้งใจว่าจะเอาปูนปั้นนี่แหละ เข้าสู่วงการศิลปะให้ได้ ตอนนั้นก็เริ่มขายปูน (ตำเอง) เพราะเห็นนักศึกษาก็มาสั่งปูนไว้ใช้ และหลายๆ มหาวิทยาลัยก็มาสั่งไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น มช.หรือโคราช

เรียนการตำปูนจากครูทองร่วง?

ไม่ได้เรียนครับ ต้องขอบคุณป้าเนียนที่เป็นบอกว่า ปูนเป็น ต้องตำกับส่วนผสมอย่างโน้นอย่างนี้ รวมทั้งอีกหลายๆ น้าที่ให้ความรู้ เพราะช่างที่เพชรบุรีตำปูนเองหมด ปูนของใครก็ตำเองใช้เอง แต่จะจำหน่ายมีไม่กี่เจ้า อย่างของครูทองร่วงที่มีจำหน่ายอยู่เจ้าเดียว แล้วเราเข้าไปขอเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด (หัวเราะ) เรื่องนี้อาจจะโดนต่อว่าได้ ไม่เคยบอกกับที่ไหน เราแอบขายอยู่ แต่ขายกับนักศึกษา

ส่วนวิธีการที่ทำให้เรารู้จักกับปูน การใช้เกียง ก็มาจากน้องเราเลยด้วยทักษะที่มี บวกกับการทำความเข้าใจนิสัยของปูน แห้งเมื่อไหร่ ให้เวลาเราทำแค่ไหน ปูนให้เราทำงานตอนไหนได้บ้าง เราทำไปเรียนรู้ไป และปรึกษากับญาติๆ จนที่สุด เราน่าจะประยุกต์งานของเรา ไม่ใช่สายงานของการรับเหมาวัด น่าจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เราแสดงความสามารถให้เห็นได้ แต่ก็ยังรับทำงานอยู่ เช่น สัตว์หิมพานต์ เทพ เทวดา รับเป็นชิ้นๆ เพราะพ่อผมเองเคยบอกว่างานวัดเป็นงานจบหัวจบเกล้า คือเป็นเงินที่เขาทำบุญมา เอามาทำที่บ้านได้ แต่ไม่ใช่กินข้าววัด อยู่ก็อยู่กับวัด น้ำไฟใช้ที่วัดหมด แล้วยังรับงานวัดอีก พ่อไม่ยินดีที่จะให้ทำงานอย่างนั้น

สไตล์ของงานที่ทำ?

นางยักษ์เล่นฮูลาฮูป เป็นไทยสมัยใหม่ เราไม่ได้เอาลายกนกแบบอยุธยาเต็มๆ คือประยุกต์ออกมา อย่างอยุธยาจะเป็นอิทธิพลอยุธยาตอนปลายเสียเยอะ อย่างวัดใหญ่สุวรรณาราม วัดเขาบันไดอิฐ เรามีต้นทุนที่เป็นหลักฐานให้เห็น เวลาใครจะเรียนหรือฝึกปูนปั้นโดยดูพวกนี้แล้วมาทำตาม ฉะนั้น ช่างเพชรบุรีจะได้รับอิทธิพลอยุธยาตอนปลายเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะเรามีรูปแบบให้ดูเยอะ แต่ผมจะเรียนต่อจากสิ่งที่เขาทำ ตอนหลังก็เลยคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นองค์ความรู้ แต่สิ่งที่เราทำอยู่น่าเป็นงานพัฒนา นำเสนอเรื่องราวผสมผสานกับทักษะที่มีกับปูนที่เป็น เพราะผมคิดว่าปูนนี้ก็มีเรื่องราวในตัวของมันเองอยู่แล้ว กว่าคนโบราณจะคิดขึ้นมาเป็นปูนเป็นวัสดุที่วิเศษให้เราใช้มันก็มีรากฐานตั้งแต่สมัยทวาราวดี แล้วเรามาต่อยอดมันขึ้นไป เลยตัดสินใจเอาปูนตัวนี้แหละ มี อาจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร กับอาจารย์ปริญญา ตันติสุข เป็นที่ปรึกษา ก็ส่งไปในเรื่องของปูนปัจจุบันกับเป็นลูกปัดพลาสติก

อิงกับวรรณคดีไทย?

