ปกป้อง จันวิทย์ 100 ปี ชาตกาล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ‘คนตรง’ กับ ‘สังคมคด’

กับชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้น หลายต่อหลายครั้ง เป็นชื่อที่ถูกอ้างอิงอยู่บ่อยๆ ในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงสังคม

มากน้อย นี่ย่อมบอกชัดว่า ตัวตนเจ้าของชื่อนั้น พ้นไปจากความรู้ความเข้าใจที่กว้างไกลแล้ว ยังหมายถึงการได้รับความเคารพจากคนรุ่นหลังอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในฐานะนักเศรษฐศาสตร์, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในฐานะอื่นๆ

ปี 2559 นี้เองที่จะเป็น 100 ปีชาตกาลของป๋วย อึ๊งภากรณ์

และในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องของป๋วยมาอย่างหลากหลายแง่มุม ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ทำให้วาระ 100 ปีชาตกาลของป๋วยในปีนี้ งดงามสว่างไสวขึ้นอีกครั้งด้วย สารคดีชุด “ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเขาและทีมงาน The 101 percent ร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมา และพร้อมออกฉายสู่สายตาคนดูในวันเสาร์ที่ 5 มีนาคมนี้ เวลา 21.10-22.00 น. ทางไทยพีบีเอส

Advertisement

ตลอดระยะเวลาการสัมภาษณ์ เรื่องราวในหลายแง่มุมของป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากมุมมองของปกป้องนั้นไหลเรียงออกมาอย่างเรียบง่ายและเปี่ยมไปด้วยความเคารพในทุกคำ

คงไม่มีอะไรน่ายินดีต่อวาระครบ 100 ปีชาตกาลครั้งนี้มากไปกว่าการที่สารคดีชุดนี้ออกฉาย ผ่านการทำงานอย่างมืออาชีพของทีมงานสารคดี

และแน่นอนว่านี่ย่อมหมายถึง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะถูกอ่านอีกครั้ง

ในวันและเวลาที่เหมาะสมของสังคมไทย

Advertisement

 

pra01050359p1

 

ที่มาที่ไปในการมาทำสารคดีครั้งนี้?

ปีนี้เป็น 100 ปีชาตกาล คิดว่าคนก็สนใจที่จะฟื้นชีวิตและความคิดของอาจารย์ป๋วยกลับมา สารคดี จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน อยากพูดถึงชีวิตและความคิดของอาจารย์ป๋วย เราไม่ได้อยากทำสารคดีที่อธิบายว่าอาจารย์ป๋วยเป็นใคร ทำงานอะไร มีผลงานอะไรเท่านั้น แต่อยากทำสารคดีที่เล่าด้วยว่าอาจารย์ป๋วยทิ้งมรดกทางความคิดอะไรไว้ให้สังคมไทย แล้วปัจจุบันมรดกทางความคิดเหล่านี้อยู่อย่างไรในสังคมไทยยุคใหม่ที่ต่างไปจากสังคมในยุคอาจารย์ป๋วยแล้ว

ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงคุณธรรม ศีลธรรมหรือความดีของอาจารย์ป๋วยนั้น เป็นความดีที่เป็นสากล และเป็นความดีที่ร่วมสมัยในสังคมสมัยใหม่คือสังคมประชาธิปไตย อาจารย์ป๋วยยังเคยแซวตัวเองเลยว่า แกไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นคนดีเพราะศีล 5 ก็รักษาไว้ไม่ได้ เพราะแกก็ชอบดื่มเหล้า ชอบสูบบุหรี่

แต่เมื่อพูดถึงความดีแบบอาจารย์ป๋วย จะเห็นว่าอาจารย์ป๋วยเชื่อในความหลากหลายของความดี ความงาม ความจริง ไม่ได้เป็นคนติดดี หรือเอาความดีของตัวเองไปตัดสินคนอื่น และไม่ได้คิดว่าพอเป็นคนดีแล้วจะมีสิทธิเหนือคนอื่นได้ แต่ว่าความดีงามจริงนั้นหลากหลาย และสังคมที่ดีคือสังคมที่ให้พื้นที่แก่ความหลากหลายเหล่านั้น

 

วิธีคิดและวิธีปฏิบัติของอาจารย์ป๋วย?

