ดิบ สด กระตุกต่อมคิด มองสังคมไทย ผ่าน 5 ศิลปินต่างยุคสมัย

ผลงานของทั้ง 5 ศิลปินจัดแสดงอยู่ในอาคารหลังนั้น, ย่านทองหล่อใจกลางเมือง เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าลงที่สถานีชื่อเดียวกัน สาวเท้าเข้าซอยไปยังไม่ทันเหนื่อยก็จะได้เห็น สถาบันปรีดี พนมยงค์ อยู่ด้านซ้ายมือ ติดกับสวนผักคนเมืองสุดฮิตในยามนี้อย่าง รูท การ์เด้น

ตั้งใจ และคิดเอาไว้ว่าจะมาชมให้ได้ สำหรับนิทรรศการที่มีชื่อว่า “5 ศิลป์สังคม” อันเป็นการแสดงงานร่วมกันของศิลปินต่างยุคสมัยที่น่าสนใจ 5 คน

เดินทางด้วยระบบรางสะดวกที่สุด ดังเช่นวันนั้นที่มีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ แม้ผู้คนจะไม่มากอย่างที่คาด แต่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ “สำนักข่าวหงวนจัดให้”, ประกิจ กอบกิตวัฒนา ศิลปินนักออกแบบ, อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ ศิลปินอาจารย์ศิลปะ รวมถึง “น้องแชมป์ 1984” ก็มาหามุมนั่งฟังเรื่องราวของศิลปินทั้ง 5 คน ตลอดจนร่วมชมนิทรรศการในครั้งนี้

(จากซ้ายไปขวา) พิสิฏฐ์กุล-กฤช-เรืองศิลป์-สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย (ดำเนินรายการ)-เลอพงษ์-ทองธัช
(จากซ้ายไปขวา) พิสิฏฐ์กุล-กฤช-เรืองศิลป์-สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย (ดำเนินรายการ)-เลอพงษ์-ทองธัช

การ์ตูนการเมือง

โปรดดูอีกครั้งหนึ่ง

ทันทีที่เดินเข้าอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ สามารถมองเห็นนิทรรศการได้ทันที

Advertisement

ทางซ้ายมือ ภาพเขียนบนลังกระดาษเบียร์โดดเด่น ใบหน้าดุๆ ที่โดนเย็บปาก สีสันจัดจ้าน ลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ของ ทองธัช เทพารักษ์ ทำให้ค่อนข้างรู้สึกหวาดหวั่นระคนฮึกเหิม

ภาพวาดบนลังเบียร์ของทองธัช เทพารักษ์
ภาพวาดบนลังเบียร์ของทองธัช เทพารักษ์

เจ้าของฉายา “เพชฌฆาตหมื่นปก” บอกว่า เพราะเป็นคนชอบดื่มเบียร์ ดื่มแล้วก็เอาลังมาใช้งานให้เป็นประโยชน์สักหน่อย และอีกอย่างสามารถพกไปไหนมาไหนได้ง่าย เช่นจะแสดงงานที่นี่ก็พับลังแล้วหิ้วเอามาได้เลย สบายมาก

หากใครติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดเป็นประจำ พลิกหนังสือพิมพ์ไปที่หน้า 3 จะเห็นคอลัมน์ “ทองเสียดสด” ของทองธัช เด่นหรา

Advertisement

นี่คือ “การ์ตูนิสต์การเมือง” ที่ทำงานต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

ทองธัชบอกว่า การ์ตูนการเมืองตอนแรกไม่ค่อยมีคนเขียน คือในประเทศไทยมีคนเขียนการ์ตูนเยอะมาก แต่ถ้าเป็นการ์ตูนการเมืองนี้นับนิ้วได้ พอดีเป็นคนชอบอำ และก็เป็นคนหมกมุ่นเรื่องการเมือง คนเขียนการ์ตูนคนอื่นอาจไม่หมกมุ่นแบบนี้ ก็เลยลองเขียนเริ่มต้นที่สยามรัฐ และก็มีงานออกแบบปกหนังสือ ทำเรื่อยมา มีเฟซบุ๊กก็เขียนลงเฟซบุ๊ก อย่างทุกวันนี้ก็เขียนลงข่าวสดทุกวัน

ถามถึงงานการ์ตูนการเมืองในยุคสมัยนี้

ทองธัชตอบเสียงดังฟังชัด “ไม่มียุคสมัยไหนเขียนการ์ตูนการเมืองได้ดีเท่ายุคนี้อีกแล้ว คือถ้าวันนี้ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ขี้ขลาดตาขาว ผมว่าก็น่าจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นซะ อย่างผมเขียนรูป ขายไม่ได้ ไม่มีใครซื้อไม่เป็นไร ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคนซื้อ แต่ก็รักที่จะทำแบบนี้”