ใช้รากเหง้า เพราะที่เพชรบุรีก็มีเขานางพันธุรัต และตัวยักษ์น้าทองร่วงบอกว่าจะต้องปั้นให้ดุ เราก็คิดว่าแล้วถ้ายักษ์วันนี้มันน่ารักล่ะ ก็เป็นที่มาของท่าแอ๊กชั่นมาเล่นฮูลาฮูป โดยมองว่านางยักษ์เป็นตัวละครที่ผิดหวังในทุกเรื่อง ผีเสื้อสมุทรก็อกหัก เราเลยคิดว่าถ้านางยักษ์อ้วนน่ากลัว แต่สมัยนี้มีการลดหุ่น มีการฟิตแอนด์เฟิร์ม มีสถาบันความงามเยอะเลย แล้วผู้หญิงก็ชอบไปกัน อันนี้ต้องโทษสังคมนะ มองว่าผู้หญิงต้องสวย ผู้หญิงก็เลยต้องสวยให้เห็น ก็เลยต้องออกกำลังกาย จะได้ผอมลง ต้องศัลยกรรม เป็นยุคพลาสติก ก็ว่ากันไป

ปูนมีรากเหง้าทางวัฒนธรรม กลายเป็นเรื่องของการดำรงอยู่กับสองสิ่งที่สัมพันธ์กันให้ได้ ก็เลยกลายเป็นยักษ์ที่มีความสุข เรื่องการออกกำลังกายก็เป็นเรื่องที่เราลดอะไรลงไปบ้าง ลดสภาวะอารมณ์ ลดนั่นลดนี่

ใช้ปูนปั้นสอนใจเด็ก?

พอเราทำงานปูนไปเรื่อยๆ มีคำพูดหนึ่งที่บอกว่า ปูนหายใจได้ คือปูนตรงนี้มีส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติคือปูนขาว ทรายละเอียด กาว หนังสัตว์ กระดาษฟาง และน้ำตาลโตนด หลังจากนั้นมันจะย่อยสลายไปตามกาลเวลา สิ่งที่เหลืออยู่ให้เราเห็นคือทรายกับปูนเท่านั้น

ปูนขาวมันมีความพรุน น้ำฝนซึมเข้าก็ซึมออกเร็ว นี่แหละที่ว่ามันหายใจได้ เวลาผมนั่งคุยกับเด็กจะบอกว่า ให้ทำตัวให้เหมือนปูน เวลามีอะไรเข้ามาถ้าเก็บไว้มันก็จะระเบิดออกเหมือนซีเมนต์ที่เอาไปใช้งานบูรณะไม่ได้ เพราะเจออะไรชื้นๆ ก็เบ่งระเบิดหมด แต่ปูนระบายอากาศได้ อะไรที่ดีก็เก็บไว้ ให้ทำตัวให้เหมือนปูนที่หายใจได้ ชีวิตจะได้อยู่นานๆ และเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า ปูนปั้นคน คนปั้นปูน

มีเด็กที่ครูสอนกลายเป็นช่างสืบทอดต่อ?

ผมเคยได้ทุนครูสอนดีของ สสค. ทำโครงการสอนเด็ก แต่เด็กเก่งไม่ได้เก่งจากผม ผมสอนให้เขาไปต่อได้เมื่อเขาเกิดความรู้สึกว่าเขาทำได้และไปได้ เด็กที่ผมเคยดูแลกันก็จะไปมหาวิทยาลัย ผมคิดว่าศิลปะมันสามารถเปลี่ยนประเทศได้ เปลี่ยนความคิด ศิลปะไม่เคยทำร้ายคนหรอก เมื่อเราเข้ามาซึมซับ หรือเข้าใจมันจริงๆ มันเป็นสิ่งดีงามทุกอย่าง ตั้งแต่วิธีคิด และวิธีปฏิบัติตัว ถ้าเขาเห็นว่าเราเป็นอย่างนี้ทำงานอย่างนี้ความสุขอย่างนี้ แต่ไม่รู้ว่าผมจะเป็นแรงบันดาลใจให้ได้หรือเปล่า

 

ปูนขาวมันมีความพรุน น้ำฝนซึมเข้าก็ซึมออกเร็ว เวลาผมนั่งคุยกับเด็กจะบอกว่า ให้ทำตัวให้เหมือนปูน เวลามีอะไรเข้ามาถ้าเก็บไว้มันก็จะระเบิดออกเหมือนซีเมนต์ที่เอาไปใช้งานบูรณะไม่ได้ เพราะเจออะไรชื้นๆ ก็เบ่งระเบิดหมด

มีที่กลับมาทำงานที่เพชรบุรี?