ผมคิดว่าชีวิตอาจารย์ป๋วยเจอเรื่องยากๆ เยอะ คำพูดหนึ่งที่สะท้อนความเป็นตัวอาจารย์ป๋วยได้ดีคือคำที่อาจารย์เขียนถึงคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ที่เป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานที่แบงก์ชาติ คือความยุติธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ไม่มีหรอก ถ้าเป็นคนอื่นได้ยินอะไรแบบนี้คงบอกว่าต้องยอมรับมันหรือ แต่อาจารย์ป๋วยไม่ได้คิดแบบนั้น ท่านบอกว่า เพราะฉะนั้น เรายิ่งต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อให้เราเข้าใกล้สังคมที่มีความยุติธรรมแบบนั้น
อาจารย์ป๋วยเจอวิกฤตในชีวิตหลายครั้ง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องมาสร้างเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่หลังยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมา เผชิญกับวิกฤตการเมือง อยู่ในช่วงที่สังคมเต็มไปด้วยความแตกต่างขัดแย้งและความรุนแรง แต่ท่านก็ยืนตรงของท่าน เป็นเสรีชน ไม่ได้เอาตัวเองไปสังกัดที่ไหน ยืนนิ่งอยู่ในหลักที่ท่านเชื่อ คือหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรมทางสังคม มนุษยภาพและสันติประชาธรรม ตอนนั้นท่านก็โดนโจมตีกับทางฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่ท่านก็ยืนของท่านอยู่อย่างนั้น

นี่เป็นแค่ตัวอย่างว่าในยุคสมัยที่โดนถล่มทั้งสองทาง อาจารย์ป๋วยก็ยังเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นคนที่ซื่อตรงมาก

ชีวิตของอาจารย์ป๋วยเป็นชีวิตที่ผมคิดว่ามีสองมิติซ้อนกันอยู่ คือมีความเป็นนักคิด เป็นปัญญาชนสาธารณะ ซึ่งทิ้งมรดกทางความคิดด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา สังคมไว้เยอะ กับอีกด้านคือเป็นนักปฏิบัติที่ลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม

อาจารย์ป๋วยเป็นคนมีสองโลกนี้ผสมกันได้ลงตัว เป็นนักคิด มีสังคมไทยในฝัน มีหลักความเชื่อบางอย่างเป็นของตัวเอง ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่พยายามแปลงความคิดของตัวเองให้เกิดผลในทางปฏิบัติด้วย ท่านเป็นนักคิดที่มีความเป็นนักปฏิบัติในตัว คือเป็น Practical idealism ชีวิตและความคิดของอาจารย์ป๋วยก็มีความสมดุลในมิติทั้งสองมิติอยู่ด้วยกันในคนเดียว ซึ่งผมคิดว่าเราต้องการคนแบบนี้เยอะๆ

 

ดูจากตัวอย่างสารคดีแล้ว มุ่งเน้นไปที่ทุกมิติของอาจารย์ป๋วย ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐศาสตร์?

เราอยากทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตและความคิดของอาจารย์ป๋วยที่รอบด้านที่สุด ที่มีความเป็นอาจารย์ป๋วยมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่นักเศรษฐศาสตร์เพราะท่านสนใจหลากหลายมากและมีหน้าที่ที่หลากหลายเช่นกัน

ถ้าเราจะมองชีวิตของอาจารย์ป๋วยทั้งชีวิต ก็ต้องเห็นความหลากหลายเหล่านั้น ถ้าเราอ่าน ฟังท่าน ก็จะเห็นว่าท่านเชื่อในความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของความรู้ อาจารย์ป๋วยบอกไว้ชัดเลยว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีนั้นจะรู้แค่เรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมนั้นเชื่อมโยงกันหมด ฉะนั้น ในตัวคนหนึ่งคน มันไม่ควรมีมิติแยกขาดจากกันแบบนั้น ความคิดของท่านก็เป็นแบบนั้น สารคดีก็สะท้อนตรงนี้


เลือกคนแบบไหนมาเลือกคุยเรื่องอาจารย์ป๋วยในสารคดี?

ในสารคดี เราคุยกับคนราวๆ 20 คน หลายคนเป็นคนที่ทำงานร่วมสมัยหรือใกล้ชิดกับอาจารย์ป๋วย คุณสุรพล เย็นอุรา อายุ 90 ปีแล้ว อดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ ทำงานหน้าห้องอาจารย์ป๋วย อยู่ด้วยกัน 12 ปีเต็มๆ คุณเสนาะ อูนากูล ก็มีส่วนร่วมทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ฉบับแรกๆ กับอาจารย์ป๋วย อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่สนิทสนมกับครอบครัวของอาจารย์ป๋วย และมีอีกกลุ่มที่เราอยากชวนมาสังเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ความคิดอาจารย์ป๋วย ว่าความคิดเหล่านั้นมีที่ทางอยู่ตรงไหนในสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทย จึงชวนคนที่ศึกษาแนวคิดของอาจารย์ป๋วยมา