ชมภาพเขียนใบหน้าโหดๆ บนลังเบียร์แล้ว ขยับไปทางด้านขวาจะเห็นภาพวาดสีน้ำมันบนกระดาษที่เข้ากรอบอย่างงดงาม

หากแต่เมื่อเดินเข้าไปชมใกล้ๆ เนื้อหาของรูปหลายสิบชิ้นที่ กฤช เหลือลมัย นำมาจัดแสดง กลับแฝงไว้ด้วยข้อคิด การเสียดเย้ย และวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองไว้อย่างน่าทึ่ง ที่แม้อาจจะดูเป็นรูปง่ายๆ แต่กระบวนการคิดนั้นไม่ง่ายเลย

งานของกฤชเกือบทั้งหมดเป็นงานเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยในยุคสมัยนี้ หลายภาพเห็นแล้วถึงกับอึ้ง ขณะที่อีกหลายภาพบางครั้งก็ให้ความรู้สึกขันขื่น – ยิ้มทั้งน้ำตา

ผลงานของกฤช เหลือลมัย
ผลงานของกฤช เหลือลมัย

“ภาพเขียนที่จัดแสดงนี้ เป็นงานที่ทำช่วงหลังนี้เอง จะว่าไปก็เป็นช่วงที่บ้านเมืองไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เราถูกกำหนดทุกอย่าง หลายคนที่รู้สึกอึดอัดก็หาหนทางในการทำอะไรได้ตามแต่ที่ตนถนัด ผมเองด้วยความที่มีพ่อเป็นครูสอนวาดรูป พอวาดรูปได้ ก็เลยแสดงออกผ่านการวาดภาพ” กฤชกล่าว

และเช่นกัน เฟซบุ๊กก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการแสดงงานของกฤช เขาคือศิลปินคนหนึ่งที่มีผู้แชร์การ์ตูนล้อไปร่วมเผยแพร่ระดับต้นๆ ของประเทศ

ยอมรับว่าวันที่เดินชมงานของกฤช เนื่องจากมีหลายรูป และแต่ละรูปหากอยากจะเข้าใจสิ่งที่ศิลปินต้องการนำเสนออาจต้องใช้เวลามากพอสมควร และวันนั้นก็จวนแก่เวลาแล้ว พระอาทิตย์ลับฟ้าลาซีกโลกตะวันออกไปแล้ว

จึงคิดว่าต้องกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง

6 ตุลา กับอีสานวันนี้

และงานสุดจี๊ด”คนรุ่นใหม่”

งานที่ได้เห็นต่อมา เป็นของ เลอพงษ์ พุฒิชาติ ศิลปินผู้ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินอีสานมาอย่างยาวนาน จนได้เห็นภาพชีวิตของผู้คนที่นั่นที่ต้องต่อสู้กับ 3 เรื่องสำคัญอย่างความแห้งแล้ง ความยากจน และหนักสุดก็คือเรื่องอำนาจรัฐ

แต่งานของเขาที่นำมาจัดแสดง กลับเน้นหนักไปที่เรื่องราวของเหตุการณ์ “6 ตุลา”

ภาพคนตายนอนเกลื่อนกลาด เลือดแดงฉานนองเต็มพื้น โดยมีใครบางคนกำลังใช้เชือกลากศพหนึ่ง และมีคนยืนถือปืนกำกับ

ความทรงจำจาก 6 ตุลาของเลอพงษ์ พุฒิชาติ
ความทรงจำจาก 6 ตุลาของเลอพงษ์ พุฒิชาติ

“6 ตุลา รุ่งอรุณแห่งการต่อสู้” คือข้อความที่เห็นในภาพ

เลอพงษ์คือคนหนึ่งที่ต้องหนีเข้าป่าจากเหตุการณ์ล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้นผมทำม็อบอยู่ที่โคราช และพอได้ข่าวจากศูนย์กลางว่าจะมีการเข้าสลายการชุมนุม ผมก็รีบเก็บของ และก็ต่างคนต่างไป ผมหนีหายเข้าป่า ออกจากป่ามาทำงานก็ถูกตามอยู่บ้าง แต่ก็ผ่านมาได้” เลอพงษ์ ซึ่งค่อนข้างจะพูดน้อยเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต

ผลงานของเรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์
ผลงานของเรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์

ขณะที่ เรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์ ศิลปินอีกคนหนึ่งบอกว่า ก่อนหน้านั้นทำโรงพิมพ์อยู่กับประเสริฐ จันดำ, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ได้ไม่นานก็ไปอยู่เนชั่น ทำโฆษณาอะไรต่างๆ ก็ได้รู้จักกับนักข่าว ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, ไพบูลย์ วงษ์เทศ หลังจากนั้นพอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ต้องเข้าป่า ไปอยู่แถบจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ก็ยังคงร่วมทำหนังสือพิมพ์

ออกจากป่ามาแล้วชัชรินทร์ชวนมาทำหนังสือพิมพ์ที่มาตุภูมิ ต่อด้วยมติชน ทำภาพประกอบเรื่อยมา ก่อนที่สุดท้ายจะไปทำโรงพิมพ์ให้กับทางเบียร์ช้าง-แสงโสม

ถามว่าเริ่มต้นทำงานมาจากอะไร?