ยังครับ เข้าใจว่ายังสนุกกับการทำงานอยู่ เหมือนกับผมอาจจะกลับมาตอนอายุสามสิบก็ได้ เคยได้เจอกันก็ยังบอกว่าไว้กลับมาทำงานด้วยกันที่เพชรบุรีสิ มันเป็นธรรมชาตินะครับว่าคนเราเมื่อเรียนจบก็อยากทำงานอิสระก่อนสักพัก แล้วค่อยกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด

มีแนวล้อการเมืองเหมือนครูทองร่วง?

ไม่มีครับ ได้คุยกับน้าทองร่วงแล้ว น้าบอกว่าถ้าไม่เจ๋งจริงอย่าเล่นเรื่องนี้นะ เพราะข้อมูลต้องแม่น วิสัยทัศน์ต้องดี แล้วปฏิภาณต้องสุดยอด น้าทองร่วงจะพูดเสมอว่า เรื่องการเมืองกับศาสนาทำแล้วต้องรับผิดชอบได้ ผมจึงมาล้อในลักษณะนี้ดีกว่า คือสำคัญที่ข้อมูลต้องรู้ลึกรู้จริง ไม่ใช่รู้กว้าง

คำจำกัดความว่าสกุลช่างเพชรบุรีคืออะไร?

ตรงนี้เป็นคำตอบที่เรากำลังพยายามหาอยู่ เมื่อจะเรียกว่างานช่างสิบหมู่ แต่ช่างกลึง ช่างแกะ ช่างเขียน ช่างปูน ช่างบุ ช่างหล่อ ฯลฯ แต่คำนี้มาเรียกกับเพชรบุรีจะเป็นอีกแบบหนึ่ง จะเป็นช่างตอกกระดาษ งานแทงหยวก ช่างลงรักรดน้ำ ฯลฯ มันเป็นการเรียกประเภทของงาน ยิ่งดูไปมันน่าจะมีลักษณะที่เฉพาะ แต่ตอนนี้มันผสมกลมกลืนกันไปหมด ที่นั่นที่นี่ก็มี แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นช่างเพชรบุรีคือ เราใส่ตาลโตนดเข้าไป แต่ที่อื่นเวลาตำปูน วัสดุที่ใส่จะอยู่ที่แต่ละท้องที่ อย่างทางเหนือจะใส่ยางบง ผสมผงธูป อีสานมีข้าวเหนียวก็ใส่ข้าวเหนียว กล้วยก็ใส่ได้ น้ำผึ้งก็ใส่ได้ แต่ที่เพชรบุรีมีตาลโตนด

เป็นเอกลักษณ์?

ครับ ทีนี้เวลาถึงการปั้น เราจะปั้นสด ชิ้นต่อชิ้น สีลายต้องไม่เหมือนกัน ต้องสมมาตร เรายังไม่พึ่งพาพิมพ์ แล้วอิทธิพลของอยุธยาตอนปลายยังมี คือเราพยายามรักษาเอกลักษณ์นั้นไว้

ทำไมเด็กเมืองเพชรสนใจงานศิลปะ เป็นเหมือนลมหายใจ?

เราชอบใช้กันว่ามันอยู่ในสายเลือด จริงมันอยู่ที่การซึมซับมากกว่า อยู่ที่สภาพแวดล้อม เหมือนเด็กอิสลามบางคนที่ผมรู้จัก พ่อแม่ไม่ได้ปั้น แต่เป็นการซึมซับด้วยสภาพแวดล้อมที่เคยชิน เมื่อไหร่มีโอกาส ซึ่งก็คือผู้ใหญ่ต้องให้ และเขาทำได้ชัดเจน รู้สึกภาคภูมิใจนั่นคือกำลังใจที่ต้องต่อ มันมีผลต่อไปเรื่อยๆ

ซึ่งปัจจุบันที่เพชรบุรี เฉพาะแค่ตระกูลบุญประเสริฐ ต.บางจาน ก็หลายครัวเรือนอยู่ คือแค่พี่น้องกันก็ 50 คน ทั้งหมดน่าจะมีเป็นร้อย งานก็ยังล้น คือมันเหมือนเราได้รับการยอมรับแล้วว่า งานปูนปั้นต้องเพชรบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image