เราอยากเล่าว่าที่อาจารย์ป๋วยเป็นป๋วยทุกวันนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากใคร ที่ไหน จากเหตุการณ์อะไร บริบทแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร เราพยายามทำสารคดีที่เห็นมิติพวกนี้ อยากทำให้เห็นบริบทแวดล้อมที่สร้างชีวิตคนคนหนึ่ง ได้เห็นเขาเป็นมนุษย์

อาจารย์ป๋วยมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย แต่อาจารย์ป๋วยก็ถูกเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยสร้างเช่นกัน เป็นชีวิตปกติของผู้คน เราสร้างโลก โลกสร้างเรา

อีกส่วนที่อยากเล่าในสารคดีชุดนี้คือ ชีวิตอาจารย์ป๋วยมีหลายด้านและหลายมิติ แต่ละคนให้คุณค่าความหมายเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยตามที่เห็นหรืออยากให้เป็น

ผมคิดว่าสำคัญกับยุคสมัยในปัจจุบัน อาจารย์ป๋วยในฐานะเป็นผู้คิดเรื่องประชาธิปไตยและสันติวิธี และผมคิดว่าสุ้มเสียงในเรื่องนี้ในปีนี้ อาจได้ยินแผ่วเบากว่าสุ้มเสียงที่พูดถึงอาจารย์ป๋วยในมิติอื่นๆ ฉะนั้น จะเป็นสารคดีป๋วยก็ดี หรือปาฐกถาป๋วยที่คณะเศรษฐศาสตร์จัดก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้เยอะ เพราะหลายอย่างที่ท่านเขียนไว้อธิบายสังคมไทยปัจจุบันได้ และให้ปัญญาบางอย่างแก่คนไทยได้ว่าเราจะออกจากวิกฤตเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไร

 

ในสารคดีเล่าเรื่องอะไรบ้าง และตั้งคำถามแบบไหนต่อสังคม?

สารคดีที่ผมทำ มี 4 ตอน ตอนแรกเป็นอาจารย์ป๋วยวัยเด็กจนถึงเสรีไทย ตอนที่ 2 พูดถึงอาจารย์ป๋วยที่กลับมาจากการเรียนต่อและมาทำงานที่กระทรวงการคลัง ต่อมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วงหลังอาจารย์ป๋วยวิพากษ์ตัวเองว่าการทำงานที่เน้นไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นสำคัญแต่ยังไม่เพียงพอ ต้องคำนึงเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เรื่องความยุติธรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วย ท่านจึงมาสนใจเรื่องการพัฒนาชนบท เรื่องการศึกษา สร้างคน และท่านเป็นหัวหน้าแบบไหน ทำงานแบบใด มีคุณูปการอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

ตอนที่ 3 จะเน้นชีวิตอาจารย์ป๋วยในฐานะนักคิดอยู่ที่ธรรมศาสตร์ บทบาทของท่านในฐานะอธิการบดี และทรรศนะว่าด้วยประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และสันติวิธีของท่าน

ตอนที่ 4 พูดจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในสารคดีด้วย เป็นช่วงที่อาจารย์ป๋วยเดินทางออกนอกประเทศ เป็นบทสรุปของคนชื่อป๋วย และตั้งคำถามที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ท่านออกจากไทยปี 2519 เมื่อถึงปี 2520 ท่านก็เส้นเลือดในสมองแตก พูดไม่ได้ ท่านอยู่กับความเงียบ 22 ปีเต็ม ก่อนเสียชีวิตเมื่ออายุ 83 ปี

ในสารคดีก็พยายามตั้งคำถามที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยตั้งไว้ ว่าเราได้ยินเสียงอะไรในความเงียบของอาจารย์ป๋วย ความเงียบของท่านบอกอะไรกับสังคมไทย

เราตั้งคำถามที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยตั้งไว้ในปาฐกถาป๋วย คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นคำถามที่ผมชอบมาก คือคำถามที่ว่าชีวิตของอาจารย์ป๋วยนั้นสำเร็จหรือล้มเหลว ประเมินอย่างไรดี สันติประชาธรรมที่ท่านพยายามต่อสู้มาไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่เป็นภาพฝันในอุดมคติ สังคมเศรษฐกิจในฝัน มาดูความจริงในปัจจุบันก็ยังห่างไกล เราจะบอกได้หรือไม่ว่าอาจารย์ป๋วยล้มเหลว หรือไม่ใช่ เราควรมีท่าทีหรือวิธีการมองเรื่องนี้อย่างไร สารคดีพยายามตอบคำถามเรื่องนี้ครับ

 

มองปรากฏการณ์ที่มีคนทั้งจากฝั่งขั้วการเมืองอ้างอาจารย์ป๋วยอย่างไร?