เรืองศิลป์บอกว่า ความอึดอัดในสถานการณ์บ้านเมือง คือตื่นเช้าขึ้นมาก็เจอแต่คำถาม และเราก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร ก็เลยสื่อสารออกมาด้วยการทำงานศิลปะ เป็นการ์ตูน เป็นเพนติ้ง และด้วยพื้นฐานเราเป็นคนทำงานโฆษณาด้วย ก็รู้เรื่องคอมโพสิชั่น เรื่องแสงเงา เรื่องการนำเสนอให้น่าสนใจ

เดินเข้าไปดูงานของเรืองศิลป์ในห้องกระจก เพนติ้งสวย รูปนามธรรมสะท้อนความหมายสังคม ขณะที่บางภาพก็สะท้อน

สภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน และเข้ากับยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง

อีกหนึ่งศิลปินที่ต้องไม่พลาดผลงานของเขา

พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง เพราะมาเต็มทั้งภาพ แสง สี เสียง

โต๊ะหมู่บูชาของพิสิฏฐ์กุล ควรแถลง
โต๊ะหมู่บูชาของพิสิฏฐ์กุล ควรแถลง

คุยกับพิสิฏฐ์กุล ก่อนชมงานได้ความว่า งานของเขาเพิ่งมาเปลี่ยนในยุคหลังปี 2553 หลังจากที่เห็นเหตุการณ์คนตายกลางเมืองจำนวนมาก

“ก่อนหน้านี้งานศิลปะจะอยู่กับตัวเอง แต่ตอนหลังๆ ไม่แล้ว เพราะในช่วงความขัดแย้งนี้ บางเรื่องจากเคยโต้เถียงกันได้ธรรมดา กลับกลายเป็นว่าวันนี้ไม่ได้แล้ว พูดไม่ได้ งานที่ออกมาจึงค่อนข้างต่างจากยุคแรกแบบคนละโลก

“เหตุการณ์บ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงเรา เปลี่ยนวิธีการทำงานของเรา ทรรศนะเรา และเมื่อคนอื่นดูงานเขาก็จะเห็นเราซึ่งบางทีอาจจะชอบและไม่ชอบก็ได้ ยุคหลัง งานของผมเริ่มฮาร์ดคอร์ขึ้น ก็มองว่าบางครั้งถ้าจำเป็นต้องตบหน้า ก็ควรต้องทำ” พิสิฏฐ์กุลกล่าว

จากนั้นเข้าชมงานของศิลปินคนรุ่นใหม่แห่ง พ.ศ.นี้ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องเดียวเต็มๆ พบว่าเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก

แรกก้าวเข้าไป กระแทกโสตประสาทด้วยเสียงดนตรี สีไฟวับๆ แวมๆ ราวกับอยู่ในดิสโก้เธค จากนั้นจะได้เห็นศาลหรือโต๊ะหมู่หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่สีสันจัดจ้านมาก หากแต่ข้าวของนั้นดูเหมือนเป็นของเล่น ขวามือคือภาพดิจิตอลพรินต์ขนาดใหญ่เต็มผนัง หลากหลายเรื่องราวอัดแน่นอยู่ในนั้น ทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเมือง สังคม ฯลฯ

เดินลอดใต้รองเท้าที่กลับหัวกลับหางขึ้นไปเดินอยู่บนเพดาน ผ่านไปชมวิดีโอพรีเซนต์ เห็นพรมที่ตั้งอยู่เป็นลำดับตรงผนังด้านหนึ่งแล้วก็คิดถึงตาลปัตรพระ (ฮา)

อึกทึก ปั่นป่วน และชวนคิดสำหรับงานสุดจี๊ดของศิลปินหนุ่มผู้นี้

นี่คือผลงานของ 5 ศิลปินที่ไม่อยากให้พลาด

นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 มีนาคม ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ หรือโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2381-3860-1

สุดสัปดาห์นี้ใครยังไม่มีแผนการไปไหน เรียนเชิญร่วมสัมผัสสิ่งที่ทั้ง 5 ศิลปินต้องการสะท้อนออกมาผ่านมุมมองของแต่ละคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image