เป็นธรรมดาของการเมืองนะครับ เพราะโลกการเมืองคือโลกที่ช่วงชิงการให้คุณค่าความหมายของสิ่งต่างๆ สังคมไทยอยู่ในจุดแหลมคม เมื่อมีตัวละครที่เป็นตัวละครที่มีคุณูปการทางสังคมมากๆ แต่ละคนก็อยากช่วงชิงการให้คุณค่าความหมาย นี่คือโจทย์หนึ่ง เราไม่ได้บอกว่าเราเข้าใจอาจารย์ป๋วยมากกว่าคนอื่นๆ แต่ผมคิดว่าเป็นสิทธิธรรมดาในสังคมที่ใครจะให้คุณค่าท่านอย่างไรก็ให้กันไป ในสังคมเปิดเราก็หวังว่าแต่ละคนจะให้คุณค่าอาจารย์ป๋วยแตกต่างกันได้และถกเถียงกันได้ ฝั่งที่มองอาจารย์ป๋วยในฐานะที่เป็นคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเพื่อประชาธิปไตยก็ควรถกเถียงเรื่องพวกนี้ได้ ทีมงานพวกเราอยากเป็นเสียงหนึ่งที่ให้คุณค่าความหมายอาจารย์ป๋วยในแบบที่เราคิดว่าท่านเป็น เราไม่ได้นึกคิดเอง เราอ่านหนังสือของท่าน อ่านงานที่มีคนเขียนถึงท่าน ไปสัมภาษณ์ผู้คนมากมายที่อยู่แวดล้อมท่าน ผมอยากเสนอบทบาทของท่านที่หลากหลาย รวมถึงบทบาททางการเมืองของท่านด้วย
ก็สู้กันไป ใครอยากนิยามอย่างไรก็สู้กันไป


วิธีคิดทางเศรษฐกิจแบบอาจารย์ป๋วย?

ในทางเศรษฐกิจ ยุคแรกก็ต้องเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อเติบโตแล้วคนจนจะน้อยลง ยุคก่อนอาจารย์ป๋วยก็เป็นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเศรษฐกิจเป็นแบบชาตินิยม ไม่มีการแข่งขัน รัฐมีบทบาทผ่านรัฐวิสาหกิจมาก ทำธุรกิจแข่งกับเอกชน มีทหารไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจแล้วหาผลประโยชน์ กีดกันคนต่างชาติและคนจีน ทำให้คนทำธุรกิจต้องวิ่งไปหาผู้มีอำนาจ ซึ่งคือทหาร

อาจารย์ป๋วยเข้ามาเจอปัญหานี้ เมื่อท่านมีบทบาทในการสร้างเศรษฐกิจ จึงเป็นเศรษฐกิจที่เปิดให้มีการแข่งขัน ทลายการผูกขาด พยายามให้มีกติกาชัดเจนเพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจสามารถแสวงหาประโยชน์ได้ง่ายๆ เปิดให้เอกชนเป็นพระเอก ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ พยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ สร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ กระจายอำนาจให้คน ภูมิภาคเกิดการเติบโตพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งก็กระทบภาคเกษตร อาจกระจายความเจริญได้จริงแต่ก็ยังไม่มีความเป็นธรรม

ผ่านไปสักระยะ ท่านก็เห็นความจริงอีกชุดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ ต้องสนใจเรื่องอื่นด้วย เช่น คนจน คนชนบท ท่านวิพากษ์ตัวเองว่าที่ผ่านมาสนใจเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจมากไป คำนึงถึงเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจน้อย จึงหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาชนบท

ท่านเห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางเทคนิคข้างบน เพราะจะเป็นแค่การปะชุนผ้าขาดไปเรื่อยๆ แต่ต้องทำงานแบบทอผ้าผืนใหม่ไปด้วยและเน้นที่การสร้างคน ท่านจึงตอบรับการมานั่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ที่สร้างคนใหม่ๆ เข้าไปทำงานให้ประเทศต่อไป

 

อาจารย์ท่านอื่นๆ พูดถึงอาจารย์ป๋วยอย่างไรบ้าง?

อาจารย์ป๋วยมีความหลากหลาย กระทั่งอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรียกท่านว่าเป็นเรเนอซองค์แมน คือมีความหลากหลายในตัวเอง

ผมชอบที่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา พูดว่า ป๋วยเป็นตัวปัญหาของสังคมไทย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนตรงแบบอาจารย์ป๋วย แต่อยู่ที่สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เต็มไปด้วยความคดโกง คนซื่อตรงแบบอาจารย์ป๋วยไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องเป็นตัวปัญหาต่อผู้มีอำนาจ

ซึ่งอาจารย์อัมมารทิ้งท้ายว่า น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ สังคมไทยมีตัวปัญหาน้อยเหลือเกิน


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะอ่านอาจารย์ป๋วยอีกครั้ง?

ผมคิดว่าสังคมไทยทุกวันนี้ยิ่งต้องอ่านอาจารย์ป๋วย ผมเชิญอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ มาปาฐกถา 100 ปีป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่คณะ อาจารย์จอนก็บอกว่าไม่ชอบที่มีคนสร้างอนุสาวรีย์ให้คุณพ่อ เพราะนั่นคือการรำลึกถึงคนตายแบบที่ตายไปแล้วจริงๆ แต่อาจารย์จอนบอกว่า วิธีรำลึกถึงคุณพ่อที่ดีที่สุด คือชวนกลับมาอ่าน ว่าคุณพ่อคิดอะไร เขียนอะไรไว้ แล้ววิจารณ์คุณพ่อ นั่นจึงทำให้คุณพ่อมีชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนในสังคม

และผมคิดว่าไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะที่จะอ่านอาจารย์ป๋วยเท่ากับช่วงเวลานี้แล้ว

 

พลังที่ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น

ความผูกพันต่ออาจารย์ป๋วย

ตัว ปกป้อง จันวิทย์ เอง ก่อนมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เคยเป็นนักศึกษาที่คณะเดียวกันมาก่อน

คงพอจะพูดได้ว่า ความผูกพันกับคณะนี้และมหาวิทยาลัยนี้ของเขานั้น ไม่แพ้ใครเลยทีเดียว-กระทั่งกับเรื่องราวของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขารู้จักและรับรู้มาตั้งแต่ก่อนมาเป็นนักศึกษา

“ผมอ่านหนังสืออาจารย์ป๋วยตั้งแต่เด็ก รู้สึกทึ่งในความเก่งในความดีของท่าน แล้วถ้าเรากลับไปอ่านใหม่เรื่อยๆ หลังเราเติบโต มีประสบการณ์ใหม่ๆ เราจะเรียนรู้ท่านในมุมใหม่ได้เสมอ” เขาปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม ก่อนขยายความว่า อาจารย์ป๋วยเป็นเสรีนิยมที่ก้าวหน้ามาก และเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เลือกอยากเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

“อาจารย์ป๋วยเป็นครูของครูที่ผมเคารพนับถือมากหลายท่านมาก เช่น อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ, อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ผมเห็นวัตรปฏิบัติของครูเรา ซึ่งได้มาจากการดูอาจารย์ป๋วยอีกทีหนึ่ง ผมก็อยู่คณะเศรษฐศาสตร์ที่สร้างผมมา รู้สึกผูกพัน เพราะวัฒนธรรมกติกาหลายอย่างในคณะเศรษฐศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ป๋วยวางรากฐานไว้ให้”

หนึ่งในรากฐานเหล่านั้นที่ปกป้องพูดถึง ย่อมหมายถึงความโปร่งใส เป็นธรรมในคณะ และวัฒนธรรมความเท่าเทียมที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วางไว้ให้

“ผมเองได้จากอาจารย์วรากรณ์เยอะ ท่านเป็นคนที่มีมิติความเป็นมนุษย์และความเป็นครูสูงมาก ซึ่งอาจารย์วรากรณ์ก็บอกว่าได้มาจากอาจารย์ป๋วยเช่นกัน แล้วก็ตั้งปณิธานว่าชีวิตนี้วิธีทดแทนบุญคุณที่ดีที่สุดต่ออาจารย์ป๋วย ก็คือการทำกับคนรุ่นหลังต่อไป

“ผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดี และผมเองเชื่อมั่นในคุณค่าความหมายของความเป็นครูแบบนี้ เราอยากทำต่อลูกศิษย์รุ่นหลังๆ นี่คือพลังที่ส่งต่อกันไปรุ่นต่อรุ่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image